xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๓๑) อารมณ์-กามฉันท์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


ได้กล่าวแล้วว่า เมื่อคู่บารมียังมีความดีกล้าแข็งไม่เต็มบริบูรณ์ ยังบกพร่อง คู่อาสวะก็ได้โอกาสเข้ายึดจุดบกพร่อง เพื่อแผ่ขยายกำลังให้กว้างขวางออกไปยิ่งขึ้น

คู่อาสวะกับสมุทัยและพรรคพวกได้พยายามต่อต้านขับไล่ฝ่ายคู่บารมีเต็มที่ ส่งพวกหัวโจกคือ โลโภ โทโส โมโห กับสมุนทั้งหลาย ออกขับไล่ศีล หิริ โอตตัปปะ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ สันโดษ บรรดาที่เป็นฝ่ายคู่บารมี แต่พวกหัวโจกกับสมุนทั้งปวงเป็นพวกคนจรหมอนหมิ่นดังที่ได้กล่าวแล้ว ต้องเกลี้ยกล่อมแสวงหาเข้ามาและบำรุง จึงจะได้ตัวมาและมีกำลังต่อสู้กับอีกฝ่ายหนึ่งได้

เครื่องเกลี้ยกล่อมและบำรุงที่สำคัญก็คือ “อารมณ์” ได้กล่าวมาแล้วว่า สมุทัยได้แทรกอารมณ์เข้าสู่จิตตนครทางระบบสื่อสารทั้งปวง จะได้กล่าวถึงอารมณ์ต่อไปอีก

เมื่ออารมณ์เข้าไปสู่จิตตนครทางระบบสื่อสารแล้ว สมุทัยก็ใช้อารมณ์นี่แหละเป็นสะพาน ส่งกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดเข้าสู่จิตตนครเป็นทิวแถวและคุมไว้ในอำนาจ จะระบุถึงสัก ๕ จำพวก คือ

จำพวกที่ ๑ มีชื่อว่า “กามฉันทะ” มีลักษณะอาการเป็นความพอใจรักใคร่ในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ที่น่าใคร่ น่าปรารถนาพอใจทั้งหลาย จำพวกนี้ตามหลังอารมณ์บางอย่างเข้ามา คืออารมณ์ที่มีชื่อว่า “สุภนิมิต” เข้ามาถึงจิตตนครเมื่อใด เมื่อนั้นจิตตนครจะปรากฏว่างดงามน่าดู น่าฟัง น่าดม น่าลิ้ม น่าถูกต้อง ไปเสียทั้งนั้น

จิตตนครจะเป็นเมืองงามไปทันทีด้วยสีสันวรรณะ ด้วยเสียง ด้วยกลิ่น ด้วยรส ด้วยสิ่งถูกต้องทั้งหลาย ทีนี้กามฉันทะก็เข้ามาทันที ชาวจิตตนครก็พากันยินดีพอใจรักใคร่สนุกสนานรื่นเริงกันทั้งเมือง บ้างก็เที่ยวดูการละเล่น เต้นรำนานาชนิด มีทุกแบบ ไม่ว่าแบบไทย แบบฝรั่ง แบบแขก จีน ญวน เขมร พม่า มอญ ว่าถึงแบบไทยก็มีพร้อม ไม่ว่าจะเป็นโขน ละคร ลิเก หนังใหญ่ หนังตะลุง ตลอดถึงหนังญี่ปุ่น ที่บัดนี้เรียกกันว่าภาพยนตร์

บ้างก็เที่ยวฟังการร้องรำทำเพลงดีดสีตีเป่าต่างๆ มีดนตรีทุกแบบทุกชนิดทุกภาษา บ้างก็เที่ยวสูดดมกลิ่นสุคนธชาตินานาชนิด ตลอดถึงสูดอากาศบริสุทธิ์สะอาดจากที่ต่างๆ บ้างเป็นนักกินก็เที่ยวบริโภคอาหารอันโอชะนานาชนิดในโภชนาคารอันมีอยู่ทั่วไป

บ้างก็แสวงหาสิ่งสัมผัสที่ถูกใจ อันมีอยู่มากเช่นเดียวกัน และดังที่ได้กล่าวแล้วว่า อันรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะทั้งปวงในโลก ถ้าจะถามว่าอะไรเป็นยอด ก็ตอบได้ตามคำของพระบรมครูว่า เป็นยอดนั้นคือของสตรีเป็นยอดสำหรับบุรุษ และของบุรุษเป็นยอดสำหรับสตรี

เมื่อจิตตนครเป็นเมืองงามขึ้นด้วยอารมณ์อันมีชื่อว่าสุภนิมิตดังพรรณนามา ชาวจิตตนครก็พากันเพลิดเพลินยินดีในความงาม คือในรูปเสียงเป็นต้น ตั้งแต่ชั้นยอดลงมา นี้แหละคือที่เรียกว่ากามฉันทะ

