xs
xsm
sm
md
lg

City of Men : ตีนคนละเบอร์กับแก๊งสเตอร์รุ่นพี่ City of God

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

แม้จะต้องยอมรับกับ “ทัศนคติรวมหมู่” ที่ว่า ภาระแรกๆ ซึ่งภาพยนตร์ต้องแบกรับและตอบสนองต่อคนดูให้ได้ก็คือ ความสนุกสนานบันเทิง ซึ่งจนถึงตอนนี้ ผมก็ยังไม่รู้ว่าใครหน้าไหนเป็นคนสถาปนาทัศนคติแบบนี้ขึ้นมาเป็นคนแรก...และถ้าใครคนนั้นมีอยู่จริง ผมก็อยากจะบอกเขาเหมือนกันว่า คุณโคตรจะประสบความสำเร็จมากๆ เลย เพราะมีคนเชื่อตามคุณทั่วบ้านทั่วเมือง

เปล่าครับ ที่พูดแบบนี้ ไม่ได้จงเกลียดจงชังอะไรกับทัศนคติทำนองนี้ ผมเพียงแต่จะบอกว่า ถึงแม้หนังจะถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ของ Entertain แต่ผมก็รู้สึกดีเสมอๆ เมื่อได้พบเจอกับหนังบางเรื่องที่พูดถึงแง่มุมอันหลากหลายในโลก (ไม่ว่ามันจะเกี่ยวข้องกับความเป็นไปในสังคม หรือเกี่ยวโยงกับเรื่องราวของชีวิตก็ตามที)

ขอย้ำว่านะครับว่า ผมไม่ใช่พวก “สุดโต่ง” Extreme (หรือฮาร์ดคอร์ก็แล้วแต่จะเรียก) ที่อะไรๆ ก็ต้องมี “สาระ” เพียงแต่บางขณะ ผมก็อดรู้สึกดีใจไม่ได้เมื่อเห็นว่า ภาพยนตร์ยังคงไม่ถูกใช้เป็นแค่ “อุปกรณ์” ตอบสนองความ “เริงรมย์” เพียงอย่างเดียว แต่มันยังมี “พื้นที่” อยู่บ้างสำหรับการครุ่นคิดถึงเรื่องอื่นๆ นอกเหนือไปจากเรื่องผีๆ หรือเรื่องตลกๆ (ส่วนใครที่เชื่อว่า หนังก็คือหนัง สร้างมาให้ดูสนุกก็พอแล้ว อย่างนั้นก็ถูกต้องครับ ไม่ว่ากันแน่นอนอยู่แล้ว)

เหนืออื่นใด ใช่หรือเปล่าครับว่า ที่ผ่านๆ มา ทั้งผมและคุณก็คงได้เห็นกันมาพอสมควรแล้วว่า หนังหลายๆ เรื่องจากหลายๆ ประเทศทั่วโลก ไม่ได้ “ภูมิใจเสนอ” แต่ความสนุกสนานบันเทิงเพียงเท่านั้น แต่ยังพยายามพูดถึงความเป็นไปในด้านต่างๆ ของสังคมและชีวิตด้วยเช่นกัน (หลายๆ ประเทศที่ว่า รวมทั้งไทยเราด้วยนะครับ อย่าเพิ่งน้อยใจ ยกตัวอย่างเร็วๆ นี้ เราก็มีหนังอย่าง “โอ่โอ ปักษ์ใต้บ้านเรา” หรือแม้กระทั่ง Wonderful Town ซึ่งแม้จะพูดไม่ได้ว่าดีเลิศอะไรมาก แต่ก็ยังอุ่นใจได้ว่า บ้านเมืองเรายังมี “สายตา” ที่คอยสังเกตสังกาความเป็นไปในสังคมอยู่เหมือนกัน)

แต่ก็อีกนั่นแหละ หลายๆ ครั้ง ก็น่าสังเกตนะครับว่า ขณะที่คนทำหนังบ้านอื่นเมืองอื่นดูเขาจะตื่นตัวและกระตือรือร้นที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ค่อนข้างเร็ว (โลกร้อนเอย สงครามอิรักเอย ฯลฯ) แต่วงการหนังบ้านเราส่วนใหญ่ก็ยังสนุกสนานอยู่กับการวนๆ เวียนๆ อยู่แถวๆ...ตลก หรือไม่ก็ผี โลกจะลุกเป็นไฟหรือสงครามความขัดแย้งจะร้อนแรงยังไง ฉันก็จะยังตลกอยู่ได้

