“ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง” ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง” อย่างไรได้” ความรู้สึกในพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ชาวไทยได้ยินได้ฟังมาตลอดรัชสมัย 70 ปีแห่งการครองราชย์ ซึ่งถือเป็นพันธสัญญาที่พระองค์ทรงให้ไว้กับราษฎร จวบจนกระทั่งวันนี้ได้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า พระองค์ไม่เคยทรงทอดทิ้งประชาชนของพระองค์เลย
“ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง” ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง” อย่างไรได้” เป็นข้อความในพระราชนิพนธ์ “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชนิพนธ์ในรูปแบบบันทึกประจำวันตั้งแต่เสด็จจากประเทศไทย เพื่อไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิทเซอร์แลนด์ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ก่อนเสด็จออกเดินทาง ๓ วัน จนถึงวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ทรงพรรณนาความรู้สึกของพระองค์ยามจากเมืองไทยด้วยความรักและห่วงใยพสกนิกร และยังได้ทรงบรรยายถึงการเดินทาง โดยจบลงด้วยหน้าที่ที่จะต้องทรงกระทำเพื่อบ้านเมืองต่อไป
“ธรรมลีลา” ขอน้อมนำความบางตอนในพระราชนิพนธ์อันทรงคุณค่า ที่ทรงเล่าถึงความรู้สึกของพระองค์ยามที่ต้องจากราษฎรไป มาถ่ายทอดไว้ ณ ที่นี้ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ดังนี้
.....................
วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙
อีกสามวันเท่านั้น เราก็จะต้องจากไปแล้ว ฉะนั้นจึงตั้งใจจะไปนมัสการพระพุทธชินสีห์ที่วัดบวรนิเวศน์วิหาร รวมทั้งสมเด็จพระสังฆราชด้วย
เมื่อไปถึงวัดบวรนิเวศน์วิหารตอนบ่ายวันนี้ มีประชาชนผู้รู้ว่าข้าพเจ้าจะมา มายืนรออยู่บ้าง แต่ไม่สู้มากนัก เข้าไปในพระอุโบสถ จุดเทียนนมัสการ ฯลฯ แล้วได้มีโอกาสทูลปฏิสันถารกับสมเด็จพระสังฆราช ทรงนำพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์สูงให้มารู้จัก โดยปรกติได้เคยเห็นหน้าท่านเหล่านี้มาจนชินแล้ว ทรงนำขึ้นไปนมัสการพระสถูป บนนั้นมีพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ ชื่อพระไพรีพินาศ พระองค์นี้เคยทรงเล่าประวัติให้ฟังมาก่อนหน้านี้แล้วหลายวัน หลังจากนั้นก็นมัสการลา
ตอนนี้มีราษฎรชุมนุมกันหนาตาขึ้น ต่างก็ยัดเยียดเบียดเสียดกันจนรู้สึกเกรงไปว่า รถที่นั่งมาจะทับเอาใครเข้าบ้าง ช่างเคราะห์ดีแท้ๆ ที่ไม่มีอันตรายอันใดเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่มานั้นเลย ในหมู่ประชาชนที่มารอรับกันอยู่วันนี้ จำได้ว่า มีบางคนเคยเห็นที่พระมหาปราสาทเป็นประจำมิได้ขาด ไม่รู้ว่าหาเวลามาจากไหน จึงไปที่พระมหาปราสาทได้เสมอเกือบทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และวันอาทิตย์ พวกนี้ก็มาที่วัดนี้ด้วยเหมือนกัน
วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙
เก็บของลงหีบและเตรียมตัว…
วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙
เราจะต้องจากไปในวันพรุ่งนี้แล้ว!อะไรๆก็จัดเสร็จหมด หมายกำหนดการก็มีอยู่พร้อม… บ่ายวันนี้เราไปถวายบังคมลาพระบรมอัฐิของพระบรมราชบุพพการีของเรา ทั้งสมเด็จพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลก่อนๆ แล้วก็ไปถวายบังคมลาพระบรมศพ เราต้องทูลลาให้เสร็จในวันนี้ และไม่ใช่พรุ่งนี้ตามที่ได้กะไว้แต่เดิม เพื่อจะรีบไม่ให้ชักช้า เพราะพรุ่งนี้จะได้มีเวลาแล่นรถช้าๆ ให้ราษฎรเห็นหน้ากันโดยทั่วถึง
