2 ปีก่อน มีหนังญี่ปุ่นชื่อ Bashing เข้าฉายอย่างเงียบเชียบในบ้านเรา
เนื้อหาของหนังเล่าถึงเด็กสาวคนหนึ่งซึ่งเดินทางไปเป็นอาสาสมัครในอิรักและถูกกลุ่มก่อการร้ายจับเป็นตัวประกัน ต่อมา รัฐบาลญี่ปุ่นยื่นมือให้ความช่วยเหลือ เด็กสาวได้เดินทางกลับบ้าน แต่เรื่องไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นก็คือ เธอพบว่า เพื่อนร่วมชาติไม่ได้ยินดีกับการรอดชีวิตของเธอเลยแม้แต่น้อย ตรงข้าม ทุกคนล้วนคิดว่าเธอแส่หาเรื่องที่เดินทางไปที่นั่น ทั้งที่รัฐบาลก็เตือนไว้แล้วว่ามันไม่ปลอดภัย และการที่เธอทำให้ญี่ปุ่นต้องยอมเจรจาอ่อนข้อให้กลุ่มก่อการร้าย ก็ถือว่าสร้างความอัปยศเสื่อมเสียให้ประเทศชาติอย่างไม่อาจประเมินค่า
ดิฉันไม่ถึงกับชอบหนังเรื่องนี้มาก ทว่าแง่มุมหนึ่งที่รู้สึกสะเทือนใจ คือการที่เด็กสาวพบว่า ที่สุดแล้ว ‘บ้าน’ กลับกลายเป็นที่ซึ่งทำให้เธอรู้สึกแปลกแยกที่สุด และเป็นที่ซึ่งไม่ต้องการเธอมากที่สุด
Persepolis มีบางอย่างที่ชวนให้ดิฉันนึกถึง Bashing นั่นคือ การที่มันเล่าถึงหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นส่วนหนึ่งของที่ใดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผ่นดินเกิดของตนเอง
หนังดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนอัตชีวประวัติชื่อเดียวกันของ มาร์จาน สตราปี นักเขียนการ์ตูน / นักวาดภาพประกอบ / นักเขียนนิทานเด็ก ชาวอิหร่าน ซึ่งปัจจุบันอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่ฝรั่งเศส
Persepolis ฉบับหนังสือการ์ตูน ถึงวันนี้ได้รับการตีพิมพ์แล้ว 4 เล่ม (ต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส ส่วนฉบับแปลภาษาอังกฤษนำทั้ง 4 เล่มมารวมเป็นเล่มหนา จนหดเหลือเพียง 2 เล่มเท่านั้น) ออกวางจำหน่ายในปี 2000-2004 ตามลำดับ หนังสือได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างสูง นอกจากนั้นยังทำให้สตราปีคว้ารางวัลอองกูแลม คูป์ เดอ เกอร์ (รางวัลสำหรับนักเขียนการ์ตูนหน้าใหม่ซึ่งมีผลงานออกมาไม่เกิน 3 เล่ม) ประจำปี 2001 อีกด้วย
เนื้อหาของทั้ง 4 เล่ม กล่าวโดยสรุปคือ เล่ม 1 สตราปีเล่าถึงชีวิตในวัยเด็ก เธอเกิดเมื่อปี 1969 ที่อิหร่าน ครอบครัวเป็นปัญญาชนคนชั้นสูง ฐานะมั่งคั่ง อย่างไรก็ตาม ขณะเธออายุ 10 ขวบ ประเทศก็พบจุดเปลี่ยนสำคัญ เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ขึ้น ระบอบกษัตริย์ถูกโค่นล้ม และอิหร่านเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบอิสลาม มีการนำกฎข้อบังคับต่างๆ ทางศาสนามาปรับใช้เป็นกฎหมาย อีกทั้งยังมีระบบการตรวจตราสอดส่องพฤติกรรมของผู้คนอย่างเข้มงวด
