xs
xsm
sm
md
lg

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ภูมิปัญญาไทยที่กำลังสิ้นใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วลัยลักษณ์  พรศิริ และอ.ศรีศักร เปิดเสวนาหาทางออก
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านทางศิลปวัฒนธรรมที่อาจารย์และนักศึกษา รวมทั้งแขกบ้านแขกเมืองหลายคนยกย่องให้เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่วันนี้, พิพิธภัณฑ์แห่งนี้กำลังหมดแรง และใกล้หมดลมหายใจ เกิดอะไรขึ้นกับแหล่งรวมภูมิปัญญาของชุมชนและรากเหง้าที่มีไว้ทำความเข้าใจตนเองของคนไทย ?

"ไม่มีใครบ้าที่ไหนเดินถือไต้ฝ่าสายฝนหรอกค่ะ เพราะเขารู้ว่าเดี๋ยวมันก็จะดับ แต่นั่นคือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่" คำบอกเล่าความรู้สึกของพรศิริ บูรณเขตต์ ลูกสาวคนเล็กของจ่าทวี และไดอารีแบบถ่ายเอกสารเข้าเล่มในชื่อ "แสงไต้ในห่าฝน" คือเรื่องราวที่เธอได้บันทึกไว้ เพื่อแจกจ่ายให้กับเพื่อน พี่ และผู้ใหญ่ที่พรศิรินับถือ โดยหวังว่าอย่างน้อยผู้คนเหล่านั้นจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสุดท้ายก่อนที่พิพิธภัณฑ์จะปิดตัวลง และจากหยดน้ำตาเล็กๆ นี้เองที่กลายมาเป็นการเสวนาในหัวข้อ 'ความพินาศ? ของพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาจ่าทวี ...วิกฤตของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น' โดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ โดยมี อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม พรศิริ บูรณเขตต์, และวลัยลักษณ์ ทรงศิริ ร่วมเสวนา

'ภูมิปัญญาท้องถิ่น' เป็นคำที่เรามักได้ยินกันหนาหูมากขึ้นทุกวันในภาวะที่สังคมภาคอุตสาหกรรมกำลังล่มสลายลงอย่างช้าๆ คนจำนวนมากเดินทางเข้ามาแสวงโชคแต่กลับโดนเชือดในมหานคร และกำลังพาใจแหว่งวิ่นกลับสู่ท้องถิ่นที่จากมา "ภูมิปัญญาท้องถิ่น" ในสภาพสังคมเช่นนี้จึงไม่ต่างอะไรกับสถานพักฟื้นและบ่มเพาะทางปัญญาให้คนในชุมชนได้กลับมายืนอย่างภาคภูมิด้วยลำแข้งของตัวเองอีกครั้ง ภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้บางส่วนเก็บรักษาไว้อย่างดีในพิพิธพัณฑ์พื้นบ้านที่จัดตั้งขึ้นโดยคนในชุมชม แต่หลายปีที่ผ่านมา พิพิธพัณฑ์พื้นบ้าน ได้ล้มหายตายจากไปรายแล้วรายเล่า นั่นไม่ได้หมายถึงแค่การปิดตัวลงของพิพิธภัณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่มันยังรวมถึงภูมิปัญญาของคนในชุมชนที่กำลังเสื่อมสลายไปด้วย...

ก่อนจะถึงนาทีสุดท้าย

"ที่ผมใช้ชื่อแรงๆ เพราะว่ามันเป็นอารมณ์ ถามว่าเบื้องหลังการจัดงานนี้ขึ้นมาเพื่ออะไร ขณะที่สังคมเข้าใจเรื่องพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เขากำลังเข้าใจอย่างไร พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีมีมาหลายสิบปีแล้วก่อนที่จะมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านระบาดในประเทศไทย ที่แห่งนี้เกิดขึ้นจากที่จ่าทวีไปใช่เวลาเพ่งดูพระพุทธชินราช เห็นพระพุทธชินราชแล้วเกิดความซาบซึ้งก็เลยไปสมัครเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นศิษย์นอกรั้วของอาจารย์ศิลป์ (พีระศรี) พอมีความรู้ก็เอาความรู้แบบครูพักลักจำไปสร้างพระพุทธชินราช แล้วเอาเงินทั้งหมดจากการหล่อพระพุทธรูปขายมาสร้างพิพิธภัณฑ์ด้วยความรักที่ตัวเขาเองมีต่อเครื่องมือจับสัตว์โบราณในสังคมชาวนา ซึ่งสังคมโบราณการจับสัตว์เป็นสังคมแบบเศรษฐกิจพอเพียง แล้วจ่าทวีก็ทุ่มเทเรื่องนี้ไป ผมเลยคิดว่านี่คือความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ อย่างพิพิธภัณฑ์รุ่นหลังๆ ที่ผมไปช่วยจัดมา ส่วนหนึ่งก็คือโกดังเก็บของ เอาของมาตั้งแต่หาความหมายไม่ได้ แต่ของคุณจ่าทวีเนี่ยมีความหมายทุกชิ้น