เมื่อออกจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณมายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ผู้คนอะไรช่างมากมายเช่นนั้น เมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาถามว่า จะอนุญาตให้ประชาชนเข้ามาหรือไม่ในขณะที่ไปถวายบังคมพระบรมศพ ตอบเขาว่า “ให้เข้ามาซิ”เพราะเหตุว่า วันอาทิตย์เป็นวันสำหรับประชาชน เป็นวันของเขา จะไปห้ามเสียกระไรได้
และยิ่งกว่านั้นยังเป็นวันสุดท้ายก่อนที่เราจะจากบ้านเมืองไปด้วย ข้าพเจ้าก็อยากจะแลเห็นราษฎร เพราะกว่าจะได้กลับมาเห็นเช่นนี้ก็คงอีกนานมาก…… วันนี้พวกทหารรักษาการณ์กันอย่างเต็มที่ เพื่อกันทางไว้ให้รถแล่นได้สะดวก ไม่เหมือนอย่างเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ที่มากันคน ช้าเกินไป…..
วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙
วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว….. พอถึงเวลาก็ลงจากพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่างนั้น แล้วก็ไปยังวัดพระแก้วเพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกต และพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์
พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง ๒๐๐ เมตร มีหญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด! เมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก
ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้จนชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง
รถแล่นฝ่าฝูงคนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมาได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆว่า
“อย่าละทิ้งประชาชน”
อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง” ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง” อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว
เมื่อมาถึงดอนเมือง เห็นนิสิตมหาวิทยาลัยผู้จงใจมาเพื่อส่งเราให้ถึงที่ ได้รับของที่ระลึกเป็นรูปเครื่องหมายของมหาวิทยาลัย ๑๑.๔๕ นาฬิกาแล้ว มีเวลาเหลืออีกเล็กน้อยสำหรับเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวที่สโมสรนายทหาร ต่อจากนั้นก็ไปขึ้นเครื่องบิน เดินฝ่าฝูงคนซึ่งเฝ้าดูเราอยู่จนวาระสุดท้าย
เมื่อขึ้นมาอยู่บนเครื่องบินแล้วก็ยังมองเห็นเหล่าราษฎร ได้ยินเสียงไชโยโห่ร้องอวยชัยให้พร แต่เมื่อคนประจำเครื่องบินเริ่มเดินเครื่องทีละเครื่องๆ เสียงเครื่องยนต์ดังสนั่นหวั่นไหว กลบเสียงโห่ร้องก้องกังวานของประชาชนที่ดังอยู่หมด พอถึง ๑๒ นาฬิกา เราก็ออกเดินทาง มาบินวนอยู่เหนือพระนครสามรอบ ยังมองเห็นประชาชนแหงนดูเครื่องบินทั่วถนนทุกสายในพระนคร
บ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตกมุ่งตรงไปยังเกาะลังกา(ซีลอน) เสียงเครื่องบินสนั่นหนวกหู หากผู้ใดอยากจะพูดก็จะต้องตะโกนออกมาให้สุดเสียง ดังนั้นจึงไม่มีใครพูดเลย ทางที่ดีที่สุดที่พึงทำคือหลับตาเสียแล้วนิ่งคิด…
