xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : วิธีปฏิบัติเพื่อก้าวล่วงบ่วงมาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นโมตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ
เอตํ โลกามิสํ โฆรํเอตฺถ โลโก วิมุจฺฉิโต
เอตญฺจ สมติกฺกมฺมสโต พุทฺธสฺส สาวโก
มารเธยฺยมติกฺกมฺมอาทิจฺโจ ว วิโรจติ


บัดนี้ จักได้แสดงพระธรรมเทศนาว่าด้วย “วิธีปฏิบัติเพื่อก้าวล่วงบ่วงมาร” เป็นพระพุทธภาษิตบรรหาร ส่งเสริมสัมมาปฏิบัติของท่านสาธุชน ผู้นับถือพระพุทธศาสนา ตามสมควรแก่เวลา

พระพุทธภาษิตนี้ มีในสคาถวรรค สังยุตนิกายมารวรรค เรื่องเล่าในพระสูตรว่า ก่อนแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจะตรัสพระพุทธภาษิตนี้ ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ ณ ศาลากูฏาคาร ป่ามหาวัน กรุงไพศาลี ในขณะนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงธรรมีกถา อันสัมปยุตด้วยพระนิพพาน แต่ทรงแสดงผัสสายตนะ ๖ อย่าง ให้พระภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ ได้เข้าใจแจ่มแจ้ง น้อมใจไปเพื่อจะฟัง เกิดฉันทะอุตสาหะในการที่จะฟัง จึงตั้งใจเงี่ยโสตประสาทเพื่อจะฟังพระธรรมเทศนา ที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงนั้น

มีเรื่องเล่าว่า มารทราบว่า วันนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม เพื่อให้พระภิกษุสนใจ ตั้งใจฟัง อาจหาญ ร่าเริง เห็นแจ้ง จึงนึกว่า ถ้ากระไร เราจะเข้าไปใกล้พระสมณโคดม เพื่อให้พระสมณโคดมลืมธรรมะที่จะทรงแสดงนั้น แล้วก็เข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า ทำเสียงให้ดังเหมือนกับว่าแผ่นดินจะทรุด ในขณะนั้น ภิกษุบางรูปสนทนากันว่า อาวุโสได้ยินเสียงนั้น เหมือนแผ่นดินจะทรุด พระพุทธเจ้าทรงทราบข้อนั้นแล้ว จึงตรัสว่า ไม่ใช่แผ่นดินทรุด แต่เป็นมารเข้ามารังควาน เพื่อไม่ให้พวกเธอทั้งหลายนั้นมีดวงตาเห็นธรรม แล้วจึงตรัสพระพุทธภาษิต ซึ่งได้นิกขิตไว้ ณ เบื้องต้นนั้นว่า

เอตํ โลกามิสํ โฆรํเอตฺถ โลโก วิมุจฺฉิโต
เอตญฺจ สมติกฺกมฺมสโต พุทฺธสฺส สาวโก
มารเธยฺยมติกฺกมฺมอาทิจฺโจ ว วิโรจติ


ซึ่งแปลเนื้อความว่า รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น เป็นโลกามิส อันเป็นพิษร้าย เป็นที่หมกมุ่นอยู่แห่งสัตว์โลก สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีสติ ได้ก้าวล่วงโลกมิสนั้นแล้ว ล่วงพ้นบ่วงมาร รุ่งโรจน์อยู่ดุจดวงอาทิตย์อุทัยขึ้น ยังโลกให้สว่างฉะนั้น

พระพุทธภาษิตนี้ กล่าวด้วยเรื่องมาร คำว่า “มาร” แปลว่า ผู้ฆ่า หรือผู้ยังให้ตาย คือ ให้ตายใจ คือให้ประมาทนั่นเอง เรื่องมารนี้มาปรากฏในพระบาลี และในพระบาลีนั้นกล่าวเป็นตัวมารจริงๆว่า มารเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วทำเสียงให้ดัง คือให้อึกทึก ให้เสียสมาธิ

