xs
xsm
sm
md
lg

‘ซีเล็คท์ สตาร์ท’ ถูกโฉลกโดนจริตคอเพลงตามผับในสไตล์ สกายคิก เรนเจอร์/พอล เฮง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เสียงเพลงล่องลอยเคล้าคลอแสงสีของยามค่ำคืน ผ่านภาพชีวิตบันเทิงเริงรมย์อันสนุกสานานของโลกียชน เป็นฉากเจนตาในสถานกินดื่มตามผับบาร์ต่างๆ สีสันของชีวิตร่วมสมัยที่ปรากฏขึ้น ย่อมผูกโยงและบ่งสะท้อนถึงความนิยมในดนตรีและบทเพลงต่างๆ ซึ่งกลุ่มคนที่นิยมท่องราตรีชื่นชอบ

บทเพลงประจำผับจึงเป็นอีกตลาดหนึ่งที่กำลังเบ่งบานเติบโตจนนักร้องและวงดนตรีที่ทำอัลบั้มออกมาต้องทำเพลงป้อนตลาดกลุ่มนี้อย่างจงใจด้วยเช่นกัน

การขมวดปมทางดนตรีในเมืองไทย ย่อมขึ้นอยู่กับอุปสงค์อุปทานในส่วนนี้ รวมถึงทิศทางการขายเพลงนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามไลฟ์สไตล์ของผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานที่ยังท่องโลกผ่านภาพชีวิตและสีสันของดนตรีตามผับ

วงสกายคิก เรนเจอร์ เป็นอีกหนึ่งวงดนตรีที่ก้าวเดินมุ่งหน้ามาในเส้นทางนี้

อัลบั้มชุดที่ 2 ของพวกเขาที่ชื่อ ‘ซีเล็คท์ สตาร์ท’ ตอกย้ำหัวหมุดลงไปอย่างชัดเจน

การค้นพบทางเพลงที่ทำให้ตลาดคนชอบกินดื่มท่องราตรีของวงสกายคิก เรนเจอร์ คงไม่ใช่ความบังเอิญทั้งหมด แต่น่าจะมาจากจริตประจำตัวของวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ร่วมสมัยของคนเมืองอย่างแท้จริง และพวกเขาเองก้น่าจะอยู่ในขอบข่ายเหล่านั้น

จากอัลบั้มชุดแรก ‘แม่เจ้าโว้ย’ ที่ออกกับค่ายเพลงเล็กๆ ที่ชื่อว่า แซลมอน เรคอร์ดส จะเห็นได้ถึงอารมณ์ผ่านภาพลักษณ์และตัวเพลงที่มีความซ่าซน ฟุ้งซ่าน และสนุกสนานแบบอยากลองของอยู่ในที โดยพยายามอิงการนำเสนอทางดนตรีให้เป็นธีมเข้ากับชื่อของวง ซึ่งนำชื่อของท่าไม้ตายของบรรดาขบวนการยอดมนุษย์หรือซูเปอร์ฮีโร่ของญี่ปุ่นมาเป็นตัวตั้ง

บรรยากาศของดนตรีและบทเพลงในอัลบั้มชุดแรกก็เห็นความพยายามที่จะนำดนตรีในซีรีส์ของยอดมนุษย์มาจัดวางไว้ในบางเพลงเพื่อให้เข้ากับชื่อวง ซึ่งก็เป็นกิมมิคและเสน่ห์ที่ดีในระดับหนึ่ง

แต่บทเพลงที่ฮิตติดตลาดของพวกเขาคือ ‘ก่อนร้านปิด’ กับ ‘กอดได้ไหม’ ซึ่งลงสู่กลุ่มเป้าหมายคือ บรรดาคนที่ชอบสังสรรค์ท่องราตรีต่างๆ เพราะเนื้อหาของเพลงเข้ากับวิถีในการกินดื่มคลอเคล้าบรรยากาศเชิงหนุ่มเหล่สาว-สาวก็ชะม้อยชะมดหยอดให้หนุ่มในลีลาที่สอดคล้องกับตัวเพลง

