xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๓๐) อัธยาศัย ๑๐ ประการของคู่บารมี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


จะกล่าวถึงคู่บารมีของนครสามีบ้าง คู่บารมีมีลักษณะตรงกันข้ามกับคู่อาสวะเหมือนอย่างขาวกับดำ คู่บารมีมีอัธยาศัยสันดานดีหลายอย่างตามที่ใครๆ ที่เป็นผู้รู้จักชมเชยกัน ๑๐ ประการ คือ

๑. มีอัธยาศัยให้ปันสิ่งของของตนแก่คนทั้งหลาย มีสิ่งอะไรก็อดให้มิได้ เพื่อบูชาบ้าง เพื่อสงเคราะห์ญาติมิตรสหายบ้าง เพื่ออนุเคราะห์ผู้ขัดสนเป็นต้นบ้าง เป็นผู้มีอัธยาศัยพอใจที่จะให้เอง โดยมิได้ต้องออกปากขอ ถ้าถูกออกปากขอและมิได้ให้หรือมิได้ช่วย จะรู้สึกเป็นทุกข์ไม่สบายใจ จะต้องให้หรือช่วยน้อยหรือมากตามแต่ที่จะทำได้ ปราศจากความตระหนี่เหนียวแน่นและความมักได้ อยากจะให้ทั้งหมดเหมือนดังเทหม้อนํ้าควํ่ากันทีเดียว

๒. มีอัธยาศัยรักตนสงวนตน งดเว้นจากบาปทั้งหลาย เป็นผู้มีความละอายใจต่อความชั่ว รังเกียจความชั่ว เหมือนอย่างชายหนุ่มหญิงสาวผู้รักสวยรักงาม หรือคนสะอาดรังเกียจสิ่งสกปรก มีความเกรงกลัวต่อความชั่ว เหมือนอย่างคนกลัวงูพิษ สงบภัยเวร เพราะไม่ประพฤติก่อภัยเวรแก่ใครๆ รักษาตนจากบาป กล่าวอีกนัยหนึ่งว่ารักษาศีล เหมือนดังจามรีรักษาขน

๓. มีอัธยาศัยปลีกกายปลีกใจ ออกจากเครื่องติดทั้งหลายของโลกอยู่เสมอ เพราะว่าโลกมีเครื่องล่อให้ติดอยู่มากมาย เป็นต้นว่า รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งล่อตาให้ดู ล่อหูให้ฟัง ล่อจมูกให้ดม ล่อลิ้นให้ลิ้ม ล่อกายให้ถูกต้อง ล่อใจให้คิดและให้ติดตังอยู่ เหมือนอย่างเป็นเรือนจำใหญ่ มองเห็นเป็นเรือนจำ จึงมีฉันทะที่จะออกจากเรือนจำไปสู่แดนที่มีอิสระแก่ตน

๔. มีอัธยาศัยเสาะแสวงหาปัญญาความรู้ในความจริงแห่งสิ่งทั้งหลาย พอใจสดับตรับฟังอ่านไต่ถามคิดค้นพิจารณา จับเหตุจับผลเงื่อนต้นเงื่อนปลายและทดสอบปฏิบัติ ทำความเห็นให้ตรง ไม่ยอมหลงงมงายด้วยความไม่รู้ ชอบสนทนาไต่ถามผู้รู้ทั่วไปไม่มีเว้น เหมือนดังภิกษุเที่ยวบิณฑบาตทั่วไป

๕. มีอัธยาศัยขยันหมั่นเพียรไม่เกียจคร้าน แกล้วกล้าอยู่ด้วยความเพียร เหมือนดังสีหราชทุกอิริยาบถ

๖. มีอัธยาศัยอดทนต่ออารมณ์กระทบใจทั้งปวง ตลอดถึงอดทนลำบากตรากตรำทางร่างกาย เหมือนดังแผ่นดินรองรับสิ่งทั้งปวงได้ทั้งนั้น

๗. มีอัธยาศัยรักษาสัจจะ ไม่พูดมุสา แม้จะถูกฟ้าผ่าลงขมองเพราะไม่พูดมุสา ก็ไม่ยอมพูด เมื่อพูดไว้อย่างใดรับปากไว้อย่างใด ก็รักษาคำพูด คือทำอย่างนั้น ไม่ตระบัด เหมือนดังดาวโอสธิไม่ละวิถี

