หลังจากออกปากไปว่าหนังอย่าง “แฟนเก่า” มันดูไม่หลอนและไม่น่ากลัว ไว้ในบทความชิ้นที่แล้ว ก็มีคุณผู้อ่านหลายๆ ท่านเข้ามาคอมเมนต์พร้อมเอ่ยชื่อหนังผีไทยที่ดูแล้วกลัวประทับจิตหลอนประทับใจกันหลายต่อหลายเรื่อง และในบรรดาหนังผีที่ถูกเอ่ยถึงเหล่านั้น ก็มีอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งดูเหมือนว่าจะมีคนบอกชอบเหมือนกันเยอะสุด
แน่นอนครับ ในขณะที่เรากำลังรอคอยว่า “5 แพร่ง” จะหลอนสมคำร่ำลือหรือจะหลอกได้ “เฮี้ยน” ถึงร้อยล้านบาทหรือไม่นั้น สัปดาห์นี้ ผมขออนุญาตคั่นเวลาด้วยการพูดถึงหนังผีที่เป็นงานเก่าๆ เรื่องหนึ่งซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็น “หนังผีในดวงใจ” ของคุณผู้อ่านหลายๆ ท่านในเว็บบอร์ดแห่งนี้
เปนชู้กับผี คือหนังเรื่องนั้น...
มีเหตุผลหลายข้อที่อธิบายได้ว่า เพราะอะไร ใครต่อใครถึงชอบหนังเรื่องนี้ เพราะต่อให้ไม่นับรวมความหลอนระทึกขวัญที่หนังเสิร์ฟคนดูได้อย่างไม่มีอันใดให้ต้องผิดหวังนั้น ผมคิดว่า หนังจัดวางตัวเองได้ดี ในตำแหน่งที่ก่อให้เกิด “ความรู้สึกใกล้ชิด” ระหว่างตัวเองกับคนดู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของบรรยากาศที่ “สัมผัสจับต้องได้” โทนฉากของหนังซึ่งเน้นความเป็นไทยๆ ก็คือ “ประสบการณ์ใกล้ตัว” ที่สร้างอารมณ์ร่วม-อารมณ์หลอนจากคนดูได้ไม่ยาก
หนังผีที่ประสบความสำเร็จมากๆ อย่าง “นางนาก” เอย “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” เอย ถ้ายังไม่ไปแตะที่ตัวเนื้อหาหรือว่าบทภาพยนตร์ เราจะพบว่า มันล้วนแต่มีสิ่งที่เรียกว่า “ประสบการณ์ใกล้ตัว” เป็นต้นทุนด้วยกันทั้งสิ้น เพราะในขณะที่นางนากเล่นกับฉากโลเกชั่นแบบท้องถิ่นไทย (ลำคลอง ป่าไม้ ไปจนถึงอาคารบ้านเรือนและวัดวาอาราม) ที่ดูมีความ “ลึกลับวังเวง” อยู่ในตัวเองโดยไม่ต้องเติมแต่งศัลยกรรมอะไรให้วุ่นวาย อาศัยเพียงการจัดแสงเงานิดๆ หน่อยๆ...ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ก็ใช้สอย “กล้องถ่ายรูป” ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนดูผู้ชมเป็นตัวส่งผ่านความลึกลับหลอกหลอน
จริงๆ ผมนึกไปถึงคำพูดของเพื่อนๆ บางคนที่บอกว่า หนังผีของค่ายหนังอย่างจีทีเอชที่ประสบความสำเร็จได้เรื่อยๆ นั้นเป็นหนังผีที่ “มีคาแรกเตอร์” ซึ่งอาจจะยากต่อการทำความเข้าใจอยู่สักหน่อย แต่ถ้าไม่ใช้คำนี้ ผมก็ยังคิดออกอยู่อย่างเดียว คือ มันเป็นการขายประสบการณ์ใกล้ตัวของคนดู ไม่ว่าจะเป็น “ผีในภาพถ่าย” ในเรื่องชัตเตอร์ ผีโรงหนังในเรื่องโปรแกรมหน้าวิญญาณอาฆาต หรือแม้กระทั่งผีในโรงเรียนอย่างในเรื่องเด็กหอ และจะเห็นชัดอีกมากใน 5 แพร่งซึ่งมีตั้งแต่ผีเต็นท์รถไปจนถึงผีในโรงพยาบาล
อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ใกล้ตัวนั้นยังไม่ใช่ตัวชี้ขาดตัดสินซะทีเดียวว่าหนังผีเรื่องไหนจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว เพราะอย่าลืมว่า ที่ผ่านๆ มา ก็มีหนังผีบ้านเราหลายๆ เรื่องที่ใช้ “ประสบการณ์ใกล้ตัว” เป็นองค์ประกอบ แต่กลับล้มเหลวในการเป็นหนังดี อย่างเช่น “ผีช่องแอร์” ที่เล่นกับเครื่องปรับอากาศซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป หรือแม้แต่ “ผีไม้จิ้มฟัน” ที่เล่นกับความเชื่อศรัทธาของคนในสังคม แต่เราก็ยังไม่สามารถเรียกหนังเหล่านี้ว่า “หนังที่ดี” ได้ และคนดูดูแล้วก็ยังไม่รู้สึกว่ามันน่ากลัวอีกต่างหาก (ตอนดู “ผีช่องแอร์” ผมรู้สึกออกจะขำๆ ด้วยซ้ำไปกับวิธีการปล่อยผีที่ไร้ชั้นเชิงเอามากๆ เพราะถึงแม้หนังจะหยิบยืมสไตล์ผีคืบคลานแบบ Ju-On มาใช้ แต่ก็ดูไม่เวิร์กเอาซะเลย)
คำถามก็คือ เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น??
แน่นอนครับ ทุกๆ คนก็คงคิดแบบเดียวกัน คือ หนังผีดีๆ ที่น่าจดจำ ไม่ใช่ว่านึกจะไปหยิบ “ประสบการณ์ใกล้ตัว” ของคนดูมานำเสนอแบบสุ่มสี่สุ่มห้าได้ เพราะทั้งนี้ทั้งนั้น มันยังต้องมีอีกสิ่งหนึ่งเป็น “กระดูกสันหลัง” กำกับอยู่ด้วย
กระดูกสันหลังที่ว่านั้นก็คือ บทหนังที่ดี แน่นอนล่ะ สำหรับ “เปนชู้กับผี” ที่ใครต่อใครรักและชอบนักหนานั้น จุดแข็งอย่างหนึ่งของมันก็คือ บทหนังครับ...
ตอนที่ “เปนชู้กับผี” เข้าฉายในปี 2549 นั้น มีหลายๆ คนบ่นเสียดายกับวิธีการโปรโมตของค่ายไฟว์สตาร์ที่ทำตัวอย่างโฆษณา “คลาดเคลื่อน” ไปจากความเป็นจริงของหนังค่อนข้างมาก เพราะทั้งๆ ที่ดีกรีความหลอนของมันคือจุดแข็งที่น่าจะนำมาใช้โหมกระแสเรียกคนดูได้ แต่ไฟว์สตาร์กลับดูจะไปเน้นที่ความอีโรติกวาบหวิวซะมากกว่า ทั้งที่จริงๆ ฉากอย่างว่า นอกจากจะมีน้อยแสนน้อยแล้ว ว่ากันตามจริงก็ไม่ได้มีอะไรสลักสำคัญกับเนื้อหาเรื่องราวเลย (และล่าสุด ผมก็ได้มาเห็นไฟว์สตาร์เล่นมุกนี้อีกครั้งกับหนังอย่าง “นางไม้” ของคุณเป็นเอก รัตนเรือง)
คงเหมือนกับหลายๆ คน ผมคิดว่าความดีงามอย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้คือโปรดักชั่นงานสร้าง ทั้งงานภาพและการออกแบบฉากต่างๆ ที่ดูวังเวงลึกลับอันเป็นตัวขับเร่งความหลอนให้เกิดแก่คนดูได้เป็นอย่างดี พูดง่ายๆ ก็คือว่า ยังไม่ต้องไปดูหรอกว่าหน้าตาภูตผีเป็นเช่นไร เพราะลำพังแค่เพียงเห็นภาพฉากที่ผ่านการจัดแสงเงามาแล้วอย่างดี เท่านี้ก็รู้สึกเย็นวาบที่สันหลังได้แล้ว และสไตล์ของงานด้านภาพแบบนี้ ก็คือเทคนิคที่พบเห็นได้ทั่วไปในงานเขียนของ “ครูเหม เวชกร จิตกรมือเทวดา” (นักเขียนรูปและนักเขียนเรื่องผีชั้นครูผู้ล่วงลับ) ซึ่งผู้กำกับ “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” ก็บอกอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นแรงบันดาลใจให้กับหนังเรื่องนี้ของเขา