ซึ่งก็ไม่ผิดครับ และที่สำคัญ ผมก็ไม่ได้ต้องการจะมาปลุกระดมอะไรว่า พอกันที หนังผี หนังตลก แอ็กชั่น (เหมือน...พอกันที การเมืองเก่า!!?) เพราะถึงยังไง หนังเหล่านี้ก็ยังมีตลาดรองรับอยู่ แต่ประเด็นของผมก็คือ มันควรจะมีความหลากหลายมากกว่านี้หรือเปล่า (ทั้งเนื้อหาสาระหรือรูปแบบวิธีการนำเสนอ) ซึ่งความหลากหลายแบบนี้แหละครับที่วงการหนังบ้านเรายังมีให้เห็นน้อยมาก

อย่างตอนนี้ ผมก็ยังแอบหวังเล็กๆ น้อยๆ นะครับว่า จากสถานการณ์บ้านเมืองที่มีเรื่องราวอะไรต่อมิอะไรเกิดขึ้นมากมาย จะมีคนทำหนังคนไหนหรือเปล่าที่อยากจะเอา “เนื้อหา” แบบนี้ไปใช้สอย อย่างน้อยๆ ผมว่าปัญหาเกี่ยวกับจริยธรรมของบรรดาผู้นำก็เป็นประเด็นที่พอจะเอามาผูกพล็อตสร้างคอนเทนท์ได้ (ฮอลลีวูดเองก็ทำหนังแนวๆ นี้มาแล้วนับไม่ถ้วน) แต่ถึงอย่างนั้น ผมคิดว่ามันก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตราบเท่าที่บ้านเราเมืองเรายังมีคนแบบหนึ่ง – คงไม่ต้องบอกว่าแบบไหน – ยัง “วิตกกังวล” กับภาพพจน์ของประเทศอยู่ และหนังจะพูดถึงด้านมืดๆ ของบ้านเมืองไม่ได้เด็ดขาด ต่อให้มันเป็นเรื่องจริงแค่ไหนก็ตาม (ผมว่าถ้าบ้านเรามีคนทำหนังที่มีลูกบ้ามากๆ อย่างไมเคิล มัวร์ บ้าง คงจะดีพิลึก)

แต่เอาเถอะ ที่ร่ายมาซะยืดยาวขนาดนี้ ก็ไม่มีอะไรมากมายหรอกครับ ผมเพียงแต่จะบอกว่า การทำหนังที่มีเนื้อหาดีๆ ที่เอนเตอร์เทนคนดูได้ด้วยนั้นไม่น่าจะใช่เรื่องในอุดมคติสูงส่งเกินกว่าจะทำได้ (เปลี่ยนการเมืองเน่าๆ ให้เป็นการเมืองสะอาดๆ ยุ่งยากกว่านั้นเยอะ และอย่าได้บอกเชียวนะครับว่า ถ้าแกเก่งจริง ก็ไปทำหนังเองซะสิ...เพราะสารภาพตามตรง ผมไม่เก่งเลยจริงๆ ^_^)

อย่างแรกสุด นี่คือหนังที่ดัดแปลงมาจากทีวีซีรี่ส์ของบราซิลในชื่อเดียวกันซึ่งเป็นฝีมือการสร้างของเฟอร์นันโด มิเรียเลส (ร่วมกับคาเทียร์ ลันด์ Co-director ของ City of God) โดยที่ซีรี่ส์เรื่องนี้ยืนระยะอยู่ในสายตาคนดูทีวีได้ยาวนานถึง 4 ซีซั่น ก่อนจะถูกผู้กำกับ “เพาโล มอเรลลี่” โยกย้ายให้มาอยู่บนจอเงิน

แน่นอนครับว่า ตอนแรกที่รู้ว่ามันทำมาจากซีรี่ส์ของเฟอร์นันโด มิเรียเลส แล้ว ผมก็อดคิดล่วงหน้าไปก่อนไม่ได้ว่า เนื้อหาของหนังคงจะไม่หนีไปจาก City of God แหงๆ เพราะฟังแค่ชื่อก็เหมือนกันเสียจนนึกว่าเป็นภาคต่อ (นั่นยังไม่นับรวมนักแสดงหลักๆ ที่ขนขบวนกันมาจาก “เมืองแห่งพระเจ้า” กันครบทีม ทั้งดักลาส ซิลวาห์ และ ดาลัน คันฮาร์ ยิ่งไปกว่านั้น หนังยังมีเฟอร์นันโด มิเรียเลส นั่งในตำแหน่งโปรดิวเซอร์ร่วมอีกต่างหาก) เหนืออื่นใด คือความสงสัยว่า เพาโล มอเรลลี่ จะพาผลงานชิ้นนี้เดินไปในทิศทางไหนเพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นแค่เพียง “ก็อปปี้” ของ City of God

