"พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ…พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า"
พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถที่ทรงตรัสด้วยความห่วงใยทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทย และมีพระราชดำริที่จะหาทางรักษาป่าและสร้างป่าทดแทนให้จงได้ จนเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปว่า ทั้งสองพระองค์ทรงห่วงใยในเรื่อง "ป่า" และ "น้ำ" ที่เป็นต้นกำเนิดชีวิตของพสกนิกรเพียงใด
ตลอดระยะเวลาเกือบ 60 ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของพระองค์ที่ทรงอุทิศแก่ความเป็นอยู่ของราษฎร โครงการอันเนื่องจากพระราชดำริหลายโครงการถือกำเนิดขึ้นทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ แม้ในถิ่นทุรกันดารห่างไกล...ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่เสี่ยงที่เต็มไปด้วยภัยอันตรายก็ตาม
เปลี่ยนเสียงปืนเป็นสันติภาพ
เสียงปืนที่เคยดังก้อง ณ ช่วงเวลาที่เกิดการแบ่งแยกแนวความคิดเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ในพื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่น ของอ.เทิง จ.เชียงราย ซึ่งนับเป็นพื้นที่สีแดงที่เคยมีการรบพุ่งกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง ในวันนี้แปรเปลี่ยนเป็นเสียงกี่กระตุกที่ดังเป็นจังหวะประสานมาจากใต้ถุนเรือนของชาวบ้าน เลือดเนื้อและหยาดน้ำตาแห่งความสูญเสียที่เกิดจากการสู้รบ ถูกแทนที่ด้วยความหวังในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ อดีตฝ่ายตรงข้ามของรัฐ...กลายเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
ดอยผาหม่นในวันนี้ ไม่ได้ถูกปกคลุมด้วยความหม่นเศร้าอีกต่อไป ผืนป่าที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหลบซ่อนตัวของเหล่าผกค. กลายเป็นแดนดินแผ่นดินเกิดที่สงบปลอดภัย ชายฉกรรจ์ไม่ต้องกลัวจะถูกเกณฑ์ไปเป็นหน่วยสนับสนุนในการสู้รบ ผู้หญิงไม่ต้องเป็นหม้ายและเด็กๆ ไม่ต้องกำพร้าเพราะสงคราม หนุ่มสาวไม่ต้องไปทำงานต่างถิ่นเหมือนในอดีต ด้วยมีโครงการสร้างงานสร้างอาชีพให้พวกเขาที่บ้าน
พ.อ.ผจญ จอมพงษ์ เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ ศูนย์อำนวยการประสานงานโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง พื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ กล่าวถึงความเป็นมาและภารกิจของกองอำนวยการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่แห่งนี้ว่า ในอดีตในช่วงปีพ.ศ. 2516 จนถึงปีพ.ศ. 2525 ได้มีการต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในพื้นที่อำเภอเทิง อำเภอขุนตาล อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ซึ่งทางรัฐบาลก็ได้ส่งกองกำลังไปปราบปรามเรื่อยมาตั้งแต่ พ.ศ.2510
จนในปีพ.ศ. 2524 พ.ท.วิโรจน์ ทองมิตร ผบ.ร. พัน 3 ได้นำกำลัง (พัน ร. 473) เข้าปฏิบัติการในพื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่น ตามแผนการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ จนเกิดเป็นยุทธการยึดเนิน 1188 บนดอยดอย พญาพิภักดิ์ขึ้น ยังผลให้สามารถปราบปรามคอมมิวนิสต์ในพื้นที่นั้นได้สำเร็จในที่สุด
แต่ว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ต้องสูญเสียเหล่าทหารหาญที่พลีชีพเพื่อปกป้องอธิปไตยไปจำนวนมาก โดยอัฐิของทหารส่วนหนึ่งได้ถูกนำมาบรรจุไว้ในอนุสาวรีย์ผู้เสียสละที่ค่ายเม็งรายมหาราช จ.เชียงราย
และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เหล่าทหารหาญ ในวันที่ 27 ก.พ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปเยี่ยมเยียนเหล่าทหารหาญ และราษฎร ณ ฐานปฏิบัติการดอยพญาพิภักดิ์บนดอยยาว โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาพระราชทานประทับ “รอยพระบาท” ของพระองค์ลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ที่ทางทหารได้เตรียมไว้ เพื่อเป็นดังขวัญกำลังใจแก่ทหารหาญที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ ในปัจจุบันนี้รอยพระบาทบนปูนปลาสเตอร์นั้นได้ถูกนำมาเก็บไว้ที่ศาลารอยพระบาท ณ ค่ายเม็งรายมหาราช อ.เมือง จ.เชียงราย
