xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๓๓) อูฐผู้ก้าวหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


อูฐผู้ก้าวหน้า
องค์พระบรมครูตรัสแนะนำให้ใช้วิธีจิตตภาวนาที่แปลว่า “วิธีอบรมจิต” เพราะจำเป็นที่จะต้องชำระฟอกล้าง ฝึก ข่ม รักษา คุ้มครอง ป้องกันอย่างเต็มที่ จะทำกันอย่างเล่นๆ ย่อหย่อนหาได้ไม่ ฝ่ายสมุทัยจะต้องระดมกำลังเต็มที่ยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเห็นว่าฝ่ายคู่บารมีจะช่วงชิงอำนาจไปจากตน

ถ้ายังไม่มีข้าศึกยกเข้ามาจากภายนอก หรือเกิดขึ้นภายในเพื่อที่จะยึดอำนาจ สมุทัยก็คงปล่อยไว้อย่างหย่อนๆ หรือดังที่เรียกว่า “ผูกไว้อย่างหย่อนๆ” คล้ายกับผูกสัตว์เลี้ยงไว้ แต่โรยเชือกให้เดินออกไปกินหญ้าได้ไกลๆ จนบางทีสัตว์เลี้ยงนั้นนึกว่ามิได้ถูกผูก จะเดินให้ไกลออกไปอีก แต่สุดเชือกที่โรยไว้เสียแล้ว เชือกก็จะกระตุกไว้มิให้ไป

ถึงตอนนี้สัตว์ที่เลี้ยงไว้นั้น จึงจะรู้สึกตนว่าถูกผูกไว้ หาได้เป็นอิสระไม่ ถ้าถอยกลับมาเดินไปมาอยู่ในระยะที่เชือกหย่อนๆ ก็จะรู้สึกคล้ายกับว่าเป็นอิสระ ไม่ถูกผูก ในเวลาสถานการณ์ปกติ สมุทัยก็ผูกไว้ดังนี้ ปล่อยให้ไปมาได้จนคล้ายกับเป็นอิสระเสรี ไม่คิดที่จะสลัดเชือกออก

สมุทัยมีวิธีมาก ใช้เล่ห์เหลี่ยมต่างๆ อย่างที่คนทั่วไปตามไม่ทัน ดูก็คล้ายๆกับที่มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ฉลาดในโลกใช้เล่ห์หลอกสัตว์เลี้ยง เช่น หญ้าสำหรับเลี้ยงม้าเป็นหญ้าแห้ง ม้าไม่ยอมกิน คนก็หาแว่นตาสีเขียวสวมให้ม้า ม้ามองเห็นหญ้าเป็นสีเขียวคิดว่าเป็นหญ้าสด ก็กินหญ้าแห้งนั้น คนเลี้ยงม้าก็สบาย ไม่ต้องหาหญ้าสดให้ม้า

ชาวนาในประเทศที่ใช้อูฐชักนํ้าจากบ่อนํ้าให้ลงลำรางไปสู่นา เขาผูกอูฐเข้ากับหลักที่ปักไว้ตรงบ่อ แล้วผูกอูฐกับหลักนั้นให้มีระยะห่างจากบ่อตามสมควร แล้วให้อูฐเดินวนบ่อชักนํ้าขึ้นมา แต่อูฐจะไม่ยอมเดินวน คนจึงใช้ผ้าผูกตาอูฐเสีย แล้วให้อูฐเดิน อูฐจึงยอมเดิน เพราะเข้าใจว่าเดินไปข้างหน้าเรื่อย หาได้เดินวนไม่

แต่ที่แท้ก็เดินวนรับใช้ชักนํ้าให้ชาวนาอยู่นั่นเอง เช่นเดียวกับม้าสวมแว่น ก็กินหญ้าแห้งโดยคิดว่าเป็นหญ้าสดอยู่นั่นเอง อูฐก็เป็นสุขอยู่ในการเดินวน เพราะคิดว่าเดินไปข้างหน้าอยู่เรื่อย และม้าก็เป็นสุขอยู่ในการกินหญ้าแห้ง โดยคิดว่าเป็นหญ้าสดอยู่นั่นเอง

อันที่จริง อูฐนับว่าเป็นสัตว์ที่มีความคิดที่เรียกว่า “ก้าวหน้า” เพราะไม่ยอมเดินวน ชอบเดินไปข้างหน้าเรื่อย แต่ก็เสียกลมนุษย์

