xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : สธ.เปิดแอปฯประเมินความเสี่ยง “โรคหลอดเลือดสมอง” ด้วยตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงสาธารณสุขเปิดแอปพลิเคชั่นประเมินความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองได้ด้วยตัวเอง พร้อมคำแนะนำที่เข้าใจง่าย ป้องกันอัมพฤกษ์ อัมพาต

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกพบผู้ป่วยอัมพาตหรือโรคหลอดเลือดสมองจำนวน 17 ล้านคน เสียชีวิตจำนวน 6.5 ล้านคน สำหรับประเทศไทย พบอัตราตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองต่อประชากรแสนคน ในปี 2556-2558 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเท่ากับ 36.13, 38.66และ 42.62ตามลำดับ

กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดให้โรคหลอดเลือดสมองเป็นนโยบายระดับชาติ โดยให้โรงพยาบาลชุมชนขนาด 120 เตียงขึ้นไป จำนวน 206 แห่ง จัดหน่วยบริการผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง(Stroke Unit) ระบบStroke Fast Trackหรืออาจจัดมุมดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะ ตลอดจนสร้างความร่วมมือในการป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองทุกภาคส่วน และจัดนิทรรศการให้ความรู้ประชาชนเรื่องสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น ใบหน้าอ่อนแรง หรือหน้าเบี้ยว คิดสับสน พูดลำบาก พูดไม่ชัด ตาข้างใดข้างหนึ่งมัวหรือมองไม่เห็น ยกแขนไม่ขึ้น 1 ข้าง มีอาการมึนงง เดินเซ เสียศูนย์ เมื่อพบผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้และเร็วที่สุด เพราะการรักษาที่ทันท่วงทีจะช่วยลดความเสี่ยงของความพิการที่อาจจะเกิดขึ้น และรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ได้ โดยสามารถขอรับความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน1669ให้บริการฟรีตลอด24ชั่วโมงทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าว ได้แก่ 1. ภาวะความดันเลือดสูง 2. ผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ และผนังหัวใจห้องล่างซ้ายหนา 3. การสูบบุหรี่ 4. การดื่มสุรา 5. เบาหวาน 6. ไขมันในเลือดสูง 7. ภาวะหลอดเลือดคาโรติดตีบ(บริเวณคอ) โดยไม่มีอาการ 8. เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน

พร้อมกันนี้ได้เปิดโปรแกรม Thai CV Risk Score ทางลิงค์ http://med.mahidol.ac.th/cvmc/thaicv และแอปพลิเคชั่น 2 ตัว ได้แก่ Fast Trackและ Thai CV risk calculatorเพื่อให้ประชาชนสามารถประเมินความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองได้ด้วยตัวเอง โดยในแอปพลิเคชั่นจะมีคำถามเพื่อประเมินภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรค และให้คำแนะนำปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอส (IOS) และแอนดรอย์ (Android)

สำหรับโปรแกรมนี้ศูนย์หัวใจ หลอดเลือด และเมแทบอลิซึม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยแสดงผลการประเมินเป็นความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยจากโรคเส้น เลือดหัวใจตีบตัน และโรคเส้นเลือดสมองตีบตันในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งในกรณีที่ไม่มีผลเลือด โดยให้ใช้ขนาดรอบเอวหรือขนาดรอบเอวหารด้วยส่วนสูงแทน และในกรณีที่มีผลการตรวจระดับไขมันในเลือด

โดยแบบประเมินนี้สร้างขึ้นจากการติดตามศึกษาหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดในประชากรไทยภายใต้โครงการศึกษาพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง ประเทศไทย เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปี แบบประเมินความเสี่ยงนี้ควรใช้เฉพาะในคนไทยที่มีอายุ 35-70 ปี ที่ยังไม่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด หากมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจ ควรเข้ารับการประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 192 ธันวาคม 2559 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น