xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๓๗) กลวิธีของสมุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


ข้อที่สมุทัยกับคู่อาสวะได้สั่งสมกำลังมาช้านาน แบบที่เรียกว่า “ซ่องสุม” นั้นเป็นความจริง กำลังของสมุทัยนั้นมีแทรกแซงอยู่ทุกแห่ง ตั้งแต่ชั้นในจนถึงชั้นนอกของจิตตนคร ทั้งยังได้จัดกำลังคุมชาวจิตตนครไว้ทุกคน ดังที่ได้เล่าถึงหน้าที่ของกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดมาแล้ว

คู่อาสวะเองก็มีกำลังซ่อนอยู่ในตัวอย่างลึกซึ้ง ทั้งยังมีสหายเช่นอนุสัยเป็นต้น ซึ่งยังหาได้แสดงกำลังอำนาจแต่ประการใดไม่ เพราะยังไม่ถึงคราวที่จะออกแสดงเอง แม้เมื่อคู่บารมีนำนิมิตต่างๆ พร้อมด้วยโยนิโสมนสิการเข้าไปแสดง มีผลถึงกับเปลี่ยนหทัยนครสามีให้เลื่อมใสศรัทธาในองค์พระบรมครูเป็นอย่างมาก คู่อาสวะก็ยังเห็นว่ายังไม่ถึงขั้นที่จะออกต่อต้านด้วยตนเอง เพียงแต่ส่งมือชั้นรองไปต่อต้านก็จะเพียงพอ หลังจากที่ทั้งสองคือคู่อาสวะกับสมุทัย ได้หารืออย่างรอบคอบแล้ว ก็ได้ดำเนินกลวิธีต่อสู้ทันที

ฝ่ายนครสามีครั้นตื่นขึ้นด้วยความสุขสดชื่น เพราะได้หลับอย่างสนิท ลืมตาขึ้นก็ได้มองเห็นว่าได้มีผู้มาเฝ้าอยู่ ๓ คน จึงถามว่าทั้งสาม เป็นใคร ชื่ออะไร มาจากไหน ทั้งสามตอบรายงานชื่อทีละคนว่าชื่อ “สุข” คนหนึ่ง ชื่อ “สด” คนหนึ่ง ชื่อ “ชื่น” คนหนึ่ง เป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อนครสามีเป็นที่สุด ได้เคยมารับใช้เป็นครั้งคราว แต่มักจะต้องอยู่ห่างๆ ไม่อาจที่จะแทรกใครๆ เข้ามาได้ แต่ครั้งนี้เป็นความปลอดใครๆ ที่ห้อมล้อม จึงได้เข้ามาประจำบำรุงบำเรอนครสามี

เมื่อได้ฟังดังนั้น นครสามีก็เริ่มคิดสงสัย ว่าเรากำลังมีความสุขสดชื่นเป็นอย่างยิ่ง หรือทั้งสามคนนี้จะเป็นผู้ที่ให้ความสุขสดชื่นนี้แก่เรา เพราะสามชื่อตรงกับสิ่งที่เรากำลังได้รับอยู่ น่าขอบใจเขาที่มีความรักในเรา ได้ให้สิ่งที่เราชอบใจเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งสามคนเห็นนครสามีทำท่าจะโปรดปราน จึงกล่าวต่อไปว่า ยังมิได้รายงานอีกปัญหาหนึ่งว่ามาจากไหน จึงจะขอรายงานว่า “ข้าพเจ้าผู้ชื่อว่า “สุข” มาจากตำบลนิรโรค (ไม่มีโรค) ข้าพเจ้าผู้ชื่อว่า “สด” มาจากตำลบนิรชร (ไม่แก่) ข้าพเจ้าผู้ชื่อว่า “ชื่น” มาจากตำบลนิรมร (ไม่ตาย) ทั้ง ๓ ตำบลนี้มีอยู่ในจิตตนครนี้เอง

ข้าพเจ้าทั้งสาม มิใช่เพียงแต่ชื่ออย่างนี้เท่านั้น ได้มีสุขสดชื่นจริงๆ ด้วย เพราะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ใครๆที่อยู่ในตำบลทั้งสามนี้ ล้วนไม่แก่เจ็บตายทั้งนั้น เมื่อไม่แก่จึงสดอยู่เสมอ ไม่เจ็บจึงสุขอยู่เสมอ ไม่ตายจึงชื่นอยู่เสมอ และเมื่อข้าพเจ้าทั้งสามไปอยู่กับผู้ใด ก็ทำให้ผู้นั้นไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย มีสุขสดชื่นไปด้วย”

