xs
xsm
sm
md
lg

ตอกตราผี : ที่ล้มเหลวในเรื่องผี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

จาก Ju-on มาจนถึง “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” หรือจาก The Ring มาจนถึง “แฝด” เป็นที่น่าสังเกตว่า หนังแนวสยองขวัญของเอเชี่ยนในช่วงเวลาร่วมๆ 10 ปีมานี้ดูเหมือนจะถูกจองจำให้อยู่ในแบบเบ้าอันหนึ่งซึ่งต่อมา มันได้กลายเป็นแพทเทิร์นที่คนทำหนังแนวนี้พากันเดินตามเป็นทิวแถว มันเหมือนกับการที่คนคนหนึ่งสามารถคิด “สูตร” ขึ้นมาได้สูตรหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นก็มีคนเอาไปใช้ต่อได้อีก


นั่นจึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด ถ้าเราได้ดูหนังอย่าง “แฝด” หรือ “ชัตเตอร์” แล้ว เราจะรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเห็นอะไรๆ ทำนองนี้มาแล้วใน Ju-on ใน The Eye หรือในเรื่องอื่นๆ ที่ผลิตออกมาก่อนหน้า แน่นอนครับว่า ที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้ เกี่ยวข้องกับเรื่องของ “เทคนิควิธีการ” ล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับตัว Story (เรื่องราว) หรือ Content (เนื้อหา) ของหนังที่ย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละเรื่อง

เทคนิควิธีการที่ผมพูดถึง นอกจากเรื่องของ “จังหวะ” ในการเข้าออกของฉากระทึกขวัญ อีกสิ่งหนึ่งซึ่งถูกใช้สอยอย่างประสบความสำเร็จ (ในยุคแรกๆ ก่อนจะถูกใช้กันจนเกร่อในที่สุด) ก็คือ ซาวด์เอฟเฟคต์ (Sound Effect) ซึ่งกลายมาเป็นเสมือนแบบเบ้าหรือสูตรสำเร็จแบบหนึ่งในการ “ผลิตความกลัว” ป้อนคนดู ที่ไม่ว่าคนทำหนังคนไหนก็ดูเหมือนจะสามารถหยิบเอาไปแปะในผลงานของตัวเองได้

จะว่าไป บทบาทของซาวด์เอฟเฟคต์นี่มีผลมากเลยนะครับกับหนังผีหรือหนังสยองขวัญในยุคหลังๆ มานี้ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะพิสูจน์ได้ก็คือ ถ้าคนคนหนึ่งดูหนัง Horror สักเรื่องโดยการปิดเสียง (หมายถึง ดูแต่ภาพ) จะได้อารมณ์เหมือนกับตอนที่เปิดฟังเสียงไปด้วยหรือไม่? ความกลัวจะลดลงหรือเปล่า?

เหนืออื่นใด ผมสังเกตว่า อารมณ์ที่ได้จากหนังผีขายจังหวะหรือเทคนิคซาวด์เอฟเฟคต์ ส่วนใหญ่เป็นแค่เพียงความ “ตกใจกลัว” ในชั่วขณะหนึ่งจากความตึงๆ ตังๆ ผ่างๆๆ ของเสียงประกอบที่หนังอัดใส่หูเรา แต่ไม่ใช่ความ “น่าสะพรึงกลัว” ที่จะติดแน่นอยู่ในหัวของเราไปอีกนาน เหมือนความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการดูหนังของอัลเฟรด ฮิทช์ค็อก หรืออย่างล่าสุด กับเรื่อง The Orphanage ที่แม้จะไม่มีซาวด์ประกอบตามสูตรหนัง Horror แต่บรรยากาศและคอนเซ็ปต์ของหนัง รวมทั้งบุคลิกท่าทางการเคลื่อนไหวของตัวละคร กลับสร้างความรู้สึกหลอนได้อย่างน่าประหลาด (หนังแบบนี้ แม้จะไม่มีเสียงประกอบเลย ก็สามารถความรู้สึกน่าสะพรึงกลัวให้เกิดกับผู้ชมได้)

ครับ, ที่เกริ่นมาทั้งหมด ไม่ได้จะกล่าวโทษหรือให้ร้ายหนังที่เน้นซาวด์เอฟเฟคต์แต่อย่างใด เพราะหนังสยองขวัญที่ใช้สอยซาวด์เอฟเฟคต์ได้ยอดเยี่ยมก็มีให้ดูอยู่เยอะแยะ และที่สำคัญ มองกันอย่างเข้าอกเข้าใจ มันก็คือวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของวงการหนัง ที่เหลือนอกจากนั้น ใครจะทำออกมาเวิร์กหรือไม่เวิร์กอย่างไร ค่อยไปว่ากันอีกที และไหนๆ ก็มองในมุมนี้แล้ว ผมจึงขออนุญาตออกความเห็นไว้ในบรรทัดนี้ก่อนเลยว่า “ตอกตราผี” หนังสยองขวัญเรื่องใหม่ที่เข้าฉายอยู่ในตอนนี้ค่อนข้างมีปัญหาในการใช้ซาวด์เอฟเฟคต์...

