xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๓๔) นครชายแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


จิตตภาวนาที่องค์พระบรมครูตรัสแนะนำ ให้นำมาใช้แก้สถานการณ์ในจิตตนครนั้น คู่บารมีจำได้ขึ้นใจ ในพระพุทธพจน์ประกอบด้วยอุปมา มีใจความว่า

มีนครชายแดนของพระราชา มีกำแพงและเสาระเนียดอันมั่นคง มี ๖ ประตู นายประตูของพระราชานั้นเป็นคนมีปัญญาเฉลียวฉลาด ห้ามคนที่ไม่รู้จักไม่ให้เข้า อนุญาตให้แต่คนที่รู้จักเข้าไปในเมืองนั้น

ได้มีทูตด่วนคู่หนึ่งมาจากทิศตะวันออก คู่หนึ่งมาจากทิศตะวันตก คู่หนึ่งมาจากทิศเหนือ คู่หนึ่งมาจากทิศใต้ ถามนายประตูนั้นว่า เจ้าแห่งเมืองนี้อยู่ที่ไหน

นายประตูก็ตอบว่า นครสามีคือเจ้าเมือง นั่งอยู่ที่ทางสี่แพร่งตรงกลางเมือง ทูตคู่นั้นๆ จึงมอบยถาภูตพจน์ (คำตามที่เป็นจริง) แก่นครสามี ปฏิบัติตามมรรค(ทาง)ที่มาแล้ว

อุปมานี้ผูกขึ้น เพื่อให้รู้ความดังนี้ คำว่า “นคร” นี้ เป็นชื่อของกาย อันประกอบด้วยมหาภูตะ คือ ธาตุดิน นํ้า ไฟ ลม ทั้ง ๔ ที่มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนม มีอันต้องอบนวด ต้องแตกทำลายเป็นธรรมดา

คำว่า “มี ๖ ประตู” เป็นชื่อของอายตนะภายในทั้ง ๖
คำว่า “นายประตู” เป็นชื่อของสติ
คำว่า “ทูตด่วนคู่หนึ่ง” เป็นชื่อแห่งสมถะและวิปัสสนา
คำว่า “นครสามี” เป็นชื่อแห่งวิญญาณ คือจิต
คำว่า “ทางสี่แพร่งตรงกลางเมือง” เป็นชื่อแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน นํ้า ไฟ ลม
คำว่า “คำตามที่เป็นจริง” เป็นชื่อแห่งนิพพาน
คำว่า “ทางตามที่มาแล้ว” เป็นชื่อมรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฐิ (ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ) สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีวิตชอบ) สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ (ตั้งใจชอบ)

คู่บารมีมีความรู้ในพระพุทธคุณซาบซึ้ง ว่าพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้จิตตนครโดยประจักษ์แจ้ง และได้ตระหนักแน่ว่า การที่จะแก้ไขสถานการณ์ที่เลวร้ายในจิตตนครให้ได้ผลดีที่แน่นอนนั้น มีอยู่วิธีเดียว คือตั้งสมถะและวิปัสสนา ทั้งคู่นี้เป็นทูตเข้าไปแจ้งถ้อยคำตามที่เป็นจริงแก่นครสามี และการที่ทูตทั้งคู่นี้จะเข้าเมืองได้ ก็จำต้องมีสติเป็นนายประตูเมือง ถ้ามีผู้อื่นที่เป็นพรรคพวกของสมุทัยหรือคู่อาสวะเป็นนายประตู ก็จะต้องไม่ยอมให้ทูตทั้งคู่นี้เข้าไปแน่นอน

ฉะนั้น ก็จะต้องหาทางให้สติ ได้มีหน้าที่เป็นนายประตูให้จงได้ก่อน วิธีดังนี้เองที่พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า จิตตภาวนา และทรงแนะให้ใช้นิมิต (เครื่องกำหนด) หลายอย่าง กับโยนิโสมนสิการ จะใช้กับใคร ก็ใช้กับนครสามีนั่นเอง

พระพุทธองค์ต้องได้ตรัสรู้แล้วว่าใช้ได้ผลแน่ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ตรัสสอนให้ใช้ คู่บารมีจึงมีความเชื่อตั้งมั่นในองค์พระบรมครู รีบชักชวนโยนิโสมนสิการ กับบรรดานิมิตที่ทรงแนะนำ ไปหานครสามีทันที

