xs
xsm
sm
md
lg

บทความจาก นสพ. ผู้จัดการ

x

สื่อใจสมานสร้างสรรค์:เคารพนับถือพระรัตนตรัยให้ได้ผลจริงต้องถ่ายแบบคุณธรรมของท่าน เข้าสู่ตนด้วยการปฏิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรื่องที่ 93 ถ่ายแบบคุณธรรมนำมาปฏิบัติ

การปฏิบัติธรรมแนวนำสมัยทุกวันนี้ นอกจากการปฏิบัติในรูปแบบแล้ว มุ่งเน้นให้เป็นไปตามธรรมในชีวิตประจำวัน แต่อะไรคือหัวใจของพุทธจริยธรรม?

ในหนังสือพุทธจริยศาสตร์ โดย อาจารย์วศิน อินทสระ ที่กำลังอ่านออกอากาศทาง FM 97.75 MHz และ www.managerradio.com ทุกวันพุธ ในรายการธรรมะกับชีวิต กล่าวว่า คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ทำกุศลคือความดีให้ พรั่งพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว

ขอเจาะประเด็นแรกก่อน เพื่อคลายสงสัยในความดีปนชั่ว ความชั่วปนดี ที่ค่อนข้างจะทำให้สับสนอย่างโกลาหล

*ความชั่วระดับมูลรากมี 3 อย่าง คือ โลภ โกรธ หลง แต่ละรากมีความเข้มข้น 3 ระดับ คือ หยาบ กลาง และละเอียด ผู้มีปัญญาระดับกลางย่อมมองเห็นความจริงว่าการสะสมทรัพย์มีคุณค่าน้อยกว่าการสะสมปัญญาและคุณธรรม เพราะไม่ต้องแย่งกับใคร มีให้อย่างเหลือเฟือ เป็นคุณค่าภายใน เป็นคุณค่าแท้ แต่ทรัพย์ภายนอกแค่พออาศัยกินอาศัยใช้ แล้วเอาเวลาส่วนใหญ่ไปสะสมปัญญาและคุณความดีดีกว่า เพราะนำติดตัวไปได้ทุกหนทุกแห่งทั้งชาตินี้ชาติหน้า ส่วนทรัพย์สินนำติดตัวไปปรโลกไม่ได้ ส่วนคนมีปัญญาในระดับสูง ก็จะพอมองเห็นความโลภอย่างละเอียดและโทษของความหวงแหนติดพันว่าเป็นสนิมของใจ ไม่ทำตนให้เป็นทาสของสิ่งที่มี
มูลรากที่สองเรื่องความโกรธ ท่านให้กุศโลบายละโกรธไว้ คือ ให้พิจารณาถึงโทษต่อระบบร่างกายและจิตใจของผู้โกรธ หมั่นฝึกใจให้รู้จักเห็นใจและให้อภัย พร้อมสงเคราะห์เอื้อเฟื้อ เพราะ คนที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏนั้น เมื่อมีความสัมพันธ์กันใน รูปแบบต่างๆ ย่อมจะประพฤติผิดพลาดต่อกันบ้าง เกื้อหนุนกันบ้าง ตามกระแสกิเลสที่เกิดขึ้นในวาระนั้นๆ จึงควรสังเวชสลดจิตให้อภัย ไม่อยากก่อกรรมทำเข็ญอะไรกันอีกต่อไป หัดแผ่เมตตาให้กันด้วยใจอ่อนโยน น้อมนึกด้วยความเคารพในพุทธจริยวัตรและทำตาม เพราะการเคารพนับถือพระรัตนตรัยที่จะให้ได้ผลจริงย่อมหมายถึงการถ่ายแบบคือถ่ายเอาคุณธรรม ของท่านเข้าสู่ตน

ส่วนมูลรากแก้วคือความหลง ที่ก่อให้เกิดโทษนานาประการ โมหะทำให้ใจฟุ้งซ่านร่านร้อน ควรดับด้วยการพิจารณาให้เห็นชัดในความวิปลาสคลาดเคลื่อนทั้งหลาย