โดยโปรเจคต์ที่มา “ตอกตราผี” (The Fatality) มีความน่าสนใจอยู่ในหลายๆ จุด เพราะต่อให้เราจะแกล้งๆ ลืมไปก่อนว่า นี่คือหนังที่ร่วมทุนสร้างระหว่างไทยกับไต้หวัน ก็ยังมีส่วนอื่นๆ ที่น่าดึงดูดใจอยู่ เช่น ตัวของนักแสดงอย่าง “เคนจิ วู” (ที่ว่ากันว่าเป็น) นักร้องหนุ่มซูเปอร์สตาร์ของไต้หวันนั้นก็น่าจะมีแฟนคลับไม่น้อยในเมืองไทย (แน่นอนว่า แฟนคลับเหล่านี้ก็คือเป้าหมายหนึ่งของหนัง) พ้นไปจากนี้ นี่คือการรีเทิร์นสู่จอเงินอีกครั้งของดาราสาวที่นักข่าวเคยตั้งฉายาให้ว่าเจ้าแม่หนังผี “เมย์-พิชญ์นาฏ สาขากร” ที่ร้างลาจอหนังไปหลายปี

ด้วยฝีมือการกำกับภาพยนตร์เป็นเรื่องที่ 5 ของ ทิวา เมยไธสง (นอกจากเรื่องนี้แล้ว ปีนี้ ผู้ชมจะได้สัมผัสกับผลงานของเขาอีกหนึ่งเรื่อง คือ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อคน) “ตอกตราผี” มาพร้อมกับพล็อตประหลาดๆ ที่เล่าถึง “เหอซื่อหยง” หนุ่มชาวไต้หวันที่ฆ่าตัวตายในไต้หวัน แต่วิญญาณของเขากลับมาฟื้นขึ้นในร่างของหนุ่มไทยชื่อ “อัศนี” ที่นอนป่วยเป็นเจ้าชายนิทรามาหลายเดือน ซึ่งไม่เพียงจะสร้างความประหลาดใจให้กับ “ณกุล” (เมย์-พิชญ์นาฏ) อย่างมากมายเท่านั้น แต่การได้เข้าไปอยู่ในร่างของคนอื่น มันยังทำให้เหอซื่อหยงได้พบเจอกับเรื่องแปลกๆ ที่เหนือความคาดหมายอีกมากมายตามมา

เนื่องจากเป็นหนังลูกผสมไทย+ ไต้หวัน “ตอกตราผี” จึงเป็นหนังพูดสองภาษาทั้งไทยและไต้หวัน (ผมอยากฝากบอกคนวางซับไตเติ้ลหนังเรื่องนี้นิดนึงครับว่า บางจังหวะ ซับไตเติ้ลดูรีบๆ เกินไปหน่อยไหม จนอ่านเกือบไม่ทัน ทั้งที่จริงๆ หนังก็ไม่ได้เปลี่ยนฉากเร็วอะไรขนาดนั้น และที่สำคัญ บางช่วงที่ฉากหนังเป็นสีขาว ตัวหนังสือของซับไตเติ้ลที่เป็นสีขาวก็จมหาย อ่านไม่ได้เลย)

ไม่ว่าจะอย่างไร สัมผัสแรกที่พบเห็น ผมว่า “ตอกตราผี” เปิดตัวได้ค่อนข้างน่าสนใจตรงที่พูดถึงชีวิตของชายหนุ่มไต้หวันวัยใกล้เลขสาม แต่ยังไม่เป็นโล้เป็นพายอะไร ดูๆ ไปก็ไม่ต่างกับตัวละครพวก Loser (ขี้แพ้) ทั้งหลายที่เอาดีกับชีวิตไม่ได้สักอย่าง ผมไม่รู้ว่าสภาพของสังคมไต้หวันเป็นอย่างไรจริงๆ แต่จากปากคำของเหอซื่อหยงที่พูดย้ำๆ ว่าเขาอายุใกล้สามสิบแต่ยังไม่มีอะไรเป็นหลักเป็นฐานเลยนั้น มันเหมือนกับว่า ถ้าคนคนหนึ่งอายุสามสิบแล้วยังหาที่อยู่ที่ยืนให้กับชีวิตไม่ได้ ถือว่าล้มเหลว มันคือ “แรงกดดัน” รูปแบบหนึ่งซึ่งทำให้เหอซื่อหยงรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าความหมายจนนำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตายในที่สุด