ว่ากันอย่างถึงที่สุด แม้จะต้องยอมรับกับ “ทัศนคติรวมหมู่” ที่ว่าภาระแรกๆ ซึ่งภาพยนตร์ต้องแบกรับคือการตอบสนองความบันเทิงแก่คนดู แต่ขณะเดียวกัน ผมก็ยังมี “ทัศนคติส่วนตัว” อยู่เช่นกันว่า หนังดีๆ ที่งดงามด้วยเนื้อหาและดูสนุกด้วยนั้น ไม่ใช่ “ความเพ้อฝัน” ที่จับต้องไม่ได้โดยสิ้นเชิง อย่างน้อยที่สุด หนังที่ผมหยิบมาพูดถึงคราวนี้อย่าง City Of Men ก็น่าจะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งยืนยันความเชื่อนี้ได้เป็นอย่างดี...

ครับ อันดับแรก ต้องบอกก่อนว่า City of Men ไม่ใช่หนังภาคต่อของ City of God (หนังดีๆ ปี 2002 ของผู้กำกับเฟอร์นันโด มิเรียเรส) แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ถ้าจะบอกว่า ทั้งสองเรื่องไม่มีอะไรเกี่ยวเนื่องกันเลยก็คงพูดไม่ได้ เพราะมันมีอะไรๆ หลายอย่างที่ “ซ้อนทับ” และ “ซ้ำรอย” กันอยู่พอสมควร

แต่ผิดคาดครับ เพราะถึงแม้ว่าภาพลักษณ์ภายนอกของ City of Men จะถูกแต่งหน้าทาปากให้มีรูปลักษณ์แบบหนังแก๊งสเตอร์เหมือน City of God แต่สาระสำคัญของมันกลับเป็นประเด็นที่หนักอึ้งและชวนให้รู้สึกสะเทือนใจ

พูดง่ายๆ ก็คือว่า ถ้าดวลกันด้วยน้ำเนื้อความเป็นหนังแก๊งสเตอร์ที่ให้น้ำหนักกับเรื่องการไล่ล่าฆ่าฟันกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมันแล้ว City of Men ก็เปรียบเป็น “ตีนคนละเบอร์” กับหนังของเฟอร์นันโด มิเรียเลส และ City of God ก็กินขาดร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วยสีสันเรื่องราวที่เข้มข้นรุนแรงฉูดฉาดกว่า ซึ่งมาพร้อมกับตัวละครที่กระจัดกระจายหลากหลายรูปแบบซึ่งมีทั้งแสบสันต์สุดตีน ไปจนถึงดีงามน่ากราบไหว้

อย่างไรก็ตาม เพราะความที่มีตัวละครร้อยแปดพันเก้าที่หนังเอามาเล่าภายในเวลาจำกัด (ราวๆ สองชั่วโมง) แบบนี้นี่เอง ที่ด้านหนึ่งก็ส่งผลให้ City of God ไม่อาจลงรายละเอียดเจาะลึกไปที่ตัวละครตัวหนึ่งตัวใดได้อย่างเต็มที่ (คือเน้นเรื่องราว แต่ไม่เน้นความลึกตื้นหนาบางของตัวละครมาก) ในขณะที่ City of Men ใช้สอยตัวละครที่เด่นจริงๆ เพียง 2 คน และหนังก็เน้นน้ำหนักคาแรกเตอร์ของพวกเขาได้ลึกและมีมิติแห่งความเป็นคนในระดับที่มีความ “สมจริง” (Realistic) ค่อนข้างสูง

ขณะเดียวกัน หลังจากได้ดู City of God ผมเชื่อว่า คำถามหนึ่งซึ่งอาจจะตกค้างอยู่ในใจของหลายๆ คนก็คือ ทำไม? อะไรๆ ในเมืองริโอ เดอ จาเนโร (ประเทศบราซิล) มันถึงได้เน่าหนอนฟอนเฟะและเลวร้ายถึงเพียงนั้น...ซึ่งถ้าคุณมีคำถามเช่นนั้น ผมคิดว่า City of Men ก็น่าจะเป็นกุญแจดอกสำคัญอีกดอกหนึ่งซึ่งช่วยไขให้เราเข้าใกล้ “ต้นตอที่มา” ของปัญหาเหล่านั้น