๘. มีอัธยาศัยตั้งใจมุ่งมั่น พอใจที่จะทำตามความตั้งใจมุ่งมั่น ในสิ่งที่จะพึงทำ ในผลที่จะพึงได้ เหมือนดังภูเขาไม่หวั่นไหว ไม่ชอบมีใจรวนเรไม่แน่นอน

๙. มีอัธยาศัยประกอบด้วยเมตตา ปรารถนาความสุขแก่สัตว์บุคคลทั้งปวงไม่เลือกหน้า เหมือนดังนํ้าแผ่ความเย็นทั่วไป ทั้งแก่คนดีคนชั่วเหมือนกันหมด

๑๐. มีอัธยาศัยมัธยัสถ์ในอารมณ์ คือเป็นกลางในอารมณ์ ไม่ชอบในบางอย่าง ชังในบางอย่าง เพราะถ้าชอบหรือชังก็เสียความเป็นกลาง จะรักษามัธยัสถ์คือเป็นกลางอยู่ได้ ก็ต้องวางใจเฉยในอารมณ์ทั้งปวงได้ เหมือนดังแผ่นดินมีมัธยัสถ์คือความเป็นกลาง ทั้งในของสะอาด ทั้งในของไม่สะอาด ที่ใครๆพากันทิ้งลงไป

คุณสมบัติดังกล่าวนี้มีในคู่บารมีเป็นที่ปรากฏ จึงได้ชื่อว่าบารมีทุกข้อสืบมา

บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลายควรศึกษาบารมีทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวให้เข้าใจ และควรปฏิบัติอบรมให้เกิดขึ้น แม้ไม่ครบทุกข้อ ก็ควรพยายามให้มากข้อที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะได้เป็นผู้มีบารมีไว้ต่อต้านอาสวะ ให้พ้นจากอำนาจของอาสวะ ได้มีความสุขความเย็นตามควรแก่การปฏิบัติ

คู่อาสวะได้โอกาสที่จุดบกพร่อง
ได้กล่าวถึงบารมี ๑๐ ประการของคู่บารมีแห่งจิตตนคร ซึ่งฝ่ายสมุทัยหามีอัธยาศัยอันดีงามเช่นนั้นไม่ ด้วยเหตุนี้ คู่บารมีของนครสามีจึงเป็นที่เกรงขามของสมุทัย ถึงกับไม่กล้าเผชิญหน้า สมุทัยต้องอาศัยคู่อาสวะซึ่งเป็นฝ่ายในด้วยกันให้ช่วยต่อต้านไว้ แม้คู่อาสวะกับอนุสัยคู่หูก็ไม่กล้าเผชิญหน้ากับคู่บารมีโดยตรงเหมือนกัน ต้องหาวิธีให้คู่บารมีถอยห่างออกไปพ้นหน้านครสามี แล้วจึงจะเข้ามาเพ็ดทูลนั่นพูดนี่ น้อมโน้มนครสามีให้หันเหไปตามได้

นักศัพท์แสงได้พากันวิจารณ์ชื่อของทั้งสองฝ่าย ว่าทำไมจึงชื่อว่าอาสวะ ที่ตรงกับคำว่าหมักดอง หมักหมม ใช้หมายถึงสุราหรือเหล้าก็มี ทำไมจึงชื่อว่าอนุสัย ที่ตรงกับคำว่านอนจม บางทีพูดควบกันในภาษาไทยว่านอนจมหมักหมม คืออนุสัยอาสวะนั่นเอง บางทีก็เรียกอาสวะว่ากิเลสเครื่องดองสันดาน หรือดองจิต