สามัญชนย่อมมีกามฉันทะเป็นของธรรมดา แต่ถ้าปล่อยให้กามฉันทะมีอำนาจรุนแรงเหนือความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ก็ผิด แม้กามฉันทะจะเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่ในสามัญชน แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถควบคุมบังคับให้อยู่ในขอบเขตได้ คือถ้าความพอใจรักใคร่ปรารถนาเกิดขึ้นในสิ่งที่ไม่สมควร ก็ต้องบังคับยับยั้งไว้ ไม่ปล่อยให้ดำเนินต่อไป เช่นนี้จึงจะควร

พยาบาท
จะกล่าวถึงจำพวกที่ ๒ ที่มีชื่อว่า “พยาบาท” มีลักษณะอาการเป็นความหงุดหงิด ขัดเคือง โกรธแค้น เดือดดาล จนถึงมุ่งร้ายในบุคคลหรือสิ่งที่ไม่ชอบใจทั้งหลาย จำพวกนี้ตามหลังอารมณ์บางอย่างเข้ามาเช่นเดียวกัน คืออารมณ์ที่มีชื่อว่า “ปฏิฆนิมิต” (เครื่องกำหนดหมายเป็นที่น่าชัง) เป็นที่ขวางตา ขวางหู ขัดจมูก ขัดลิ้น ไม่สบายกาย ไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง

จิตตนครที่เคยเป็นเมืองงาม ก็จะกลายเป็นเมืองที่น่าเกลียดน่าชังไปทันที ด้วยสีสัน วรรณะ เสียง กลิ่น รส สิ่งที่ถูกต้องอารมณ์ทั้งหลาย ซึ่งปรากฏเป็นของปฏิกูล กระทบจิตใจไปทุกอย่าง ทีนี้พยาบาทก็เข้ามาทันที ชาวจิตตนครก็พากันหงุดหงิดในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือในทุกๆสิ่งที่อยู่รอบตัว สุดแต่อารมณ์ที่ชื่อว่าปฏิฆนิมิต จะเข้ามาถึงสิ่งไหน แรงขึ้นมาก็พากันโกรธแค้นขัดเคือง เดือดดาล จนมุ่งร้ายในบุคคลหรือสิ่งนั้นๆ

ทุกอย่างตรงกันข้ามกับอารมณ์ที่ชื่อว่าสุภนิมิตเข้ามา บรรดาการละเล่นเต้นรำ เป็นต้นว่าโขน ละคร ซึ่งเป็นอาหารอันโอชะของตา จะหายไปหมด จะปรากฏเป็นความถมึงตึงเครียด ถ้าจะมีการเต้น ก็มิใช่การเต้นรำทำเพลง แต่เป็นการเต้นเพื่อทำร้ายด่าทอแทนเสียงขับร้อง การที่จะปฏิบัติต่อกันทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยอำนาจของราคะ ก็กลายไปเป็นปฏิบัติต่อกันด้วยอำนาจของโทสะ จิตตนครก็กลายเป็นเมืองร้อนด้วยไฟโทสะ

อันที่จริงเมื่ออารมณ์ที่ชื่อว่าสุภนิมิตเข้ามา และกามฉันท์ติดตามเข้ามาด้วยนั้น จิตตนครกลายเป็นเมืองที่งดงามสนุกสนาน เหมือนอย่างเต็มไปด้วยความสุข แต่ก็เป็นเมืองร้อนด้วยไฟราคะเช่นเดียวกัน

ผู้ที่พิจารณาจะมองเห็นได้ สมุทัยส่งอารมณ์ทั้งสองนี้เข้าไปสู่จิตตนครเสมอ และส่งกามฉันท์กับพยาบาทติดตามเข้าไปทันที ซึ่งก็ได้ผล คือทำให้จิตตนครลุกโพลงอยู่ด้วยไฟราคะบ้าง โทสะบ้าง สลับสับเปลี่ยนกันไป

ความโกรธเป็นของธรรมดาที่ยังจะต้องมีอยู่ในผู้เป็นสามัญชน แต่เมื่อความโกรธเกิดแล้ว ไม่ควรให้เหลืออยู่เป็นความพยาบาท ควรพยายามทำใจให้เพียงโกรธแล้วก็มีหาย ส่วนที่จะโกรธอีกนั้น ก็ยังดีกว่าให้เป็นความพยาบาท

ผู้มาบริหารจิตทั้งหลายควรจะต้องฝึกใจให้เพียงแต่โกรธ ไม่ถึงพยาบาทเสียก่อน แล้วจึงฝึกแก้โกรธให้ลดน้อยถึงหมดไปในภายหลัง