นครสามีถามว่า ก็เมื่อทั้งสามมาอยู่กับนครสามีดังนี้ นครสามีก็เป็นผู้ไม่แก่เจ็บตายหรือ ทั้งสามก็กล่าวรับรอง ทำให้นครสามีเกิดความปuติยินดีว่าช่างมีโชคนักหนา ที่ได้พบคณะบุคคลผู้นำโชคมาให้ถึง ๒ คณะติดต่อกัน ฝ่ายคู่อาสวะกับสมุทัยผู้ที่แอบสังเกตเหตุการณ์อยู่ ได้เห็นดังนั้นก็ยินดีร่าเริง สมุทัยถึงกับหัวเราะร่าด้วยความยินดี เพราะบุคคลทั้งสามนั้น ก็คือสมุนอีก ๓ คนของสมุทัย มีชื่อว่า โยพพนมทะ ความเมาในวัยหนุ่มสาว ๑ อาโรคยมทะ ความเมาในความไม่มีโรค ๑ ชีวิตมทะ ความเมาในชีวิต ๑ ซึ่งแอบแฝงเข้าไปในความสุขสดชื่นนี้เอง

บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย แม้รำลึกไว้เสมอว่า เราจะไม่ล่วงความแก่ไปได้ เราจะไม่ล่วงความเจ็บไปได้ เราจะไม่ล่วงความตายไปได้ ก็จักไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของฝ่ายคู่อาสวะกับสมุทัย ซึ่งจักนำไปสู่ความต้องวนเวียนพบทุกข์อยู่ไม่สร่างสิ้น

เห็นโซ่เป็นสร้อย
“มทะ” คือความเมาทั้ง ๓ อันได้แก่ ความเมาในวัยหรือในความเป็นหนุ่มเป็นสาว ความเมาในความไม่มีโรค ความเมาในชีวิต ทำให้ใคร ๆ รู้สึกเหมือนไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย สมุทัยได้ส่งมทะทั้ง ๓ สหายแทรกซึมเข้าไปในจิตตนคร ทำให้ชาวจิตตนครพากัน “เมาใจ” ไม่นึกเห็นว่าเราแก่เจ็บตาย ถึงร่างกายจะแก่ ใจก็นึกว่าไม่แก่ ใจยังหนุ่มสาวอยู่เสมอ ถึงร่างกายจะเจ็บอยู่เป็นประจำ ก็ไม่นึกว่าเจ็บ ถึงจะรู้ว่าจะต้องตาย ก็เหมือนอย่างความตายยังอยู่ห่างไกลมาก ไม่ต้องนึกถึง

เมื่อเมาใจกันดังนี้ สัญญาก็วิปลาส จิตก็วิปลาส ทิฐิก็วิปลาส ก็คล้ายกับเมาเหล้านั่นแหละ ทำให้วิปลาสไปต่างๆ

วิปลาสไปอย่างไร คือทำให้เห็นในสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่อัตตาตัวตน ไม่งาม ว่าเป็นสิ่งที่เที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตาตัวตน งาม ความจำหมายคิดเห็นไปดังนี้ เรียกว่า “วิปลาส” ดังกล่าว เป็นสมุนของสมุทัยที่ถูกส่งทยอยเข้าไปในจิตตนคร

ครั้นชาวจิตตนครพากันวิปลาสไปแล้ว ก็พากันกระชับโซ่ตรวนของสมุทัยที่ผูกอยู่ให้แน่นเข้าอีก เพราะเครื่องผูกเหล่านี้ปรากฏเหมือนอย่างสร้อยทองประดับเพชร หรือมรกตอันงดงาม จึงสวมประดับคอ ประดับแขน ข้อมือ ทั้งข้อเท้า เข้าทำนองคำว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว”