"ผมมองว่าพิพิธภัณฑ์จ่าทวีคือภูมิปัญญา ถามว่าขณะนี้การศึกษาของเราพูดถึงว่าต้องมีภูมิปัญญาท้องถิ่น แล้วภูมิปัญญาคืออะไร นั่นคือปัญหาที่คุณต้องตั้งคำถามว่าภูมิปัญญาคืออะไร ภูมิปัญญาคือเราต้องอธิบายว่าสร้างอันนี้ขึ้นมาเพื่ออะไร แล้วในรุ่นต่อไปจะสร้างสิ่งเหล่านี้ออกมาได้ไหม ไม่มีนะครับ เพราะมันตายไปหมดแล้ว บ้านเราเปลี่ยนสภาพสังคมจากชาวนามาเป็นอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ขณะที่ตอนนี้คนตกงานแล้ว แล้วเราจะหวนกลับไปหาสังคมเกษตรกรรมไหวไหม ไปได้ แต่ไม่มีความรู้ มีความรู้แต่ไม่มีที่ เพราะเขาขายที่ซื้อเศษเหล็กกัน แล้วคุณจะกลับไปยังไง สิ่งเหล่านี้เขาจะฟื้นกลับมาได้ยังไงถ้าไม่มีอะไรเหลือไว้

"ตอนที่ผมได้ข่าวมีนายทุนยื่นข้อเสนอว่าจะให้ยืมเงินช่วยเหลือแต่ต้องเปลี่ยนผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ใหม่ ผมโกรธมาก นายทุนสามานย์พวกนี้ต้องการที่เข้ามาต่อยอดกำไรจากสิ่งที่คนคนหนึ่งทำมาตลอดชีวิตด้วยความรัก ซึ่งพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในประเทศไทยก็โดนแบบนี้ จ่าทวีทุกวันนี้เจ็บปวดยิ่งกว่าหมาเขี้ยวหลุดซะอีก และถ้าตรงนี้ตายลง คนรุ่นใหม่ที่เกิดมาไม่เกินสี่สิบปีที่มองเห็นปัจจุบันกับอนาคตแต่ไม่เคยมองอดีต จะกลับไปพัฒนาตัวเองได้ยังไง คุณไม่มีภูมิหลังไม่มีภูมิปัญญาจะไปพัฒนาตัวเองได้ยังไง แล้วเราก็โหยหาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกัน เอาของมาตั้งๆ จัดแสงสวยๆ เป็นท้องถิ่นแบบจอมปลอม ไม่มีใครมาอธิบายอย่างเข้าใจมันจริงๆ ว่ามันเกิดมาได้อย่างไร คำถามก็คือวันนี้รัฐและสังคมจะทำอย่างไรต่อไป รัฐและสังคมจะรับผิดชอบไหมกับสิ่งที่เห็นแล้วว่ามันคือภูมิปัญญาของคนไทย"
นี่คือถ้อยคำเปิดเสวนาที่ตรงไปตรงมาของคนวงในอย่าง อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่เห็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีตั้งแต่วันแรกเริ่มและจวบจนจะถึงวาระสุดท้าย

