“บุ๋ม รัญญา - ปราโมทย์ แสงศร” คว้ารางวัลละครเวที
“ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง” หรือ International Association of Theatre Critics / Thailand Centre ได้จัดงานมอบรางวัลละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยของประเทศไทยในปีนี้ เปลี่ยนชื่อเป็น IATC Thailand Dance and Theatre Review 2013 เพิ่มการแสดงทัศนะเชิงวิจารณ์ต่อภาพรวมของละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยของไทยไปด้วยเพื่อส่งเสริมพัฒนาการละครเวทีและสร้างเสริมวัฒนธรรมการวิจารณ์ให้มากขึ้น ผลรางวัลปี 2556 มีดังนี้
ละครเวที (ละครพูด) ยอดเยี่ยม (Best Play) ได้แก่ "ฉุยฉายเสน่หา" โดย Democrazy Studio, ละครเพลงยอดเยี่ยม (Best Musical) ได้แก่ "นางพญางูขาว เดอะมิวสิคัล" โดย Dreambox , การแสดงที่ใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายยอดเยี่ยม ได้แก่ "(In)Sensitivity" โดย B-Floor Theatre, บทละครดั้งเดิมยอดเยี่ยม ได้แก่ "ฉุยฉายเสน่หา" โดย ปริดา มโนมัยพิบูลย์, บทละครดัดแปลงยอดเยี่ยม ได้แก่ "มนต์รักคลองแสนแสบ" โดย ปานรัตน กริชชาญชัย, บทสำหรับละครเพลงยอดเยี่ยม ได้แก่ "ปีศาจหัวโต" โดย จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ, การแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงชาย ได้แก่ บัณฑิต แก้ววันนา และ ปราโมทย์ แสงศร ("ฉุยฉายเสน่หา"), การแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงหญิง ได้แก่ จรรยา ธนาสว่างกุล ("พบรักมักกระสัน") และ รัญญา ศิยานนท์ ("รอยรัก รอยฆาตกรรม")(น่าเสียดายที่ไม่ได้มาร่วมงาน) การแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงกลุ่ม ได้แก่ คณะนักแสดงเรื่อง "มนต์รักคลองแสนแสบ" , การกำกับการแสดงยอดเยี่ยม ได้แก่ ธนพล วิรุฬหกุล ("Transaction" <"พอ-นิยม">) และ พันพัสสา ธูปเทียน ("ฉุยฉายเสน่หา"), การออกแบบศิลป์ยอดเยี่ยม ได้แก่ คณะทำงานฝ่ายออกแบบเรื่อง "(In) Sensitivity"
ปิดท้ายด้วยการมอบรางวัล Lifetime Achievement Award ผู้มีคุณูปการแก่ละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัย ประจำปี 2556 แด่ “ศาสตราจารย์ ดร.มัทนี โมชดารา รัตนิน” นักวิชาการ ศิลปินอาวุโส และผู้ก่อตั้งภาควิชาการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอาจารย์มัทนีได้พูดถึงสิ่งที่ได้เห็นในทุกวันนี้ว่า.....
