xs
xsm
sm
md
lg

The Orphanage : ขอความรักบ้างได้ไหม

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล

The Orphanage เป็นผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวชิ้นแรกของ ฆวน อันโตนิโอ บาโยนา ผู้กำกับชาวสเปนวัย 33 ปี

หนังประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในแง่ของเสียงวิจารณ์และรายได้ หนังได้รับรางวัลจากเวทีการประกวดระดับนานาชาติมากมายก่ายกอง ลำพังในสเปนเอง หนังได้รับรางวัลโกย่าถึง 7 สาขา (จากการเข้าชิง 14) ในจำนวนนั้นมีรางวัลบทภาพยนตร์และผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยมรวมอยู่ด้วย นอกจากนั้นยังได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศในการเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาหนังต่างประเทศ ประจำปี 2008 (แต่เข้าไม่ถึงรอบ 5 เรื่องสุดท้าย)

ในส่วนของรายได้นั้น หนังมีตัวเลขรายรับเบ็ดเสร็จภายในประเทศราว 24 ล้านยูโร (ประมาณ 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นหนังทำเงินสูงสุดของสเปนประจำปีนั้น

The Orphanage เปิดเรื่องที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งหนึ่ง เด็กหญิง-ชาย 4-5 คนกำลังเล่นกันอยู่ที่สนามด้านหน้า ต่อมา หนังให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับผู้ชมว่า เลารา เด็กหญิงคนหนึ่งในกลุ่ม กำลังจะถูกพ่อแม่อุปถัมภ์รับไปอุปการะ ครูใหญ่ที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าบอกว่า นี่ถือเป็นโชคดีของเลารา แต่ปัญหาคือ จนถึงตอนนั้น เด็กหญิงก็ยังไม่ได้รับการบอกกล่าวให้ทราบถึงชีวิตที่กำลังจะเปลี่ยนไปของตัวเอง

จากนั้น หนังพาผู้ชมตัดข้ามมาสู่เรื่องราวในอีก 30 ปีต่อมา เลาราในวัย 30 ตอนปลาย เดินทางกลับมาที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนั้น พร้อมด้วยสามีและลูกชายวัย 7 ขวบ ชื่อ ซีโมน

ก่อนหน้านั้น สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าปิดตัวลงไปแล้วหลายปีด้วยสาเหตุที่ไม่มีใครรู้ชัด และในวันนี้ เหตุผลที่เลารากับครอบครัวเดินทางไปที่นั่น หนึ่ง เพื่อใช้มันเป็นที่พำนักถาวร และสอง เธอตั้งใจจะฟื้นฟูสภาพของมันเสียใหม่ เพื่อใช้ประกอบกิจการสถานเลี้ยงดูเด็กพิการ – ไม่ว่าจะทางสมองหรือร่างกาย

หนังใช้เวลาราว 20 นาทีแรก บอกเล่าปูพื้นให้ผู้ชมเข้าใจเลาราผู้เป็นศูนย์กลางของเรื่อง ทั้งความผูกพันที่เธอมีต่อสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูบูรณะมันขึ้นมาใหม่ และเหนืออื่นใดก็คือ ความรักที่เธอมีต่อซีโมน ลูกชายตัวน้อย ที่เธอคอยประคบประหงมปกป้องราวไข่ในหิน

หนังในช่วงต้นนี้ค่อนข้างจะเนิบนาบและหนืดเนือยอยู่สักหน่อย การที่มันถูกจัดวางรูปลักษณ์หน้าตาไว้ให้ผู้ชมเข้าใจว่ามันคือ ‘หนังผี’ ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะรอคอยอย่างงุนงงปนกระวนกระวาย เพราะไม่อาจคาดเดาได้ว่า หนังจะนำพาผู้ชมมุ่งหน้าสู่ทิศทางใดแน่

อย่างไรก็ตาม หลังการปูเรื่องราวพื้นฐานเสร็จสรรพ หนังก็จู่โจมผู้ชมด้วยการเปิดเผยเงื่อนปมต่างๆ ซึ่งจะมีผลต่อเรื่องราวทั้งหมดในลำดับถัดไป

ทั้งการปรากฏตัวของหญิงชราลึกลับที่อ้างว่าตนเป็นเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ การเปิดเผยว่า แท้จริงแล้วซีโมนไม่ใช่ลูกแท้ๆ ของเลารากับสามี แต่เขาเป็นเด็กที่ทั้งคู่รับมาอุปการะตั้งแต่ยังแบเบาะ นอกจากนั้น เจ้าหนูที่ดูภายนอกเป็นเด็กร่าเริงแข็งแรง เอาเข้าจริงกลับป่วยเป็นโรคร้ายที่ติดมาจากมารดาแท้ๆ ของตนมาตั้งแต่กำเนิด

