xs
xsm
sm
md
lg

A Matter of Taste : รสชาติวิปริต ชีวิตวิปลาส

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล


* หมายเหตุ บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของหนัง

บนปกดีวีดี A Matter of Taste ฉบับที่ดิฉันมีอยู่ มีการนำคำชื่นชมของนักวิจารณ์มาโปะไว้เพื่อขายของตามธรรมเนียมปฏิบัติ หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นข้อความซึ่งคัดจากนิตยสาร วาไรตี้ ระบุว่า นี่คือหนังที่ “วิปลาสและจับใจอย่างยิ่ง”

‘วิปลาส’ กับ ‘จับใจ’ คุณสมบัติ 2 ประการที่ฟังเผินๆ คล้ายจะเป็นขั้วตรงข้ามและไม่น่าจะมาอยู่ร่วมกันได้ กระนั้นก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว กับหนังอย่าง A Matter of Taste มันก็เป็นคำอธิบายที่ชัดเจนและเหมาะสมเอามากๆ

A Matter of Taste เป็นหนังสัญชาติฝรั่งเศส ผลงานกำกับของ แบร์นาร์ ราปป์ ออกฉายเมื่อปี 2000 ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลซีซาร์ซึ่งเป็นรางวัลสำคัญสุดของฝรั่งเศสถึง 5 สาขา โด่งดังใช้ได้ในฝั่งยุโรป อีกทั้งยังข้ามมาดังในบ้านเราด้วย คราวที่มาร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์ยุโรปเมื่อหลายปีก่อน

เค้าโครงเรื่องโดยสรุปของหนังเล่าถึงความสัมพันธ์พิลึกพิลั่นของผู้ชาย 2 คน คือ เฟรเดอริก นักธุรกิจวัยกลางคนผู้ปรารถนา ‘ความสมบูรณ์แบบ’ ในทุกฉากทุกตอนของชีวิต กับ นิโกลาส์ ชายหนุ่มรูปงามซึ่งทำงานก๊อกๆ แก๊กๆ หาเช้ากินค่ำไปวันๆ

เหตุการณ์ของหนังแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนที่หนึ่งเริ่มตั้งแต่การพบกันครั้งแรกของทั้งคู่ที่ภัตตาคารหรูแห่งหนึ่ง เฟรเดอริกไปที่นั่นในฐานะลูกค้ากิตติมศักดิ์ของร้าน ขณะที่นิโกลาส์ เป็นบริกรที่คอยให้บริการอยู่ที่นั่น

เหตุการณ์อีกส่วนเริ่มขึ้นภายหลังนิโกลาส์ลงมือฆ่าใครคนหนึ่งตาย (แม้หนังจะทำเป็นซุกซ่อนเก็บเงียบไว้ ทว่าก็ทิ้งร่องรอยไว้ให้ผู้ชมสามารถคาดเดาได้อย่างไม่ยากเย็นนักว่า เหยื่อสังหารของนิโกลาส์ แท้จริงแล้วก็คือ เฟรเดอริก นั่นเอง) เขาถูกจับ บุคคลแวดล้อมทั้งของเขาและของเฟรเดอริก ถูกเรียกตัวมาให้ปากคำ

หนังใช้ผู้พิพากษาเป็นผู้ซักถาม และทำหน้าที่เสมือนหนึ่งตัวแทนของผู้ชม คอยป้อนคำถามต่างๆ อย่างที่ผู้ชมอยากจะถาม เป้าหมายสำคัญก็คือการหาคำตอบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเฟรเดอริกกับนิโกลาส์นั้น แท้ที่จริงเป็นเช่นไร และอะไรที่ทำให้เรื่องราวต้องจบลงด้วยการฆาตกรรมเช่นนั้น

ในภาพรวม A Matter of Taste จัดอยู่ในหมวดหมู่หนัง ‘เขย่าขวัญเชิงจิตวิทยา’ หนังอาจไม่มีฉากระทึกใจจะแจ้งให้เห็นเท่าใดนัก ทว่าสิ่งที่โดดเด่นมากก็คือเรื่องของ ‘บรรยากาศ’

หนังขับกล่อมตะล่อมหลอกผู้ชมให้รู้สึกว่า มีบางสิ่งซึ่ง ‘ไม่น่าไว้ใจ’ วนเวียนผลุบโผล่อยู่ในแต่ละฉากแต่ละตอนแทบจะตลอดเวลา องค์ประกอบสำคัญที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างยอดเยี่ยม ก็คือ ‘ความเนี้ยบ’ โอเวอร์ของเฟรเดอริก

