xs
xsm
sm
md
lg

เผยโฉมการ์ตูนยุคปฏิรูป เปิดประเทศจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไชน่าด็อทคอม - ถ้าหากคุณเห็นรูปภาพข้างบนนี้เเล้ว รู้สึกคุ้นหน้าคุ้นตาตัวการ์ตูนหลายๆตัว นั่นแสดงว่า คุณเกิดมาในยุคที่สุขสบายพอสมควร มีการ์ตูนที่วาดอย่างสวยงาม เนื้อเรื่องตื่นเต้นเร้าใจเป็นเพื่อนคลายเหงา

หลังยุคปฏิรูปและเปิดประเทศ วงการการ์ตูนจีนไม่เพียงแต่พัฒนาตัวเองก้าวหน้ามากขึ้น แต่การ์ตูนจากต่างประเทศยังหลั่งไหลเข้ามาเป็นตัวเลือกใหม่ทางความบันเทิงอีกด้วย เรามาย้อนอดีตกันดูว่าจินตนาการผ่านโลกการ์ตูนได้เดินทางผ่านยุคสมัยร่วม 30 ปีมาอย่างไร ถึงแม้ว่า อาจมีการ์ตูนบางเรื่องที่คุณชอบตกหล่นไปบ้าง แต่เราก็พยายามจะย้อนภาพให้เห็นการ์ตูนเรื่องดังๆ ที่เป็นตัวแทนของช่วงเวลา 30ปี แห่งความเปลี่ยนแปลงในประเทศจีน

《小蝌蚪找妈妈》
“ลูกอ็อดน้อยตามหาแม่”


ปี 1960 shanghai animation film studio ได้ผลิตผลงานการ์ตูนเรื่อง “ลูกอ็อดน้อยตามหาแม่” ขึ้น การ์ตูนเรื่องนี้วาดด้วยสีน้ำ และจากงานภาพสีน้ำที่ดูอ่อนโยนบวกกับการออกแบบท่าทางที่ีละเอียดอ่อน ทำให้การ์ตูน“ลูกอ็อดน้อยตามหาแม่” ได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์สั้นนานาชาติครั้งที่สิบสี่ ที่เมืองโลคาโน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่สิบเจ็ด

“ใครคือแม่ของฉันนะ?” คำถามจากลูกอ็อดน้อยนำไปสู่การเริ่มต้นเดินทางตามหาแม่ และด้วยความช่วยเหลือจากปลาทอง ปูท้องขาว เต่า และหมู่ปลา ลูกอ็อดน้อยก็ตามหาแม่จนพบ เนื้อเรื่องของ“ลูกอ็อดน้อยตามหาแม่” ดูเเล้วคล้ายกับการ์ตูนดังในยุคหลัง "Finding Nemo" แต่ดูเหมือนว่า ภาพสีน้ำฝีมือของ “จี้ไป๋สือ” จะดูคลาสสิกกว่าด้วยซ้ำ

  
“ลูกอ๊อดน้อยตามหาแม่” เป็นผลงานสร้างร่วมกันในยุค 1960 ของ จินตกรเอกด้านสีน้ำ “จี้ไป๋สือ” และ “จางซันเฟิง” ผู้บุกเบิกวงการแอนนิเมชั่นจีน การวาดภาพสีน้ำถือเป็นเอกลักษณ์ของจีน ที่ต่อมาส่งผลไปถึงการ์ตูนญี่ปุ่นในยุคต้น เช่น อิกคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา นอกจากนี้เพลงประกอบของเรื่อง ที่ใช้พิณและผีผา ยังให้ความรู้สึกเป็นจีนมากๆ

การ์ตูนเรื่องนี้ยังบุกเบิกการดำเนินเรื่องแบบที่ตัวละครมีปฏิสัมพันธ์กัน ต่างจากในยุคก่อนที่มักจะเป็นตัวละครพูดกับคนดูอยู่ตัวเดียว นอกจากนี้เสียงพากษ์ในเรื่องยังเหมือนกับครูสอนนักเรียนตัวน้อยๆ ต่างจากการ์ตูนยุคนี้ ที่ต้องดัดเสียงให้ดูน่ารัก คำพูดในท้องเรื่องก็ดูอบอุ่นจริงใจ โดยเฉพาะวลีสำคัญที่ว่า “แม่กบรักลูกๆทุกตัว เช่นเดียวกับเเม่ที่รักพวกเรา” ทำให้ผู้ชมหวนคิดถึงวัยเด็กอันสดใส และอ้อมกอดอันอบอุ่นของแม่

《天书奇谭》
“ตำนานคัมภีร์สวรรค์”