เล่าให้ฟังอย่างสั้นๆ เนื้อหาสำคัญของ City of Men เกี่ยวพันกับเด็กหนุ่มสองคนที่เติบโตมาในเมืองริโอ เดอ จาเนโร คือ “วอลเลซ” กับ “เอซโลรา” ซึ่งนอกจากการเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ทั้งสองยังมี “จุดร่วม” ที่เหมือนกันอีกอย่างน้อย 2-3 ประการ ซึ่งหนึ่งในจุดร่วมเหล่านั้นก็คือ การกำพร้าพ่อ และจุดร่วมที่ว่านี้เองก็กลายมาเป็น Conflict สำคัญซึ่งสั่นคลอนมิตรภาพระหว่างเขาทั้งสองอย่างไม่คาดคิด...

คล้ายๆ กับ City of God บรรยากาศโดยรวมของเรื่องราวใน City of Men ยังคงดำเนินไปท่ามกลางความเลวร้ายของเมืองริโอ เดอ จาเนโร ที่พอกพูนด้วยปัญหาอาชญากร ยาเสพติด และแก๊งเด็กนรกป่วนกรุง โดยมีสองสหาย “อันธพาลขาใหญ่” ครองอิทธิพลเหนือพื้นที่ (ก่อนจะมีการปีนเกลียวกันเองจนนำไปสู่สงครามกลางเมือง) อย่างไรก็ดี แม้จะเติบโตมาในสภาพสังคมที่เสื่อมโทรมเช่นนี้ แต่ทั้งวอลเลซและเอซโลรากลับเป็นเด็กหนุ่มเพียงส่วนน้อยที่ไม่ปล่อยตัวเองให้หลุดลอยไปในวงจรอันชั่วร้ายเหล่านั้น (พูดง่ายๆ ว่าเป็นวัยรุ่นใฝ่ดี เหมือนเด็กหนุ่มที่ฝันเป็นช่างภาพข่าวใน City of God) ขณะเดียวกัน พวกเขาก็เฝ้าฝันว่า จะมีโอกาสได้เจอหน้าพ่อในวันหนึ่งข้างหน้า (ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าพ่อจะยังมีชีวิตอยู่หรือเป็นตายร้ายดียังไง)

ย้อนกลับไปที่ผมบอกว่า City of Men เป็นกุญแจไขความจริงนั้นคือยังไง?

มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่งครับที่วอลเลซกับเอซโลราใช้สนทนากันอย่างน้อยๆ 2 ครั้ง ซึ่งถ้าฟังแบบคิดมากหน่อย เราจะมองเห็น “ต้นทาง” และ “รากเหง้า” ของปัญหา เพราะอย่างที่บอกว่า พวกเขาต่างก็กำพร้าพ่อ ตั้งแต่จำความได้ อย่าว่าแต่จะได้ฟังคำสอนสั่งชี้แนะอะไรเลย แม้แต่หน้าพ่อ พวกเขาก็ไม่เคยเห็น ดังนั้น สิ่งที่พวกเขามุ่งหวังเสมอมาก็คือการมีพ่อ เพราะพ่อจะเป็นผู้ที่ “ชี้นำให้เรารู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ” (คำพูดในหนัง)

คำนี้แหละครับที่สำคัญ เพราะและหากพิจารณาดูที่พื้นฐานสภาพความเป็นจริง เราจะพบว่า ผู้ชายส่วนหนึ่งในเมืองริโอ เดอ จาเนโร ต่างพาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย และจุดจบ ถ้าไม่ถูกฆ่าตาย ก็ติดคุก หรือไม่อย่างนั้น ก็ต้องหลบหนีไปอยู่ที่อื่นๆ ทิ้งให้ลูกเมียอยู่ตามลำพัง แน่นอนว่า เมื่อคนที่ควรจะเป็น “ผู้นำ” ซึ่งมีภาระในการดูแลพร่ำสอนลูกหลาน ไม่ทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว เด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เกิดและเติบโตมาก็คงเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเวียนวนอยู่ในวงจรปัญหาแบบเดิมๆ ที่ผู้บังเกิดเกล้าเคยเป็น