จะเห็นได้ว่า จิตตภาวนาเป็นวิธีปฏิบัติที่ได้ผลแน่นอนในการแก้สถานการณ์วุ่นวายเลวร้ายทั้งหลายที่เกิดขึ้นในจิตใจ พระพุทธองค์จึงทรงยกขึ้นมาตรัสแนะนำแก่คู่บารมี บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งนั้น ควรน้อมรับคำที่ทรงแนะนำมาปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดความสงบสุข ไม่มีความวุ่นวายในจิตใจ มากน้อยตามควรแก่ความปฏิบัติของตนๆ

โยนิโสมนสิการ อสุภนิมิต
เมื่อคู่บารมีนำโยนิโสมนสิการและนิมิตต่างๆ เข้าเฝ้า ก็ยังไม่แน่ใจนักว่าจะผ่านประตูเมืองเข้าไปได้หรือไม่ แต่ก็นึกมั่นใจว่า ฝ่ายของตนดำรงตำแหน่งนายประตู คือสติ และก็ได้พบสติเป็นนายประตูจริงๆ สติเปิดประตูเมืองรับ คู่บารมีก็นำโยนิโสมนสิการและนิมิตต่างๆ เข้าพบนครสามีทันที ประจวบเวลาพอดีกับที่คู่อาสวะผละออกไป นับว่าเป็นเวลาปลอด นครสามีจึงต้อนรับคู่บารมีพร้อมกับคณะด้วยดี

คู่บารมีได้แจ้งจำนงขอแสดงนิมิตต่างๆให้ดู และขอให้โยนิโสมนสิการเป็นผู้บรรยาย ดูก็น่าจะคล้ายกับขอฉายภาพยนตร์ให้ดู และให้โยนิโสมนสิการเป็นผู้แสดงพากย์ นครสามีก็ตกลง คู่บารมีก็แสดงนิมิตต่างๆ ดังนี้

อสุภนิมิต นิมิตที่ไม่งาม เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนังของคนเป็นที่สกปรก แสดงให้เห็นเหมือนอย่างเห็นในภาพยนตร์ ให้เห็นถึงสีที่หมองคลํ้า ถึงทรวดทรงที่น่าเกลียด ถึงกลิ่นที่เหลือทน ถึงที่เกิดที่อยู่เกลือกกลั้วอยู่ด้วยสิ่งสกปรก แล้วแสดงของคนตาย พร้อมทั้งร่างกายที่เป็นศพทั้งหมดเป็นต้น

โยนิโสมนสิการได้บรรยายประกอบภาพ ให้เห็นเป็นอสุภะจริงจัง และบรรยายให้ทุกคนรู้สึกว่า ผม ขน เป็นต้น รวมเข้าเป็นกายนี้ทั้งหมดของตน ก็เป็นเช่นนั้น ยังเป็นอยู่ก็น่ารังเกียจ ตายแล้วไม่ต้องพูดถึง ต้องเปื่อยเน่าน่ารังเกียจเต็มที่

โยนิโสมนสิการได้บรรยายให้เห็นว่า วัยที่ยังหนุ่มสาว ชีวิตที่รักษาร่างกายไว้มิให้เน่าเปื่อย เครื่องตบแต่งการตบแต่งต่างๆ เป็นเครื่องปกปิดเป็นเครื่องพราง มิให้เห็นความไม่สะอาด ความปฏิกูลที่มีอยู่เป็นปกติ เมื่อเพิกเอาเครื่องปกปิดออกเสีย ก็จะมองเห็นสิ่งปฏิกูลได้ชัดเจน

แม้จะยังมีเครื่องปกปิด ก็ไม่อาจปิดบังสติปัญญา ที่จะตรวจตราพิจารณาให้มองเห็นความจริงได้ ภาพอสุภะที่ปรากฏขึ้นนี้แหละ อสุภนิมิตทำให้กามฉันท์ซึ่งเป็นสมุนสำคัญของสมุทัย วิ่งหนีออกห่างไปทันที

สติปัญญา จึงเป็นความสำคัญในการบริหารจิตยิ่งกว่าอะไรอื่นทั้งนั้น พยายามให้เผลอสติเผลอปัญญาน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ การบริหารจิตก็จะได้ผลหนักแน่นมากมายพอสมควร

การบริหารจิตได้ผลเพียงใด จะรู้ได้ที่ใจ ใจสงบสบายเพียงไหน ก็แสดงให้ปรากฏว่าการบริหารทางจิตให้ผลดีขึ้นเพียงนั้น เมื่อต้องการใจที่สงบสบายก็ต้องบริหารจิต

