xs
xsm
sm
md
lg

วันเกิดวันตาย

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

โดย...ไพรัตน์ แย้มโกสุม

ขอสมมตินามไปตามท้องลาย ช่วงนี้อากาศร้อนมากมีผลกระทบต่อสรรพสัตว์ และสรรพสิ่ง โดยเฉพาะคนเราต้องเปลี่ยนร่างบ่อยๆ จากร่างเก่าไปสู่ร่างใหม่ จากร่างชำรุดทรุดโทรมไปสู่ร่างใหม่ใสเฟิร์ม แต่ก็แปลก คนเรากลับไม่ชอบแถมกลัวด้วย คนเรายังอยากจะอยู่กับร่างเก่า แม้จะผุจะเน่าก็ช่างอยากอยู่เป็นคนไปชั่วนิรันดร์

วันเกิดวันตาย
วันตายวันเกิด

วันที่เกิดเราชื่นชมยินดี แต่วันที่ตายเราเสียอกเสียใจ อาลัยอาวรณ์ แท้ที่จริงแล้ว วันเกิดคือวันที่เริ่มตาย และวันตายคือวันที่เริ่มเกิด

“มีเกิดก็มีตาย”... “มีตายก็มีเกิด” เป็นเหตุเป็นผล เป็นสัจธรรมอมตะนิรันดร

คนเราประกอบด้วยกายและจิต กายตายแต่จิตไม่ตาย ไปเกิดใหม่เปลี่ยนร่างเปลี่ยนภพไปเรื่อยตราบที่ยังมีเชื้อมีกิเลส

ตอนที่คนกำลังจะตาย ใจตกอยู่ในภวังค์ คือหมดความรู้สึกทางร่างกาย แต่รับรู้อยู่ในภวังค์

จิตที่ตกภวังค์ขณะนั้นเรียกว่า “จุติจิต” เพราะเป็นจิตที่ดับแล้ว ชีวิตก็ดับด้วย

แต่เนื่องจากจิตที่ดับนั้น ได้ทิ้งปัจจัยแห่งการเกิดใหม่ คือกิเลสกรรม และผลของกรรมไว้ให้จิตขณะใหม่รับเสพ จนปรุงแต่งชีวิตให้สืบต่อขึ้นมาใหม่

ภวังคจิตที่เกิดต่อจากนั้น เรียกว่า “ปฏิสนธิจิต” เพราะเป็นจิตที่ทำให้ชีวิตกลับมาต่อติดได้ใหม่หลังตาย และดำเนินต่อไปในกายทิพย์

เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นรวดเร็วเพียงชั่วขณะจิตเดียว คือชั่วช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น หรือชั่วกะพริบตา ซึ่งหากจะพูดให้ชัดๆ ก็ว่า ช่วงเวลาระหว่าง “ตาย” ถึง “เกิดหลังตาย” ห่างกันเพียงแค่กะพริบตาเดียว

นั่นหมายความว่า คนหรือสัตว์ที่ตายจากโลกมนุษย์แล้ว จะเกิดเป็นโอปปาติกะ (มีตัวตนใหม่) ทันที โดยมีร่างกายประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ รับรู้และเคลื่อนไหวไปตามที่จิตหรือวิญญาณสั่ง เหมือนเมื่อตอนเป็นมนุษย์ แต่อยู่ในสภาพกายทิพย์ อาจเป็นเทวดา มนุษย์บางจำพวก สัตว์นรก เปรตบางจำพวก อสุรกาย

โอปปาติกะหรือชีวิตหลังความตายนั้น อยู่ในสภาพทิพย์ เป็นเทวดาบ้าง สัตว์นรกบ้าง เปรตบ้าง อสุรกายบ้าง แต่เรามักเรียก 3 ประเภทหลังว่า “ผี”

...(รายละเอียดดูได้ที่ “ตายแล้วไปไหน” ผู้จัดการออนไลน์ ฉบับ 2 กุมภาพันธ์ 2559)

สรุปได้ว่า “วันเกิดวันตาย” หรือ “วันตายวันเกิด” เป็นวันเดียวกัน เพราะ “ตายปุ๊บเกิดปั๊บ” หนีจากร่างเก่าไปสู่ร่างใหม่ที่สดใสกว่า เป็นกายทิพย์ และดำเนินชีวิตไปตามกรรมที่ทำไว้