ที่สำคัญก็คือ ตัวซีโมนเอง นับตั้งแต่ย้ายมาบ้านใหม่ เด็กชายมักพูดถึง ‘เพื่อน’ ของตนอยู่เสมอ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว บ้านทั้งหลังมีเด็กอยู่เพียงคนเดียว ซึ่งก็คือตัวเขาเองเท่านั้น แรกๆ เลารารู้สึกกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกชาย อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ความรู้สึกของเธอก็เปลี่ยนไป เธอคิดว่าลูกอาจจะเหงาจึงได้สร้าง ‘เพื่อนในจินตนาการ’ ขึ้นมา แต่ในอนาคตอันใกล้ เมื่อกิจการสถานฟื้นฟูเริ่มดำเนินการและมีเด็กจริงๆ เข้ามาอาศัย เพื่อนในจินตนาการของลูกก็คงหายไป และเด็กชายคงเรียนรู้ที่จะมีเพื่อนจริงๆ กับเขาเสียที

แน่นอนว่า อะไรๆ กลับไม่เป็นอย่างที่เลาราคาดหวัง นับวัน ซีโมนก็ยิ่งถือ ‘เพื่อน’ ของตนเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นทุกขณะ หนำซ้ำ วันดีคืนดียังมีเพื่อนใหม่ปรากฏขึ้นเพิ่มเติมอีกด้วย

ที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ บรรดาเพื่อนๆ ของซีโมน ยิ่งนานวันก็ยิ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของเด็กชายมากขึ้นทุกที และเหตุการณ์ก็เดินทางมาถึงจุดตึงเครียดเขม็งเกรียวอย่างถึงขีดสุด เมื่อเพื่อนๆ เหล่านี้เป็นต้นเหตุให้เกิดเรื่องร้ายแรงบางประการขึ้นกับเด็กชาย และมันผลักดันให้เลาราต้องใช้สัญชาตญาณ ความเชื่อ ความรักของผู้เป็นแม่ ตลอดจนพลังงานชีวิตทุกหยาดหยดออกมาใช้ เป้าหมายเพื่อพิทักษ์ลูกรักของตนให้จงได้

จะเป็นเพราะอิทธิพลของ The Sixth Sense และ The Others หรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ ที่ทำให้หนังผีจำนวนไม่น้อยที่ออกฉายไล่เรียงกันเรื่อยมานับจากนั้น ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะสร้างความตระหนกตกใจให้ผู้ชมแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ทว่ากลับขับเน้นอารมณ์ในเชิงดรามา จำพวกโศกซึ้งหรือเศร้าสะเทือน ขึ้นมาเป็นรสชาติเด่นในระดับที่ทัดเทียมสูสีกัน – หรือบางครั้งก็มากกว่าด้วยซ้ำ

นอกจากนั้น ผีในหนังกลุ่มนี้ยังมักไม่มีเจตนาชั่วร้าย แต่จะค่อนข้างน่าเห็นใจและน่าสงสาร เนื่องจากพวกเขาคือผู้ที่ต้องจบชีวิตก่อนวัยและวันอันควร และเหตุที่ต้องปรากฏกายให้มนุษย์เห็น ก็เพื่อร้องขอความช่วยเหลือ ให้มนุษย์ผู้นั้นยื่นมือสะสางภาระบางอย่างที่ตนไม่มีโอกาสได้ทำเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น

The Orphanage เองก็ทำนองเดียวกัน หนังให้น้ำหนักกับความรักและความผูกพันระหว่างเลารากับลูกชาย มากกว่าจะเน้นไปที่ความสยองขวัญเมื่อเธอต้องพบกับเรื่องเหนือธรรมชาติ

หนังมีฉาก ‘ผีโผล่’ ประเภทที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความสะดุ้งตกใจให้ผู้ชมเป็นการเฉพาะ ในปริมาณที่น้อยมาก (แต่ได้ผลทุกครั้ง) บรรยากาศโดยรวมกระเดียดไปทางลึกลับระทึกขวัญปนหลอนยะเยือก อย่างไรก็ตาม เมื่อหนังจบลง ความรู้สึกสุดท้ายที่มันเหลือทิ้งไว้ให้ผู้ชม ก็คือ ความซาบซึ้งและสะเทือนใจล้วนๆ

จุดเด่นประการสำคัญของหนัง คือ รายละเอียดแทบทุกอย่างถูกจับใส่เข้ามาแบบ ‘คิดมาแล้ว’ และล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อเรื่องไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ทั้งการกำหนดให้ตัวละครหลัก 3 คนของเรื่อง -คือ เลารา ซีโมน และ โทมัส ผีเด็กตัวที่เด่นที่สุด- ล้วนเป็นบุคคลที่เข้าข่าย ‘คนนอก’ (เลาราเป็นเด็กกำพร้า ซีโมนทั้งกำพร้าทั้งป่วยด้วยโรคร้ายที่ทำให้เขามีแนวโน้มว่าจะมีชีวิตไม่ยืนยาวนัก ส่วนโทมัสนั้น หนังเล่าว่าเขามีใบหน้าพิกลพิการมาแต่กำเนิด และเมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องสวมถุงผ้าคลุมหัวเพื่อปิดบังใบหน้าอัปลักษณ์ของตัวเองไว้โดยตลอด) การเล่าถึงเรื่องราวของเลาราในวัยเด็ก การใช้เวลาช่วงต้นเรื่องบอกกล่าวปูพื้นถึงสภาพครอบครัวของเลารา การแทรกใส่ฉากเล่นเกม ‘หาสมบัติ’ ระหว่างเลารากับลูกชาย ฯลฯ