อันที่จริงชาวจิตตนครได้สวมสอดเครื่องผูกต่างๆ ของสมุทัยนานมานักหนาแล้ว เรียกได้ว่าความสมัครใจ บางเวลาทำท่าจะสร่างเมา สร่างความวิปลาส จะเห็นว่าเป็นเครื่องผูก มิใช่สร้อยทองอันงดงาม สมุทัยก็เติมความเมาเข้าอีก ทำให้วิปลาสต่อไปอีก อาการวิปลาสนี้ เรียกง่ายๆ ว่า “สติวิปลาส” นั่นแหละ เป็นความบ้าชนิดที่ไม่รู้ตัวเองว่าบ้า และเป็นอย่างเดียวกันตลอดจิตตนคร แต่เป็นอย่างละเอียดและลึกซึ้ง ไม่ใช่ชนิดบ้าอาละวาดอย่างที่บรรดาแพทย์ของบ้านเมืองทั่วไปเรียกว่า “เป็นโรคจิต”

ส่วนชาวจิตตนครไม่เรียกโรคเช่นนั้นว่าอย่างนั้น เรียกว่าเป็นโรคทางสมองตามสมุฏฐาน หวงแหนคำว่า “จิต” ไว้ใช้สำหรับจิตตนครเท่านั้น ก็น่าจะหวงแหน “โรคจิต” ไว้เฉพาะจิตตนครด้วย ก็ควรจะต้องเป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อเป็นจิตตนคร โรคที่เกิดขึ้นในจิตตนครก็จะต้องเป็นโรคจิต มิใช่โรคทางกายทุกอย่าง เว้นไว้แต่จะเป็นเหตุให้เกิดเป็นโรคจิตขึ้น แต่เรียกว่าเป็นเหตุเท่านั้น ส่วนอาการไม่รู้ตัวเอง คิดว่าตัวเองเป็นคนดีไม่มีโรค เป็นอาการที่คล้ายคลึงกัน นี่แหละคือ “จิตตวิปลาส”

ในจิตตนคร อาศัยที่พระพุทธศาสนาแผ่เข้าไปในจิตตนครแล้ว ความเมาและวิปลาสอย่างแรงในจิตตนครจึงลดลง ตามกำลังของฝ่ายคู่บารมีผู้นำพระพุทธศาสนาเข้าไป พรรคพวกของคู่บารมีได้หยั่งรากฐานลึกลงเรื่อยๆ เป็นต้นว่า ศีล หิริ โอตตัปปะ ตลอดถึงสมาธินิมิตต่างๆ และโยนิโสมนสิการ เป็นเหตุให้นครสามีได้พบความสุขสงบทางใจ เกิดความรู้ผุดขึ้น นำให้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต แต่มารศาสนาหรือศาสนาของสมุทัย ซึ่งเป็นคู่ปรับกันก็ยังแรง และสมุทัยรู้วิธีรักษาและแผ่ศาสนาคล้ายแม่ทัพผู้ฉลาดใช้ยุทธวิธีที่แยบยล

ทุกคนล้วนมีศัตรูเป็นแม่ทัพผู้ฉลาดในการใช้ยุทธวิธีที่แยบยล ดังนั้น แม้ไม่ประสงค์จะเป็นผู้พ่ายแพ้แก่ศัตรูคือมารหรือสมุทัย ทุกคนก็ต้องอบรมสติอบรมปัญญาให้ยิ่งขึ้นอยู่เสมอ เพื่อจะได้สามารถเอาชนะศัตรูได้ มีใจถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะอย่างแน่วแน่มั่นคง จนได้พบความสุขสงบทางใจ ที่จะไม่ได้พบเลยแม้พ่ายแพ้แก่ศัตรูคือสมุทัย

สังโยชน์ ๑๐
จะกล่าวถึงเครื่องผูกของสมุทัยที่ลอบผูกใจชาวจิตตนครมานานนักแล้ว แต่ผูกไว้อย่างลึกซึ้ง ชาวจิตตนครเองก็ไม่รู้ว่าได้ถูกผูกไว้ พระบรมครูเท่านั้นได้ทรงทราบ และได้ตรัสบอกแก่คู่บารมีว่ามีอยู่ ๑๐ เรียกว่า “สังโยชน์” แปลว่า “เครื่องผูกใจสัตว์” คือ