คนทั้งปวงของจิตตนครก็เป็นสุขอยู่กับการถูกผูกหย่อนๆ อันที่จริงก็ต้องเดินวนอยู่ไปมาภายในระยะของเครื่องผูก ต้องบริโภคต้องใช้สิ่งที่ไม่ต่างจากหญ้าแห้ง จึงมีสถานการณ์ไม่ต่างกันไปมากนัก และสมุทัยจะไม่ว่ากระไรถ้าไม่คิดไม่ทำการสลัดออกไปจากอำนาจ คือถ้าไม่ก่อการล้มล้างอำนาจของสมุทัย ฝ่ายสมุทัยก็จะปล่อยไว้หย่อนๆ คล้ายกับเป็นอิสระเสรีแล้ว

ผู้ที่เคยเห็นอูฐเดินวนบ่อชักนํ้าลงลำรางให้ชาวนา อาจจะขำหรืออาจจะสังเวช แต่สิ่งที่ควรจะรู้สึกที่สุดคือ ควรจะรู้สึกว่า สามัญชนก็มิได้ผิดจากอูฐในการถูกสมุทัยผูกให้วนเวียนอยู่ในวัฏฏะ

ความทุกข์ที่อูฐได้รับในการถูกหลอกให้เดินวนอยู่เช่นนั้น เปรียบไม่ได้กับความทุกข์ที่ได้รับจากการถูกสมุทัยหลอกให้เวียนเกิดเวียนตายอยู่ตลอดเวลา

อูฐนั้นไม่มีสติปัญญาความสามารถ พอจะช่วยตัวเองให้ไม่ต้องเดินวนต่อไปได้ แต่มนุษย์สามารถช่วยตัวเอง ให้ไม่ต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในวัฏสงสารได้ เมื่อมนุษย์ยอมให้สมุทัยหลอกให้เดินวนเวียนอยู่ โดยไม่คิดช่วยตัวเองให้พ้นจากอำนาจของสมุทัย มนุษย์จึงเป็นที่น่าสงสาร น่าสลดสังเวชยิ่งกว่าอูฐ และยิ่งกว่าม้าที่ถูกหลอกให้กินหญ้าแห้งมากมายนัก

ปัญหา ๔ ข้อ
อย่าว่าแต่อูฐ แม้ชาวจิตตนครเองซึ่งล้วนเป็นนักก้าวหน้า อันที่จริงก็ก้าวหน้าไปตามความอยาก คือ อยากจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ อยากจะเป็นนั่นเป็นนี่ อยากจะให้สิ่งที่ไม่ชอบหรือภาวะที่ไม่ชอบ สิ้นไปหมดไป สิ่งที่อยากต่างๆ จึงเป็นจุดหมายสำหรับดำเนินไปหา

การก้าวหน้าก็คือการตั้งหน้าก้าวไปสู่สิ่งที่อยากนั้นๆ นอกจากนี้ ยังน่าจะเรียกได้อีกว่าเป็นนักริเริ่ม คือริเริ่มความอยากหรือสิ่งที่อยากขึ้นใหม่อีก

ถ้าจะถามว่าก้าวหน้าไปข้างไหน ก็คงจะตอบว่าไปสู่จุดหมายที่อยากนั่นแหละ ถ้าไปถึงจุดหมายที่หวังไว้สูงเร็ว ก็ชมกันว่าก้าวหน้าเร็ว

ถ้าห้ามไม่ให้ตอบตามความอยาก ก็น่าจะพากันตอบได้ยากว่าจะไปข้างไหน นอกจากจะตอบว่า ก้าวหน้าไปสู่ที่สุดแห่งชีวิต ต่อจากนั้นก็ไม่รู้ว่าก้าวหน้าไปข้างไหน แม้แต่ก่อนชีวิตนี้ก็ไม่รู้อีกเหมือนกันว่ามาจากไหน รู้แต่ว่าจะต้องพบการจบชีวิตเป็นแน่แท้ ส่วนจะจบเมื่อไรก็หารู้ไม่

คู่บารมีเคยได้ฟังพระอาจารย์ ศิษย์ขององค์พระบรมครู แสดงเรื่องบุตรีของนายช่างทอหูกคนหนึ่ง ในครั้งองค์พระบรมครูยังไม่เสด็จสู่มหาปรินิพพานธาตุ ว่าองค์พระบรมครูพุทธเจ้า ได้ตรัสถามปัญหา ๔ ข้อ แก่บุตรีสาวของช่างทอหูก เธอได้กราบทูลตอบทั้ง ๔ ข้อ คำถามและคำตอบมีว่าดังนี้

