xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : “เวียนศีรษะ” อย่าชะล่าใจ 7 โรคร้ายอาจรอคุณอยู่ !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาการเวียนศีรษะ เป็นอาการที่ใช้อธิบายความรู้สึกไม่สบาย ที่เกิดจากการรบกวนสภาวะการรับรู้สภาพการทรงตัวของร่างกาย เกิดจากความผิดปกติของระบบการทรงตัวระบบใดระบบหนึ่งหรือหลายระบบ ได้แก่ สายตา ระบบรับความรู้สึกของข้อต่อทั่วร่างกาย ระบบประสาทการทรงตัวในหูชั้นในและระบบประสาทกลาง ได้แก่ สมองน้อยและทางเดินประสาท ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมสัญญาณประสาทจากระบบทั้ง 3

อาการเวียนศีรษะหมุน เป็นความรู้สึกหลอนว่าได้มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของสิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือของตนเอง หรือเสียการทรงตัว ทำให้ผู้นั้นไม่สามารถควบคุมการทรงตัวในลักษณะปกติได้ ผู้ป่วยมักมีอาการเวียนหมุน สิ่งแวดล้อมหมุน บ้าน โต๊ะ เก้าอี้ รอบตัวหมุน หรือพลัดลงจากเตียง

แต่ความจริงตัวเองและสิ่งแวดล้อมไม่ได้หมุน อาการเวียนศีรษะชนิดนี้ค่อนข้างรุนแรง และมักจะมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ผู้ป่วยจะตกใจมาก เพราะไม่อาจควบคุมการทรงตัวได้ และอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ใจเต้นแรง เหงื่อแตก สาเหตุของอาการเวียนศีรษะชนิดนี้คือ ความผิดปกติของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน

โรคอะไรบ้างที่เป็นสาเหตุของอาการเวียนศีรษะ

1. โรคหูชั้นในผิดปกติ
เช่น โรคเมเนียร์หรือโรคบวมน้ำ โรคบีพีพีวี (BPPV) เป็นต้น อาจเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ บางรายอาจมีประวัติโรคทางหูหรืออุบัติเหตุมาก่อน โรคกลุ่มนี้ก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะที่พบบ่อยที่สุด โดยจะเป็นแบบหมุนหรือโคลงเคลง มักมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย

ขณะเกิดอาการผู้ป่วยมักจะต้องอยู่นิ่งๆ ถ้าเคลื่อนไหวศีรษะ จะทำให้มีอาการมากขึ้น มักเป็นขณะเปลี่ยนท่าทาง เช่น ลุกจากเตียงนอน ล้มตัวลงนอน หรือตะแคงซ้ายขวา บางรายมีอาการหูอื้อ หรือมีเสียงรบกวนในหูร่วมด้วย

2. การอักเสบติดเชื้อ
เชื้อไวรัสเป็นสาเหตุที่พบบ่อย มักจะเป็นหวัดหรือระบบทางเดินหายใจอักเสบนำมาก่อน ถ้าเชื้อลามเข้าหูชั้นในและเส้นประสาท จะเกิดการอักเสบส่งผลให้มีอาการเวียนศีรษะรุนแรง และเป็นอยู่หลายวัน แต่การได้ยินมักจะปกติดี

สำหรับการอักเสบของหูชั้นในที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาการจะรุนแรงมาก และอาจสูญเสียการได้ยิน พบในผู้ที่มีประวัติโรคการอักเสบของหูส่วนกลาง โรคหูน้ำหนวก แล้วโรคลุกลามเข้าไปในหูชั้นใน

3. จากอุบัติเหตุ
ที่ทำอันตรายต่อหูชั้นใน โดยเฉพาะอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน จะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะอย่างมาก ร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน บางรายอาจสูญเสียการได้ยินร่วมด้วย อาการเป็นนานหลายวันถึงสัปดาห์ หลังจากนั้นจะค่อยๆดีขึ้น