มากไปกว่านั้น คำว่า “พ่อ” ในคำพูดของเด็กหนุ่มทั้งสอง ยังอาจจะกินความกว้างไกลไปถึงผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง (อย่างที่เราเองก็ชอบเรียกผู้นำว่า “พ่อเมือง”) ซึ่งก็ต้องถามกันต่อไปว่า คนเหล่านี้ได้ดูแลเอาใจใส่และให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างจริงๆ จังๆ แล้วหรือยัง? (น่าเศร้าใจที่หลายๆ ครั้ง คนมีอำนาจก็ทำตัวอุบาทว์เสียเอง อย่างที่หนังก็เอามาประจานให้เราได้เห็น)

มีฉากหนึ่งซึ่งผมคิดว่าสำคัญมากๆ ก็คือ ตอนที่วอลเลซและเอซโลราแนะนำเด็กชายตัวเล็กๆ (ลูกของเอซโลรา) ว่าก่อนจะเดินข้ามถนนต้องมองซ้ายมองขวา ซึ่งมันสะท้อนเนื้อหาในคำพูดประโยคดังกล่าวของเด็กหนุ่มทั้งสองคนได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือ แม้ว่าเมืองนี้จะถูกขนานนามว่าเป็น “เมืองของผู้ชาย” (City of Men) แต่เอาเข้าจริงๆ มันดูเหมือนจะไม่ค่อยมี “ความเป็นพ่อ” (หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “ผู้นำ”) ที่ดีให้เห็นเลย และอย่าลืมนะครับว่า คำว่า Man (หรือ Men) ไม่อาจแทนคำว่า Father ได้เสมอไป เพราะถึงแม้ผู้ชายทุกๆ คนจะเป็น Man (ในนิยามความหมายทางเพศ) แต่ก็ใช่ว่าจะมีความเป็น Father เสมอไป (ความเป็น Man ได้มาโดยกำเนิด แต่ความเป็นพ่อเกี่ยวข้องกับสำนึกและความรับผิดชอบ)

ก็อย่างที่บอกครับว่า City of God นั้นดูเหนือกว่าแน่นอนในเรื่องของสีสันเรื่องราว แต่ถ้าวัดกันด้วยความลึกและเข้มข้นของเนื้อหาความคิด ผมว่า City of Men ชนะขาดลอย (อันที่จริง พูดว่า ดีกันคนละแบบ น่าจะถูกต้องกว่า เพราะในขณะที่ City of God ดูเหมือนจะกระตุ้นอะดรีนาลินให้พลุ่งพล่านได้ตลอดเวลา แต่ City of Men กลับหนักอึ้งด้วยประเด็นที่ชวนขบคิดและสะเทือนใจ)

เหนืออื่นใด คงต้องยอมรับว่า รูปแบบและวิธีการนำเสนอของ City of God ล้ำหน้าไปไกลกว่าหลายก้าว (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิธีการเล่าเรื่องที่แพรวพราวเสียจนบางคนบอกว่าน่าเวียนหัว?) อย่างไรก็ดี City of Men ก็แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ในด้านนี้อยู่พอสมควร อย่างน้อยที่สุด การทดลองใช้กล้องแฮนด์เฮลด์ถ่ายทำ (ซึ่งส่งผลให้ภาพออกมาไม่ค่อยนิ่ง) ก็เข้ากันได้ดีกับสภาวะทางความรู้สึกนึกคิดที่ไม่มั่นคงของตัวละครซึ่งเหวี่ยงกลับไปกลับมาระหว่าง “สิ่งที่ตัวเองอยากทำ” กับ “สิ่งที่ควรทำ”

สรุปเลยครับว่า City of Men เป็นหนังดีๆ ที่น่าดูอีกเรื่องหนึ่งอย่างแน่นอน และที่ผ่านมา ผมก็หวังอยู่ว่า คงจะมีค่ายหนังสักค่ายเอาผลงานเรื่องนี้มาฉายให้คนไทยได้ดูบ้าง ในโรงเล็กๆ ก็ยังดี แต่ก็อย่างว่านั่นแหละครับ หนังเรื่องนี้ไม่มีผีหรือตัวตลก ไม่รู้จะมีนายทุนคนไหนสนใจหรือเปล่า นี่คือคำถาม??
กำลังโหลดความคิดเห็น