xs
xsm
sm
md
lg

ทรูฯเปิดทางเอเอฟหากินนอกค่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทรู แฟนทาเชีย ปรับแผนบริหารศิลปิน ตีสนิทร่วมงานได้ทุกค่าย งานเพลงชูขายเป็นซิงเกิ้ลแทนอัลบั้ม ครึ่งปีจัดโชว์บิซใหญ่แค่ 2 งาน รับเศรษฐกิจทรุดและไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนไป ดึงมือดี 3โปรดิวเซอร์ โอม-บอย-พู สร้างจุดขายให้ศิลปินใหม่

นายธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด เปิดเผยว่า จากความสำเร็จการจัดการแข่งขัน ทรู อะคาเดมี่ แฟนทาเชีย ตลอด 5 ปี ทำให้มีการสร้างศิลปินขึ้นมากว่า 60 คน ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาได้เปิดบริษัท ทรู แฟนทาเชีย ขึ้นมาดูแลบริหารจัดการกลุ่มนักล่าฝันทั้ง 5 ปี แต่หลังจากที่นายกิติกร เพ็ญโรจน์ กรรมการผู้จัดการได้ลาออกไป ล่าสุดทรูวิชั่นได้ให้นายอาจกิจ สุนทรวัฒน์ เข้ามาดูแลแทนในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรู แฟนทาเชีย จำกัด พร้อมทั้งวางแนวทางให้กับทรู แฟนทาเชีย

นายอาจกิจ สุนทรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรู แฟนทาเชีย จำกัด กล่าวว่า แนวทางการทำงานเบื้องต้นของทรู แฟนทาเชีย เน้นบริหารจัดการศิลปินเอเอฟให้มีบทบาทและผลงานจากเดิมมากขึ้น ทั้งในเรื่องของงานเพลง คอนเสิร์ตและละครเวที พรีเซ็นเตอร์ และการไปมีผลงานในต่างประเทศ โดยศิลปินเอเอฟทั้งหมด สามารถร่วมงานได้ทุกค่ายทุกสังกัด

ในส่วนของงานเพลง ปีนี้ได้โปรดิวเซอร์ 3 คน ทั้งแบบโปรเจกต์ บาย โปรเจ็กต์ และแบบระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นโอม-ชาตรี คงสุวรรณ, บอย โกสิยพงษ์ และชมพู-สุทธิพงษ์ วัฒนจัง ซึ่งจะมาช่วยจัดการศิลปินให้ตรงกับแนวทางเพลง พร้อมทั้งแต่งเพลงให้กับศิลปินเอเอฟ ซึ่งแนวทางงานเพลงในปีนี้จะเน้นออกเป็นแบบซิงเกิ้ลมากกว่าที่จะออกเป็นอัลบั้ม หรือ 50-60ซิงเกิล

ขณะที่อัลบั้มเพลงจะมีน้อยลง เป็นลักษณะการรวมเพลงเป็นอัลบั้มมากกว่าอัลบั้มเดี่ยวของแต่ละศิลปิน จากปีก่อนที่มีถึง 10 อัลบั้ม ปีนี้น่าจะมีเพียง 3-4 อัลบั้ม ภายใต้งบการตลาดเพื่อการโปรโมตใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 30-50 ล้านบาท คาดว่าจะมีรายได้จากดิจิตอลมีเดียได้เป็นอย่างดี เพราะปัจจุบันไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนไป การดาวน์โหลดเพลงฟัง มีความนิยมสูงกว่าซื้อแผนซีดี

ในส่วนโชว์บิซ ระยะเวลาครึ่งปีนี้ จะมีการจัดคอนเสิร์ตใหญ่เพียง 1 งาน และมีคอนเสิร์ตร่วมกับค่ายเพลงอื่นอีก 1 งานเท่านั้น หรือทั้งปี 3-4 งาน น้อยกว่าปีก่อนเล็กน้อย เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันปีนี้จะมุ่งเน้นบริหารจัดการศิลปินในรูปแบบพรีเซ็นเตอร์มากขึ้น เพราะมีแนวโน้มเติบโตสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น