มารนี้ภาษาไทยเรียกว่า “ยักษ์” อย่างใครดุจัด ขี้โกรธมาก เราก็มักจะว่าขี้โกรธ ดุเป็นยักษ์เป็นมาร แต่ผู้ที่ไม่ได้อ่านเนื้อความในพระบาลี พอออกชื่อเรื่องมารอย่างนี้แล้วก็มักจะฉงนว่า ตัวมันเป็นอย่างไรหนอ มารจึงมาปรากฏในพระบาลี แล้วจะมีปรากฏเป็นรูป เช่น รูปยักษ์ที่เฝ้าประตูวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คนไม่เคยเห็น เช่น ชาวต่างประเทศมาเที่ยวเมืองไทย เห็นเข้าก็นึกชอบ อยากจะนำไปไว้ที่บ้านสักตัวหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น

โดยมากที่เขาไม่เชื่อ เขาก็ว่ามารนั้นคือกิเลส เพราะมารนั้นมี ๕ ขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร เทวปุตตมาร มารทุกๆชื่อนี้ก็สำคัญอยู่ที่กิเลส เมื่อกิเลสไม่มีแล้ว มารตัวอื่นๆก็ตายหมด นี้ท่านอธิบายเป็นธรรมาธิษฐาน คือเป็นกิเลสไป

แต่ในพระบาลีเรามีศัพท์ว่า “มาโร” มารได้รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนพระเรื่องอะไรแล้ว เข้าไปแกล้งทำให้เสียสมาธิ คือทำให้เสียงดังก้องกัมปนาท เหมือนว่าแผ่นดินจะถล่ม ทำให้ภิกษุบางรูปที่ใจคอไม่หนักแน่นตกใจ นึกว่าแผ่นดินจะถล่ม แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ใช่อย่างนั้น มารเขามาเพื่อจะให้เธอทั้งหลายนั้นลืมธรรมะ ไม่มีจักษุที่จะเห็นธรรมะ

เรื่องยักษ์เรื่องมารนี้ยกไว้ ถ้าท่านที่เชื่อว่ามารมีจริงๆ ก็คือตัวยักษ์ที่ในเมืองไทยเราเรียก และมีรูปอยู่ตามวัดต่างๆ วัดที่ใหญ่ๆ เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นต้น แต่ถ้าไม่เชื่อว่ามารมีจริง เป็นคนจริงๆ เราก็เชื่อว่า มารก็คือกิเลส กิเลสเข้ามากลุ้มรุมใจให้ผู้ปฏิบัตินั้นลืมธรรมะ ลืมความดีความชอบ ลืมอะไรหมด ก็คือประมาทนั่นเอง

แต่ในที่นี้จะแสดงว่า มารจริงๆ คือ ตัวมารนั้นมันมีจริงๆ แต่เราไม่เห็น พระพุทธเจ้าท่านเห็น อย่างเทวดาโดยมากเราก็ไม่เชื่อ แต่ว่ามีมาปรากฏในพระบาลี เช่น ในเทวตาสังยุต แปลว่า พวกหรือหมวดที่ประกอบด้วยเทวดา เทวปุตตสังยุต พวกหรือหมวดที่กล่าวด้วยเทพบุตร เป็นต้น นี้เป็นคนคนทั้งนั้น แต่ว่าเป็นเทวดาอยู่เบื้องสูง เราไม่เห็น แต่พระพุทธเจ้าท่านเห็น ไม่ต้องอื่นไกล ท้าวสักกเทวราชจอมเทวดา คือ เจ้าเมืองสวรรค์ พระเจ้าแผ่นดินสวรรค์ มีพระบาลีเรียกว่า “เทวานมินฺโท” แปลว่า จอมเทวดา เหมือนกับพระเจ้าอยู่หัวของเรา เราเรียกว่า “นรินฺโท” แปลว่า จอมนรชน คือ คนที่เป็นจอม เป็นหนึ่งของนรชนทั้งหลายทั่วไปทั้งประเทศ มีศัพท์เรียกเหมือนกัน

เชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม แต่ว่ามีธรรมะที่ตรัสสอนว่า รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น เป็นโลกามิส มีพิษร้าย เป็นที่หมกมุ่นแห่งสัตว์โลก สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีสติก้าวล่วงโลกามิสนั้นแล้ว ก้าวล่วงบ่วงแห่งมารได้แล้ว รุ่งโรจน์อยู่เหมือนดวงอาทิตย์อุทัยขึ้น ยังความมิดให้หมดไป ทำให้โลกสว่างไสวฉะนั้น

