xs
xsm
sm
md
lg

หมอจุฬาฯ ใช้ นิทินอล สร้างอุปกรณ์ปิดรูรั่วผนังกั้นหัวใจห้องล่าง ช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ไม่ต้องผ่าตัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หมอหัวใจจุฬาฯ คิดค้นอุปกรณ์ “ปิดรูรั่วผนังกั้นหัวใจห้องล่าง” ด้วยการใช้ “นิทินอล” ช่วยรักษาผู้ป่วยผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่วโดยไม่ต้องผ่าตัด ลดภาวะแทรกซ้อน เผยใส่ให้กับผู้ป่วยแล้ว 50 รายแล้ว ประสบผลสำเร็จ เตรียมโชว์ผลงานในตลาดนัดนวัตกรรมทางการแพทย์

ศ.นพ.พรเทพ เลิศทรัพย์เจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงการประดิษฐ์ “อุปกรณ์ปิดรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่าง โดยไม่ต้องผ่าตัด” ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานที่จะนำเสนอในงาน “มหกรรมตลาดนัดนวัตกรรมการแพทย์ไทย ผลิตภัณฑ์จากแนวคิด สิ่งประดิษฐ์ด้านการแพทย์” ว่า อุปกรณ์ดังกล่าวมีผู้คิดค้นและใช้รักษาผู้ป่วยในต่างประเทศมาก่อนแล้ว แต่มีภาวะแทรกซ้อนคือทำให้หัวใจเต้นไม่ปกติ จนต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ จึงได้สั่งระงับการใช้ แต่ด้วยความสนใจในการคิดค้นอุปกรณ์ในการรักษาโรคหัวใจ จึงได้ศึกษาเกี่ยวกับโลหะ “นิทินอล” ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษคือมีความยืดหยุ่นสูงและสามารถจดจำรูปร่างที่จัดไว้ได้ ประกอบกับก่อนหน้านี้ได้ทำวิจัยอุปกรณ์ปิดรูรั่วที่ผนังหัวใจห้องบนและอุปกรณ์ปิดรูรั่วในเส้นเลือดให้กับบริษัทเอกชนในไทย ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานสหภาพยุโรป จึงได้คิดรูปแบบอุปกรณ์ปิดรูรั่วผนังกั้นหัวใจห้องล่างนี้ขึ้น โดยใช้โครงลวดนิทินอลที่เคลือบด้วยทองคำขาวมาขึ้นรูป จนสามารถได้รูปแบบอุปกรณ์ที่ต้องการ โดยเริ่มวิจัยในสัตว์ทดลอง พบว่า สามารถใช้ปิดรูรั่วได้ผลดี ต่อมาจึงทำการวิจัยคลินิกโดยใช้รักษาผู้ป่วยที่มีรูรั่วที่ผนังหัวใจห้องล่างก็ได้ผลดีเช่นกัน

ศ.นพ.พรเทพ กล่าวว่า อุปกรณ์ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นจากการนำโครงลวดนิทินอลมาขึ้นรูปเป็นจาน 2 ใบประกบกันด้วยแกนกลาง และมีใยสังเคราะห์บุอยู่ภายในเพื่อกันไม่ให้เลือดไหลผ่านอุปกรณ์ การใส่อุปกรณ์จะเริ่มจากการใส่สายสวนหัวใจเข้าทางเส้นเลือดบริเวณขาหนีบ แล้วค่อย ๆ ผ่านสายสวนไปตามเส้นเลือดเข้าไปในหัวใจจนถึงตำแหน่งที่เป็นรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่าง หลังจากนั้น จะนำอุปกรณ์ที่ทำจากโครงลวดนิทินอลที่ขึ้นรูปไว้แล้วมายืดเป็นเส้นตรงเพื่อส่งผ่านไปในสายสวนหัวใจ เมื่อถึงตรงตำแหน่งรูรั่วก็จะปล่อยโครงลวดออกจากปลายสายสวนให้กางออกเป็นจาน 2 ใบประกบกันเพื่อปิดรูรั่ว อุปกรณ์นี้ได้รับการออกแบบให้มีจานที่มีความแข็งแรง สามารถทนแรงบีบของหัวใจ และไม่เลื่อนหลุดภายหลังการใส่ รวมทั้งมีแกนกลางที่อ่อนนุ่มและไม่กดทับบนเนื้อเยื่อข้างเคียงที่เป็นทางผ่านของกระแสประสาทที่ควบคุมการเต้นของหัวใจ จึงป้องกันปัญหาหัวใจเต้นไม่ปกติที่พบในอุปกรณ์ที่มีมาก่อน

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้ใช้อุปกรณ์ปิดรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่างเพื่อรักษาผู้ป่วยจำนวน 50 ราย พบผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน 2 ราย เนื่องจากอุปกรณ์ไม่สามารถปิดรูรั่วได้สนิท ทำให้มีเลือดไหลผ่านรอยรั่วที่เหลืออยู่ ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงแตกและปัสสาวะมีสีแดง จึงต้องทำการผ่าตัดเพื่อนำอุปกรณ์ออกและปิดรูรั่วด้วยวิธีการผ่าตัดแทน ทั้งนี้ การรักษาผู้ป่วยด้วยอุปกรณ์ปิดรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่าง ต้องทำความเข้าใจกับผู้ป่วยว่า การรักษาด้วยอุปกรณ์ชิ้นนี้เป็นเพียงทางเลือกในการรักษา หรือเป็นทางเลี่ยงที่ไม่ต้องผ่าตัดหัวใจ ซึ่งหากสำเร็จผู้ป่วยก็ไม่ต้องผ่าตัดรักษา ที่ผ่านมามีผู้ป่วยเพียง 2 รายจาก 50 ราย ที่ต้องให้แพทย์นำอุปกรณ์นี้ออกและปิดรูรั่วโดยการผ่าตัด ซึ่งการรักษาผู้ป่วยในรายหลัง ๆ ก็ไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ชิ้นนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย เนื่องจากต้องอาศัยแพทย์โรคหัวใจที่มีความชำนาญ” ศ.นพ.พรเทพ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น