สธ. เปิดแอปพลิเคชันประเมินความเสี่ยง “โรคหลอดเลือดหัวใจ - หลอดเลือดสมอง” ด้วยตัวเอง พร้อมคำแนะนำเข้าใจง่าย ป้องกันอัมพฤกษ์ อัมพาต เตือนใบหน้าอ่อนแรง เบี้ยว คิดสับสน พูดลำบาก พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง ให้นำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้เร็วที่สุด ลดความพิการ รักษาชีวิตผู้ป่วยได้ทัน
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในวันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันอัมพาตโลก (World1Stroke1Day) ปีนี้กำหนดประเด็นการรณรงค์ คือ “อัมพฤกษ์ อัมพาต ป้องกัน รักษาได้ (Face the facts: Stroke is treatable.)” เน้นการป้องการควบคุมโรคหลอดเลือดสมองใน 3 ประเด็น คือ สร้างความตระหนักต่อโรค, ส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และการปฏิบัติเพื่อควบคุมป้องกันโรค กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้โรคหลอดเลือดสมองเป็นนโยบายระดับชาติ โดยให้โรงพยาบาลชุมชนขนาด 120 เตียงขึ้นไป จำนวน 206 แห่ง จัดหน่วยบริการผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Unit) ระบบ Stroke Fast Track หรืออาจจัดมุมดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะ ตลอดจนสร้างความร่วมมือในการป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองทุกภาคส่วน ในปี 2559 จัดนิทรรศการให้ความรู้ประชาชนเรื่องสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น ใบหน้าอ่อนแรง หรือหน้าเบี้ยว คิดสับสน พูดลำบาก พูดไม่ชัด ตาข้างใดข้างหนึ่งมัว หรือมองไม่เห็น ยกแขนไม่ขึ้น 1 ข้าง มีอาการมึนงง เดินเซ เสียศูนย์ เมื่อพบผู้ป่วยมีอาการข้างต้นรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้และเร็วที่สุด เพราะการรักษาที่ทันท่วงทีจะช่วยลดความเสี่ยงของความพิการที่อาจจะเกิดขึ้นและรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ได้ สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 ให้บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ
พร้อมกันนี้ ได้เปิดโปรแกรม Thai CV Risk Score ทางลิงก์ http://med.mahidol.ac.th/cvmc/thaicv และแอปพลิเคชัน 2 ตัว ได้แก่ Fast Track และ Thai CV risk calculator เพื่อให้ประชาชนสามารถประเมินความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองได้ด้วยตัวเอง โดยในแอปพลิเคชันจะมีคำถามเพื่อประเมินภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคและให้คำแนะนำปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอส (IOS) และแอนดรอย์ (Android)
ปัจจุบันทั่วโลกพบผู้ป่วยอัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมองจำนวน 17 ล้านคน เสียชีวิตจำนวน 6.5 ล้านคน สำหรับประเทศไทย พบอัตราตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองต่อประชากรแสนคน ในปี 2556 - 2558 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเท่ากับ 36.13, 38.66 และ 42.62 ตามลำดับ ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าว ได้แก่ 1. ภาวะความดันเลือดสูง 2. ผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ และผนังหัวใจห้องล่างซ้ายหนา 3. การสูบบุหรี่ 4. การดื่มสุรา 5. เบาหวาน 6. ไขมันในเลือดสูง 7. ภาวะหลอดเลือดคาโรติดตีบ (บริเวณคอ) โดยไม่มีอาการ 8. เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน