รพ.รามาฯ โชว์ “หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดกระดูกสันหลัง” ครั้งแรกของประเทศ ราคากว่า 40 ล้านบาท เผย มีความแม่นยำ 99% ช่วยลดเวลาผ่าตัดเหลือ 12 - 20 นาที เล็งต่อยอดใช้ผ่าตัดสมองในอนาคต
วันนี้ (29 พ.ย.) ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “รามาธิบดี กับความสำเร็จหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดประสาทศัลยศาสตร์ แห่งแรกในประเทศไทย” ว่า ที่ผ่านมา รามาฯ ให้บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยผู้ป่วยนอกปีละ 2 ล้านคน ผู้ป่วยในประมาณปีละ 65,000 คน นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยการรักษามาตลอด โดยเฉพาะหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เช่น หุ่นยนต์ดาวินซีผ่าตัดต่อมลูกหมาก และหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดอื่นๆ อีกมากมาย ล่าสุด มีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดประสาทศัลยศาสตร์ ช่วยยึดกระดูกสันหลังที่ผิดปกติ กระดูกสันหลังคดงอ ขาดความแข็งแรง ช่วยย่นระยะเวลาผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยแข็งแรงมากขึ้นในระยะยาว ซึ่งเทคโนโลยีนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ยังไม่ได้อยู่ในสิทธิการรักษา แต่หากผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษา รพ. จะมีการประเมินและบอกค่าใช้จ่ายส่วนต่างที่นอกเหนือจากสิทธิรักษา หากผู้ป่วยไม่สามารถจ่ายได้ ก็จะมีมูลนิธิรามาธิบดีช่วยเหลืออยู่ ซึ่งหุ่นยนต์ดังกล่าวก็ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิ และการระดมเงินบริจาครวมกว่า 40 ล้านบาท
ศ.นพ.วชิร คชการ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า การผ่าตัดด้านประสาทศัลยศาสตร์ จำเป็นต้องอาศัยความละเอียด รอบคอบ และความแม่นยำของศัลยแพทย์เป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศัลยแพทย์ที่ต้องผ่าตัดผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดสมอง ไขสันหลัง กระดูกสันหลังและเส้นประสาท ซึ่งหุ่นยนต์ดังกล่าวจะเป็นเหมือนแขนกลในการช่วยผ่าตัดให้มีความแม่นยำมากขึ้น ซึ่งระยะแรกจะเน้นการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ซึ่งการใช้เทคโนโลยีนี้ ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ผศ.นท.นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช สาขาประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า การผ่าตัดโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง มีอัตราเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะผิดปกติของกระดูกสันหลัง ซึ่งปัจจุบันพบมากในผู้สูงอายุ โดยจากการเข้ามารักษาที่ รามาฯ พบถึงร้อยละ 15 - 20 ขณะที่เด็กที่มีปัญหากระดูกคดงอมีไม่เกินร้อยละ 10 แต่ตัวเลขทั้งหมดยังไม่ชัดเจน เพราะยังไม่มีการรวบรวมภาพรวมทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัญหากระดูกที่พบบ่อย คือ ภาวะกระดูกสันหลังคดงอผิดปกติ ภาวะช่องไขสันหลังตีบแคบกดทับเส้นประสาท และไขสันหลังระดับเอวทำให้เดินลำบากในผู้สูงอายุ ทำให้มีโอกาสหกล้มได้ จนสามารถนำไปสู่ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง หรือกระดูกสะโพก กระดูกต้นขาหัก ทำให้ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ สำหรับหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเกี่ยวกับโรคกระดูกสันหลัง เส้นประสาทและไขสันหลังดังกล่าว เรียกว่า “หุ่นยนต์เรเนซอง (Renaissance Robot)” พัฒนาและสร้างขึ้นในประเทศอิสราเอล ได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยประสาทศัลยแพทย์ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังและสมอง โดยในระยะแรกจะเป็นการกำหนดเป้าและทิศทางการเดินทางของสกรู เพื่อการยึดตรึงกระดูกสันหลังเพื่อความแข็งแรง ไม่เคลื่อนที่ออกไปจากตำแหน่งปกติที่ควรจะเป็น
“เบื้องต้นจะใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดผู้ป่วยที่มีปัญหากระดูกสันหลังก่อน จากนั้นจะพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่การผ่าตัดสมอง โดยผู้ป่วยกระดูกสันหลังที่จำเป็นต้องผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ต้องยึดกระดูกสันหลังด้วยสกรู ซึ่งหากเป็นการผ่าตัดด้วยมนุษย์เพียงอย่างเดียว ความแม่นยำในการหมุนสกรูอาจมีความเสี่ยงพลาดประมาณ 10 - 40% และใช้เวลาเฉลี่ย 1 - 2 ชั่วโมง ในการผ่าตัด แต่หากมีหุ่นยนต์ช่วยจะมีความแม่นยำถึง 99% และใช้เวลาเพียง 10 - 20 นาที จึงเป็นอีกเทคโนโลยีที่เพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น” ผศ.นท.นพ.สรยุทธ กล่าวและว่า การรักษาหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเฉลี่ยค่าบริการ 80,000 บาท ใช้ดำเนินการผ่าตัดแล้วประมาณ 5 ราย