การเกิดนั้นมี 4 ประเภทคือ (1) เกิดในครรภ์ (2) เกิดในไข่ สองอย่างนี้เรามองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (3) เกิดในเถ้าไคล อาศัยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ จึงจะมองเห็นจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ (4) เกิดแล้วโตทันที ไม่มีเครื่องมือช่วยในการมองเห็น เมื่อมองไม่เห็น จึงคิดว่าไม่มี

การเกิดประเภทที่ 4 นี้ เป็นมิติหรือภพภูมิที่ซ้อนกันอยู่ เช่น พรหม เปรต อสุรกาย สัตว์นรก ซึ่งผุดเกิดแล้วเติบโตทันที การเกิดแบบนี้เรียกว่า “โอปปาติกะ”

ดังนั้น เกิดแล้วตาย หรือหากไม่มีตาย ก็ไม่มีเกิด ตถตาเช่นนั้นเอง

จิตใจล้ำเลิศ
รู้เกิดรู้ตาย

ผู้เฝ้าดูเวลาคนกำลังจะเปลี่ยนร่างใหม่ หรือกำลังจะตายนั้น มักจะบอกผู้กำลังจะไปว่า... “นึกถึงพุทโธ พุทโธ พุทโธ”... “นึกถึงพระอรหันต์”... “นึกถึงความดีที่เคยทำ”... “ทำจิตให้ผ่องใส”... “ทำใจให้ปล่อยวาง”... “หยุดคิด หยุดผูกพัน หยุดทั้งหมด”... “ทำใจให้สบาย รอรับร่างใหม่ด้วยความยินดี”...ฯลฯ แล้วจิตวิญญาณก็จะไปสู่สุคติในภพใหม่

เพียงในชั่วขณะแค่กะพริบตาเดียวนั้น เป็นโอกาสทองของเรา-ผู้กำลังจะตาย ว่าจะได้ไปสุคติหรือทุคติ

ถ้าจิตเศร้าหมอง-ก็ไปทุคติ

ถ้าจิตผ่องใส-ก็ไปสุคติ

แต่มันก็ไม่ง่ายอย่างที่คิดที่บอกของผู้หวังดีหรอก

จริงๆ แล้ว มันขึ้นอยู่กับตัวตนของผู้กำลังจะไป...สู่ร่างใหม่ ภพใหม่ ว่าตลอดชีวิตเคยทำดี ทำชั่วอะไรบ้าง

สุคติ คือทางไปสู่ความดี มีมนุษย์ เทวดา พรหม นิพพาน (หยุดเกิด-หยุดดับ)

ทุคติ คือทางไปสู่ความชั่ว มีเดรัจฉาน เปรต อสุรกาย นรก

สุคติ และทุคติ เหตุอยู่ในภพนี้ ผลอยู่ในภพนี้ และภพหน้า ด้วยการกระทำหรือกรรมของตนเอง

อยากจะเป็นอะไรในภพหน้า ต้องทำสิ่งนั้นในภพนี้จนเป็นนิสัย แล้วมันก็จะเป็นไปตามธรรมชาติ “เหตุอย่างไร-ผลอย่างนั้น”... “ทำสิ่งใด-ได้สิ่งนั้น” ในทุกภพทุกชาติ หรือภพนี้และภพต่อๆ ไป

จิตใจล้ำเลิศ คือจิตที่รู้ “จิตเศร้าหมอง” กับ “จิตผ่องใส” พยายามที่จะลดละจิตเศร้าหมอง และเพิ่มเติมจิตผ่องใสให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

จิตผ่องใสนี่แหละ จะเป็นแสงส่องทางให้รู้เกิดรู้ตายได้อย่างถูกต้อง ตายแล้วไปเกิดเป็นอะไร (ตายแล้วไปไหน ก็ไปเกิดใหม่ ตามเหตุปัจจัยที่ใจสั่งสม)

กมฺมุนา วตฺตตี โลโก-สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

กรรม คือการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

กรรมมี 2 อย่างคือ...

อกุศลกรรม คือกรรมชั่ว เป็นการกระทำที่ไม่ดี ไม่ฉลาด ไม่เกิดจากปัญญา ทำให้เสื่อมเสียคุณภาพชีวิต หมายถึง การกระทำที่เกิดจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ (โลภ โกรธ หลง)

กุศลกรรม คือกรรมดี เป็นการกระทำที่ดี ฉลาดเกิดจากปัญญา ส่งเสริมคุณภาพของชีวิตจิตใจ หมายถึง การกระทำที่เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ (ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง)

คนเราจะดีหรือชั่ว จะอยู่ด้วยสุคติ หรือทุคติ หรือ (ตายแล้ว) จะไปด้วยสุคติหรือทุคติ ก็เพราะกรรมสองตัวนี้แหละ

กุศุลมูล-กุศลกรรม-จิตผ่องใส-สุคติภูมิ

อกุศลมูล-อกุศลกรรม-จิตเศร้าหมอง-ทุคติภูมิ

ทาง 7 สายของมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นวิถีชีวิตขณะอยู่บนโลกนี้ และเป็นทางไปเกิดใหม่ในโลกหน้าได้แก่...