มรดกทางปัญญา เลือดตาแทบกระเด็น

"นี่คือเครื่องมือดักงูนะคะ เรียกว่าอีหัน เครื่องมือนี้ชาวบ้านนิยมเอาไปดักงู ชาวบ้านไม่นิยมตีงูเพราะเชื่อว่าถ้าตีงูหลังหักเนี่ยจะหากินไม่ขึ้น ชาวบ้านจึงนิยมเอาเครื่องมือนี้ไปวางไว้ที่ปากรูงู ถ้างูตัวเล็กออกมามันก็ลอดผ่านไปได้ แต่ถ้างูตัวใหญ่เนี่ยออกไม่ได้ พองูบิดตัวไม้ไผ่ก็บาดงูจนไส้ทะลักตาย เครื่องมือตัวนี้เรียกว่าอีหันนะคะ หนึ่งต้องการดักงู สองไม่ขัดต่อความเชื่อเพราะไม่ได้ทุบงู แต่ใช้การบาด สามฉันไม่ได้ฆ่างูนะ แต่งูออกไปฆ่าตัวตายเอง" พรศิริอธิบายถึงวิธีใช้เครื่องมือดักงูแบบโบร่ำโบราณที่มีชื่อว่าอีหันให้เด็กๆ ชั้นประถมที่เข้ามาชมพิพิธพัณฑ์กว่า 200 คนได้ฟังกันอย่างครึกครื้น หลายคนบอกว่าท่าทางและจังหวะจะโคนในการเล่าเรื่องของเธอเหมือนพ่อเข้าไปทุกวัน พรศิริยิ้มรับอย่างภาคภูมิ แต่ในวันที่ยังเป็นเด็กน้อยอยู่นั้น สิ่งที่เธอได้ยินได้เห็นเช่นเดียวกับเด็กในวันนี้เป็นสิ่งที่เธอไม่อยากได้ แต่มันอยู่ในสายเลือดมาโดยตลอด

"หนูดูพ่อพูดแบบนี้วันละเจ็ดรอบ คือแกอยากพูดให้คล่องจะได้อธิบายคนที่มาดูให้เข้าใจ ยิ่งช่วงแรกๆ ก่อนที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์ แกหายจากบ้านไปเลยทีละหลายๆ วัน กลับมาอีกครั้งก็เอาเครื่องมืออะไรไม่รู้มาเป่า ต่อกๆๆๆ เสียงเหมือนตุ๊กแก ตีสองตีสามก็ยังนั่งทดลองยังนั่งเป่าอยู่ จากนั้นก็หายไปอีกกลับมาใหม่ ต่อกๆๆๆ เออ ชักเข้าเค้า เรารู้ว่าเป็นเสียงไก่นั่นแหละแต่ไม่ชมหรอก แล้วแกก็พูดอยู่คนเดียว นี่คือเครื่องมือเลียนเสียงแม่ไก่ฟักไข่นะครับ ถ้าเป่าเครื่องมือนี้ไก่ตัวผู้จะเข้ามา แค่นั้นยังไม่พอ แกไปซื้อไก่มาฝูงหนึ่งเพราะคิดว่าถ้ามันเหมือนจริงไก่ต้องเดินมาหา ดูสิความพยายามของแก...

"พอหนูอยู่ ม. 3 พ่อก็บอกว่าพ่อเลือกปู (พรศิริ) นะ พ่ออยากให้หนูไปเรียนโบราณคดีที่ศิลปากร สาขามนุษยวิทยา ซึ่งเราก็ไม่อยากเรียน ตอนนั้นเราไปดูหนังมา นางเอกเป็นทนายความ เท่มาก แล้วหนูก็อยากเป็นนางเอกหนัง แต่พ่อบอกว่าถ้าหนูเรียนให้พ่อหนูจะเป็นลูกชาวบ้านคนแรกที่เรียนหนังสือตรงแขนง จะได้เอาความรู้ที่เรียนมาผสมผสานกับงานที่พ่อทำกับชาวบ้านมาตลอด ถ่ายทอดความรู้ด้วยความเป็นตัวของตัวเอง สิ่งที่หนูจะบอกก็คือพ่อทุ่มเททำอะไรมาก็ไม่รู้แล้วก็เอาลูกอีกคนไปตายด้วยกับตัวเองบางทีหนูยังคิดว่าที่เขาเลือกเขาเกลียดกหนูหรือเปล่า หรือว่าเลือกจากหน้าตาที่หนูดูซาดิสต์มากหรือเปล่า (หัวเราะกันทั้งวงเสวนา)