เล่ม 2 เล่าถึงสถานการณ์ในช่วงที่อิหร่านทำสงครามกับอิรัก เตห์รานกลายเป็นสถานที่ที่ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป มีการทิ้งบอมบ์วางระเบิด บ้านเรือนเสียหาย และผู้คนล้มตายแทบไม่เว้นแต่ละวัน ในเมื่อชีวิตประจำวันภายใต้กรอบกฎเข้มข้นช่างยากลำบากและน่าอึดอัด อีกทั้งยังมีภัยสงครามก่อกวนจนแทบไม่ได้หายใจหายคอเช่นนี้ วันหนึ่งพ่อและแม่ของสตราปีจึงตัดสินใจส่งลูกสาวไปเรียนต่อที่กรุงเวียนนา ทั้งนี้ก็ด้วยความหวังว่ามันจะทำให้ลูกมีเสรีภาพและความปลอดภัยในชีวิตเพิ่มมากขึ้น
เนื้อหาในเล่ม 3 สืบความต่อเนื่องจากเล่ม 2 – ชีวิตที่เวียนนาไม่สุขสมและง่ายดายเหมือนที่พ่อแม่คิด เพื่อนใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ วัฒนธรรมใหม่ และทัศนคติที่คนทั่วไปมีต่ออิหร่าน ทำให้สตราปีรู้สึกโดดเดี่ยวและแปลกแยกอย่างบอกไม่ถูก สตราปีเคยให้สัมภาษณ์ว่า ความหดหู่สิ้นหวังที่เกิดขึ้น ผลักดันให้เธอใช้ชีวิตอย่างเละเทะไม่สนใจโลก “ที่บ้าน ทุกคนประคบประหงมฉันราวกับเจ้าหญิง แต่ที่นี่ ฉันมีค่าแค่เศษดิน”
และในเล่มสุดท้าย สตราปีเล่าถึงชีวิตภายหลังเดินทางกลับบ้านเกิดอีกครั้ง (ในปี 1990 โดยประมาณ เบ็ดเสร็จรวมแล้วเธออยู่ที่เวียนนาราว 6 ปี) และต้องพบกับความรู้สึกแปลกๆ ที่ตัวเธอเองไม่ทันตั้งรับ นั่นคือ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เธอโหยหาการหวนคืนสู่บ้านเกิดเป็นที่สุด แต่เมื่อกลับไปอยู่ที่นั่นจริงๆ เธอกลับพบว่า 6 ปีที่เวียนนาทำให้เธอเสพติดวิถีชีวิตแบบตะวันตกโดยไม่รู้ตัว เธอพบว่าตนเองไม่มีความสุขเหมือนที่เคยคิด รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของบ้านเกิด ความแปลกแยกโดดเดี่ยว ที่เวียนนาเธอรู้สึกมากมายแค่ไหน ที่เตห์รานเธอก็ยังรู้สึกมากเท่านั้น
มาร์จาน สตราปีเล่าว่า ก่อนหน้านี้มีค่ายหนังในฮอลลีวูดหลายแห่งติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์หนังสือของเธอเพื่อนำไปดัดแปลงเป็นหนัง ทว่าเธอปฏิเสธทั้งหมดโดยให้เหตุผลว่า ตามที่เธอเห็นมา หนังที่ดัดแปลงมาจากหนังสือนั้น โดยมากมักล้มเหลวในด้านคุณภาพ ไม่ก็ด้านรายได้ และบ่อยครั้งล้มเหลวทั้งสองด้าน
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา เมื่อได้รับการติดต่อจาก มาร์ก-อองตวน โรแบร์ โปรดิวเซอร์ชาวฝรั่งเศสซึ่งรู้จักกับเธอเป็นการส่วนตัว เธอก็เริ่มสนใจ เพราะโรแบร์บอกว่า จะพยายามหาแหล่งเงินทุนในฝรั่งเศส หาหนทางทำหนังเรื่องนี้ในฝรั่งเศส เพื่อให้ท้ายที่สุดมันจะกลายเป็น ‘หนังฝรั่งเศส’ แท้ๆ
สตราปีตอบตกลงในท้ายที่สุด โดยยื่นเงื่อนไขกับโรแบร์ 3 ข้อ
หนึ่ง แม้จะไม่มีประสบการณ์ในการทำหนังมาก่อน แต่เธอขอกำกับ Persepolis ด้วยตัวเอง, สอง หนังจะต้องเป็นแอนิเมชันขาว-ดำ เช่นเดียวกับการ์ตูนต้นฉบับของเธอ และสุดท้าย ผู้ที่รับหน้าที่ให้เสียงแม่ของเธอ จะต้องเป็น แคเธอรีน เดอเนิฟ แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น