1. นรก คือ ผู้มีโทสะ

2. เปรตและอสุรกาย คือ ผู้มีโลภะ

3. ดิรัจฉาน คือ ผู้มีโมหะ

4. มนุษย์ คือ ผู้มีศีล 5 และกุศลกรรมบถ 10

5. สวรรค์ คือ ผู้มีมหากุศลแปด

6. พรหม คือ ผู้มีสมถกรรมฐาน

7. นิพพาน คือ ผู้มีวิปัสสนากรรมฐาน

ทาง 7 สายดังกล่าว สายที่ 1-2-3 จัดเป็นทุคติ สายที่ 4-5-6-7 เป็นสุคติ

จิตเศร้าหมอง ดำรงอยู่ในโลกนี้ด้วยทุคติ และไปเกิดใหม่ในโลกหน้า ด้วยทุคติ คือ นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน

จิตผ่องใส ดำรงอยู่ในโลกนี้ด้วยสุคติ และไปเกิดใหม่ในโลกหน้าด้วยสุคติ คือ มนุษย์ สวรรค์ พรหม (ส่วนนิพพาน ไม่มีเกิด ไม่มีตาย)

มีคำกล่าวว่า...คนเรารู้แต่วันเกิด แต่ไม่รู้วันตาย ความจริงถ้ารู้ความจริงของสรรพสิ่ง ตามที่มันเป็น ก็จะรู้ตัวเอง และ(อาจจะ)รู้คนอื่นด้วย ว่าตายแล้วไปไหน ไปเกิดเป็นอะไร และเราเกิดมาจากไหน ทาง 7 สายตอบโจทย์ชัดแจ้งอยู่แล้ว เช่น เราเป็นคนโลภมาก ไม่รู้อิ่มไม่รู้พอ ได้คืบจะเอาศอก ได้ประเทศยึดประเทศตัวเองได้แล้ว ก็อยากจะยึดเอาทั้งโลก อย่างนี้มันเป็นเปรต อสุรกายตั้งแต่ยังไม่ตาย เมื่อตายไปก็ไปทุคติ เปรต อสุรกาย ในโลกหน้าชัวร์ป๊าบ หรือขณะมีชีวิตอยู่ มีโทสะและโมหะ เป็นเจ้าเรือน เป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉานเต็มตัว ตายไป ก็ทุคติ สัตว์นรกสัตว์เดรัจฉานเต็มร้อยเหมือนเดิม เป็นต้น

เหตุและผลของกรรมง่ายๆ สั้นๆ 7 ประการดังกล่าวมา จะเป็นกระจกส่องตนและสังคมได้อย่างวิเศษ ส่องเองก็เห็นเอง ไม่จำเป็นให้ใครมาส่องให้หรอก หรือไม่อยากส่อง ก็ไม่ต้องส่อง ปล่อยให้เป็นดินพอกหางหมูต่อไป ไม่นานเกินรอ กมฺมุนา วตฺตตี โลโก จะพิพากษาลงโทษเอง

“วันเกิดวันตาย
วันตายวันเกิด
จิตใจล้ำเลิศ
รู้เกิดรู้ตาย”

รู้อะไร เห็นอะไร ก็ไม่เท่า รู้ตนเห็นตน คือรู้จิตเห็นจิตตนเองว่า เศร้าหมองหรือผ่องใสขนาดไหน จะแก้ไขอย่างไร จึงจะเข้าสู่สภาวะตื่น รู้ เบิกบาน ได้อย่างปกติ

คนไม่รู้ตัวเอง ไม่เห็นตัวเอง มักหลงตัวเอง มักคิดมักทำอะไรอย่างโง่เขลา เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เลยกลายเป็นตัวตลกขบขันของผู้คน โรงแล้วโรงเล่า อนิจจา...กรรม!

วันนี้ มีสังขารปรุงแต่งมากไปหน่อย สมมตินามไปตามท้องลาย หรือเอาท์ไลน์ขอหยุดเพียงเท่านี้-เอวัง
กำลังโหลดความคิดเห็น