"แกอาจจะคิดว่ามันเป็นคนที่ไม่เคยเจ็บปวดอะไรเลยหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้วพ่อบอกว่าถ้าไม่เลือกลูกที่ไม่ต้องคิดเรื่องเงินมากก็ไม่มีใครทำได้ เราเป็นลูกคนเล็กแล้วก็เดินตามพ่อต้อยๆ เหมือนหมาตัวเล็กๆ เดินตาม แต่พออยู่กับแม่ แม่ก็บอกว่าพ่อแกน่ะประสาทกิน พอพ่อออกไปในสังคมนอกบ้านเขาก็บอกว่าพ่อบ้า มีวันหนึ่งแม่ ย่า แล้วก็หนูแอบดูของที่พ่อเก็บไว้ในบ้านหลังสีแดงเห็นเครื่องมือกองเป็นแสนๆ แม่ถึงกับเป็นลมบอกว่าพ่อบ้าไปแล้วจริงๆ นี่คือสิ่งที่อยากจะบอกคนข้างนอกว่าเขาบ้า คนในครอบครัวว่าเขาประสาทกิน แต่พ่อก็ผ่านตรงนั้นมาได้ แล้วเขาพูดบอกว่าเอาลูกคนหนึ่งอุทิศให้สังคม หนูไม่รู้หรอกว่าเป็นการทำดีหรือไม่ดี แต่เอาฉันเผาไปยังง่ายกว่านี้เลยนะ"

หลังจากเรียนจบปริญญาโทมาแล้วพรศิริก็รับช่วงต่อพิพิธภัณฑ์ตามที่ได้รับปากพ่อเอาไว้ โดยมีทุนรอนให้เพียงน้อย ทุกวันนี้พรศิริเข้านอนตอนตี 3 เพราะต้องวาดโปสการ์ดคืนละ 50 แผ่นมาขายเป็นที่ระลึกในราคาแผ่นละ 10 บาท(ที่ขายในราคานี้เพราะอยากให้คนซื้อมากๆ ซึ่งถือเป็นการประชาสัมพันธ์ทางอ้อม) และต้องตื่น 7 โมงเช้ามาจัดการงานทั้งหลายทั้งในตำแหน่งภัณฑารักษ์ วิทยากร และอีกสารพัดเท่าที่เธอจะทำได้ เพราะไม่มีเงินจ้างคนเพิ่ม และก็เป็นกิจวัตรประจำวันตลอด 26 ปีที่ผ่านมา

กระดูกสันหลังทางภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทย

ทุกวันนี้รายได้หลักของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีมาจากค่าเข้าชมและการจัดกิจกรรมกลุ่ม ตกอยู่ที่เดือนละ 30,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ค่าใช้จ่ายจริงอยู่ที่ 60,000 บาทนั่นเท่ากับว่าพรศิริต้องวาดโปสการ์ดจำนวน 3,000 แผ่นต่อเดือนเพื่อให้มีรายได้เพียงพอ ซึ่งในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้เลย! แม้แต่เดิมพิพิธภัณฑ์จะอยู่รอดมาตลอดด้วยรายได้จากโรงหล่อพระของจ่าทวี แต่ด้วยลักษณะการทำงานที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ จึงเป็นเรื่องยากที่จะมีเงินเลี้ยงพิพิธภัณฑ์ได้พอดีทุกเดือน ยิ่งในช่วงนี้โรคเบาหวานรุมเร้าร่างกาย ยิ่งทำให้การงานที่เคยทำได้ดั่งใจช้าลงไปอีก และถึงแม้จะปั้นพระจนมือบวม แต่จ่าทวีก็ยังต้องปั้นต่อไป เพื่อจะมีรายได้เข้ามาจุนเจือคลังภูมิปัญญาที่สร้างขึ้นมาด้วยหัวใจและความรักมาทั้งชีวิต...