อย่างไรก็ตาม หนังนำเสนอชีวิตของเหอซื่อหยงแบบผ่านๆ เพื่อนำคนดูเข้าสู่เนื้อเรื่องหลักที่เกิดขึ้นในเมืองไทย และปัญหาของหนังก็เริ่มเปิดเผยออกมาให้เห็นทีละจุดสองจุด แน่นอนที่สุด สิ่งหนึ่งซึ่งผมเกริ่นไว้แล้วในตอนต้นก็คือ เรื่องของซาวด์เอฟเฟคต์ที่หนังอัดใส่หูคนดูเวลาปล่อยฉากระทึกหรือฉากที่ตัวละครเอกเผชิญหน้ากับผี ซึ่งมันถี่และเยอะมากจนดูรกรุงรัง มันเหมือนหนังแอ็กชั่นจำนวนหนึ่งที่เข้าใจผิดๆ ว่าการใส่ฉากตูมๆ ตามๆ ให้มากๆ คือการทำให้หนังดูสนุกดูมัน ซึ่งอันที่จริง ไม่ใช่เลย เพราะสิ่งเหล่านี้ ต้องอาศัย “จังหวะเวลา” ในการปล่อยที่เหมาะสมด้วย เพราะฉะนั้น จากเสียงผ่างๆๆ ที่หนังใส่เข้ามาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แทนที่จะสร้างความตกใจให้คนดู จึงเป็นเพียงการโชว์ซาวด์เอฟเฟคต์ที่ไร้ผลโดยสิ้นเชิง เพราะความมากและเยอะเกินไป

ขณะเดียวกัน เมื่อมองไปยังส่วนของเนื้อหา ผมเห็นว่า “ตอกตราผี” มีอัตราความเสี่ยงสูงมากในการที่จะทำให้คนดูไม่เข้าใจ หรือเข้าไม่ถึงแก่นสารที่ผู้กำกับนำเสนอว่าต้องการจะบอกอะไรจริงๆ เรื่องราวที่หนังเล่าก็ดูแกว่งๆ เหมือนตัดสินใจไม่ได้จะเอาตรงไหนเป็นจุดใหญ่ใจความดี เพราะแรกเริ่มเดิมที จากเรื่องราวของชายหนุ่มที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย ไปสู่เรื่องของชายที่อยู่ในร่างคนอื่น ถัดจากนั้น เราพบว่า นอกจากเขาจะมองเห็นผี (สไตล์เดียวกับ The Eye) แล้ว เขายังสามารถทำให้ใครสักคนตายไปก็ได้ โดยมีเครื่องมือสำคัญคือ “ตราประทับ” สำหรับ “ตอก” ลงบนใบมรณะบัตร (หมายถึง เขียนใบมรณะบัตรของใครสักคนขึ้นมาแล้วปั๊มตราที่ว่านั้นลงไป เจ้าของชื่อบนใบมรณะบัตรนั้นก็จะตายทันที) ฯลฯ

สรุปอย่างย่นย่อก็คือว่า เรื่องราวของหนังขาดพลังทั้งในการผูกเรื่องและเล่าเรื่องที่ไม่รู้ว่าจะเน้นอะไรจุดไหน และอีกสิ่งหนึ่งซึ่งผมเชื่อว่า หนังน่าจะกระทำกับคนดูผู้ชมเยอะพอสมควรก็คือ การสร้างความงุนงงสงสัยในสิ่งที่หนังเล่าว่ามันเป็นไปได้ยังไง และ/หรือ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?

ถามว่า แล้วแก่นแกนของหนังเรื่องนี้อยู่ตรงไหน? หรือว่ามันไม่มีเนื้อหาอะไรเลย?