โรแบร์คงมั่นใจในตัวสตราปีโข เขาจึงยอมทำตามข้อเรียกร้องของเธอทั้ง 3 ข้อ สตราปีเริ่มงานด้วยการชักชวน แวงซองต์ ปารงโนด์
เพื่อนนักเขียนการ์ตูนที่เคยผ่านงานหนังสั้นมาบ้าง ให้มาช่วยดัดแปลงบทและกำกับด้วยกัน และท้ายที่สุดก็ได้ Persepolis ฉบับแอนิเมชันเรื่องยาวออกมาอย่างที่เห็น
เรื่องราวของหนังจับความครอบคลุมเนื้อหาในหนังสือครบถ้วนทั้ง 4 เล่ม
หนังเปิดเรื่องที่สนามบินออร์ลีในกรุงปารีส สตราปีในวัย 20 ปลายๆ ตั้งใจจะเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่อิหร่าน จากนั้นหนังนำผู้ชมเดินทางสู่ห้วงคำนึงของเธอ สตราปีคิดถึงชีวิตวัยเด็กที่เตห์ราน คิดถึงชีวิตระหกระเหินที่เวียนนา และท้ายที่สุด เธอคิดถึงการหวนคืนสู่อิหร่านเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งจบลงด้วยการที่เธอต้องอพยพโยกย้ายจากแผ่นดินแม่ของตนเองอีกครั้ง และกลายเป็น ‘ผู้อาศัย’ บนแผ่นดินของคนอื่นอย่างในปัจจุบัน
ก่อนดูหนัง มีข้อมูลเบื้องต้น 2 ประการที่ทำให้ดิฉันค่อนข้างจะ ‘หวั่นเกรง’ หนังเรื่องนี้พอสมควร
หนึ่งคือคำอธิบายที่ว่า มันเป็นหนังชีวประวัติของคนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างเข้มข้น และสองคือ ข่าวที่ว่ารัฐบาลอิหร่านไม่พอใจสิ่งที่หนังนำเสนอ จนถึงกับออกโรงคัดค้านผู้จัดเทศกาลหนังเมืองคานส์และเทศกาลหนังกรุงเทพฯ ซึ่งคิดจะเอาหนังมาร่วมฉายอย่างไม่ปิดบัง (ที่คานส์ ความไม่พอใจของรัฐบาลอิหร่านไม่ส่งผลกระทบอันใดต่อหนัง ส่วนที่กรุงเทพฯ มันทำให้หนังต้องถูกถอดออกจากโปรแกรมไป)
สองข้อมูลที่ได้รับชวนให้ดิฉันคิดว่า Persepolis น่าจะเป็นหนังที่เคร่งเครียด หนักอึ้ง บีบคั้น วิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างเข้มข้นจริงจัง ซึ่งทั้งหมดนั้นอาจส่งผลให้โรงหนังกลายสภาพเป็น ‘ห้องทรมานสังขาร’ ไป
อย่างไรก็ตาม ผลการพิสูจน์จริง ดิฉันพบว่า Persepolis ห่างไกลจากคำว่า ‘หนังเครียด’ เยอะ ตรงข้าม มันเป็นหนังที่ดูสนุกดูเพลิน มีทั้งช่วงเวลาที่ตลกขบขันและช่วงเวลาที่เศร้าสร้อยสะเทือนใจ โดยรวมแล้วจัดว่าเป็นหนังที่ ‘มีเสน่ห์’ เอามากๆ
โดยส่วนตัวแล้ว ดิฉันชอบช่วงที่หนังเล่าถึงชีวิตวัยเด็กของมาร์จาน สตราปี เป็นพิเศษ
หนังเปิดตัว ‘เด็กหญิงมาร์จี้’ (ชื่อเล่นของเธอ) ในฐานะเด็กแก่นเซี้ยวคนหนึ่ง เธอซุกซน ช่างซักช่างถาม ชอบแกล้งชาวบ้าน คลั่งเพลงร็อก สวมรองเท้าคู่โปรดยี่ห้ออาดิดาส ยกย่อง บรูซ ลี เป็นวีรบุรุษประจำใจ