“ตำนานคัมภีร์สวรรค์” เป็นผลงานการ์ตูนเรื่องยาวชิ้นที่สามของจีน ผลงานสร้างปี 1983 ของ “ชี่จินเว่ยจื่อ แอนนิเมชั่น” 迄今为止美影厂 เนื้อเรื่องเต็มไปด้วยจินตนาการ ตัวละครหลากหลายบุคลิก ทั้ง เทพอารักษ์ เทพน้อย จักรพรรดิ์น้อย ปีศาจจิ้งจอก เจ้าพิภพ ฯลฯ เนื้อหาของเรื่องที่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขันถือเป็นการบุกเบิกวงการการ์ตูนจีนที่เคยเเห้งเเล้ง การต่อสู่ระหว่างปีศาจจิ้งจอกกับตัวละครฝ่ายคุณธรรมอื่นๆทำให้คนดูได้ลุ้นตลอดเวลา ไม่ว่าการสร้างเนื้อเรื่อง การวาดภาพ การสร้างตัวละคร หรือเทคนิคอื่นๆ ถือเป็นงานอมตะของวงการการ์ตูนจีน และถือว่าไม่น้อยหน้าการ์ตูนญี่ปุ่น หรืออเมริกา ในช่วงเวลาเดียวกัน

“ตำนานคัมภีร์สวรรค์” เป็นเรื่องราวก็ต่อสู้ระหว่าง เทพน้อยซึ่งลักลอบอ่านคัมภีร์สวรรค์เพียงครั้งเดียวก็จำได้หมด กับเหล่าปีศาจที่ต่างต้องการครอบครองคัมภีร์สวรรค์เช่นกัน เนื้อเรื่องแหวกแนวจากแนวคิดดั้งเดิมของจีนที่นิยมเรื่องแนว happy ending โดยตอนท้ายถึงแม้เทพน้อยจะถูกลงโทษเพราะฝ่าฝืนอาญาสวรรค์ แต่ในอีกมุมหนึ่งการฝึกฝนตนเองผ่านคัมภีร์สวรรค์ของเทพน้อยก็เป็นคติสอนใจสำหรับเด็กๆได้เป็นอย่างดี

ตัวละครในเรื่องที่มีกว่า 20 ตัว ในหลากหลายบทบาท ทั้งดีทั้งร้าย ยังทำให้เนื้อเรื่องมีความเปลี่ยนแปลงตลอด ตัวละครมีชีวิตจิตใจไม่ต่างจากคนจริงๆ ทำให้คนดูรัก เกลียด โกรธ ร่วมไปกับตัวละครต่างๆ ยิ่งเมื่อผสานกับฝีมือการวาดแนวเทพนิยายและฉากต่อสู้อันตื่นเต้นด้วยแล้ว ยิ่งทำให้คนดู ติดใจได้มาก

นอกจากนี้ ตัวละครในเรื่อง“ตำนานคัมภีร์สวรรค์” ยังกลายเป็นของเล่น และเป็นรูปต้นแบบในศิลปะการตัดกระดาษอันเลื่องชื่อของมณฑลเจียงซู และเจ้อเจียง ทำให้รูปแบบของตัวละครหลายตัวเป็นต้นแบบของตัวการ์ตูนอีกหลายเรื่องในยุคต่อมา

《大闹天宫》
“เห้งเจียถล่มสวรรค์”

  
คงไม่ต้องสาธยายมาสำหรับ การ์ตูนอมตะเรื่องนี้ ที่ถูกสร้างใหม่อีกหลายรอบ “เห้งเจียถล่มสวรรค์” ภาคการ์ตูนสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1961 และปรับปรุงอีกครั้งในปี 1964 โดย shanghai animation film studio

"เห้งเจียถล่มสวรรค์” เป็นส่วนหนึ่งของนิยายอันยิ่งใหญ่ของจีน “ไซอิ๋ว” เด็กจีนทุกคนไม่มีใครไม่รู้จัก “ซุนอู่คง” ซึ่งกลายเป็นฮีโร่ขวัญใจของเด็กจีน และเมื่อถูกนำมาสร้างเป็นการ์ตูน “เห้งเจียถล่มสวรรค์” จึงไม่ใช่เเค่เป็นผลงานคลาสสิกที่เด็กจีนทุกคนต้องเคยดู แต่ยังกลายเป็นงานต้นแบบ ที่นักวาดการ์ตูนรุ่นหลังต้องศึกษาอีกด้วย