หนังบอกเล่าปูพื้นให้ผู้ชมทราบแต่แรกแล้วว่า เฟรเดอริกเป็นบุรุษซึ่งปรารถนาความสมบูรณ์แบบไร้ที่ติในทุกด้าน เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่อยู่รายรอบตัวเขา จึงต้องเนี้ยบ ต้องเป๊ะ ต้องหรูหรา ต้องชั้นหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ความหรูหราดูดีมีชาติตระกูลเหล่านั้น เมื่อปรากฏในหนังแล้ว กลับให้ความรู้สึกแปร่ง ประหลาด และผิดเพี้ยน มันทั้งดู ‘ไม่จริง’ ไม่เข้าพวก ไม่ปลอดภัย และ ‘ไม่ชอบมาพากล’

ความสัมพันธ์ของเฟรเดอริกกับนิโกลาส์ ส่อให้เห็นความไม่ปรกติและไม่น่าไว้ใจมาตั้งแต่แรกเริ่ม หลังการพบกันที่ภัตตาคารไม่นาน เฟรเดอริกก็ตัดสินใจว่าจ้างชายหนุ่มให้ทำหน้าที่ ‘นักชิม’ ส่วนตัวของเขา ด้วยเงินเดือนสูงลิบ

ก่อนการว่าจ้าง เฟรเดอริกบอกนิโกลาส์ว่า เขาเพียงอยากจะได้ผู้ที่มีทักษะและสัญชาตญาณด้านอาหารเป็นเลิศสักคนมาลิ้มลองอาหารทุกจานก่อนที่มันจะเข้าปากเขา ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า เขาเกลียดอาหารบางจำพวกอย่างร้ายกาจ และไม่ต้องการเสี่ยงบริโภคมันเข้าไปอย่างไม่เต็มใจ

อย่างไรก็ตาม เพียงไม่นาน นิโกลาส์และผู้ชมก็ล่วงรู้ไปพร้อมๆ กันว่า แท้ที่จริงสิ่งที่เฟรเดอริกต้องการมีมากกว่านั้นอักโข เขาต้องการใช้นิโกลาส์เป็น ‘เครื่องมือถ่ายทอดความรู้สึก’ ทำหน้าที่แสดงความรู้สึกต่างๆ ที่ตัวเขาเองไม่ปรารถนาจะเปิดเผย หรือไม่อาจแสดงมันออกมาได้

เป็นต้นว่า เฟรเดอริกจะสั่งอาหารโปรดของตัวเองมาเต็มโต๊ะ แต่แทนที่จะลงมือดื่มด่ำกับรสชาติของมันด้วยตัวเอง เขากลับนั่งเฉย ปล่อยให้นิโกลาส์ลิ้มลองอาหารเหล่านั้น แล้วตัวเขาเองก็จะดื่มด่ำกับสีหน้าเป็นปลื้ม และถ้อยคำบรรยายความล้ำเลิศของรสอาหารจากนิโกลาส์แทน

มากกว่านั้นคือ ยิ่งนานวัน ความต้องการของเฟรเดอริกก็ยิ่งดูเคลือบแคลงและเลยเถิด รสชาติที่เขาเรียกร้องให้นิโกลาส์ลิ้มลองแทนนั้น ไปๆ มาๆ กลับไม่ได้จำกัดอยู่เพียงรสชาติของอาหารเท่านั้น แต่มันลามปามไปถึง ‘รสชาติของชีวิต’ ด้วย

...กลัวความสูง แต่อยากรู้ว่าความรู้สึกขณะที่ร่างลอยล่องแล้วค่อยๆ ร่วงหล่นจากท้องฟ้าเป็นเช่นไร เฟรเดอริกก็สั่งนิโกลาส์ให้ไปกระโดดร่ม

...อยากสัมผัสความรู้สึกโดดเดี่ยวราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงหนึ่งเดียวที่หลงเหลืออยู่บนโลก เฟรเดอริกก็ใช้นิโกลาส์เดินทางไปใช้ชีวิตอย่างเคว้งคว้างตามลำพังในทะเลทรายเสีย 2 สัปดาห์

และที่หนักหนาที่สุดก็คือ เพื่อให้แน่ใจว่า ความรู้สึกที่นิโกลาส์ได้รับ จะเหมือนกันกับความรู้สึกของตน (หากได้ลงมือทำสิ่งนั้นๆ ด้วยตนเองจริงๆ) ทุกกระเบียด เฟรเดอริกก็จัดแจงอย่างบรรจง ค่อยๆ เปลี่ยน ค่อยๆ ปรับรสนิยม บุคลิก และลักษณะนิสัยใจคอของนิโกลาส์ ทีละเล็กละน้อย จนลงท้ายชายหนุ่มก็แทบจะกลายร่างเป็น ‘เฟรเดอริกเบอร์ 2’ ไปเลย