เมื่อมีการยุติการสู้รบในปี พ.ศ.2525 อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ได้ยอมมอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย พร้อมกับ ผกค.ในพื้นที่ อำเภอเชียงคำ และอำเภอปง จังหวัดพะเยา นับจากนั้นภารกิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐได้เปลี่ยนจากการปราบปรามมาเป็นการปฏิบัติการจิตวิทยา และช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการเสริมสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยการจัดตั้งหน่วยงานที่เป็นกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร เป็นต้น
จนกระทั้งถึงปีพ.ศ. 2532 รัฐบาลได้จัดตั้ง กองอำนวยการโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ โดยมีพื้นที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่ อำเภอเทิง อำเภอขุนตาล อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย และอำเภอเชียงคำ อำเภอปง จังหวัดพะเยา เพื่อพัฒนาหมู่บ้านที่เคยอยู่ในอิทธิพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ห้วงระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่ปีพ.ศ.2532-2537 ได้มีการจัดตั้งหมู่บ้านยุทธศาสตร์พัฒนาขึ้นในพื้นที่ อำเภอเทิง 4 หมู่บ้าน และอำเภอเวียงแก่น 6 หมู่บ้าน โดยรับสมัครและคัดเลือกราษฎรอาสาสมัครเข้าอาศัยในหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 50 ครอบครัว รวมทั้งสิ้น 500 ครอบครัว
สิบปีต่อมาหลังจากการเสด็จฯ ลงพื้นที่ดอยยาว-ผาหม่นเป็นครั้งแรก วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2536 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเยี่ยมราษฎรอาสาสมัคร (รอส.) ในหมู่บ้านจัดตั้งใหม่ของโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง พื้นที่ดอยยาวฯ ณ บ้านร่มฟ้าทอง ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
ในระหว่างเสด็จฯ นั้น ได้ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ตัวแทนของภรรยาราษฎรอาสาชาวเขาที่มีฝีมือในการปักผ้าลายชาวเขา และตัวแทนของภรรยาราษฎรอาสากองหนุนเข้าเฝ้ารับเสด็จฯ ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ให้แก่ราษฎรอาสาดังกล่าวรายละ 6,000 บาท เพื่อเป็นเงินทุนเบื้องต้นในการซื้ออุปกรณ์การทอผ้าเพื่อดำเนินการตามโครงการพระราชดำริ
นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชเสาวนีย์ที่จะทรงส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรอาสา ตามที่ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ให้เป็นเงินทุนเบื้องต้น ซึ่งมีลักษณะการดำเนินงานเป็น 2 โครงการ คือ โครงการปักผ้าลายชาวเขาของกลุ่มแม่บ้านราษฎรอาสาชาวเขา และโครงการทอผ้าของกลุ่มแม่บ้านภรรยาราษฎรอาสากองหนุน
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชเสาวนีย์ให้กองอำนวยการโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ เป็นผู้รับผิดชอบหาสถานที่ และดำเนินการก่อสร้างโรงทอผ้า จำนวน 2 แห่ง พร้อมทั้งคัดเลือกภรรยาราษฎรอาสา ที่เข้าร่วมโครงการ ฯ และได้ทรงพระราชทานอุปกรณ์ในการทอผ้าเพิ่มเติม คือ “กี่” จำนวน 20 หลัง ให้แก่โรงทอผ้าทั้ง 2 โรง และใช้ชื่อโครงการว่า “โครงการศิลปาชีพ ใน สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ บ้านร่มฟ้าทอง”
คำแนะนำที่ทรงคุณค่า
