xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ จัด 8 โครงการรักษาฟรี "มะเร็ง-ไต-หัวใจ-ตา" ตรวจ DNA คนไร้สถานะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รพ.จุฬาฯร่วมคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จัด 8 โครงการช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาพยาบาลโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เฉลิมพระเกียรติ "สมเด็จพระเทพฯ" เฉลิมพระชนมายุ 60 พรรษา เผยเตรียมลงพื้นที่ จ.ตาก เก็บตัวอย่างเลือดคนไร้สถานะ ตรวจดีเอ็นเอญาติสัญชาติไทย

วันนี้ (20 ก.พ.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวเปิดตัว 8 โครงการบริการทางการแพทย์เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ว่า ปัจจุบันยังคงมีผู้ป่วยจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงบริการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะโรคที่มีคาใช้จ่ายสูง หรือมีภาวะโรคซับซ้อน รวมไปถึงบางกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รพ.จุฬาฯ จึงร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลย จัดโครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการการรักษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

รศ.นพ.โศภณ กล่าวว่า สำหรับ 8 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดรักษาโรคทางโลหิตวิทยา เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันหรือเรื้อรัง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ภาวะไขกระดูกล้มเหลว ซึ่งเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง 1-2 ล้านบาท โดยจะดำเนินการให้แก่ผู้ป่วย 6 ราย ซึ่งจะต้องมีผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดที่ตรวจพบแล้วว่ามีเนื่อเยื่อเข้ากันได้ และต้องขาดทุนทรัพย์หรือยากไร้ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่บัดนี้จนถึงปี 2559 2.โครงการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออติกแบบผ่านท่อทางผนังหัวใจห้องล่างซ้าย จำนวน 6 ราย เกณฑ์จของผู้ป่วยคือจะต้องเป็นผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงจากการผ่าตัดหัวใจแบบปกติ หรือมีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน

รศ.นพ.โศภณ กล่าวว่า 3.โครงการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจำนวน 60 ราย 4.โครงการผ่าตัดแก้ไขจอตาหลุดลอกจำนวน 60 ดวง ซึ่งโรคนี้ต้องผ่าตัดรักษาเท่านั้น แต่มีค่าใช้จ่ายสูง ขณะนี้มีผู้เข้ารอคิวผ่าตัดยาวจนถึงปีหน้า โครงการนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยได้ผ่าตัดในช่วงเวลาที่เหมาะสม ลดอุบัติการณ์สูญเสียการมองเห็นถาวร 5.โครงการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยมะเร็งกระดูกด้วยข้อโลหะเทียมชนิดพิเศษ จำนวน 6 ราย ซึ่งกระดูกเทียมมีราคาชิ้นละ 4 แสนบาท แต่ให้ผลดีกว่าการผ่าตัดด้วยกระดูกบริจาค เพราะต้องรอกระดูกสมานตัวนาน 6-12 เดือน จึงจะทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูได้

รศ.นพ.โศภณ กล่าวว่า 6.โครงการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งทางนรีเวชวิทยาด้วยหุ่นยนต์จำนวน 10 ราย ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งโพรงมดลูกในระยะแรก หากได้รับการผ่าตัดดี อย่างหุ่นยนต์ที่มีความแม่นยำสูง จะช่วยให้การพยากรณ์โรคและอัตราการอยู่รอดมีความแม่นยำมากขึ้น โดยวางแผนจะผ่าตัดให้ได้ทั้ง 10 ราย ภายใน 1 ปี 7.โครงการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสีขั้นสูงจำนวน 300 ราย แบ่งเป็น มะเร็งโพรงจมูก มะเร็งปากมดลูก มะเร็งสมอง มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม ชนิดละ 60 ราย และ 8.โครงการตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์สัญชาติไทยในบุคคลบไร้สัญชาติ 660 ครอบครัว

นพ.กรเกียรติ วงศ์ไพศาลสิน ฝ่ายนิติเวช รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยตรวจดีเอ็นเอให้กลุ่มคนไร้สัญชาติหรือไร้สถานะ ที่รอการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยเอกสาร โดยจะตรวจให้แก่บุคคลไร้สถานะที่มีญาติหรือบุคคลอ้างอิงว่าเป็นสัญชาติไทยก่อน เช่น มียายสัญชาติไทยแล้ว แต่บุตรหลานยังไม่ได้สัญชาติไทยก็จะดำเนินการตรวจดีเอ็นเอให้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะมีทีมในพื้นที่ จ.ตาก ดำเนินการรวบรวมข้อมูลให้ โดยฝ่ายนิติเวชเตรียมจะลงไปเก็บตัวอย่างเลือดที่ จ.ตาก ในเร็วๆ นี้ เพื่อนำมาตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ก็รู้ผล หากเป็นญาติกับบุคคลที่มีสัญชาติไทยจริง จะส่งเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ได้รับสัญชาติไทยต่อไป ซึ่งกลุ่มคนไร้สถานะที่อยู่ในกองทุนคืนสิทธิและมีญาติเป็นสัญชาติไทย ก็อยู่ในกลุ่มที่จะได้รับการตรวจดีเอ็นเอด้วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น