๑. สักกายทิฐิ ความเห็นเป็นเหตุถืออัตตาตัวตนในสกนธ์กาย
๒. วิจิกิจฉา ความลังเลเป็นเหตุไม่แน่ใจในปฏิปทาเครื่องดำเนินของตน
๓. สีลัพพตปรามาส ความถือศีลและวัตรต่างๆ ด้วยความปรารถนาผล มีลาภ เป็นต้น หรือด้วยความเชื่อถือว่าศักดิ์สิทธิ์
๔. กามราคะ ความยินดีด้วยอำนาจกิเลสกาม
๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งแห่งจิต หรือความหงุดหงิด
๖. รูปราคะ ความติดอยู่ในรูปธรรม เช่น ชอบใจในบุคคลบางคน หรือในรูปฌาน
๗. อรูปราคะ ความติดอยู่ในอรูปธรรม เช่น ในสุขเวทนา หรือในอรูปฌาน
๘. มานะ ความสำคัญว่ายังมีเรา
๙. อุทธัจจะ ความคิดพล่าน
๑๐. อวิชชา ความไม่รู้ในสัจจะทั้งหลาย


สังโยชน์เหล่านี้สมุทัยมอบให้อยู่ในสังกัดของคู่อาสวะโดยตรง ทั้งเป็นสหายสนิทของคู่อาสวะ ตั้งแต่ ๑ ถึง ๕ เป็นพวกขั้นตํ่าคือหยาบ เรียกว่า “โอรัมภาคิยะ” แปลว่า “ส่วนล่าง” ตั้งแต่ ๖ ถึง ๑๐ เป็นพวกชั้นสูง คือละเอียด เรียกว่า “อุทธัมภาคิยะ” แปลว่า “ส่วนบน”

คำว่าส่วนล่างส่วนบนในที่นี้ มิได้หมายความว่าผูกที่ร่างกายส่วนล่างและส่วนบน แต่หมายว่าหยาบและละเอียด หรือตื้นและลึกซึ้งเข้าไปโดยลำดับ เครื่องผูกเหล่านี้เป็นเครื่องผูกที่เหนียวแน่นมาก ตัดให้ขาดได้ยากที่สุด แม้ที่เป็นอย่างหยาบแต่ก็ละเอียดจนมองด้วยตาไม่เห็น ถึงตาทิพย์ของเทพก็มองไม่เห็น

พระบรมครูทรงเห็นด้วยพุทธจักษุหรือปัญญาจักษุ แล้วทรงแสดงเปิดเผยแก่เวไนยนิกร คือหมู่แห่งเทพและมนุษย์ที่พึงแนะนำได้ เป็นที่กระทบกระเทือนสมุทัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่อาจจะปกปิดซ่อนเร้นเครื่องผูกอย่างละเอียดนี้ต่อไปได้

ทั้งพระบรมครูยังได้ทรงสอนวิธีตัดเครื่องผูกเหล่านี้ให้ขาดได้จริงๆ อย่างเป็นปาฏิหาริย์ ใครที่ตัดได้จะพ้นจากอำนาจสมุทัยไปโดยลำดับ เมื่อตัดได้หมดก็พ้นได้สิ้นเชิง แต่ก็อย่าเพิ่งดีใจว่าจะตัดได้ง่ายนักเร็วนัก เพราะสมุทัยยังมีกลวิธีอีกหลายอย่างนักที่จะรักษาอำนาจของตน เช่นวิธีทำให้วนเวียน วิธีทำให้เนิ่นช้า วิธีแบ่งเขตยึดครอง วิธีแทรกซึมบ่อนทำลาย จนถึงวิธีโจมตีอย่างเปิดเผย คล้ายๆการก่อสงครามกลางเมืองขึ้น หรือชักจูงกองทัพต่างด้าวเข้าเมือง

ฉะนั้น สมุทัยจึงเชื่อว่าจะรักษาอำนาจของตนไว้ได้อีกนาน ภัยธรรมชาติจะมาถึงจิตตนคร ทำลายเมืองทั้งสิ้นเสียก่อนที่สมุทัยจะสิ้นอำนาจ สมุทัยน่าจะต้องช่วยสร้างเมืองให้ใหม่เสียอีก

ดังนั้น สมุทัยจึงน่ากลัวนัก มีอันตรายร้ายแรงนัก ไม่ควรที่จะนอนใจปล่อยให้สมุทัยดำเนินงานแทรกซึมบ่อนทำลายโดยไม่พยายามต้านทานเสียเลย การศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายสมุทัยแบบถอนรากถอนโคนเท่านั้นที่จะช่วยให้รู้ทางรู้วิธีต่อต้านสมุทัย และการปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนที่ได้ศึกษามาเท่านั้น ที่จะช่วยให้อาจเอาชนะสมุทัยได้ ได้มีความสุขเสรีพ้นจากเครื่องผูกทั้งปวงตามควรแก่ความปฏิบัติ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 188 สิงหาคม 2559 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น