ส่วนบารมีตรงกับคำว่าเต็มบริบูรณ์ ถึงฝั่ง ที่ว่าเต็มบริบูรณ์ จากศัพท์ว่า “ปรม” อย่างยิ่ง สมบูรณ์ บริบูรณ์ ที่ว่าถึงฝั่ง จากศัพท์ว่า “ปาร+มี” คู่บารมีได้บำเพ็ญความดีมาช้านาน ทีแรกความดีก็ไม่สู้กล้าแข็งนัก ยังแพ้ทรัพย์แพ้บุคคลหรือวัตถุที่เป็นที่รัก เช่นเมื่อยังไม่มีอะไรมาล่อใจก็สามารถทำความดี รักษาความดีไว้ได้ ครั้นมีทรัพย์มาล่อใจให้อยากได้ แต่จะต้องได้มาด้วยความชั่วทุจริต ก็ทิ้งความดีทำความชั่วได้ หรือเมื่อพบบุคคลหรือวัตถุเป็นที่รัก ถ้าจะได้มาก็ต้องทิ้งความดีทำความชั่ว ก็ยอมทิ้งความดีทำความชั่ว เพื่อจะได้บุคคลหรือวัตถุซึ่งเป็นที่รักนั้น

ศิษย์ของพระบรมครูกล่าวว่า คนที่ไม่มีบารมีหรือมีบารมีอ่อนมากย่อมเป็นเช่นนี้ คือทิ้งความดีทำความชั่วเพราะเหตุแห่งทรัพย์ บุคคล วัตถุ อันเป็นที่รัก ชื่อว่าเป็นผู้แพ้ต่อทรัพย์เป็นต้น ต่อเมื่อความดีกล้าแข็งขึ้น เอาชนะทรัพย์และคนหรือวัตถุอันเป็นที่รักได้ คือแม้จะมีทรัพย์มาล่อใจ มีบุคคลหรือวัตถุที่รักมาล่อใจ ก็อดทนไว้ได้ ไม่ยอมทิ้งความดีเพราะเหตุแห่งทรัพย์หรือคนและวัตถุอันเป็นที่รัก

ศิษย์พระบรมครูกล่าวว่า คนที่ยอมสละทรัพย์กับบุคคลหรือวัตถุอันเป็นที่รักเพื่อความดี สามารถรักษาธรรมรักษาความดีไว้ได้ ไม่หวั่นไหวไปเพราะทรัพย์เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นผู้มีบารมีอย่างสามัญ ส่วนผู้ที่มีความดีกล้าแข็งยิ่งกว่านี้จนถึงยอมสละอวัยวะของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งได้ เพื่อรักษาธรรมรักษาความดี หรือเพื่อปฏิบัติธรรม เรียกได้ว่าเป็นผู้มีอุปบารมี ส่วนผู้ที่มีความดีกล้าแข็งจนถึงยอมสละชีวิตเพื่อรักษาธรรมรักษาความดีไว้ได้ ไม่มีอะไรมาทำให้หวั่นไหวสะทกสะท้านรวนเรไม่มั่นคง เรียกได้ว่าเป็นผู้มีปรมัตถบารมี

คู่บารมีได้บำเพ็ญบารมีกล้าแข็งขึ้นโดยลำดับ ความดีที่กล้าแข็งจะต้องเป็นความดีในสันดานในนิสัย คือที่เก็บตัวสั่งสมมากขึ้นๆ จนถึงเต็มบริบูรณ์ นับว่าเป็นบารมีเต็มที่หรือสมบูรณ์ ดังที่เรียกว่าปรมัตถบารมี

คู่อาสวะได้โอกาสตรงจุดบกพร่องของคู่บารมีนี่แหละ เพราะเมื่อบารมียังไม่เต็มบริบูรณ์ ก็แปลว่ามีจุดบกพร่องตรงที่ไม่เต็มที่นั้น ฉะนั้น จึงเข้ามาตรงจุดนั้น เมื่อมายึดได้จุดหนึ่งแล้ว ก็พยายามขยายวงออกไป เป็นอันว่าคู่บารมีกับคู่อาสวะต่างก็ยึดยันกันอยู่ในจิตตนคร

ปุถุชนหรือสามัญชนทั้งหลาย ย่อมยังมีบารมีบกพร่องไม่เต็มบริบูรณ์อยู่ด้วยกันทั้งนั้น แต่ก็ควรพยายามให้ความบกพร่องนั้นน้อยลงโดยลำดับ ไม่ควรจะให้ความบกพร่องมีอยู่เป็นส่วนมาก

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 181 มกราคม 2559 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น