โดย...อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
ถ้าจะให้ Introduce หนังเรื่องนี้แบบฉาบฉวยที่สุด ผมคิดว่า คงไม่มีคำไหนอีกแล้วที่จะเหมาะสมเท่ากับคำว่า นี่คือหนังอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมากมายด้วยภาพและเนื้อหาซึ่งรุนแรงและล่อแหลมอย่างยิ่งต่อการละเมิดความดีงามทางศีลธรรม
เพราะหากตัดประเด็นของคุณค่าในเชิงศิลปะหรือแก่นสารสาระที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอออกไปก่อน แล้วมองดูกันที่องค์ประกอบต่างๆ ซึ่งหนังหยิบเอามาเชื่อมร้อยต่อกันนั้น เกินกว่าครึ่ง เป็นสิ่งซึ่งไม่พึงปรารถนาแทบทั้งสิ้นในดินแดนของศีลธรรม
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากคำว่า “แรง” ที่คนชอบนำมาใช้อธิบายหนังกันอย่างฉาบฉวยนั่นล่ะ มีอะไรบ้างที่พอจะเรียกได้ว่าเป็น “ความดี” ของ Help Me Eros ??...
สิ่งที่น่าพูดถึงอันดับแรกเลยก็คือ การที่หนังหยิบเอาส่วนประกอบอย่างน้อยสองส่วนที่ดูเหมือนจะสวนทางกันอย่างสุดขั้วมาใส่ไว้ในเรื่องเดียวกัน นั่นก็คือ ความสุขสุดยอดในกามารมณ์กับความขื่นขมไร้หวังในชีวิตของตัวละคร ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อ Sex (ที่ไม่ได้หมายถึง “เพศ” แต่เป็นเรื่องของกามารมณ์) มาอยู่คู่เคียงกับ Sad (ความเศร้า) มันคือคู่ตรงข้ามซึ่งจะส่งผลที่แตกต่างกันต่อความรู้สึกของคนดู ในบางขณะ เราอาจจะรู้สึกหัวใจเต้นแรงขึ้นมาบ้างกับฉากรักอันวิจิตรอลังการ (มีหมด ทั้งแบบคู่ และแบบหมู่!!) แต่ก็เป็นแบบนั้นได้ไม่นานหรอก เพราะประเดี๋ยวหนังก็จะดึงอารมณ์ของเราให้จมดิ่งลงไปสู่ห้วงแห่งความหม่นหมองไร้หวังซึ่งเป็นบรรยากาศอารมณ์โดยรวมของหนังทั้งเรื่อง
Help Me Eros (หรือ Bang Bang Wo Aishen) ภาพยนตร์สัญชาติไต้หวัน เป็นผลงานการกำกับลำดับที่ 2 (ถัดจาก The Missing) ของ “หลี่คังเซิง” ที่คอหนังนอกกระแสคงคุ้นหน้าคุ้นตากันดีอยู่แล้วจากบทบาทการเป็นนักแสดงคู่บุญของผู้กำกับจอมนิ่ง “ไฉ้หมิงเลี่ยง” ที่ทำงานร่วมกันมานานกว่า 15 ปี
ก่อนหน้านี้ หลี่คังเซิงเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า หนังเรื่องนี้แตกยอดมาจากประสบการณ์ชีวิตบางส่วนของเขา โดยมีเป้าหมายในใจก็คือ ต้องการสื่อสะท้อนให้เห็นถึงสังคมยุคใหม่ที่บ้าคลั่งหลงใหลในวัตถุเงินทอง เสพติดของมึนเมา และหมกมุ่นในเรื่องเพศกันมากยิ่งขึ้นทุกวัน
โดยทิศทางของการนำเสนอ Help Me Eros ถ่ายทอดตัวเองสู่สายตาคนดูด้วยบรรยากาศหม่นมัวเปลี่ยวเหงาที่แผ่รัศมีโอบล้อมบรรยากาศเรื่องราวจากทุกทิศทาง โดยมีศูนย์กลางของเนื้อเรื่องอยู่ที่ตัวละครหลักอย่าง “อาจี” ชายหนุ่มนักเล่นหุ้นที่กำลังอยู่ในช่วงดวงตกอย่างสุดขีด
ในท่ามกลางความสิ้นหวังกับชีวิต อาจีใช้จ่ายวันเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการพี้กัญชาและใช้บริการสายด่วน Helpline ที่รับปรึกษาปัญหาชีวิต อย่างไรก็ดี Turning Point ครั้งสำคัญก็เดินทางมาถึงชีวิตของอาจีอีกครั้ง เมื่อเขาได้พบพานและสานสัมพันธ์กับสาวขายหมากคนหนึ่งซึ่งนำพาให้เขาก้าวเข้าไปสู่วังวนแห่งเซ็กซ์หลุดโลกที่เหลือจะบรรยาย