ด้านประเด็นที่สอง การทำความดีให้พรั่งพร้อม ก็ต้องศึกษา ให้รู้แจ้งว่าความดีแท้จริงคืออะไร? คนส่วนมากรู้จักแต่ความดีแบบปลอมๆ ความดีที่ดีแท้ต้องมีคุณลักษณะ คือ ทำความดีเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่จำเป็นต้องประกาศเอาหน้า แค่รู้เห็นเงียบๆ ในใจเฉพาะตนก็พอแล้ว ความดี นั้นต้องเป็นการทำความดีที่ไม่ผิด ไม่ให้โทษแก่ตนและคนอื่น เป็นความดีที่ยุติธรรม และตั้งใจทำอย่างสมบูรณ์เต็มเม็ดเต็มหน่วย สม่ำเสมอ สั่งสมทุกวัน แม้จะทำยากก็บากบั่นทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องใหญ่

ส่วนประเด็นสุดท้าย คือ การทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว เริ่มจากการ ทำจิตทำใจให้สงบ ไม่จู้จี้ขี้เอาเรื่อง ไม่ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่คิดกังวลถึงเรื่องที่ล่วงมาแล้วหรือเรื่องที่ยังมาไม่ถึง สุจริตในงานอาชีพที่เป็นสัมมาชีพ ไม่ทุจริตในหน้าที่ ฝึกตนให้เป็นผู้ มีเหตุมีผล เพราะคนมีเหตุผลย่อมมีใจหนักแน่น ยอมรับได้ทั้งผลดีและผลร้าย การยอมรับนั้นแหละจะเป็นกุญแจไขไปสู่การแก้ปัญหาชีวิตบางอย่างที่แก้ได้ยาก ถ้าไม่ยอมรับความจริง ข้อสำคัญควรพิจารณาให้เห็นคุณและโทษของสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง และพยายามมองบุคคลและเหตุการณ์ต่างๆ ในแง่ดีตามสมควร แบ่งเวลาทำจิตให้สงบโดยวิธีสมาธิหรือสมถภาวนาในรูปแบบบ้าง ข้อสำคัญที่สุดคือ การทำจิตให้สงบโดยวิธีวิปัสสนา พิจารณาอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นอารมณ์ภายนอกและภายในให้เห็นจริงในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่หลงผิดติดอุปาทาน ก็จะเกิดปัญญาตัดกิเลสได้*

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ได้เทศนาแนะนำธรรมปฏิบัติไว้เมื่อ วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2521 นำมาจาก http://www.geocities.com /wiroj_c/dhamma/preach27.doc ความว่า

*การปฏิบัติสมาธิขั้นสมถะ อารมณ์ของสมถกรรมฐานมี 40 ประการ มีพุทธานุสสติปรากฏอยู่ด้วยข้อหนึ่ง ดังนั้น การภาวนา บริกรรมพุทโธอันเป็นพุทธานุสสติจึงจัดอยู่ในขั้นสมถกรรมฐาน ซึ่งเรียกว่าบริกรรมภาวนา ซึ่งท่านทั้งหลายก็เคยได้ยินได้ฟังและได้เคยศึกษามาแล้วว่ากรรมฐานอันใดเกี่ยวเนื่องด้วยบริกรรม กรรมฐานนั้นชื่อว่า สมถกรรมฐาน นอกจากเราจะมาบริกรรมภาวนาพุทโธแล้ว เราจะใช้คำใดคำหนึ่งมาบริกรรมภาวนาก็ได้ทั้งนั้น เช่น จะใช้คำว่า ธัมโม สังโฆ หรือ อิติปิโส ภควา เป็นต้น คำใดคำหนึ่งสุดแท้แต่ใจชอบ ความมุ่งหมายของการบริกรรมภาวนาก็เพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิตามลำดับ ตั้งแต่ขั้นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ ซึ่งจัดอยู่ในระดับฌาน นี้คือความมุ่งหมาย ของสมถภาวนา

ทีนี้ ผลที่จะพึงเกิดขึ้นจากการภาวนาเพื่อให้จิตเป็นสมถกรรมฐาน เป็นสมาธิ ก็เพื่อกำจัดนิวรณ์ 5 ประการ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคขัดขวางคุณงามความดีไม่ให้เกิดขึ้น ท่านทั้งหลายก็ทราบอยู่แล้ว

ทีนี้มีปัญหาว่า ถ้าหากว่าเรามาบริกรรมภาวนา จิตมันไม่สงบเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ ทำอย่างไรๆ ก็ไม่สงบ ถ้าหากว่านักปฏิบัติภาวนาทำจิตให้เข้าสู่ระดับอัปปนาสมาธิไม่ได้ ก็เป็นอันว่าชาตินี้ทั้งชาติเราก็ต้องตายเปล่า เพราะการภาวนาไม่ได้ผล เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจะทำอย่างไร