พ.อ.ผจญ บอกเล่าถึงความประทับใจในพระราชจริยวัตรที่ทรงมีเมตตาต่อราษฎรในพื้นที่ต่อไปว่า ในคราวที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรและสมาชิกโครงการศิลปาชีพบ้านร่มฟ้าทอง เมื่อปี 2540 มีราษฎรเข้าเฝ้าบนศาลาที่ประทับทรงงานจำนวนหลายราย และมีอยู่จำนวนสองราย เป็นราษฎรบ้านห้วยหาน ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย รายแรกมีสภาพยากจน ซ้ำสามียังติดฝิ่น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระดำริจะให้ทดลองเลี้ยงแกะ เพื่อเอาขนแกะมาทอผ้าคลุมไหล่ ส่วนอีกรายสามีเสียชีวิตแล้ว สภาพยากจนมาก เนื่องจากราษฎรผู้นั้นเลี้ยงไก่ไว้จำนวนมากแต่เป็นโรคตาย สมเด็จพระนางเจ้าฯ จึงทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้นายสหัส บุญญาวิวัฒน์ หาวิธีการสอนการเลี้ยงไก่แก่ราษฎรในพื้นที่โครงการอย่างถูกวิธี
ต่อมา ศูนย์อำนวยการประสานงานโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ดอยยาวฯ จึงได้ประสานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดหาพื้นที่ในการจัดตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่าง และได้พื้นที่ประมาณ 20 ไร่ เป็นพื้นที่จัดตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่าง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการทดลองเลี้ยงแกะและสัตว์ปีก ตามพระราชดำริ บ้านร่มฟ้าทอง”
นั่นแสดงถึงความใส่พระทัยและตระหนักถึงความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาของพสกนิกรที่ทรงได้รับฟัง ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ มิได้ละเลยความทุกข์ร้อนแห่งราษฎรของพระองค์เลย
โครงการศิลปาชีพและโครงการทดลองเลี้ยงแกะและสัตว์ปีก อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์อำนวยการประสานงานโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง พื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ เรื่อยมา จนกระทั่ง เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2543 สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านร่มฟ้าทอง และทรงทราบถึงปัญหาต่างๆ ในพื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา ที่สิ้นสุดห้วงระยะเวลาดำเนินการไปแล้ว อาทิ ปัญหาการประกอบอาชีพการเกษตร, การพัฒนา และการฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำลำธาร, การกำหนดขอบเขตพื้นที่ทำกินและแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์ ฯลฯ
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้ารับโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง พื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา ( เดิม ) ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และทรงมอบให้กองทัพภาคที่ 3 ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานของโครงการฯ ดังกล่าว เพื่อได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกับส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้วยอาณาเขตติดต่อด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก ที่จรดแขวงบ่อแก้ว สาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่วนทิศใต้จรด ดอยผาแล้ง ดอยห้วยกิ่ว และดอยผาจิ ทำให้พื้นที่ของโครงการมีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าภูเขาสูงสลับซับซ้อน จัดเป็นป่าลุ่มน้ำชั้น 1 เอ และสลับร่องห้วย มีพื้นที่ราบน้อย และเป็นพื้นที่แปลงเล็ก ๆ มีความลาดชันโดยประมาณ 20-60% ที่สำคัญ พื้นที่บริเวณนี้ยังเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสองสาย คือ น้ำหงาว และน้ำงาว โดยที่น้ำหงาวไหลลงทางทิศใต้ลงสู่น้ำอิง ส่วนน้ำงาวจะไหลไปทางทิศเหนือลงสู่แม่น้ำโขง
วัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการฯ นอกจากเพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการช่วยเหลือราษฎรอาสาสมัครชาวเขาและราษฎรอาสาสมัครกองหนุนให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว ยังมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์สภาพป่าและป้องกันปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เพื่อให้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สมบูรณ์ยั่งยืนตลอดไป