ถึงแม้ “เห้งเจียถล่มสวรรค์” จะถูกสร้างขึ้นเมื่อ สี่สิบปีก่อน แต่ทุกวันนี้ในช่วงปิดเทอม โทรทัศน์จีนหลายสถานียังคงนำการ์ตูนเรื่องนี้มาฉายซ้ำอย่างไม่รู้เบื่อ ฉากต่อสู้ระหว่าง ซุนอู่คง กับกองทัพทหารสวรรค์ยังคงวนเวียนอยู่ในความทรงจำของเด็กๆ และถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ส่วนนิยายอมตะอย่าง “ไซอิ๋ว” ก็กลายเป็นวรรณกรรมพื้นฐานที่ชาวจีนแทบทุกคนต้องศึกษาทั้งในแง่วรรณศิลป์ และคติธรรมในท้องเรื่อง

《哪吒》
“นาจา”

“เหล้ายิ่งหมักยิ่งหอม นาจายิ่งเก่ายิ่งน่าดู” คำพูดนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า นิยายคลาสสิคอย่าง “นาจา” ถึงแม้จะถูกทำซ้ำหลายครั้งแ ต่เวอร์ชั่นแรกๆ ก็ยังเป็นงานชิ้นที่น่าดูที่สุดอยู่ดี ทั้งนี้หากพูดถึงเนื้อ เรื่องและพล็อตแล้ว “นาจา” สามารถเทียบกับ“เห้งเจียถล่มสวรรค์” ได้อย่างสูสี แถม “นาจา” ยังมีเรื่องราวของการกำเนิด ตาย และฟื้นคืนชีพของนาจา เทียบกับการหกคะเมนตีลังกาของซุนอู่คงแล้วอาจเหนือกว่าด้วยซ้ำ โดยเฉพาะตอน “นาจาถล่มเมืองบาดาล” ด้วยแล้วถือว่า มีทั้งความสนุกตื่นเต้น กล้าหาญ และรักโศก ครบรสทีเดียว โดยเฉพาะตอนที่นาจาถูกบังคับให้ฆ่าตัวตายด้วยแล้ว คนดูแทบจะร้องไห้กันทั้งโรงเลยทีเดียว
  
นาจา ถือเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่งของจีน โดยลักษณะเด่นคือ ความมีชีวิตของตัวละคร มีรักโลภโกรธหลง มีทั้งเรื่องอภินิหารและความสมจริงของอารมณ์ความรู้สึก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่นาจา จะเป็นการ์ตูนในตำนานอีกเรื่องหนึ่งของจีน

《阿凡提的故事》
“เรื่องของอาฟานถี”

ขี่ลา ท่องบ่นมนต์ เกลียดความอยุติธรรม เฉลียวฉลาดเหนือใคร เขา คือ “อาฟานถี” เพื่อนเก่าของเด็กๆหลายๆคน อาฟานถิง เป็นหนุ่มชินเกียงที่รักใครรักจริง เกลียดใครเกลียดจริง และเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ทำให้คนดูทั้งรักทั้งชังตัวเขา

“เรื่องของอาฟานถี” เป็นการ์ตูนเรื่องแรกที่ใช้ตัวละครเป็นชนกลุ่มน้อย และทำให้เด็กๆต่างฝันจะแบกเป้ท่องไปยังดินแดนทางตะวันตกของจีน ที่ขณะนั้นยังเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความพิศวง

นอกจากความเฉลียวฉลาดของ อาฟานถี และความเปิ่นๆของตัวละครอื่นที่กลายเป็นความน่ารักแล้ว เพลงในเรื่องที่มีท่วงทำนองแบบอาหรับก็ทำให้โลกทัศน์ของเด็กในยุคนั้นเปิดกว้าง รับรู้ถึงอาณาจักรอันไพศาลของจีน

《邋遢大王》
“จอมสกปรก”

เด็กชายคนหนึ่งได้ฉายาว่า “จอมสกปรก” เพราะเจ้าหนูน้อยไม่รักษาความสะอาด ทิ้งขยะเรี่ยราด แถมยังกินของไม่เลือก ด้วยเหตุนี้สายลับของอาณาจักรหนูถูกใจเจ้าหนูจอมสกปรกอย่างยิ่งจึงแอบใส่ยาลงในน้ำส้ม เจ้าหนูจอมสกปรกกินเข้าไปเลยกลายร่างเป็นคนแคระตัวเล็กเท่าหนู