อีกอย่างที่น่าชม คือการออกแบบตัวละครของเรื่องที่แต่ละคนดูก็เหมือนจะมีความลึกลับน่าค้นหาและน่าหวาดกลัวไปด้วยในขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวละครสำคัญๆ ของเรื่องอย่างคุณสมจิต (ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา) คุณหญิงรัญจวน (สุพรทิพย์ ช่วงรังษี) ไปจนถึงตัวละครเล็กๆ แบบยายเอิบและเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่เราจะไม่มีวันรู้เลยว่าเธอเป็นใครมาจากไหนจนกว่าจะถึงตอนท้ายของเรื่อง นั่นยังไม่นับรวมถึงแอ็คติ้งของ “นวลจัน” (ศิรพันธ์ วัฒนจินดา) ที่ทำให้เรารู้สึกราวกับว่ามันคล้ายกับมี “อะไรบางอย่าง” คอยจับจ้องมองเธออยู่ตลอดเวลา
เหนือสิ่งอื่นใดที่พูดมาทั้งหมด บทหนังซึ่งเขียนโดยคุณก้องเกียรติ โขมสิริ ก็ดู “แน่น” และ “แข็งแรง” เพราะไม่เพียงแค่จะแพรวพราวไปด้วยการหักมุมเซอร์ไพรส์ (คล้ายกับเรื่องผีของครูเหม เวชกร อีกเช่นกัน) แต่ยังแฝงใส่ความมีสาระได้อย่างลงตัว ทั้งเรื่องราวความรักความผิดหวัง ความอิจฉาริษยา ไปจนถึงการรู้จักที่จะทำใจยอมรับกับความจริง...
อันที่จริง ผมเคยดู “เปนชู้กับผี” มาแล้วตอนที่มันเข้าโรงครั้งแรกเมื่อปี 2549 แต่เมื่อ 4-5 วันก่อน (ก็ตอนที่คุณผู้อ่านหลายๆ ท่านมาคอมเมนต์ว่าชอบหนังเรื่องนี้นั่นล่ะครับ) ผมหยิบหนังแผ่นเรื่องนี้มาดูอีกครั้ง สิ่งที่ผมแปลกใจก็คือ ความรู้สึกเดิมๆ เหมือนตอนที่ได้ดูรอบแรกนั้น ยังคงไม่จางหายไปไหน
ไม่รู้สิครับ ผมรู้สึกว่า ปีนี้ หนังผีกี่เรื่องต่อกี่เรื่องที่ทำออกมา อย่าว่าแต่ดูซ้ำ 2-3 รอบเลยครับ ขนาดดูแค่รอบเดียวก็แทบจะไม่จบอยู่แล้ว เพราะนอกจากจะไม่สนุก มันยังไม่น่ากลัวสมกับที่เรียกตัวเองว่าเป็นหนังผีอีกต่างหาก “บุปผาราตรี 3” รึก็งั้นๆ “แฟนเก่า” ก็เฉยๆ (อ่านข่าวหนุ่มฟิลิปปินส์โดนแทงตายเพราะไม่รู้จักเพลงของ Wonder Girls ยังสยองกว่าเป็นหลายเท่า) ไม่ต้องพูดไปถึง “กระสือฟัดปอบ” หรือ “ผีตุ๋มติ๋ม” ที่บอกว่าเป็นหนังผีบวกตลก ก็สอบตกทั้งเรื่องความน่ากลัวและความขำชนิดที่ดูไปเสียดายตังค์ไป
ดังนั้น การได้กลับไปดูหนังเก่าๆ ดีๆ จึงเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งสำหรับชั่วโมงปัจจุบันที่หาหนังดีๆ ดูไม่ได้ และถ้าหนังผีดีๆ ไม่ว่าจะดูกี่รอบต่อกี่รอบก็ยังหลอน ผมว่า หนังอย่าง “เปนชู้กับผี” ก็คงเป็นเช่นนั้น
และว่ากันตามจริง ที่ผมบอกไว้ในชื่อบทความว่า “ทำไมใครๆ ก็กลัวหนังเรื่องนี้” นั้น คงไม่ถูกต้องซะทีเดียว เพราะจริงๆ ถ้าบอกว่า “ทำไม ใครต่อใครก็รักหนังเรื่องนี้” น่าจะเหมาะสมกว่า จริงไหม??