4. โรคเนื้องอกเส้นประสาทการทรงตัว หรือเส้นประสาทการได้ยิน
มักพบอาการเสื่อมการได้ยิน ร่วมกับอาการมึน เวียนศีรษะ อาจมีเสียงรบกวนในหู ในรายที่ก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ ที่ไม่ได้รับการรักษา อาจมีอาการชาที่ใบหน้าซีกนั้น มีอัมพาตของใบหน้า เดินโซเซ หรืออาการทางสมองอื่นๆ เนื่องจากก้อนเนื้องอกไปกดเส้นประสาท

5. ระบบการไหลเวียนเลือด
ถ้าเลือดไหลเวียนไปสมองไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดอาการมึนเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลมได้ เกือบทุกคนเคยมีอาการชนิดนี้มาก่อน เช่น ลุกขึ้นยืนเร็วๆ จากท่านอนหรือท่านั่งยองๆนานๆ คนปกติมักจะหายได้เอง แต่ผู้ป่วยจะเกิดอาการค่อนข้างบ่อย

สาเหตุเกิดจากความดันโลหิตต่ำ เส้นเลือดตีบตัน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือโลหิตจาง เป็นต้น นอกจากนี้ สารนิโคตินในบุหรี่ สารคาเฟอีนในกาแฟ ภาวะเครียด วิตกกังวล จะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง และไปเลี้ยงอวัยวะการทรงตัวที่หูส่วนในไม่เพียงพอ ก็จะเกิดอาการเวียนศีรษะแบบหมุนได้

6. โรคทางระบบประสาท
มักมีอาการเวียนศีรษะร่วมกับอาการทางระบบประสาทอื่นๆ เช่น แขนขาอ่อนแรง ชารอบปากและแขนขา กลืนลำบาก พูดลำบาก เห็นภาพซ้อน

7. โรคภูมิแพ้
บางคนอาจเวียนศีรษะ เมื่อได้รับสิ่งที่แพ้ เช่น สูดดมฝุ่น เกสรดอกไม้ กินอาหารบางชนิด หรือเชื้อรา เป็นต้น

การรักษา
เมื่อมีอาการ ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง การรักษาต้องหาสาเหตุที่แท้จริง แต่หากไม่พบสาเหตุของโรคที่ชัดเจน อาจรักษาโดยบรรเทา หรือควบคุมอาการเวียนศีรษะเท่านั้น การรักษาหลัก ได้แก่

1. การใช้ยารับประทาน ได้แก่
ยาระงับอาการเวียนศีรษะ เป็นการรักษาตามอาการ
ยารักษาเฉพาะโรค ได้แก่ โรคเมเนียร์ เป็นต้น

2. การผ่าตัด ในกรณีที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีสาเหตุจากเนื้องอกของเส้นประสาท

3. การบริหารร่างกาย เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพการทรงตัวโดยการบริหารลำตัวและศีรษะ

4. การบริหารร่างกายทั่วไป เป็นการบริหารที่ไม่เป็นระบบ แต่ผู้ป่วยจะมีความสุขกับวิธีนี้มากกว่า โดยให้เลือกปฏิบัติข้อใดก็ได้ดังต่อไปนี้ วันละ 20 นาที หรือมากกว่า เช่น
• ไปนั่งชมกีฬาในสถานที่จริงๆ เช่น แบดมินตัน เทนนิส กอล์ฟ ฟุตบอล
• เดินเล่น ชมนกชมไม้ มองพื้น มองท้องฟ้า ก้มหยิบเก็บของ (ต้องมีผู้ช่วย) หัดเดินบนฟูก เป็นต้น
• เล่นกีฬาเบาๆที่ชอบ เช่น ปิงปอง เลี้ยงลูกบาส พัตกอล์ฟ เป็นต้น (ห้ามว่ายน้ำ)

(ข้อมูลจากแผ่นพับงานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล)


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 193 มกราคม 2560 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น