ในระหว่างที่สถานการณ์ทวีความพิกลยิ่งขึ้นทุกขณะ แน่นอนว่า คนรอบข้างนิโกลาส์ ไม่ว่าจะเป็นแฟนสาว เพื่อนฝูงของเขา รวมถึงผู้ชม ที่ถูกหนังกำหนดให้เอาใจช่วยตัวละครตัวนี้มาตั้งแต่ต้น ย่อมต้องส่งสัญญาณเตือนภัยและเฝ้าภาวนาให้ชายหนุ่มเอาตัวรอดจากการตกเป็นเหยื่อของงูใหญ่ใจเย็นอย่างเฟรเดอริกให้จงได้

การตกเป็นเหยื่อในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการถูกเข่นฆ่าทำร้ายแต่อย่างใด แต่มันหมายถึง การถูกครอบงำ จนกลายร่างเป็นมนุษย์พันธุ์เดียวกับเฟรเดอริกโดยสมบูรณ์แบบ

อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วหนังก็หักหลังผู้ชมอย่างเจ็บแสบ ด้วยการให้นิโกลาส์แปรพักตร์ไปเป็นฝ่ายเดียวกับเฟรเดอริกอย่างเต็มใจ

เริ่มต้น นิโกลาส์อาจดูคล้ายเหยื่อที่กำลังถูกเฟรเดอริกครอบงำและปั่นหัว แต่เมื่อเรื่องดำเนินต่อไป หนังก็แสดงให้เห็นว่า ในความเป็นจริงแล้ว ฐานะของนิโกลาส์ในเกมจิตวิทยาครั้งนี้ ก็แทบไม่ต่างจากเฟรเดอริก เขาคลั่งไคล้เฟรเดอริกไม่น้อยไปกว่าที่เฟรเดอริกคลั่งไคล้เขา เขารู้สึกโดดเดี่ยวและอ้างว้างเมื่อไม่มีเฟรเดอริกเคียงข้าง และแน่นอน เฟรเดอริกเองก็รู้สึกเช่นนั้นเช่นเดียวกัน

เท่านั้นไม่พอ หนังยังบอกเป็นนัยอีกด้วยว่า การที่นิโกลาส์ลงมือสังหารเฟรเดอริกในบั้นปลายนั้น เขาไม่ได้ทำเพราะความเกลียดชัง หรือเพราะเห็นอีกฝ่ายเป็นศัตรู แต่เขาฆ่าด้วยความเมตตา ฆ่าเพราะรัก ฆ่าเพราะเขาเข้าใจแล้วว่า ลึกๆ แล้วเฟรเดอริกเป็นคนเช่นไร ทุกข์ด้วยเรื่องอะไร โดดเดี่ยวแค่ไหน นิโกลาส์ตัดสินใจฆ่า ก็เพื่อปลดปล่อยเฟรเดอริกให้หลุดพ้นจากพันธนาการและความเจ็บปวดทั้งปวงของชีวิต

หนังมีคำพูดของตัวละครตัวหนึ่ง ซึ่งน่าจะใช้อธิบายความสัมพันธ์ของเฟรเดอริกกับนิโกลาส์ได้อย่างถูกต้องเที่ยงตรงที่สุด นั่นคือ “เหมือนทั้งคู่เกิดมาเพื่อกันและกันโดยแท้”...

เรื่องราวของเฟรเดอริกกับนิโกลาส์ จะว่าไปก็มีส่วนละม้ายคล้ายคลึงกับคู่ของ โอลิเวอร์ ฮาร์ตวิน กับ ไซมอน กรอมเบ็ก ใน Grimm Love อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน แม้จะไม่มีนัยในเรื่องเพศปรากฏชัดเจนเท่า อีกทั้งความวิปริตสุดโต่งก็อาจจะยังไม่เทียบเท่า แต่ทั้ง 4 คน -2 คู่- ต่างก็เป็น ‘คู่วิปลาส’ ที่ราวกับจะหลุดออกมาจากโลกเพี้ยนๆ ใบเดียวกันไม่มีผิด

ทั้ง Grimm Love และ A Matter of Taste ต่างก็บอกกับผู้ชมว่า คนเรา ไม่ว่าจะบ้าบอเพี้ยนหนักขนาดไหน ก็ยังมีความต้องการใครสักคนที่จะมาอยู่เคียงข้าง คอยเติมเต็มในส่วนที่ตนพร่องขาดด้วยกันทั้งนั้น

ความบ้า กับคนบ้า ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะเข้าใจหรือยอมรับกันได้โดยง่าย

แต่เรื่องของคนเปล่าดายที่สุดท้ายก็ได้เจอะเจอคนที่ใช่ของกันและกัน...เราดื่มด่ำจับใจกับมันได้ทุกคน





กำลังโหลดความคิดเห็น