'แสงไต้ในห่าฝน' จึงไม่ใช่เรื่องเกินเลยกับสิ่งที่เป็นอยู่ ถึงอย่างนั้น แม้จะประคับประคองแสงริบหรี่ไม่ให้ดับท่ามกลางสายฝนแล้วก็ตาม แต่ยังโดนลูกเห็บซัดให้เซเจียนล้มลงไปอีก เนื่องจากเมื่อปี 2545 พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีโดนเรียกเก็บภาษีโรงเรือนเป็นเงิน 200,000 บาท ต่อรองจนเหลือ 10,000 บาท ซึ่งทางภาครัฐก็ยังยินดีจะรับเงิน

"อย่างค่าเข้าชมนี่ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท คนจน 1 บาท เด็กที่ไม่มีจริงๆ ก็ฟรี แต่รู้ไหมคะว่าคนที่มาขอดูฟรีๆ เป็นถึงระดับอธิบดี ระดับผู้การ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งนั้น บางคณะมาถึงเข้าไปสวัสดีพ่อ ลุงจ่าคร้าบบ สวัสดีครับ ก้มไหว้ต่ำมากเลย แล้วให้พ่อหนูพาเข้าพิพิธภัณฑ์ เพื่อไม่ต้องเสียตังค์ แล้วมันก็เป็นอย่างนี้ตลอด มีคณะหนึ่งโทรมาถามว่าต้องเสียค่าเข้าชมด้วยเหรอ เราก็บอกว่าเพื่อเป็นค่าดูแลพิพิธภัณฑ์ เขาก็โทรมาหาญาติผู้ใหญ่ของเราว่าให้รับรองท่านนี้หน่อยนะ แล้วเราต้องทำงานแบบนี้ตลอดเลยเหรอ

"ทุกวันนี้ขาดทุนทุกวัน พยายามทำของออกมาขายก็ขายในราคาถูกเพราะคนจะได้ซื้อกันเยอะๆ แต่มันก็ยังช่วยได้น้อย พยายามหาทุนจากกระทรวงหรือกรมที่เขาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ขอไปสิบทุนได้แค่สองทุน บางครั้งก็ทำกับเราเหมือนขอทาน ทั้งๆ ที่ก็ออกมาประกาศว่าจะสนับสนุนภูมิปัญญาพื้นบ้าน ให้ทุกคนในท้องถิ่นช่วยกันดูแล วันนี้เราทำแล้ว และเรากำลังจะหมดแรงแล้ว เราทำงานมายี่สิบกว่าปีไม่เคยมีเงินเดือน ถ้าวันนี้เรามีลูก เราก็มีเงินซื้อนมให้ลูกกินได้แค่วันละสองขวดเท่านั้น"

วลัยลักษณ์บอกว่าคลังภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้กำลังจะปิดตัวลงในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ คำถามที่เธอฝากไว้ก็คือ เรา สังคม และรัฐ จะเอายังไงกันต่อกับสิ่งที่คนคนหนึ่งทุ่มเทให้ไว้เพื่อเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของลูกหลาน เป็นทางกลับบ้านในวันที่การพัฒนาทางอุตสาหกรรมเกิดล่มสลาย เป็นหลักบนผืนดินที่เราเอาไว้ต่อเติมบ้านทางปัญญาและจิตวิญาณของตัวเอง...
ถ้าคุณรู้สึกว่าเป็นทางเลือกที่ควรมีไว้ให้เลือกจริงๆ เราจะเอายังไงกันต่อดี ?


บ้านพิพิธภัณฑ์จ่าทวี อยู่ที่ ถ. วิสุทธิ์กษัตริย์ อ.เมือง จ. พิษณุโลก โทรศัพท์ 055-212749
www.jathawee.com

*******************************************

เรื่อง : วรชัย รัตนดวงตา
ภาพเสวนา : ศิวกร เสนสอน
ภาพกิจกรรม : พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี



 
อ. ศรีศักร เล่าถึงความจำเป็นของการคงอยู่ของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี
มีผู้เข้าร่วมฟังกันอย่างคับคั่ง
จ่าทวี และคู่ชีวิต ในวันที่ยังคงถ่ายทอดความรู้สู่รุ่นหลัง
ความรู้ที่รวมรวบไว้ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น
เด็กๆ ได้เรียนรู้จากของจริงที่ยังมีอยู่
บ้านสีแดง จุดเริ่มต้นคลังปัญญา
จ่าทวีในยุคแรกเริ่มเมื่อครั้งยังมีแรง
กำลังโหลดความคิดเห็น