ท่านเคยได้ยินมิใช่หรือว่า มีพระอรหันต์จำพวกหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า 'สุขวิปัสสโก' (ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน) ในเมื่อเราบริกรรมภาวนาจิตไม่เป็นอัปปนาสมาธิ เราก็ใช้อุบายวิธีอย่างอื่น เป็นต้นว่า เราจะพิจารณาอารมณ์กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่โดยภาวนาอสุภกรรมฐาน หรือภาวนาธาตุววัฏฐาน หรือจะภาวนาวิปัสสนากรรมฐานเสียเลยทีเดียว เช่น ยกเอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมาพิจารณาน้อมเข้าไปสู่พระไตรลักษณ์ คือ

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยหัวคิดและสติปัญญาที่เราเรียน เราทรงจำมา คือ ใช้ความคิดอย่างที่เรารู้ตามแบบตามแผนที่จำมาด้วยสัญญา คิดเอา ปรุงเอา แต่งเอา ว่ารูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็ว่าเอาเอง พร้อมๆ กับน้อมใจเชื่อลงไปว่า รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไปจริงๆ แต่ในขณะที่เราพิจารณาอยู่นั้น บางทีจิตอาจจะสงบลงเป็นสมาธิเพราะการค้นคิดในเหตุผล ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันเป็นภาคปฏิบัติ ก็เป็นอุบายที่จะทำให้จิตสงบเป็นสมาธิได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าหากเราภาวนาให้จิตเป็นอัปปนาสมาธิไม่ได้ ก็ยกเอาสภาวธรรม ขึ้นมาพิจารณาโดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ภาษาคัมภีร์เรียกว่า พิจารณาพระไตรลักษณ์ คือน้อมใจไปว่า รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนครบขันธ์ทั้งห้านั้นแหละ ตั้งแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยนึกคิดเอา คือจนกระทั่งจิตมันชำนาญจนเชื่อมั่นลงไปว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นการปลูกศรัทธา ความเชื่อมั่นในตัวเอง และเชื่อมั่นในคุณธรรม เราจะได้เกิดความปลื้มปีติ ความเบิกบานสำราญใจในธรรมะที่เราพิจารณานั้น แล้วก็จะมีสติ มีวิริยะ มีสมาธิ แล้วก็มีปัญญา เป็นลำดับๆ ไป เป็นอุบายสำหรับสร้างให้จิตเกิดพละ คือจิตเกิดศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา อันนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดมีขึ้นด้วยพิจารณาสภาวธรรม

อีกนัยหนึ่ง ถ้าเราจะมาอาศัยลำพังเพียงบริกรรมภาวนาให้จิตสงบเป็นสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ ไม่มีการก้าวไปข้างหน้า ไม่มา ข้างหลัง จิตก็ไม่มีความรู้ความเห็นอะไรเกิดขึ้น ทำทีไรก็ได้แต่ ปีติ สุข เอกัคคตา ปีติ สุข เอกัคคตา อยู่อย่างนั้น ถ้าจิตมันติดอยู่แต่เพียงเท่านี้ก็เรียกว่า จิตมันติดความสุขอยู่ในขั้นสมาธิ มันก็ได้เพียงแค่ขั้นสมถะเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฝึกฝนจิตของตนเองอยู่ในขั้นอัปปนาสมาธิจนชำนิชำนาญแล้ว ถ้าจิตไม่ปฏิวัติตัวเองไปสู่ภูมิวิปัสสนา ก็พิจารณาเอาด้วยปัญญาความคิดสดๆ ร้อนๆ เพื่อเป็นแนวทางให้จิตเกิดความรู้ความเข้าใจในสภาวธรรม เมื่อจิตมีความรู้ความเข้าใจเชื่อมั่นในความเป็นของสภาวธรรมว่า มีความเป็นเช่นนั้นจริง แล้วมันจะเกิดศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ขึ้นเป็นคุณธรรมของจิต