ครับ, กับประเด็นนี้ ผมอาจจะคิดผิด หรือตีความไปเอง แต่สิ่งหนึ่งซึ่งดูเหมือนว่าหนังจะย้ำๆ อยู่เรื่อยๆ ก็คือเรื่องของ “ตัวตน” ของคนแต่ละคน ผ่านสิ่งของและสัญลักษณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตราประทับบนไหล่ (ซึ่งมีลวดลายแบบกงล้อธรรมจักรในศาสนาพุทธ) หรือแม้แต่ใบมรณะบัตร ทั้งหลายเหล่านี้คือสิ่งที่ช่วยยืนยัน Identity (ตัวตน) ของคนได้ หรืออย่างน้อยๆ ก็บอกว่าเป็นใครมาจากไหน ขณะเดียวกัน ตัวละครแต่ละคนก็ดูเหมือนจะมี “ความไม่ปกติ” ในตัวตนของตัวเองด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งเหอซื่อหยงที่พลัดหลงเข้ามาอยู่ในตัวตนของคนอื่น ทั้งณกุลที่ตัวตนบางด้านถูกปิดบังอำพราง (เดี๋ยวผมจะว่าถึงตัวละครตัวนี้อีกที) รวมไปจนถึง “อัศนี” ที่ถูกผีเหอซื่อหยงขโมยร่างกาย (ความหมายของมันก็คือการขโมย “ตัวตน”) หรือแม้แต่ “สแตนลี่ย์” (แม็ตต์ วู) จิตแพทย์หนุ่มที่ก็ไม่โปร่งใสในแง่ของตัวตนที่มาเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผมไม่เข้าใจว่า หนังนำเสนอประเด็นแบบนี้มาเพื่ออะไร หรือจะบอกอะไรกับคนดู นี่คือความคลุมเครือของหนังที่ไม่เคลียร์คัตชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อหนังเดินทางไปถึงตอนจบพร้อมบทสรุปสั้นๆ จากเสียงพึมพำของตัวละครตัวหนึ่งซึ่งพูดถึงเรื่อง “ตัวตน” ด้วยแล้ว ผมว่า คงไม่เฉพาะผม แต่คนดูเกือบทุกคนก็น่าจะอึ้งไปเหมือนกันว่า มันคืออะไร หรือเกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่เล่ามาทั้งหมด

ว่ากันอย่างถึงที่สุด ขณะที่หนังพยายามจะมี “ความลึก” ในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นของตัวตน ผมกลับมองเห็นว่า สิ่งที่เป็นกระดูกสันหลังของหนังเรื่องนี้จริงๆ และหนังทำได้ดี ไม่ใช่ความเป็นหนัง “ผี” (ที่โผล่หน้ามาพร้อมซาวด์เอฟเฟคต์โฉ่งฉ่างอย่างไร้ศิลปะในการหลอก!) แต่อยู่ที่แง่มุมเชิง Suspense (ลึกลับสืบสวน) โดยมีตัวละครอย่าง “ณกุล” (และหนุ่มชู้รักของเธอ) เป็นตัวขับเคลื่อนเนื้อหาในส่วนนี้ และในหลายๆ ซีน หนังก็ดูเหมือนจะพยายามเลียบๆ เคียงๆ ส่งเสียงบอกกับคนดูอยู่เรื่อยๆ ว่า มันมีความไม่ชอบมาพากลบางอย่างอยู่ในตัวละครตัวนี้

ในหลายๆ ซีนที่ว่านั้น มีซีนหนึ่งซึ่งผมคิดว่าเป็นซีนที่ดีที่สุดของหนังเรื่องนี้ นั่นก็คือ ตอนที่กล้องจับภาพใบหน้าของณกุลโดยจงใจให้ซีกหนึ่งถูกแสงส่องสว่าง (Light) แต่อีกด้านถูกบังแสงจนดูมืด (Dark) ซึ่งหากมองตามหลักของการจัดแสง ช็อทนี้ก็แสดงให้เราเห็นอย่างเด่นชัดว่า ตัวละครตัวนี้มี “ตัวตน” สองด้านอยู่ในตัวเอง หนึ่งคือเปิดเผย อีกหนึ่งคืออำพรางซ่อนเร้น และมันก็เกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับแง่มุมเชิง Suspense ที่หนังซ่อนไว้ได้ค่อนข้างเนียน และทำให้คนดูเซอร์ไพรซ์ได้เมื่อหนังคลี่คลายความจริง

เมื่อเป็นเช่นนี้ จากความน่ากลัวที่คาดหวังว่าน่าจะเกิดจากการได้เห็นผีออกมาหลอกหลอน หนังเหมือนจะทิ้งท้ายเอาไว้ว่า เอาเข้าจริงๆ ไม่ใช่ผีหรอกที่น่ากลัว แต่ “คนเป็นๆ” นั่นต่างหากที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่า (ถึงแม้ชื่อหนังจะมีคำว่า “ผี” รวมไปถึงเรื่องราวที่มี “ผี” อยู่จริงๆ ทว่าเนื้อหาของหนังกลับพูดเรื่องของคนได้ชัดถ้อยชัดคำที่สุด) แต่ก็อีกนั่นแหละ ผมไม่รู้ว่า คอหนังผีจะรับได้กันแค่ไหน เพราะลงทุนเข้าไปดูหนังผีทั้งที ก็อยากจะโดนผีหลอกด้วยกันทั้งนั้น จริงไหม?
กำลังโหลดความคิดเห็น