เพราะฉะนั้นเมื่อมาทำอัลบั้มชุด 2 ‘ซีเล็คท์ สตาร์ท’ กับค่ายแบล็คชีป-โซนี่ มิวสิคก็มีบทเพลงที่ดำเนินตามรอยทางนั้นเหมือนเป็นภาค 2 เลยทีเดียว

สมาชิก 5 คนของวงสกายคิก เรนเจอร์ คือ บู๊ - วิศรุต เตชะวรงค์ (ร้องนำ) เอ๊าะ - วรรณวุฒิ วรรณารุณ (เบส) ทอง - กาจบัณฑิต สว่างคำ (กีต้าร์) กวาง - นิษฐานันท์ ไทยเจริญศรี (แซ็กโซโฟน) และ โน้ต - วีรฉัตร เปรมานนท์ (กลอง) ปัจจุบันเหลือแค่ 4 เมื่อมือเบส ซึ่งเป็นคนวางโครงดนตรีได้ลาออกไป ทำให้ชุดใหม่กลายเป็นงานที่ทั้งวงทำงานร่วมกันเต็มที่แต่ยังไม่หนีไปจากแนวทางดนตรีของชุดแรก ที่เป็นเพลงพ็อพซึ่งมีการผสมของกลิ่นอายดนตรีอาร์แอนด์บี ฟังค์ โซล อยู่เช่นเดิม

สำหรับแนวดนตรีป็อปในแนวทางของสกายคิก เรนเจอร์ ก็ไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใด เป็นการรับไม้ต่อจากเพลงป็อปอาร์แอนด์บีในแบบของเบเกอรี่ซาวด์มาอย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งทางบอย โกสิยพงษ์ ก็รับอิทธิพลของดนตรีคนผิวสีในยุทศวรรษที่ 70 ซึ่งถือเป็นดนตรีป็อปแบบคนดำของค่ายโมทาวน์มาใช้ประยุกต์ให้เข้ากับรสนิยมแบบไทยๆ และสร้างลักษณะการเอื้อนร้องลากเสียงแผลงวรรณยุกต์ขึ้นจมูกแบบไทยอาร์แอนด์บี

แต่ในทางการตลาดแบบไทยๆ กลับเรียกดนตรีในแนวนี้แบบไทยๆ ว่า ‘โมเดิร์น ป็อป’ ซึ่งจริงๆ ในตลาดเพลงของต่างประเทศก็เป็นแค่ป็อปอาร์แอนด์บีธรรมดาๆ เท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นเออร์บัน ซึ่งเป็นกระแสดนตรีพ็อพกระแสหลักของอเมริกาด้วยซ้ำ ซึ่งก็ว่ากันไปเพื่อจัดกลุ่มของคนฟังให้ชัดเจน

ภาพรวมของงานดนตรีชุด ‘ซีเล็คท์ สตาร์ท’ ไม่ได้มีความเข้มข้นในแนวทางที่นำธีมของบทเพลงประกอบยอดมนุษย์ญี่ปุ่นมาสร้างสีสันเหมือนชุดก่อน แต่ยังมีอยู่นิดหน่อยในบทเพลงแรกที่ชื่อ ‘โดราเอเม่’

ความเนียนย้วยของดนตรีที่มีอยู่ในอัลบั้มชุดที่ที่ผสานความเป็นป็อปซาวด์ที่รับอิทธิพลทางเพลงแบบเบเกอรี่ซาวด์ โดยเฉพาะกลิ่นของดนตรีอาร์แอนด์บี, โซล และดิสโกเข้ามาพองามอย่างเป็นเอกภาพทั้งอัลบั้ม จุดเด่นอยู่ที่การใช้เสียงแซกโซโฟนเป็นเมโลดี้เด่นนำอารมณ์เพลงและมีเสียงร้องที่ยังไม่หลุดบุคลิกเสียงของนักร้องในวงดนตรีสายทางนี้ที่มาก่อนอย่าง อย่าง โซล อาฟเตอร์ ซิกซ์’, ‘กรู๊ฟ ไรเดอร์ส’, ‘อีทีซี’, ‘ลิปตา’ เป็นต้น แต่จากความเป็นธรรมชาติของเนื้อเพลงที่บ่งบอกถึงวิธีคิดและตัวตนชัดเจน ซึ่งพูดถึงชีวิตสีสันความรักของคนร่วมสมัยในเมืองใหญ่ ทำให้เขามีทิศทางที่ชัดเจนขึ้นมาในสไตล์อินดี้เพลงเพื่อผับ