เด็กน้อยจอมสกปรกเดินทางมาถึงอาณาจักรหนู แต่เด็กน้อยไม่อยากอยู่ที่นี่ จึงแอบหนีไปหลายครั้ง แต่หน่วยทหารของอาณาจักรหนูเข้มแข็งมาก จับตัวเขากลับมาได้ทุกครั้ง แท้จริงแล้วเจ้าแห่งอาณาจักรหนูต้องการครองโลก และปกครองมวลมนุษย์ เด็กน้อยจอมสกปรกก็คือ หนูทดลองของ “อาวุธเชื้อโรค” ที่อาณาจักรหนูกำลังทดลองเพื่อทำลายล้างมนุษย์

เด็กน้อยจอมสกปรกจึงต้องหาทางหนีจากอาณาจักรหนู เพื่อบอกข่าวกับชาวโลกมนุษย์ หลังจากนั้นการผจญภัยของเด็กน้อยจอมสกปรก และผองเพื่อนในอาณาจักรหนู เช่น หนูขาว แมวน้อย หมาน้อย ก็เข้มข้นขึ้น พร้อมๆกับแผนยึดครองโลกของเจ้าอาณาจักรหนู

การ์ตูนเรื่อง “จอมสกปรก” ไม่เพียงแต่ใช้แกนหลักของเรื่องที่ต้องการสอนเด็กๆให้รักษาความสะอาด มาดำเนินเรื่องแนวผจญภัยอย่างสนุกสนาน แต่นี่ยังเป็นการ์ตูนเรื่องแรกๆที่ฉายภาพของคนจริงๆ ร่วมกับตัวการ์ตูน ทำให้คนดูรู้สึกใกล้ชิดมากกว่าการ์ตูนแนวเทพนิยาย นอกจากนี้ เพลงประกอบเรื่องที่มีคำร้องว่า “เด็กสกปรก แสนสกปรกเสียจริง จอมสกปรกก็คือเขา ไม่มีใครชอบเด็กสกปรก” ก็ฮิตติดปากเด็กๆในยุคนั้นแทบทุกคน

《黑猫警长》
“สารวัตรเหมียวดำ”

การ์ตูนเเนวแมวจับหนูเรื่องนี้ สร้างขึ้นก่อนการ์ตูนดังอย่าง “ทอมแอนด์เจอร์รี่” แถมยังโลดโผนมากกว่า โดยสมมุติให้เเมวเป็นถึงตำรวจ ยิงปืน ขี่มอเตอร์ไซต์ แถมมอเตอร์ไซต์ยังเปลี่ยนเป็นเรือและเครื่องบินได้อีกด้วย นี่คือต้นแบบการ์ตูนแนว ซุปเปอร์ฮีโร่ของจีนโดยแท้ แถมเจ้าตัวร้ายอย่าง “เจ้าหูเดียว” ก็กลายเป็นคำฮิตของเด็กๆในยุคนั้นอีกด้วย

“สารวัตรเหมียวดำ” กลายเป็นขวัญใจเด็กๆ จนต้องสร้างต่อเนื่องถึง 5 ภาค เนื้อเรื่องก็ตื่นเต้นขึ้นเรื่อยๆ จากสองภาคแรกที่เป็นเรื่องตำรวจจับผู้ร้ายธรรมดา สู่ภาคสามที่สารวัตรเหมียวดำกลายเป็นนักเจรจาไกล่เกลี่ยความขัดเเย้งระหว่างหมู่มวลสัตว์ ถึงภาคสี่ที่สารวัตรเหมียวดำกลายเป็นนักสืบคลี่คลายคดีลึกลับ และภาคห้าที่เป็นการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มตำรวจเเมวกับจอมวายร้าย “ตัวกินแมว” จากแอฟริกา

《葫芦兄弟》
“เจ็ดกุมารน้ำเต้า”
  
“เจ็ดกุมารน้ำเต้า” เป็นการ์ตูนชุดยาวที่เด็กๆที่เกิดในยุค 1970-80 แทบทุกคนรู้จักดี การ์ตูนเรื่องนี้สอนให้เด็กๆรู้จักถึงความยุติธรรม และอยุติธรรม ซาบซึ้งในมิตรภาพและเรียนรู้ถึงความสามัคคี นอกจากนี้ยังสนุกสนานไปกับความเฉลียวฉลาดของกุมารน้ำเต้าทั้งเจ็ด