ทั้งหมดนี้หนังไม่ได้ ‘สักแต่ใส่’ หรือวางมันไว้อย่างเลื่อนลอย แต่มันจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในภายหลัง และยังเป็นเครื่องมือที่จะนำพาผู้ชมไปสู่สาระสำคัญที่หนังต้องการนำเสนอ

เหนือชั้นกว่านั้นก็คือ หนังมีลูกเล่นของการนำรายละเอียดบางอย่างมาใช้ซ้ำเพื่อให้เกิด ‘ผลใหม่’ อยู่หลายช่วงหลายตอน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การละเล่นแบบเด็กๆ ประเภทหนึ่ง ซึ่งผู้ชมได้เห็นมันครั้งแรกในฉากเปิดเรื่อง ขณะเลารากำลังเล่นอยู่กับกลุ่มเพื่อนของเธอ หนังเล่าเรื่องราวในฉากนี้อย่างผ่านเลย ใช้การละเล่นดังกล่าวในฐานะเครื่องมือแสดงให้เห็นบรรยากาศความสนุกสนานภายในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายเรื่อง เมื่อหนังเดินทางสู่จุดตึงเครียดอย่างถึงที่สุด การละเล่นแบบเดิมก็ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง และคราวนี้มันไม่ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกร่าเริงสดใสอีกต่อไป ตรงข้าม มันกดดัน หลอนยะเยือก และน่าสะพรึงกลัว หากจะมีฉากไหนตอนใดในหนังเรื่องนี้ที่ทำให้ผู้ชมต้องยกมือขึ้นปิดตาเพราะไม่กล้าดู ก็เห็นจะหนีไม่พ้นฉากนี้

พ้นจากที่กล่าวมา สาระสำคัญของ The Orphanage ก็คือ การกล่าวถึง ‘โลกของเด็ก’ ที่มักได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ใหญ่โดยไม่อาจหลีกเลี่ยง

จะเป็นเจ้าหนูซีโมนก็ตาม เลาราในวัยเด็กก็ตาม รวมถึงเหตุสลดที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนั้น จนเป็นที่มาของแก๊งผีเด็กที่ยังเวียนว่ายไม่ได้ไปผุดไปเกิดก็ตาม ทั้งหมดนั้นล้วนมีผู้ใหญ่เป็นผู้กะเกณฑ์และทำให้มันเกิดขึ้น ทว่าเด็กกลับกลายเป็นผู้ได้รับผลโดยตรง ด้วยกันทั้งสิ้น

หนังไม่ถึงกับแปะป้ายกล่าวประณามผู้ใหญ่ว่าคือผู้ร้าย เพราะในเรื่อง มีเหตุการณ์ร้ายแรงอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นโดยฝีมือของเด็กๆ อยู่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ในเมื่อการเป็นผู้ใหญ่ หมายความถึง การผ่านร้อน ผ่านหนาว และผ่านโลกมามากกว่า เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าจะมากเกินไปหากจะคาดหวังว่า ผู้ใหญ่นั่นเองควรจะรับหน้าที่ผู้ให้อภัย มอบความเอาใจใส่ และความรัก แก่เด็กที่ไม่รู้เดียงสาเหล่านั้น

หนังมีสิ่งของเล็กๆ ชิ้นหนึ่งที่ถูกใช้อย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ เหรียญห้อยคอรูปนักบุญแอนโธนี ซึ่งสามีของเลารามอบให้เธอสวมไว้ภายหลังเกิดเหตุร้ายกับซีโมนผู้เป็นลูกชาย

ตามความเชื่อแบบคาธอลิก นักบุญแอนโธนีคือสัญลักษณ์ของ ‘ผู้เยียวยา’ เป็นนักบุญที่ทำหน้าที่พิทักษ์รักษา อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ชาวคาธอลิกจะไปสวดวิงวอนในยามที่มีของรักของสำคัญหายไป

ในตอนท้ายของหนัง ภายหลังเรื่องราวทั้งหมดคลี่คลายและผ่านพ้น เลารา -ซึ่งก่อนหน้านี้เอาเหรียญดังกล่าวห้อยคอไว้ตลอด- ก็กระชากมันออก ทิ้งมันไปให้พ้นจากตัว

ในความเห็นของดิฉัน การที่เลาราทำเช่นนั้น ไม่น่าจะใช่สัญญาณแสดงให้เห็นการสูญสิ้นศรัทธาหรือละทิ้งพระผู้เป็นเจ้า

แต่มันน่าจะหมายถึงการที่เธอได้เรียนรู้แล้วว่า นักบุญหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ก็ไม่อาจพิทักษ์รักษาเด็กๆ เอาไว้ได้ แต่การที่เด็กจะอยู่รอดปลอดภัย พวกเขาเพียงต้องการความรักจากคนเป็นผู้ใหญ่ ก็เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น