ข้อที่ควรยกขึ้นพิจารณาก็คือว่า “โลกามิส” โลกามิสนั้นก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ในพระบาลีเรียกว่า ผัสสายตนะ ๖ เพราะเหตุว่า ตาเห็นรูป รู้ว่ารูป เป็นจักขุวิญญาณ รูป ตา วิญญาณ รวมกันเป็นผัสสะ เพราะฉะนั้น ท่านเรียกว่า ผัสสายตนะ ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่มาต่อกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง นี้เป็นโลกามิส บุคคลถ้าติดในโลกามิส ก็ไม่มีทางที่จะล่วงพ้นบ่วงมารได้ ต้องหมกมุ่นอยู่ในโลกามิสนั้น

โลกามิส แปลว่า เหยื่อเครื่องล่อใจในโลก คือ เหยื่อเครื่องล่อใจคนให้ติด ให้ไปไหนไม่ได้ ไปไม่รอด ติดอยู่ทั้งนั้น เมื่อติดแล้วก็เกิดความรู้สึกว่า รูปนั้นก็ของเรา เสียงก็ของเรา กลิ่นก็ของเรา รสก็ของเรา โผฏฐัพพะก็ของเรา ธรรมารมณ์ก็ของเรา พระพุทธเจ้าจึงแสดงไว้ในพระสูตรหนึ่งว่า

รูปํ ภิกฺขเว น ตุมฺหากํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปนั้นไม่ใช่ของเธอ เธอจงละมันเสีย รูปที่เธอละได้แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน ดังนี้ ก็คือ รูปที่เราเห็นกับตานั่นเอง เราติดรูป

เมื่อเร็วๆนี้ ฝนตกมากน้ำท่วม บางท่านมาวัดไม่ได้ น้ำท่วมต้องอยู่เฝ้าบ้าน ต้องคอยวิดน้ำ ที่เป็นอย่างนี้เพราะติดรูป คือบ้านเรือนของเราน้ำท่วม บ้านเรือนของเราก็เป็นรูป เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันก็ทำให้เราเป็นกังวลให้กลัวอะไรไปต่างๆ เราก็นึกว่าอย่างนี้เป็นมารก็ได้ แต่ว่าในที่สุดมันก็แห้ง เมื่อน้ำแห้งแล้ว เราจะประมาทอยู่ว่าไม่เป็นไร ฝนมันตกน้ำท่วมเสร็จแล้วมันแห้งได้ ก็กรุงเทพมหานครเขาจัดเขาทำให้แห้ง เพราะเป็นหน้าที่ของเขา เขาต้องจัดต้องทำให้แห้ง ลงที่สุดมันก็แห้ง และฝนก็ยังไม่ตก ถ้าฝนตกอีกท่วมอีกเขาก็ทำอีก

เรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นี้ เรารบกันอยู่เสมอ จึงเรียกว่า โลกามิส แปลว่า เหยื่อเครื่องล่อใจในโลก เหยื่อของโลก ล่อใจให้เราเข้าใจผิด จึงรับสั่งว่า โลกามิสนั้นมีพิษร้าย เป็นที่หมกมุ่นของสัตว์โลก เราติดทั้งนั้น

ญาติโยมฟังธรรมอย่างนี้แล้ว ควรนึก เรายังละไม่ได้ ที่พระพุทธเจ้ารับสั่งว่า รูปไม่ใช่ของเธอ เธอจงละมันเสีย เราก็ละไม่ได้ ยิ่งอยู่นานๆไป รูปก็ยิ่งมากขึ้น กองเต็มบ้านเต็มเรือนไปหมด สวนก็ของเรา นาก็ของเรา ที่ดินก็ของเรา เป็นรูปทั้งนั้น ชั้นเราๆนี้ให้รู้ไว้แต่เพียงว่านั่นมันเป็นรูป เป็นโลกามิส เมื่อเรายังไม่มีดวงตาเห็นธรรม ก็ละโลกามิสไม่ได้

เคยเทศน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของเธอ เธอจงละมันเสีย รูปที่เธอละได้แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน มีท่านผู้หนึ่งฟังไม่เข้าใจว่า จะละได้อย่างไร ก็รูปมันเป็นรูป วันนี้มาวัดก็มาด้วยรูป นั่งฟังเทศน์ก็ฟังด้วยรูป