บทเพลง ‘ขอจีบนะ’ ก็เป็นบทเพลงภาคต่อของบทเพลงฮิตในชุดแรก ‘ก่อนร้านปิด’ มีความมุ่งหมายที่เด่นชัดว่า บทเพลงถือธงนำเอาให้ฮิตติดตลาดสำหรับนักท่องราตรีกินดื่มเวลากลางคืนได้อย่างแน่นอน เพราะสร้างทำให้นักดนตรีที่เล่นดนตรีอาชีพกลางคืนแกะไปเล่นได้ทั้ง 2 เพลงที่ต่อเนื่องกันเพื่อเอาใจลูกค้า หรือเปิดในผับตามจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมเพื่อสร้างอารมณ์ของการหาคู่ในยามค่ำคืนให้กันและกัน

แน่นอนบทเพลงอื่นๆ ก็ตอบโจทย์นี้อยู่ไม่มากก็น้อย ด้วยเชิงดนตรีและเนื้อหาที่สามารถสานต่อกันได้ พิมพ์นิยมเพลงป็อปที่ผสานเอากลิ่นอายของดนตรีอาร์แอนด์บี โซล ฟังค์ และดิสโก ก็ถือเป็นบทเพลงกระแสหลักที่นิยมเล่นกันตามผับต่างๆ ถือเป็นโจทย์ที่วงสกายคิก เรนเจอร์ ตอบได้กระจ่างแจ่มแจ้งอย่างมาก

บทเพลง ‘ขี้เกียจ’ จัดได้ว่าเป็นเพลงบัลลาดพ็อพที่มีกลุ่มเครื่องเป่าล้อไล่สำเนียงเหงาโดยลากยาวกับเสียงร้องที่พยายามกรีดเข้าไปให้โดนกลางใจของความเศร้าระทม เนื้อเพลงที่เขียนออกมาล่อแหลมอยู่พอประมาณในการที่จะทำให้คนอกหักหมดหนทางยิ่งโศกรันทดเข้าไปหนักหนาอีก โดยเฉพาะท่อนที่ร้องว่า ‘ขี้เกียจจะหายใจแล้ว ไม่อยากจะหายใจแล้ว อยากจะหายตัวหายไปจากโลกนี้’ เมื่อยิ่งเพิ่มท่อนคอรัสโดยผู้หญิงประสานเสียงซ้ำเข้าไปอีก นั่นก็หมายความว่า อยากตายสถานเดียว

จากบทเพลงทั้งหมดในอัลบั้ม ‘ซีเล็คท์ สตาร์ท’ สะท้อนให้เห็นว่า ทิศทางของวงอินดี้ที่ก้าวขึ้นมาเป็นกระแสในปัจจุบันก็ยังไม่หลุดจากร่มเงาเก่าของวงที่มาก่อนหน้านี้ เพียงแต่เพิ่มมิติสีสันใหม่เพื่อต่อยอดจากบทเพลงของวงแนวเดียวกันที่มีเพลงฮิตร้องกันสนั่นตามผับ

เพียงแต่ สกายคิก เรนเจอร์ ใช้ลูกเล่นการขายเพลงส่งตรงถึงกลุ่มลูกค้าที่นิยมท่องราตรีตามผับอย่างไม่ปิดบังอ้อมค้อมเพียงเท่านั้นเอง
...
คอลลัมน์ โดนตรง-ดนตรี
พอล เฮง
paulheng_2000@yahoo.com

กำลังโหลดความคิดเห็น