แปลกดีเหมือนกันที่ใจหวนไปคิดว่า เพียงชั่วโมงเดียวที่ผ่านมาเมื่อตะกี้นี้เอง เรายังห้อมล้อมไปด้วยประชาชนชาวไทย แต่เดี๋ยวนี้เล่า เรากำลังเหาะอยู่เหนือท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล แม้จะมีเสียงเครื่องยนต์ ก็ดูเป็นเหมือนเงียบและนิ่งอยู่กับที่ เพราะเสียงทุกๆ เสียงจากสิ่งมีชีวิตได้จางหายไปหมดแล้ว และกำลังชินกับเสียงครางกระหึ่มของเครื่องยนต์นั้น
หวนกลับไปนึกดูเมื่อ ๙ เดือนที่แล้วมา เรากำลังบินไปในทิศทางตรงกันข้าม เพื่อจะเยี่ยมเยียนประเทศหนึ่ง เยี่ยมอาณาประชาชนที่เราต้องพลัดพรากจากมาถึง ๗ ปีเต็มๆ โดยที่เราเกือบไม่รู้เรื่องและข่าวคราวของบ้านเมืองและประชาชนของเราเลยแม้แต่น้อย…
เดี๋ยวนี้เรากำลังบินจากประเทศนั้น จากประชาชนพลเมืองเหล่านั้นไปแล้ว การจากครั้งนี้มิได้เพียงแต่จากมาอย่างเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้าได้จากเรื่องที่ล่วงแล้วมาด้วย…
สจ๊วตเข้ามาขัดจังหวะเสีย ทำให้ความคิดที่กำลังเพลิดเพลินจางไปเสียจากสมอง เขานำอาหารกลางวันที่มีรสกลมกล่อมเข้ามาให้ การเดินทางในระยะต่อมาช่างเปล่าเปลี่ยวเสียจริงๆ…….”
.....................
ในหนังสือสมุดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดเกล้าฯจัดทำขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานเป็นที่ระลึกแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๑ มีความบางตอนกล่าวถึงผู้ที่ร้องขอว่าในหลวงอย่าละทิ้งประชาชน ว่า
“...เป็นที่น่าประหลาดว่า ต่อมาอีกประมาณ 20 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบชายที่ร้องตะโกนทูลพระองค์ไม่ให้ทิ้งประชาชนนั้นเป็นพลทหาร และในปัจจุบันเขาออกไปทำนาอยู่ในต่างจังหวัด เขากราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ไม่ทรงทิ้งราษฎร
เขาทูลว่าตอนที่เขาร้องไปนั้น เขารู้สึกว้าเหว่และใจหาย ที่เห็นพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จไปจากเมืองไทย กลัวจะไม่เสด็จกลับมาอีก เพราะคงจะทรงเข็ดเมืองไทย เห็นเป็นเมืองที่น่ากลัวน่าสยดสยอง เขาดีใจมากที่ได้เฝ้าฯ อีก กราบบังคมทูลถามว่า
“ท่านคงจำผมไม่ได้ ผมเป็นคนร้องไม่ให้ท่านทิ้งประชาชน”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถามว่า “เราน่ะรึที่ร้อง?”
“ใช่ครับ ตอนนั้นเห็นหน้าท่านเศร้ามาก กลัวจะไม่กลับมา จึงร้องไปเหมือนคนบ้า”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตอบ “นั่นแหละ ทำให้เรานึกถึงหน้าที่ จึงต้องกลับมา”….”
.....................
ภายหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วไม่นาน พระองค์ทรงเคยมีพระราชหัตถเลขาถึงพระสหายเมื่อครั้งทรงศึกษาอยู่ในยุโรปความตอนหนึ่งว่า
“...เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนอยู่ในยุโรป ข้าพเจ้าไม่เคยตระหนักว่า ประเทศของข้าพเจ้าคืออะไรและเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้าแค่ไหน ไม่ทราบตราบจนกระทั่งข้าพเจ้าได้เรียนรู้ที่จะรักประชาชนของข้าพเจ้าเมื่อได้ติดต่อกับเขาเหล่านั้น ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าสำนึกในความรักอันมีค่ายิ่ง ข้าพเจ้าไม่เป็นโรคคิดถึงบ้านที่จริงจังอะไรนัก แต่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้โดยการทำงานที่นี่ว่า
ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ คือการที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวง...”
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 192 ธันวาคม 2559 โดย กองบรรณาธิการ)