เล่ากันว่า ในป่าน้ำเต้าเต็มไปด้วยพิษที่ปีศาจงูและแมงป่องวางไว้ พรานป่าคนหนึ่งบุกรุกเข้าไปในถ้ำ และทำ พิษทั้งสองหก จนทำให้ชาวบ้านต่างเดือดร้อนไปทั่ว พรานป่าจึงไปขอความช่วยเหลือจากนักพรตเฒ่า นักพรตได้มอบน้ำเต้าเจ็ดผลเจ็ดสีให้ บอกว่า สามารถกำจัดพิษร้ายได้ เเต่ต่อมาเมื่อผ ลน้ำเต้าสุก กลับปรากฏเป็นเด็กน้อยเจ็ดคน หลังจากนั้นเจ็ดกุมารน้ำเต้าก็ออกผจญเหล่าร้ายเพื่อช่วยเหลืออมวลมนุษย์

“เจ็ดกุมารน้ำเต้า” ไม่เพียงเเต่ได้รับรางวัลมากมาย เเต่ยังเป็นการ์ตูนที่อยู่ในใจเด็กๆแทบทุกคน ธรรมะย่อมชนะอธรรม เป็นสิ่งที่เด็กๆเชื่อถือ “เจ็ดกุมารน้ำเต้า” ได้สร้างต่อเนื่องออกมาอีกหลายภาค โดยภาคหลังๆ ได้มี “นางเอก” เป็นเด็กสาวน้อยออกมาเพิ่มความน่ารักให้กับผู้ชมอีกด้วย

《舒克和贝塔》
“ซูเค่อกับเบต้า”

“ซูเค่อกับเบต้า” เป็นผลงานชิ้นเอกของ ราชานิยายเด็ก “เจิ้งยวนเจี๋ย” โดยเขาใช้เวลาสิบกว่าปีเพื่อเขียนนิยายเด็กขนาดความยาวกว่าหนึ่งล้านอักษรเรื่องนี้ จึงไม่แปลกที่งานชิ้นนี้จะสมบูรณ์แบบทั้งการลำดับเรื่องที่มีพัฒนาการ เนื้อเรื่องตื่นเต้น และตัวละครเต็มเปี่ยมสีสัน และจินตนาการ

ซูเค่อ เป็นหนูน้อยที่เกิดในครอบครัวโจร เเต่เขาไม่อยากจะจมปลักอยู่กับชื่อเสียงที่ฉาวโฉ่ของตระกูล จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้าน ออกไปท่องโลกภายนอก ทำงานแลกข้าวกิน

เบต้า ก็เป็นหนูอีกตัวหนึ่ง เเต่เขาเกิดมาภายใต้เงามืดของแมวที่ชื่อ “มีลี่” ที่คอยติดตามเขาไปตลอดเวลา คอยบงการทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเขา จนมาถึงวันหนึ่ง เบต้า ตกลงใจที่จะหนีไปยังดินแดนอันห่างไกล แสวงหาดินแดนที่ไม่มี แมว มาคอยบงการชีวิตเขาอีกต่อไป

โชคชะตาบันดาลให้ ซูเค่อและเบต้ามาพบกัน และกลายเป็นเพื่อนรักกัน ทั้งสองร่วมกันเปิดสายการบินซูเค่อเบต้า ให้บริการแก่สัตว์ทั้งหลาย

เเต่การทำสายการบินก็ไม่ได้ง่ายนัก เพราะเหล่าโจรสลัดคอยรังควาญมิได้ขาด ทำให้เบต้าเเละซูเค่อต้องฝ่าฝันอุปสรรคนานา เพื่อสร้างชีวิตที่สงบสุขให้กับสัตว์ทั้งหลาย

เจิ้งยวนเจี๋ย ไม่ได้บอกสาเหตุที่เเน่ชัดว่า เหตุใดจึงตั้งชื่อตัวละครต่างๆ ให้เป็นแบบตะวันตก เพราะนิยายในยุคหลังของเขาหลายเรื่องก็ใช้ชื่อตัวละครเป็นฝรั่ง อย่างไรก็ตามคุณค่าของการ์ตูนเรื่องนี้ก็เป็นคุณค่าสากลที่สอนเรื่องความเพียร มิตรภาพ ความอดทน ความกล้าหาญ และการมองโลกในเเง่ดี ซึ่งล้วนแต่เป็นคุณธรรมที่ทุกชาติภาษาใช้สอนเด็กๆ

หลังจากเปิดประเทศได้ไม่กี่ปี การ์ตูนจากต่างชาติทั้งญี่ปุ่น และตะวันตก ก็หลั่งไหลเข้าสู่จีน เด็กๆจีนจึงเริ่มรู้จักกับตัวการ์ตูนต่างชาติ เช่น อิกคิวซัง, astro boy, ทอม แอนด์ เจอร์รี่, โดราเอมอน รวมทั้ง มิกกี้ เมาส์ และเพื่อนๆจากวอลส์ ดิสนีย์



กำลังโหลดความคิดเห็น