นอกจากนี้ สมุทัยยังทำให้จิตตนครเป็นเมืองง่วงเหงาหลับใหลไปก็ได้ โดยส่งอารมณ์บางอย่างเข้าไป เช่น ความเบื่อไม่ยินดีหรือความเกียจคร้าน ความบิดแชเชือน ความเมาอาหาร ความมีใจย่อหย่อน อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เมื่ออารมณ์ดังกล่าวเข้าไปถึงจิตตนคร จำพวกที่ ๓ อันมีชื่อว่า “ถีนมิทธะ” ซึ่งมีอาการง่วงงุนเคลิบเคลิ้มจะติดตามเข้าไปทันที

จิตตนครที่เคยรื่นเริงหรือตึงเครียดจะกลายเป็นเมืองง่วงหรือหลับไปทันที ไม่เช่นนั้นก็ห่อเหี่ยวเกียจคร้าน คล้ายกับเวลาที่ใครๆ นั่งฟังครูอธิบายหรือที่นั่งฟังเทศน์ มักจะง่วง ความง่วงมักจะแอบหลังความสงบเข้ามา เวลานั่งฟังเทศน์ จิตมักสงบจากเรื่องต่างๆ เมื่อสงบ จิตก็มักรวมแคบเข้ามาดุจตะเกียงหรี่ เป็นโอกาสให้ความง่วงลอบเข้ามา ทำให้หงุบหงับสัปหงกทันที จิตสว่างขึ้น กว้างขึ้นเมื่อใด ความง่วงถอยหนี

แต่สมุทัยก็ไม่ทิ้งโอกาสเช่นนี้ รีบส่งอารมณ์เข้าไปอีกอย่างหนึ่ง คือความฟุ้งซ่านแห่งใจ ส่งตามติดเข้าไป และส่งตามไปด้วยจำพวกที่ ๔ ซึ่งมีชื่อว่า “อุทธัจจะกุกกุจจะ” มีลักษณะอาการเป็นความฟุ้งซ่านรำคาญใจ จิตตนครก็กลายเป็นเมืองฟุ้งไปทันที จะฟุ้งอย่างไรให้คิดเทียบเอาเองกับเวลาที่มีลมแรงพัดฝุ่นคลุ้งไปทั้งหมด

มิใช่แต่เท่านี้ จิตตนครยังต้องเผชิญกับอารมณ์อีกอย่างหนึ่ง คือธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งวิจิกิจฉา ความสงสัยลังเลไม่ตกลงได้ แล้ววิจิกิจฉาก็จู่โจมเข้ามาทันที “วิจิกิจฉา” นี้เป็นจำพวกที่ ๕ มีลักษณะเป็นความลังเลสงสัยไม่แน่นอนใจ เมื่อเข้ามาถึงจิตตนครก็กลายเป็นเมืองแห่งความสงสัยลังเล ทุกคนพากันนั่งลังเลไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรดี

สมุทัยชอบใจที่ได้เห็นจิตตนครมีอารมณ์และอาการต่างๆ ดูเป็นที่สับสนอลหม่าน เดี๋ยวก็อย่างนั้น เดี๋ยวก็อย่างนี้ และสมุทัยกลัวธรรมบางข้อ คือ “โยนิโสมนสิการ” ได้แก่ ความทำไว้ในใจโดยแยบคาย ถ้าธรรมข้อนี้เข้าไปสู่จิตตนครแล้ว พวกอารมณ์ทั้งปวงก็หมดอำนาจ จิตตนครจะเป็นเมืองสุขสงบขึ้นทันที

ฉะนั้น สมุทัยจึงพยายามใส่ “อโยนิโสมนสิการ” ได้แก่ ความทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายเข้าไปในอารมณ์ทุกอย่าง อารมณ์เหล่านั้นจะกระด้างแข็งแรงขึ้น เป็นชนวนนำนิวรณ์เข้ามาทันที อโยนิโสมนสิการเป็นสมุนสำคัญของสมุทัยอีกผู้หนึ่ง

การทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือการพิจารณาเรื่องราวของจิตคืออารมณ์ให้แยบคาย คือให้เห็นผิดถูก ชั่วดี ควรไม่ควรอย่างไร กล่าวอีกอย่างก็คือ การมีเหตุผลในการรับอารมณ์ เมื่ออารมณ์เกิดขึ้นก็ให้สามารถทำใจพิจารณาอย่างแยบคาย ไม่ปล่อยให้รุนแรงไปตามกำลังโดยไม่ต้านทานให้อ่อนลง ด้วยอำนาจการพิจารณาให้แยบคายเลย

บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย ควรฝึกจิตให้รู้จักคุ้นเคยกับการทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือให้มีโยนิโสมนสิการอยู่เสมอ จะสามารถพาจิตให้พ้นอำนาจของสมุทัย พ้นจากอโยนิโสมนสิการได้ ผลก็คือ จะมีความสุขสงบในใจไม่มากก็น้อย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 182 กุมภาพันธ์ 2559 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น