๑. ถาม เจ้ามาจากไหน ตอบ ไม่ทราบพระเจ้าข้า
๒. ถาม เจ้าจักไปในที่ไหน ตอบ ไม่ทราบพระเจ้าข้า
๓. ถาม เจ้าไม่ทราบหรือ ตอบ ทราบพระเจ้าข้า
๔. ถาม เจ้าทราบหรือ ตอบ ไม่ทราบพระเจ้าข้า

ฝูงชนที่เฝ้าอยู่พากันยกโทษเด็กหญิงผู้นั้นว่า กราบทูลเหลาะแหละเหลวไหลกับพระพุทธเจ้า เป็นการไม่สมควร เมื่อตรัสถามว่ามาจากไหน ก็ควรจะกราบทูลว่ามาจากบ้านของตน เมื่อตรัสถามว่าจะไปไหน ก็ควรจะกราบทูลว่าจะไปโรงทอหูก

องค์พระบรมครูทรงสดับเสียงอื้ออึงของมหาชน จึงตรัสขอให้สงบเสียง แล้วตรัสถามให้เด็กหญิงผู้นั้นอธิบายคำตอบ เด็กหญิงนั้นก็กราบทูลอธิบายว่า

คำตอบที่ ๑ หมายความว่า ไม่ทราบว่ามาเกิดในชาตินี้จากที่ไหน
คำตอบที่ ๒ ไม่ทราบว่าจุติคือเคลื่อนจากชาตินี้แล้ว จักไปเกิดในที่ไหน
คำตอบที่ ๓ คือ ทราบว่าความตายจะมีแน่
คำตอบที่ ๔ คือ ไม่ทราบว่าจะตายเมื่อไร

พระบรมครูประทานสาธุการ ทรงรับรองว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แล้วตรัสพระธรรมบทสั้นๆว่า

“โลกนี้มืด มีน้อยคนในโลกนี้จะมีปัญญาเห็นแจ้ง น้อยคนจะไปสวรรค์ นิพพาน เหมือนนกที่ติดข่าย น้อยตัวจะหลุดไปได้”

เด็กหญิงผู้นั้นก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ออกจากที่เฝ้าถือกระเช้าด้ายไปให้บิดาที่โรงทอหูก บิดากำลังนั่งหลับอยู่ที่เครื่องทอหูก ผลักปลายกระสวยไปในความฝัน พอดีไปกระทบอุระของบุตรีเข้าโดยแรง เธอสิ้นชีวิตในขณะนั้น แต่เป็นผู้ที่องค์พระบรมครูได้โปรดแล้ว จึงมีคติดีเป็นที่แน่นอน

พระบรมครูทรงมุ่งเสด็จไปโปรดเธอ เพราะเธอได้เจริญมรณสติมาถึงสามปีแล้ว ทรงทราบว่าเธอจะต้องตายในวันนั้นแน่ จึงเสด็จไปดักโปรดตรงทางที่เธอจะเดินผ่านไป และตรัสถามปัญหาในแนวปฏิบัติอยู่ของเธอ เธอจึงตอบได้ถูกต้อง ส่วนผู้อื่นมิได้ปฏิบัติ ก็ไม่รู้เรื่องอยู่เอง

การเจริญมรณสติ หรือการมีสติระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เป็นหนทางเลิศหนทางหนึ่งที่จะยกจิตให้สูงขึ้นได้ พ้นจากความยึดมั่นผูกพันในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงได้

เมื่อมีสติระลึกไว้เสมอว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา วันหนึ่งเราจะต้องตาย เมื่อความตายมาถึง จะไม่มีผู้ใดติดตามไปเป็นเพื่อนเราได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่รักใคร่ห่วงใยเราเพียงไร จะไม่มีสมบัติใดที่เราจะนำติดตัวไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเพียงนิดน้อยเพียงไหน และไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราแสวงหามาสะสมไว้ด้วยความลำบากยากเข็ญเพียงไร

เมื่อความตายมาถึง เราจะต้องละทุกคนทุกสิ่งไว้ในโลกนี้ เราจะต้องไปแต่ลำพังกับกรรมดีหรือกรรมชั่วที่เราทำไว้เท่านั้น

ถ้าเราทำกรรมดีไว้ เราก็จะไปเป็นสุข สู่สุคติ ถ้าเราทำกรรมชั่วไว้ เราก็จะไปเป็นทุกข์ สู่ทุคติ


พิจารณาเนืองๆ ดังนี้ จะสามารถยังจิตให้เป็นอิสระ ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นได้โดยควรแก่ความปฏิบัติ ได้รับผลเป็นความสุข อันเป็นรสเลิศของความมีอิสระเสรี

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 184 เมษายน 2559 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น