ท่านสอนว่าให้ละฉันทะ ความพอใจ สิเนหะ ความเยื่อใยในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส เป็นต้น นั้นเสีย เพราะไม่ใช่ของเรา และถ้าละได้แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน

ในพระพุทธภาษิตตรัสว่า พระสาวกของพระพุทธเจ้ามีสติ ก้าวล่วงโลกามิสได้แล้ว ก้าวล่วงบ่วงมารได้แล้ว ย่อมรุ่งโรจน์อยู่ดุจพระอาทิตย์อุทัยขึ้นในท้องฟ้า ยังโลกให้สว่างฉะนั้น ในพระพุทธภาษิตนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระพุทธสาวกมีสติ จึงละโลกามิสได้ จึงก้าวล่วงบ่วงมารเสียได้ ก็ด้วยมีสติ

สติ ความระลึกได้ ใครมีสติผู้นั้นมีความสุข มีความสุขอย่างเราๆนี้แหละ ดังคำว่า สติมา สุขเมธติ ผู้มีสติย่อมถึงความสุข

คราวนี้มาว่าถึงโลกามิสก่อน โลกามิสนี้ถ้าครอบงำแล้ว เราจะได้ความสุขสงบไม่ได้ ดังพระบาลีว่า โลกามิสํ ปชเห สนฺติ เปกฺโข ผู้หวังความสงบ พึงละโลกามิสเสีย ก็โลกามิสอันนี้แหละ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนาน่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ เป็นที่รักเป็นปิยรูปสาตรูป ชื่อที่ยกขึ้นกล่าวนี้เป็นธรรมะ เป็นนามธรรมทั้งนั้น เพราะฉะนั้น โลกามิสก็คือ สิ่งที่น่าใคร่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่น่าปรารถนาน่าใครน่าพอใจ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ เป็นปิยรูปสาตรูป

ปิยรูป แปลว่า รูปเป็นที่รัก สาตรูป แปลว่า รูปเป็นที่พอใจ หรือเป็นที่หวานใจ เพราะฉะนั้น ใครมีมาก ใครมีปิยรูปสาตรูปมาก ผู้นั้นก็พอใจสบายใจ ในทางโลกว่า เรามีมากเราไม่ยากเราไม่จน แต่ว่าผู้ที่เห็นอย่างนี้ยากจนพระนิพพาน คือ ไม่บรรลุถึงพระนิพพาน เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า พุทธสาวกมีสติ ก้าวล่วงโลกามิสเสียได้ ก้าวล่วงบ่วงแห่งมารเสียได้ รุ่งโรจน์อยู่ดังดวงอาทิตย์ที่อุทัยขึ้นในท้องฟ้ายังโลกให้สว่างฉะนั้น

พูดธรรมะเรื่องอย่างนี้ ผู้ฟังหาไม่ค่อยพบ บางทีพบแล้วก็ลืมไปเสีย พอถึงเวลาได้เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ จึงเกิดเป็นปิยรูปสาตรูป เป็น อิฏฐํ กนฺตํ มนาปํ เป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้น เราควรถือหลักอันเดียวที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระพุทธสาวกมีสติ ใช้สติตัวเดียว แล้วจะวางสติไว้ที่ไหน ก็ให้วางไว้ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็นรูปก็เห็นด้วยสติ ฟังเสียงก็ฟังด้วยสติ ดมกลิ่นก็มีสติ ลิ้มรสก็มีสติ ถูกต้องสัมผัสก็มีสติ นึกธรรมารมณ์อารมณ์ที่เกิดขึ้นที่ใจ เป็นนามธรรม เช่น ชอบไม่ชอบก็มีสติ จนถึงกับเราเกี่ยวข้องกับคนอื่น บางคนเราก็ชอบ บางคนเราไม่ชอบ คบคนที่ไม่ชอบเราก็เฉยๆ คบคนที่ชอบก็สบายใจ

