xs
xsm
sm
md
lg

น่าเสียดายที่เป็น Up

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

© Disney / Pixar
โดย วรวิช ทรัพย์ทวีแสง

อยากทราบว่ามีใครดู ‘Up’ รอบที่สอง สาม สี่ ฯลฯ กับผู้ใหญ่ที่อาจจะยังไม่ชราหรือชราแล้วบ้าง ปฏิกิริยาของท่านเหล่านั้นเป็นอย่างไร ซาบซึ้งตรึงใจไปกับเรื่องราวความรักและการผจญภัยเพื่อเติมเต็มความฝันของชายชราวัย 78 นามว่า ‘คาร์ล เฟรดริกเซ่น’ เหมือนอย่างที่คนวัยหนุ่มสาวประทับใจกันหรือเปล่า

ผู้เผชิญความจริงของชีวิตคู่มาปูนนั้นแล้วอาจจะไม่ซึ้งกับเรื่องราวความรักแฟนตาซีของ ‘เอลลี่’ กับ ‘คาร์ล’ ก็ได้ หรืออาจจะเพราะว่ามันเป็นการ์ตูน ในสายตาของท่านเหล่านั้นอาจจะเหมาเอาว่าการ์ตูนเป็นเรื่องของเด็กๆ ดูแล้วไม่รู้เรื่องและเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ แต่สำหรับผู้ใหญ่บางท่านที่ยังหลงเหลือพื้นที่เล็กๆของจินตนาการอยู่ ก็เชื่อว่าจะซาบซึ้งไปกับเรื่องนี้ได้ไม่ต่างกับคนหนุ่มสาว

หรือถ้าจะพูดให้ถูก ‘Up’ น่าจะเหมาะกับคนที่ยังมีหัวใจของหนุ่มสาวอยู่มากกว่า ซึ่งอาจจะเป็นผู้ใหญ่ผู้ชราแล้วหรือยังหนุ่มแน่นก็ได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นว่าผู้ใหญ่ผู้ชราทุกคนดูแล้วจะซาบซึ้งไปทุกคน แม้ว่าเรื่องจะพูดถึงความเป็นไปของชีวิตและภาวะจิตใจของผู้ชราภาพก็ตาม

แม้ ‘Up’ จะใช้ตัวละครหลักเป็นมนุษย์ เพื่อแสดงให้เห็นความจริงบางอย่างของชีวิต อาทิ ความรู้สึกที่จะต้องจากกันไปตลอดกาลของชีวิตคู่ที่อยู่กันมาอย่างยาวนาน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความร้าวฉานและแยกทางกันของครอบครัว การขาดความอบอุ่นในวัยเด็ก ความต้องการพิสูจน์ความจริงบางอย่างกับสังคม ความกดดันท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ฯลฯ แต่ถึงอย่างไร ‘Up’ ก็จัดอยู่ในหมวดเรื่องแฟนตาซี ที่มีองค์ประกอบหลักๆสองส่วนคือ ‘การผจญภัยที่แฟนตาซี’ และ ‘ความรักที่แฟนตาซี’

ในส่วนของ ‘การผจญภัยที่แฟนตาซี’ นั้นเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนอยู่แล้วตลอดการเดินทาง ส่วน ‘ความรักที่แฟนตาซี’ นั้นหนังกำหนดให้ชีวิตรักของทั้งคู่เป็น ‘รักแรกพบ’ ‘รักเดียวใจเดียว’ ‘รักเหนียวแน่น’ ‘รักเธอไปจนวันตาย’ ความรักแบบโรแมนติกทั้งหลายหลอมรวมเป็นสุดยอดความโรแมนติก

หนังเสนอในด้านบวกของความสัมพันธ์ของทั้งคู่ออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ไม่เคยมีปัญหาระหว่างกัน ไม่มีฉากทะเลาะเบาะแว้งกัน หรืออาจจะเป็นเพราะทั้งคู่มีลูกด้วยกันยากหรือมีไม่ได้อีกแล้วจึงทำให้ทั้งคู่รักษาความโรแมนติกแบบหนุ่มสาวเอาไว้ได้ ทั้งคู่จึงดูดูดดื่มกันมากกว่าคู่อื่นๆ ผู้ที่เป็นพ่อแม่ซึ่งต้องเจอกับปัญหาและอุปสรรคมากมายกว่าอาจจะทำให้อะไรๆมันตกหล่นหายไประหว่างทาง 

ทว่าแท้จริงแล้วชีวิตคู่ของพวกเขาก็ไม่ได้สวยงามและราบรื่น มีอุปสรรคจากภายนอกเข้ามาให้ทั้งคู่ฝ่าฟันไปตลอด หนังได้นำเสนอออกมาให้เห็นว่าทั้งคู่รักกันมากเพียงใด นี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่รักหนังเรื่องนี้ ไม่ต่างจากหนังรักดีๆที่ตราตรึงใจผู้ชมเรื่องหนึ่งทีเดียว (ได้รับคำชื่นชมและประสบความสำเร็จด้านรายได้)

‘พีท ด๊อกเตอร์’ หนึ่งในสามผู้แต่งเรื่อง ‘Up’ และหนึ่งในผู้แต่ง ‘WALL-E’ ทำให้อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบการนำเสนอในประเด็น ‘ความรัก’ ที่ผูกโยงกับการ ‘ผจญภัย’

ใน ‘WALL-E’ เป็นเรื่องของหุ่นยนต์เก็บขยะที่ ‘ความรัก’ นำพาให้มันต้อง ‘ผจญภัย’ ในอวกาศเพื่อตามหา ‘ความรัก’