เพราะป่าของแม่หลวง...คือสมบัติของชาติ ที่ทุกคนบนแผ่นไทยต้องช่วยกันปกปักรักษาไว้ไม่ให้หมดไปจากแผ่นดินของคนรุ่นเรา
*คนของแผ่นดิน*
ห่างจากพื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่นขึ้นไปทางอำเภอพญาเม็งราย ชายผู้หนึ่งได้รับผลตอบแทนจากการทำความดี ขยันหมั่นเพียร และนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตจนกระทั่งได้รับรางวัลเกียรติยศแห่งความดีมากมาย อาทิ ได้รับการยกย่องให้เป็นปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดเชียงราย, หมอดินดีเด่นระดับเขต, ครูบัญชีดีเด่นระดับภาค, คนดีศรีเชียงราย และปราชญ์เกษตรกรเศรษฐกิจพอเพียง
เมื่อประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็ก หล่อหลอมให้ชายผู้นี้เรียนรู้ถึงวิธีดิ้นรนในการอยู่รอด ต้องออกจากบ้านไปเผชิญโลกกว้างตั้งแต่ยังเด็ก หากแต่ก็มีอีกหลายชีวิตที่ยังคอยการกลับมาด้วยความหวัง การต่อสู้กับโลกภายนอกที่ผ่านมาครึ่งค่อนชีวิต กลายเป็นบทเรียนอันยิ่งใหญ่ให้เขากลายเป็นบุคคลตัวอย่างที่คว้ารางวัลแห่งเกียรติยศเพื่อการันตีในความขยันหมั่นเพียรและความดี
นายบุญเป็ง จันต๊ะภา วัย 54 ปี ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ จากการประกวดผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ ของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เท้าความถึงชีวิตวัยเยาว์ว่า จากฐานะความเป็นอยู่ของพ่อแม่ที่ยากจนข้นแค้นแม้กระทั่งการกินการอยู่แต่ละมื้อนั้น ต้องคิดถึงพ่อแม่ พี่ และน้อง ๆ เสมอ จึงออกขอทานไปกับแม่ และเป็นลูกจ้างเลี้ยงควาย เพื่อแลกเงินแลกข้าวมาเลี้ยงครอบครัว
"พ.ศ. 2506 ผมตัดสินใจเข้าไปเป็นเด็กวัด โดยมีท่านเจ้าพระอธิการอิ่นแก้ว อภิชาโต เป็นเจ้าอาวาส วัดสบเปา ท่านได้สอนภาษา พื้นเมืองให้ผม จนอ่านออกเขียนได้ตอนเป็นเด็กวัด และท่านก็ได้อนุญาตให้ข้าวปลาอาหารเศษเหลือจากวัด ตลอดถึงเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ไปให้พ่อแม่และน้อง ๆ จนถึงพ.ศ. 2508 ผมได้บวชเรียนศึกษา พุทธประวัติ พระธรรม พระวินัย สอบได้นักธรรมตรี และนักธรรมโท ได้เป็นครูสอนนักธรรมตรี-โท จนถึง พ.ศ. 2516 จึงได้ ลาสิกขาบท มาแต่งงาน ปี พ.ศ 2516 จนมีบุตร 3 คน"
อย่างไรก็ตาม ลุงบุญเป็งได้อบรมดูแลบุตรภรรยา ให้มีคุณธรรมจริยธรรม โดยการนำเอาประสบการณ์อดีตที่ยากจน และบวชเรียนอยู่วัดมา 10 ปี ไปอบรมทัศนศึกษาดูงานมาหลายแห่ง และนำกลับมาปรับปรุงพัฒนาครอบครัว สอนครอบครัวให้ทำแต่ความดี มีความพอเพียง หลีกหนีความชั่ว ขยัน อดทนและอดออม รู้จักเก็บเล็กผสมน้อย
ทั้งนี้ได้ยึดแนวตามหลักคำสอนของหลวงตามหาบัวและหลวงพ่อคุณ ปริสุทโธ เทศน์ไว้ว่า โยมควรกิน ในสิ่งที่ควรกิน สิ่งใดที่ไม่ได้กิน แต่มันไม่ตาย เราไม่ควรกิน สิ่งใดไม่ได้กินแต่มันจะตาย เราควรกินสิ่งนั้น นี้ก็เป็นคาถา แก้จนทำให้คนร่ำรวยได้เหมือนกัน ความร่ำรวยมิได้อยู่กับผู้เกียจคร้าน ความจนมิได้อยู่กับผู้ขยัน และหมั่นเพียร ค่อยเป็นค่อยไป ค่อยสร้างฐานะ
"ผมดีใจลูกเมียเป็นคนดี เป็นคนขยันหมั่นเพียร ครอบครัวผมอยู่แบบพอเพียง มีความอบอุ่น มีการทำไร่นาสวนผสมผสาน เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ สมุนไพรรักษาโรค ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกษตรผสมผสานเกษตรพอเพียง ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ ลดต้นทุนเพิ่มรายได้ ทำให้ชีวิตสดใสปลอดภัยจากสารพิษ เศรษฐกิจรุ่งเรือง เป็นตัวอย่างที่ดีของชุมชน และเป็นจุดเรียนรู้ของเกษตรกรทั่วไป มีการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ปรับปรุงบำรุงดิน โดยใช้ปุ๋ยพืชสด น้ำหมัก สารไล่แมลงจากสมุนไพร" บุญเป็ง กล่าวทิ้งท้าย