เพราะฉะนั้น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ในที่บางแห่งท่านเรียก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ว่า “บ้านร้าง” รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นั้นเหมือน “โจรปล้นบ้าน” ท่านอุปมาไว้ในพระบาลี เพราะฉะนั้น เรามีสติไว้มากๆ แล้วจำไว้มากๆ แล้วให้มีสติ เห็นรูปที่ชอบเราก็เฉยๆ เห็นรูปที่ไม่ชอบเราก็เฉยๆ ได้ฟังเสียงที่เพราะเราก็เฉยๆ ได้ฟังเสียงไม่ดีเราก็เฉยๆ แต่เฉยๆด้วยมีสติ ไม่ใช่เฉยนิ่งๆ เหมือนกับเผลอๆ เฉยด้วยมีสติ แต่คำว่า “มีสติ” ต้องรวมถึงสัมปชัญญะด้วย พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า สโต ภิกฺขเว วิหเรยฺย สมฺปชาโน อยํ โว อมฺหากํ อนุสาสนี แปลเนื้อความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงมีสติสัมปชัญญะ นี้เป็นอนุสาสนี ที่เราพร่ำสอนเธอทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ธรรมมีอุปการะมาก ในการปฏิบัติ สติกับสัมปชัญญะนี้เป็นธรรมมีอุปการะมากในการปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ท่านให้มีสติสัมปชัญญะ สติสัมปชัญญะตั้งไว้ที่ไหน เมื่อตะกี้ว่าตั้งไว้ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นก็หนึ่งแหละ เหมือนกับเราให้คนเฝ้าประตูบ้าน เพราะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ เหมือนประตูบ้านของเรา แต่ว่าในทางปฏิบัติแล้ว สติสัมปชัญญะไว้ที่อารมณ์ อารมณ์กัมมัฏฐาน

โดยมากท่านทั้งหลายก็เคยทำกัมมัฏฐานมาแล้ว ท่านว่า สติสัมปชัญญะเหมือนเชือก จิตเหมือนลูกโค อารมณ์ เช่น พระพุทธคุณ เหมือนหลัก ผู้ต้องการให้จิตใจสงบระงับใช้เชือกคล้องจิต ใช้เชือกคือสติสัมปชัญญะคล้องจิต แล้วไปผูกไว้ที่อารมณ์มีพระพุทธคุณ เป็นต้น

เมื่อวานนี้ไปโรงพยาบาลให้หมอเช็คร่างกาย พบท่านผู้หนึ่งท่านไปให้หมอเจาะเลือดเหมือนกัน แต่ว่าสายแล้วหมอก็ยังไม่มาเจาะ ท่านก็นั่งอยู่บนเก้าอี้นั่งเฉยๆ พอเราเปิดประตูเข้าไป ท่านก็เห็นถามว่าเจาะเลือดแล้วยัง ท่านว่ายังไม่ได้เจาะ ทราบว่าหมอใหญ่จะมาเจาะ นั่งรออยู่อย่างนี้ด้วย นึกพุทโธๆๆๆไปพลาง เพลินดี นี้ท่านทำถูก พุทโธๆนี้อย่างน้อยๆแก้รำคาญ เพราะให้จิตไปอยู่กับพุทโธ เมื่อพุทโธไม่หายไป จิตก็ไม่ไปไหน อยู่กับที่

อย่างที่บางคนสอนว่า ให้ใจอยู่ที่ใจ ก็คือ ให้อยู่อย่างนี้แหละ ให้ใจ สติสัมปชัญญะอยู่ด้วยกัน เรียกว่า ให้ใจอยู่ที่ใจ ให้ตั้งใจไว้ที่ใจ ตั้งจิตไว้ที่จิต แต่พูดอย่างนี้ก็คงเข้าใจยาก ฟังยาก เพราะฉะนั้น ให้นึกว่าสติตัวนี้แหละ ที่ยังเราให้เกิดความสุข เรายังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดา เพราะฉะนั้น เมื่อเราเป็นปุถุชนธรรมดา ถ้าเราไม่มีสติเราก็จะเผลอหวาดกลัวไปบ้าง กลัวคนจะมาทำร้ายบ้าง กลัวคนโน้นคนนี้ จะทำอย่างโน้นอย่างนี้บ้าง นี้เพราะไม่มีสติ