ส่วนในเรื่อง ‘Up’ จะกลับกัน เริ่มจากคนสองคนที่มีรสนิยมชื่นชอบการ ‘ผจญภัย’ เหมือนกัน ก่อให้เกิด ‘ความรัก’ และนำไปสู่การแสวงหาหนทางที่จะได้ ‘ผจญภัย’ ด้วยกัน

สองเรื่องนี้จึงให้ความรู้สึกในด้าน ‘อารมณ์’ เหมือนกัน (แม้จะน่าผิดหวังในมุมมองผู้สร้างสรรค์เรื่องราว แต่ผู้ชมก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าความอิ่มเอมที่จะได้รับซึ่งหนังก็มีให้อย่างเหลือเฟือ) และ ‘Up’ ยังคงฉีกกรอบของเรื่องราว รายละเอียดของฉาก ตัวละคร สถานการณ์ของเรื่อง ผ่านการปรุงรสด้วยความแฟนตาซี

พลังแฟนตาซีของ ‘Up’ นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ขณะที่ดูหนังอยู่เท่านั้น แต่มันถูกสร้างขึ้นมาก่อนที่ผู้ชมจะเข้าโรงภาพยนตร์เสียด้วยซ้ำ เพราะไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างหนัง ใบปิดหนัง หรือแม้แต่ชื่อหนังเองก็ได้เปิดเผยจุดสำคัญของความเป็นแฟนตาซีออกมาให้เห็นแล้ว

ผู้ชมหรือผู้ที่ตั้งใจว่าจะไปดูก็ทราบมาก่อนแล้วว่าลูกโป่งจะพาบ้านของชายชราคนนี้ลอยขึ้นไปได้ ผู้ชมเข้ามาเพื่อรอดูฉากบ้านลอยโดยเชื่อไปก่อนแล้วว่ามันจะต้องลอยได้ ฉะนั้นฉากแทรกที่ทำหน้าที่สร้างความเป็นไปได้ (ฉากที่รถขายลูกโป่งของคาร์ลลอยขึ้นด้วยลูกโป่งเมื่อตอนที่เขาทำงานที่สวนสนุก ซึ่งมีหน้าที่ทำให้เราเชื่อได้ว่าบ้านของเขาลอยขึ้นไปได้จริงๆ) ซึ่งโผล่มาย้ำความเป็นไปได้ถึงสองครั้งสองคราก็ดูจะด้อยค่าไปจนเกือบกลายเป็นส่วนเกิน

กลับกัน หากผู้ชมเข้าไปชมภาพยนตร์อย่างคนไม่รู้ ไม่เห็นตัวอย่างหนัง ไม่เห็นใบปิดมาก่อน ฉากยามเช้าที่ชายชราปล่อยลูกโป่งนับพันๆให้ลอยดึงบ้านของตัวเองขึ้นไปได้ มันจะน่าลุ้นน่าตื่นเต้นและสะใจสักแค่ไหน แต่ถึงจะปิดหูปิดตาไม่รู้ไม่ดูไม่เห็นทั้งใบปิดและตัวอย่างหนังแล้วก็ตาม ชื่อเรื่อง ‘Up’ ก็ทำให้ผู้ชมพลาดโอกาสที่จะรับอารมณ์ตื่นตาตื่นใจในฉากที่เป็นจุดหักเหของเรื่องฉากนี้ เพราะถึงอย่างไรมันก็ต้อง ‘Up’ แน่นอน

ลองคิดกันสนุกๆ ถ้าจะต้องเปลี่ยนชื่อใหม่ และต้องเป็นชื่อที่มีความคล้ายคลึงหรือทำหน้าที่ใกล้เคียงกับชื่อ ‘Up’ คือเป็นคำพื้นๆ ที่มีพยางค์เดียวและสื่อความถึงเรื่องได้ ไม่ได้เป็นชื่อที่บ่งบอกถึงตัวละครเด่นในเรื่องอย่าง ‘Finding Nemo’ หรือ ‘WALL-E’ คือตั้งใจให้มันเป็นชื่อที่ตรงๆซื่อๆง่ายๆอย่าง ‘Cars’ เป็นต้น ขอเสนอชื่อใหม่ให้ว่า ‘Age’ ปู่ซ่าอายุก็แค่ตัวเลข’ (แต่จะให้เข้าท่าผู้อ่านโปรดช่วยผมคิดด้วยเถิด)

เข้าใจว่าการทำประชาสัมพันธ์หนังผ่านตัวอย่างหนังหรือใบปิดก็ควรจะเป็นภาพที่ดึงดูดผู้ชม แต่ถ้ามันมีผลกระทบอย่างในกรณีนี้ก็น่าเสียดาย เพราะถึงอย่างไรบรรดาผู้ชมขาประจำแอนิเมชั่นของ ‘พิกซาร์ แอนิเมชั่น สตูดิโอ’ จำนวนไม่น้อยก็พร้อมจะทำหน้าที่เป็นทีมประชาสัมพันธ์ให้กับผลงานลำดับที่ 10 ของพิกซาร์เรื่องนี้แบบปากต่อปากอยู่แล้ว ก็ของเขาดีจริง
© Disney / Pixar
© Disney / Pixar
© Disney / Pixar
© Disney / Pixar
© Disney / Pixar
© Disney / Pixar
ผลงานลำดับที่ 1-9 ของพิกซาร์
กำลังโหลดความคิดเห็น