ด้วยลีลาการดำเนินเรื่องที่เนิบช้าอ้อยสร้อย รวมถึงการจัดแสงเงาในฉากหลายๆ ฉากที่ชวนให้รู้สึกเคว้งคว้างล่องลอยคล้ายตกอยู่ในห้วงแห่งความฝัน Help Me Eros ค่อยๆ บอกเล่าให้คนดูได้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงทางสังคมหลายๆ อย่างที่มีส่วนต่อต่อความรู้สึกสุขทุกข์ของตัวละครในเรื่อง อย่างน้อยที่สุด สิ่งหนึ่งซึ่งหนังดูเหมือนจะพูดออกมาชัดถ้อยชัดคำก็คือ การที่ไม่มีใครสนใจใครอย่างจริงๆ จังๆ นั้น ก็เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งซึ่งทำให้ชายหนุ่มอย่างอาจีตกอยู่ในภาวะแห่งความเหงาอย่างที่เป็นอยู่
คำพูดหนึ่งของเขาที่บอกว่า “ถึงแม้ผมจะตายไป โลกก็คงไม่ได้สนใจอะไรหรอก” ก็สะท้อนถึงสภาพสังคมยุค “ตัวใครตัวมัน” ได้ไม่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงแต่อย่างใด (คำพูดทำนองนี้ชวนให้นึกถึงตัวละครหนึ่งในหนังเรื่อง Collateral ที่จากโลกไปขณะนั่งอยู่ในรถไฟฟ้าโดยที่ไม่มีใครสังเกตเห็น)
ขณะเดียวกัน ภาพของเด็กสาวขายหมาก (อาชีพนี้พบเห็นได้ทั่วไปในไต้หวัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นที่รู้กันว่าสาวๆ เหล่านี้ไม่ได้ขายแค่หมาก แต่ขาย “อย่างอื่น” ด้วย) ที่ดูจะตื่นเต้นระริกระรี้อยู่ตลอดเวลาที่เห็นลูกค้าขับรถหรูๆ มาจอดซื้อของและพูดคุยด้วยนั้น นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงสังคมที่ชื่นชมบูชากับวัตถุของนอกกายแล้ว ในด้านหนึ่ง ยังบอกให้รู้อยู่กลายๆ ว่า บางที คนเราก็สนใจเพียงแค่สิ่งที่คนอื่น “มี” มากกว่าจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่คนอื่น “เป็น”
เมื่อโลกแห่งความจริงปวดร้าวเปลี่ยวเหงาและไร้คนเข้าอกเข้าใจ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชายหนุ่มผู้สิ้นหวังจะหันไปหาความสุขในดินแดนแห่งจินตนาการ ซึ่งถ้ามองกันอย่างเป็นธรรมกับอาจี เราจะเห็นว่า ทั้งการพี้กัญชาหรือแม้แต่การดูดกลืนความสุขจากเซ็กซ์แบบสุดโต่งนั้น แท้ที่จริง ก็อาจเป็นช่องทางหนึ่งซึ่งช่วย escape เขาให้หลุดออกไปจากความเป็นจริงอันเจ็บปวด แม้จะเพียงชั่วครู่ชั่วคราวก็ตามที
อย่างไรก็ดี ในขณะที่ชีวิตของอาจีดำเนินไป มีตัวละครอีกตัวหนึ่งซึ่งหนังใส่เข้ามาราวกับจะต้องการขับเน้นให้คนดูมองเห็น “สิ่งที่ขาดหายไป” ในสังคมยุคใหม่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ ผู้หญิงที่ทำงานอยู่ในบริษัท Helpline สายด่วน รับปรึกษาปัญหาชีวิตให้กับคนอื่น แต่ตัวเธอเองกลับกำลังเผชิญกับความปวดร้าวที่ไม่อาจปริปากบอกใครได้ เพราะทั้งๆ ที่สามีดูเป็นผู้ชายแสนดีและเอาใจเธอทุกอย่าง โดยเฉพาะทำอาหารอร่อยๆ ให้เธอทานทุกมื้อ แต่สิ่งที่เธอไม่เคยได้รับจากเขาเลยก็คือ “กิจกรรมเข้าจังหวะ” อย่างที่คู่รักทั่วๆ ไป เขากระทำกัน (หนังไม่ได้บอกว่าสามีของเธอเป็นเกย์หรือเปล่า แต่สิ่งที่เราเห็นก็คือ สามีของเธอเปลือยท่อนล่างตีสนุ๊กเกอร์กับเพื่อนชายต่อหน้าต่อตาเธอเฉยเลย!! (เล่นสนุ๊กฯจริงๆ นะครับ อย่าคิดเป็นอื่น)
เพราะคนไม่ใช่หมูหรือสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ ที่หยิบยื่นอาหารให้แล้วก็จบ นอกเหนือจากร่างกาย คนเรายังมีหัวจิตหัวใจที่ก็ต้องการ “อาหาร” หล่อเลี้ยงไม่น้อยไปกว่ากัน
แต่เมื่อสารอาหารแห่งหัวใจไม่ได้รับการเติมเต็ม หญิงสาวผู้เปลี่ยวเหงาจึงเก็บและกด “ความปรารถนา” ไว้ในใจทีละเล็กละน้อย ก่อนจะปลดปล่อยให้มันระเบิดระบายออกมาในวันหนึ่ง ด้วยการทำในสิ่งซึ่งช็อกสายตาคนดูอย่างถึงที่สุด!