ถ้ามีสติแล้วไม่มีใครทำร้าย คนที่จะมาทำร้ายนั้นไม่มี ไม่มีใครที่จะทำร้ายคนดี คนทำร้ายเขาก็ทำร้ายคนร้ายด้วยกัน คนดีไม่มีใครเขาจะทำ เพราะฉะนั้น ให้มีสติไว้ เมื่อมีสติ เช่น มีสติอยู่ที่พุทโธ พุทโธๆเรื่อยๆ โลกามิสก็สอดเข้ามาไม่ได้ และโลกามิสนี้บางแห่งท่านเรียกว่า “มารเธยยะ” แปลว่า ภูมิที่ตั้งของมาร เหมือนคติเป็นที่ไปของคน ภูมิเป็นที่ตั้ง เป็นที่อยู่ของมาร ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า บ่วงมารบ้าง เบญจพิธกามคุณบ้าง ดอกไม้ที่บานดีของมารบ้าง นี้เราต้องนึกให้ได้ว่ามารเขาฉลาด เขาสร้างสวนดอกไม้ไว้ดักคนที่จะมาวัด อะไรๆที่เต็มไปทั้งกรุงเทพฯ นั้น มารปปุปฺผกะ ดอกไม้ที่บานดีงดงามของมารทั้งนั้น ถ้าเราเข้าสวนดอกไม้มารแล้ว ลืมสติหมด นึกพุทโธไม่ได้ เป็น “ปมฺมุฏฐา” แปลว่า หลงลืมสติ

เพราะฉะนั้น ท่านสาธุชนได้ทราบแล้ว กำหนดพิจารณาว่า เรามีสติสัมปชัญญะให้เป็นอันเดียวกัน ไปผูกไว้ที่อารมณ์ คือ พระพุทธคุณ เช่น พุทโธๆ เป็นต้น โลกามิสเหยื่อเครื่องล่อสัตว์โลกก็มาล่อเราไม่ได้ สวนดอกไม้ของมารเราก็ไม่ติด อย่างที่วันว่างๆ เราไปตามโรงหนังโรงละคร ต้องเสียสตางค์ด้วย คนไปกันเยอะ แต่ว่าวัดเกือบทุกๆวัดคนเขาไม่ค่อยไป เพราะเหตุไฉนไม่ค่อยไป ก็เพราะติดสวนดอกไม้ของมาร เข้าสวนดอกไม้ของมาร มัวเก็บดอกไม้ในสวนของมาร จนมืดจนค่ำจนดึก กลับบ้านดึกทั้งๆต้องเสียสตางค์ ไม่ใช่ไปได้เปล่าๆ ต้องซื้อ แต่มาวัดนี้ มาได้เปล่าๆ ไม่มีอะไรเลย มีที่ให้นั่ง มีน้ำให้ดื่ม มีอะไรต่ออะไรหลายอย่าง แต่ว่าไม่มีสวนดอกไม้ของมาร

เพราะฉะนั้น ท่านสาธุชนควรตั้งใจกำหนดไว้ว่า พระพุทธเจ้าท่านรับสั่งว่า พุทธสาวกมีสติก้าวล่วงโลกามิสเสียได้ ก้าวล่วงบ่วงของมารเสียได้ นี้ท่านว่าพุทธสาวกไม่ใช่เรา เราๆนี้ยังไม่ถึงพุทธสาวก เป็นแต่พุทธศาสนิก แต่จำไว้ว่า ท่านพุทธสาวกนั้นท่านมีสติสมบูรณ์แล้วใช้สตินี้ไปคล้องจิต คล้องจิตแล้วมาพันไว้ที่หลัก คืออารมณ์กัมมัฏฐาน เช่น พระพุทโธ เป็นต้น นั่นแล้วแต่ชอบ พระพุทโธก็ได้ ลมหายใจเข้าหายใจออกที่เรียกว่า “อานาปานัสสติ” ก็ได้ แล้วแต่เราจะชอบ เมื่อทำได้อย่างนี้ก็ได้ชื่อว่า เราอยู่ด้วยธรรมะของสมเด็จพระบรมศาสดา คือ มีสติ จะได้รับผลตามพระพุทธภาษิตที่ยกมาเมื่อตะกี้นี้ว่า สติมา สุขเมธติ ผู้มีสติย่อมถึงความสุข ดังนี้

ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบระงับสบายใจ จิตใจก็อภิรมย์ชมชอบอยู่ในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปราศจากความไม่สบายใจ ก็จะเป็นไปเพื่อสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล เจริญในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกทิพาราตรี มีนัยดังบรรยายมา ด้วยประการฉะนี้

(จากการแสดงธรรม วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 189 กันยายน 2559 โดย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสารเถร ป.ธ.๙) วัดราชผาติการาม กทม.)
กำลังโหลดความคิดเห็น