“ทีวีพัฒนาขึ้น ลูกศิษย์ส่วนมากไปแสดง ที่เขียนบทมีน้อย พวกละครมหาวิทยาลัยรู้สึกจะลดน้อยลง คนดูละครตอนนี้มากกว่าสมัยครู สมัยนี้ประชาสัมพันธ์ดีคนก็เลยมา สมัยครูประชาสัมพันธ์ไม่ดีไม่เก่งเลย คนก็มาน้อย ละครเวทีสมัยนี้อยากให้มีมากขึ้น มีละครที่เขียนเอง ไม่ใช่แปล น่าจะเอาวรรณกรรมไทยมาทำบ้าง ละครทีวีดีขึ้น แอคติ้งดีขึ้น ครูสอนแอคติ้งมากขึ้น ละครเวทีสมัยนี้ใช้ไมโครโฟนติดที่หัวเลย เดี๋ยวนี้มีเครื่องกลต่างๆ ทำให้ง่ายขึ้น แสงสีเสียงมากขึ้น สมัยครูจะเป็นนักแสดงได้ต้องฝึกเสียง ไม่ใช้ไมโครโฟน เดี๋ยวนี้ร้องเพลงก็ติดไมโครโฟนที่หัว ไม่ใช่เสียงจริง ถ้าเป็นละครจริงๆ ต้องใช้เสียงจริง มันถึงจะเป็นของจริง ถ้าใช้เครื่องจักรกลช่วยมันก็เหมือนละครทีวี คนดูละครเวทีของไทยคนดูน้อยต้องใช้เครื่องมือช่วย นั่นคือปัญหา คนไทยไม่ค่อยทนกับการทำงานหนัก การใช้เสียงมันมีอะไรมากกว่านั้น ถ้าใช้ไมโครโฟน ให้ใครมาเล่นก็ได้ ตอนนี้คนไทยก็ชอบละครเวทีมากขึ้น ก็ดีใจ มีคนมาจัดงานอะไรแบบนี้ ลูกศิษย์ลูกหาก็ไปทำทีวีกันหมด เพราะหากินไม่ได้ ไม่มีทุนอย่างคุณบอย(ถกลเกียรติ วีรวรรณ) ละครเวทีต้องใช้นักแสดง แสง สี เสียง เวที การใช้โรงละครก็แพง ไม่มีใครยอมลดให้เรา ของธรรมศาสตร์มีโรงของตัวเอง ไม่ต้องไปเสียค่าเช่า คนไม่มีตังค์เล่นไม่ได้ แต่ครูว่าถ้าไปเล่นแบบชาวบ้านน่าจะได้นะ ครูเคยไปเล่นตามบ้านนอก พื้นที่กว้างขวาง คนเขาก็มาดูกัน คนไทยชอบละครนะ”
“ปราโมทย์ แสงศร” ผู้ได้รับรางวัล “การแสดงยอดเยี่ยมนักแสดงชาย” เล่าว่า
“ถือว่าเป็นรางวัลแรกในชีวิตเลยครับ เคยเข้าชิง ”โลกทั้งใบให้นายคนเดียว” มาแล้ว ผมเป็นคนเดียวที่ไมได้ นอกนั้นเขาหมด ไม่ว่าสคริปต์หรืออะไร นี่เป็นรางวัลแรกที่ได้รับจากละครเวที และเป็นรางวัลแรกที่ได้รับจากการแสดง ก็เป็นกำลังใจให้เรา กับการเล่นละครเวทีที่ผ่านมาก็น่าจะสิบปีได้ มันมีเสน่ห์ เวลาเราออกไปเจอกับคนดู ไม่ว่าเราจะซ้อมมากขนาดไหนมันจะคล้ายๆ กับการร้องเพลง เราไม่รู้ว่าคนดูจะเป็นยังไง เราไม่รู้ว่ารอบนั้นจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ที่ผมชอบมากคือความสดของตัวละครตัวนั้นที่เราเข้าใจแล้วเราก็แสดงความสดของตัวละครนั้นออกมา โดยไม่ได้หลุดจากคาแรคเตอร์ตัวละครนั้น แล้วแต่ละรอบการแสดงก็จะไม่เหมือนกันสักรอบ ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นตลอดเวลาในการเล่นต่อหน้าผู้ชม
งานละครเวทีเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมทำงานกำกับได้ดีขึ้นด้วย ทำให้เราเข้าใจการแสดงมากขึ้น มากกว่าตอนที่เราเป็นเด็กๆ ที่เรายังไม่ได้เจอคนที่ช่วยเหลือการแสดงซึ่งกันและกัน ละครเวทีเวลาเวิร์คชอปมีเวลามากกว่าแสดงละครเรื่องหนึ่งทางโทรทัศน์ แล้วนักแสดงเต็มที่ทำให้งานออกมามีความลึก เข้าถึงหัวใจของตัวละคร ส่วนละครเพลงยังไม่เคยเล่นเลย อยากลองมาก พวกมิวสิคัล พวกร่างกาย แดนซ์ ก็อยากลองมาก อยากรู้ว่าศักยภาพเราจะไหวหรือเปล่า”
“จรรยา ธนาสว่างกุล” ผู้ได้รับรางวัล “การแสดงยอดเยี่ยมนักแสดงหญิง” เล่าว่า
“รางวัลนี้เป็นรางวัลที่สอง ก่อนหน้าเคยได้รับรางวัลจาก “เทศกาลละครเวทีปี 2008” ถึง 2 รางวัลคือขวัญใจมหาชน กับนักแสดงหญิงขวัญใจมหาชน จากเรื่อง “ไฮไฟว์ อิอิ” ครั้งนี้ได้จากเรื่อง”ภพรักมักกะสัน” ในเรื่องเราเป็นนักแสดงหญิงคนเดียว โซโล่กับนักแสดงชาย 5 ท่าน ต้องเล่นเป็นผู้หญิง 5 คน แล้วต้องเล่นกับผู้ชายแต่ละคนๆ ละสองฉาก ฉะนั้นจะต้องเล่นทั้งหมด 10 ฉาก คือทั้งเรื่องล่ะค่ะ เข้าฉากนี้เสร็จเปลี่ยนชุดออกมา ทั้งเรื่องจะทำงานหนักมากในการทรีตคาแรคเตอร์ การเปลี่ยนอารมณ์ 5 คน 10 วิธีการเล่น จะรุกจะรับจะผลัดจะส่งกันไม่เหมือนกันเลย ต้องทำการบ้านหนักมาก... ดีใจที่การแสดงของเราได้รับการเสนอชื่อเป็นหนึ่งในสามเบสท์แอคเตรส ละครเวทีสมัยก่อนจะลำบากเพราะว่าเราต้องเล่นละครทีวีให้มากเพื่อทำมาหากิน โชคดีว่าในสิบปีที่ทำละครเวทีมามีวินัยในการทำงานมาตลอด ช่วง3-4 ปีหลังเริ่มเวทน้ำหนักไปทางละครเวทีมากขึ้น แทนที่หนึ่งปีเล่นเรื่องหนึ่ง กลายเป็นหนึ่งปีสองถึงสามเรื่อง ส่วนผลงานละครทีวีตอนนี้(ทางช่อง3)มีเรื่อง”นางร้ายซัมเมอร์”(เพิ่งจบไป) แล้วช่วงปลายปีจะมีเรื่อง “ดาวเคียงเดือน”เล่นเป็นตัวสร้างสีสัน
ละครเวทีทีกับละครทีวีต่างกัน ละครเวทีมันเติมเต็ม ถ้าชีวิตนี้เราเล่นแต่ละครทีวีเราคงแย่เหมือนกันในสภาพจิตใจ การแสดงละครทีวีเป็นเซอร์เรียลไทพ์ที่ไม่ได้ใช้การพัฒนาตัวละครเท่าไร ถึงแม้เราจะพยายามสอดแทรกการพัฒนาเข้าไปในทุกตัวละครที่เราสวมบทบาท แต่มันก็ทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะว่าเรามักจะได้รับบทที่สร้างสีสันทั่วไปอย่างที่เห็นกัน แต่พอมาเป็นละครเวที เราได้เล่นมากกว่าการเป็นคนใช้ เลขา แล้วก็ลึกกว่า ทำการบ้านมากกว่า ท้าทายตัวเองมากกว่า แต่ว่าละครทีวียังต้องมีเพราะนั่นคืออาชีพที่เลี้ยงเรา เลี้ยงปากท้อง ละครเวทีเลี้ยงจิตวิญญาณ แล้วขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้”
คนทำงานทุกคนย่อมต้องการกำลังใจ ยิ่งถ้ามีคนเห็นถึงความทุ่มเทแล้วให้รางวัลด้วยล่ะก็ ผลงานครั้งหน้ารับรองว่าจะต้องดีขึ้นๆ อย่างแน่นอน