ในระยะแรกที่ผู้คนนับหมื่นนับแสนแห่แหนเดินขบวนตามถนนเพื่อขับไล่พระเจ้าชาห์ กษัตริย์ซึ่งปกครองอิหร่านในตอนนั้น เด็กหญิงมองมันด้วยสายตาไร้เดียงสาว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้น เธอจำคำพูดที่กลุ่มผู้ประท้วงพูดซ้ำๆ กลับมาเล่นและทำท่าเลียนแบบที่บ้าน ทั้งที่ในเวลานั้น กระทั่งคำว่า ‘คอมมิวนิสต์’ –ข้อกล่าวหาที่พ่อแม่เล่าให้ฟังว่าทำให้ญาติๆ หลายคนถูกพระเจ้าชาห์จับไปทรมานและคุมขัง- เธอยังออกเสียงเป็น ‘คอมมูนิด’
การบอกเล่าเหตุการณ์ที่สำคัญถึงเป็นถึงตายผ่านมุมมองใสซื่อบริสุทธิ์ของเด็กตัวเล็กๆ เช่นนั้น ทำให้หนังสร้างอารมณ์เย้ยหยันได้อย่างฉกาจฉกรรจ์ เหตุการณ์ตอนหนึ่งซึ่งหนัง ‘ทำที’ เหมือนจะเล่าให้เป็นเรื่องตลก แต่แน่นอนว่า คงไม่มีใครขำออก ก็คือ วันหนึ่งเด็กหญิงมาร์จี้บอกแก๊งเพื่อนของเธอว่า พ่อของเด็กชายร่วมชั้นเรียนคนหนึ่งเป็นตำรวจลับในสังกัดของพระเจ้าชาร์ และลงมือเข่นฆ่าผู้คนไปแล้วไม่รู้กี่คนต่อกี่คน เด็กหญิงทำท่าเหมือนกำลังเม้าท์เรื่องขำขัน จากนั้นก็เป็นตัวตั้งตัวตีชวนเพื่อนเก็บตะปูคนละเป็นกำมือ แล้วดาหน้าออกไปล้างแค้นทายาททรราชให้สาสม
ความน่าสะเทือนใจของเหตุการณ์ช่วงนี้อยู่ที่ ท้ายที่สุดหนังก็ฉุดกระชากลากถูมาร์จี้ให้ออกจากโลกไร้เดียงสาพาฝันใบนั้น แล้วผลักไสเธอเข้าสู่โลกของความเป็นจริงอันโหดร้าย
หลังจากนั้นไม่นาน เธอเริ่มเข้าใจว่า การปฏิวัติไม่ใช่เทศกาลรื่นเริง ขบวนประท้วงแตกต่างจากขบวนแห่แฟนซี เธอออกเสียงคำว่า ‘คอมมิวนิสต์’ ได้ชัดเจนถูกต้อง เหนือสิ่งอื่นใด เธอรู้แล้วว่า โลกชวนฝันของเธอถูกลั่นดาลปิดตาย และเธอจะไม่มีวันมองโลก ชีวิต และตัวเอง ด้วยสายตาแบบเดิมอีกต่อไป
ดิฉันเคยอ่านพบนักข่าวคนหนึ่งเขียนถึงมาร์จาน สตราปี ว่า ตัวจริงของเธอมีบุคลิกที่ออกจะแกร่งกร้าว ไม่กลัวใคร ไม่ขวยเขินเหนียมอายเมื่อต้องแสดงความเห็น และหัวข้อหนึ่งซึ่งหากใครเผลอไปเปิดประเด็นกับเธอเข้า เป็นต้องเห็นเธอแสดงทัศนะอย่างเข้มข้นและเผ็ดร้อน ก็คือ เรื่องการเมือง
อย่างไรก็ตาม กับ Persepolis แม้จะมีมุมมองและความคิดเห็นของสตราปีสอดแทรกอยู่ในหนังโดยตลอดทั้งเรื่อง ทว่าเป้าหมายของหนังก็ไม่ได้อยู่ที่การวิพากษ์วิจารณ์การเมืองเป็นสำคัญ
ในความเห็นของดิฉัน หนังเพียงแต่บอกผู้ชม –ไม่ว่าจะโดยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม- ว่า การเมือง การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และความขัดแย้งทางการเมืองทุกครั้ง ล้วนส่งผลกระทบต่อผู้คนไม่มากก็น้อย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม โดยไม่อาจหลีกเลี่ยง
มาร์จาน สตราปีเป็นตัวอย่างสำคัญ
การที่เธอรู้สึก ‘เป็นอื่น’ บนแผ่นดินเกิด แปลกแยกกับทุกสังคม และทุกวันนี้ต้องกลายเป็น ‘ผู้อาศัย’ บนผืนแผ่นดินของคนอื่น หากสืบสาวราวเรื่องย้อนหลังไป ก็เป็นผลมาจาก ‘การเมือง’ แท้ๆ...