และอีกอย่างหนึ่ง การบริกรรมภาวนาก็ดี หรือการพิจารณาสภาวธรรมก็ดี ทำเท่าไร ภาวนาเท่าไร จิตไม่สงบ ได้แต่ความ ฟุ้งซ่านรำคาญ มีแต่ส่งกระแสไปในทางอื่น ถ้าหากเราไม่สามารถจะควบคุมจิตของเราอยู่ในอารมณ์ภาวนา หรือในแนวทางแห่งสภาวธรรมที่เรายกขึ้นมาพิจารณา ไม่สามารถที่จะให้อยู่ในเรื่องในราวที่เราต้องการนั้นได้ เราก็ปล่อยให้จิตมันปลงไปตามยถากรรม แต่เราต้องกำหนดสติพิจารณาตามรู้ตามเห็นความคิดของตนเอง อย่าละ พร้อมๆ กันนั้นก็เอาพระไตรลักษณ์ตามจี้มันไปเรื่อย คือจี้ว่าอย่างไร จี้ว่าความคิดนี้มันก็ไม่เที่ยงมันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป มันก็มีแต่เกิดแต่ดับสภาวธรรมทั้งหลายในโลกนี้ ทั้งในกายในใจ ทั้งนอกกายนอกใจ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ชื่อว่าเป็นสภาวธรรมนั้น มันต้องตกอยู่ในลักษณะทั้ง 3 อนิจจตา ทุกขตา อนัตตา ด้วยกันทั้งนั้น จุดรวมใหญ่ของมันอยู่ที่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตา ความ ไม่เป็นตัวไม่เป็นตน เอาความคิดอันนี้ตามรู้ความคิดความเห็นของตน ตามจี้ไปเรื่อย แต่อันนี้ต้องใช้ความพากเพียรพยายามอดทนหน่อย เพราะความฟุ้งซ่านรำคาญของจิตนั้น ล้วนแต่จะทำให้ เกิดความเดือดร้อน ทำให้จิตมันฟุ้งเรื่อยไป แต่เราก็ต้องอาศัยขันติ คือ ความอดทน ตั้งสติสัมปชัญญะ กำหนดตามรู้ตามเห็นไปเรื่อยๆ ในเมื่อจิตมันไปจนถึงที่สุดแล้ว มันก็หยุดของมันเอง มันหยุดอยู่ที่ไหนก็กำหนดรู้อยู่ที่นั้น อย่าใช้ความคิดต่อไปอีก จนกว่าจิตนั้นมันจะเคลื่อนที่ของมันไปเอง แล้วเราก็ตามรู้ตามเห็นไปเรื่อย อันนี้เป็นวิธีการอันหนึ่งซึ่งเป็นการปฏิบัติอนุวัติตามจริตและนิสัยของ นักปฏิบัติซึ่งอาจจะไม่ตรงกัน

การที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงวางหลักกรรมฐานไว้ถึง 40 ประการ ก็เพราะทรงเห็นว่าคนเกิดมาบนโลกนี้มันต่างจิต ต่างใจต่างอุปนิสัยวาสนาบารมี บางคนก็มีจิตใจอุปนิสัยชอบอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็ชอบอย่างหนึ่ง ไม่ตรงกัน เพราะฉะนั้น คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงมีมากมายก่ายกอง ยกตัวอย่างเช่น พระจุลปันถก ใครจะสอนท่านก็ไม่ได้ มีแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว ใครจะสอนให้ท่านเรียนคาถาเพียงบาทเดียว ท่านก็จำไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าสอนว่า รโชหรณํ รชํ หรติ มอบผ้าขาวให้ผืนเดียว ท่านก็บริกรรมภาวนาอยู่ จิตก็ปลงตกลงไปว่า ผ้านี้เดิมมันก็เป็นของขาวสะอาด แต่มาถูกด้วยเหงื่อไคลของตัวเราเองก็เกิดเป็นของสกปรกไปได้ นี้มันก็เป็นลักษณะเป็นทุกข์ ไม่เที่ยง เป็นอนัตตาทั้งนั้น เสร็จแล้วก็ปลงจิตลงสู่สภาวะความเป็นพระอรหันต์ สำเร็จพระอรหันต์ แล้วก็สามารถสำเร็จปฏิสัมภิทา สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ได้หลายอย่างตามพุทธประวัติที่กล่าวไว้ ท่านทั้งหลายก็คงทราบอยู่แล้ว*

การกล่าวธรรมะเป็นคติเตือนใจคงพอสมควรสำหรับวันนี้ ติดตามอ่านต่อได้สัปดาห์หน้าค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น