แน่นอนครับว่า ในมุมมองของศาสนา สิ่งที่เธอทำอาจดูเป็นความ “น่าละอาย” ก็จริง แต่มันก็มีต้นสายปลายเหตุที่ชัดเจน ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับอาจี ทั้งสองคนนี้แทบไม่มีอันใดแตกต่าง เพราะล้วนก็ตกอยู่ในภาวะ “ขาดรัก” อย่างสาหัสสากรรจ์เหมือนๆ กัน
ชื่อของหนัง (Help Me Eros) ที่แปลตรงๆ ว่า “ช่วยฉันที เทพเจ้าแห่งความรัก” ก็บ่งบอกอย่างตรงไปตรงมาถึงเนื้อหาสาระที่หนังต้องการสื่อ นั่นก็คือ ตัวละครในเรื่องจะหลุดพ้นจากวังวนแห่งปวดร้าวทั้งหมดนั้นได้ ก็ด้วยสิ่งๆ เดียว...
ความรัก...
...ผมไม่รู้ว่า หลี่คังเซิงเจ็บปวดแค่ไหนกับความเป็นไปในบ้านเกิดของตัวเอง แต่จาก “เนื้อหนัง” ของเขา ก็พอจะคาดเดาได้เลาๆ ว่า ไต้หวันปัจจุบันน่าจะมีปัญหามากพอสมควร และคำว่า Help Me ในชื่อของหนังก็ทำให้นึกคิดจินตนาการต่อไปได้เหมือนกันถึงสภาพสังคมส่วนใหญ่ที่กำลัง “ต้องการความช่วยเหลือ” อย่างเร่งด่วน อย่าว่าอย่างงั้นอย่างงี้เลยครับ แม้แต่คนที่ทำงานในองค์กรซึ่งรับปรึกษาปัญหาชีวิตเอง เอาเข้าจริงๆ ก็มีความทุกข์ไม่น้อยไปกว่าผู้ใช้บริการแต่อย่างใด (นี่คืออารมณ์ Black Comedy ในแบบของหลี่คังเซิงหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ)
เหนืออื่นใด ผมคิดว่า หนังอย่าง Help Me Eros เรียกได้ว่าเป็นหนังที่ “ยิ่งดูยิ่งได้ขบคิด” ซึ่งมีแง่มุมรายละเอียดหลากหลายที่คงยากจะเก็บได้ครบถ้วนในการดูเพียงรอบเดียว โอเคว่า หนังอาจจะมีฉากโป๊เปลือยในสัดส่วนที่ค่อนข้างเยอะ (เช่นเดียวกับความวาบหวิวของบรรดาสาวขายหมากที่แสดงโดยกลุ่มนักร้องสาวที่เรียกตัวเองว่า Female F4 ซึ่งมาพร้อมหน้าอกคัพเอฟและนุ่งน้อยห่มบางกันทั้งเรื่อง) แต่สำหรับผู้ที่มีวุฒิภาวะก็คงจะทำความเข้าใจได้ไม่ยากครับว่า หนังไม่ได้มีเจตนาจะยั่วยุหรือกระตุ้นอารมณ์ทางเพศแต่อย่างใด มากไปกว่านั้น ฉากเซ็กซ์ในหนังยังสะท้อนให้เห็นถึง “โลกที่ป่วยไข้” ของตัวละครได้อีกด้วย
แต่พูดก็พูดเถอะครับ ว่ากันอย่างถึงที่สุด ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไรนักหรอกว่า ที่อาจีเจ็บปวดจะเป็นจะตายนั้น สาเหตุสำคัญมันเป็นเพราะยุคสมัยที่เลวร้ายทั้งหมดหรือเปล่า เพราะอย่างน้อยที่สุด ผม (และคุณ) ก็คงได้เห็นว่า ครั้งหนึ่ง อาจีเคยได้เข้าใกล้กับสิ่งที่เรียกว่าความรักจนแทบจะจับมันอยู่มือแล้ว แต่เอาไปเอามา เขาเองกลับปล่อยให้มันหลุดลอยไป เพราะ “เรื่องไม่เป็นเรื่อง”
ที่พูดแบบนี้ ผมก็แค่นึกสงสัยครับว่า เอาเข้าจริงๆ มันใช่วิถีโลกยุคใหม่ทั้งหมดหรือเปล่าที่บีบคั้นกดดันเราให้ทุกข์เศร้าปวดร้าว หรือเป็นเพราะ “ความเปราะบางและอ่อนไหว” ที่มีอยู่ในตัวตนของคนแต่ละคนนั่นต่างหากที่กักขังเราไว้ในความปวดเจ็บไม่รู้จบ ??...
***หนังเรื่องนี้เคยถูกนำเข้ามาฉายที่เมืองไทยในเทศกาลบางกอก เวิร์ด ฟิล์ม เมื่อปีที่แล้ว แต่ตอนนี้ ก็ยังพอจะหามาชมกันได้ในรูปแบบของหนังแผ่น