เมตตาเจโตวิมุตติ
ครั้นคู่บารมีแสดงอสุภนิมิต โดยมีโยนิโสมนสิการบรรยายประกอบพอสมควรแล้ว ก็แสดงนิมิตอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีคำเรียกว่า “เมตตาเจโตวิมุตติ” ซึ่งออกจะยาว และดูจะแปลกใหม่สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นต่อคำบาลี แต่ชื่อไม่สำคัญ ความสำคัญอยู่ที่ลักษณะหน้าตา ทั้งมีผู้บรรยายช่วยให้เข้าใจ ให้มองเห็นภาพประจักษ์

นิมิตที่ ๒ นี้มีลักษณะเป็นคนมีจิตใจดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มองมาด้วยสายตาที่เป็นมิตร ผู้มีความปรารถนาดีเต็มที่ ช่างคล้ายคลึงกับสายตาของมารดาบิดา ผู้มีจิตใจเต็มเปี่ยมด้วยความรัก มองไปยังบุตรธิดา หรือสายตาของบุตรธิดาเอง ผู้มีจิตใจเต็มเปี่ยมด้วยความเคารพรัก มองดูมารดาบิดา

สายตาของทั้งสองฝ่ายประสานกันด้วยความรักอันบริสุทธิ์ ประกอบด้วยความสุขอันอบอุ่น แสดงถึงจิตใจที่พ้นแล้วจากความขึ้งเคียดมุ่งร้ายแม้แต่น้อย แม้นครสามีก็ได้ซาบซึ้งถึงภาพนิมิตที่ปรากฏนั้น

โยนิโสมนสิการจึงได้อธิบายประกอบอีก เป็นต้นว่า นั่นแหละที่เรียกว่า “เมตตาเจโตวิมุตติ” ซึ่งมีคำแปลว่า “ความหลุดพ้นแห่งใจด้วยเมตตา” หมายความว่า หลุดพ้นจากพยาบาทคือความคิดมุ่งร้ายด้วยอำนาจโทสะ เพราะเจริญเมตตาให้เกิดมีขึ้นในจิตใจ

พยาบาทเป็นเครื่องเศร้าหมองทางจิตใจอย่างหนึ่ง มีขึ้นในเมื่อประสบอารมณ์คือเรื่องที่ไม่ชอบใจ เช่นมีใครมาทำร้ายด่าว่าให้เจ็บใจ จึงเกิดพยาบาทขึ้น คือเกิดความโกรธอย่างแรง จนถึงคิดมุ่งร้ายหมายให้เขาถึงความวิบัติอันตราย ก็ทำให้จิตใจเศร้าหมองเดือดร้อน เหมือนอย่างถูกไฟเผา แต่ก็สามารถหลุดพ้นจากพยาบาทดังกล่าวได้ ด้วยอำนาจเมตตา

อันเมตตานั้นคือความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข หรือความมีไมตรีจิตมิตรภาพ มีลักษณะตรงกันข้ามกับพยาบาท อันพยาบาทนั้นมุ่งร้ายหมายให้วิบัติ ส่วนเมตตามุ่งดี ปรารถนาให้ประกอบด้วยสุขสมบัติ พยาบาทเป็นไฟเผาใจให้ร้อนเมตตาเป็นนํ้าพรมใจให้เย็นเป็นสุข

แต่เมตตาจะมีขึ้นในจิตใจได้ ก็ต้องหัดปฏิบัติทำเมตตาภาวนา คืออบรมเมตตาให้มีขึ้น คือหัดแผ่ใจที่มีเมตตาออกไป แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเจาะจง หรือแผ่ออกไปโดยไม่เจาะจง โดยเจาะจงนั้นเช่นในบุคคลที่เป็นที่รัก เช่นในมารดาบิดา ครูบาอาจารย์ มิตรสหาย ในบุคคลที่เป็นปานกลาง ตลอดถึงในบุคคลที่เป็นศัตรูหรือที่ไม่ชอบพอกัน

ท่านอาจารย์ผู้อธิบายพระพุทธวจนะอธิบายว่า ให้แผ่ไปในตนเองด้วยก่อน แล้วจึงแผ่ไปให้คนอื่นสัตว์อื่นด้วย สอนให้แผ่ไปในคนที่จะแผ่เมตตาออกไปง่ายก่อน เช่นในคนที่เป็นที่รัก แล้วจึงแผ่ไปในคนที่จะแผ่ยากเช่นในศัตรู โดยไม่เจาะจงนั้นคือแผ่ไปในสรรพสัตว์ ไม่เลือกว่ามนุษย์หรือสัตว์ดิรัจฉาน หรือเทพดามารพรหมผู้ไหนองค์ไหน ตนไหนตัวไหน

มิใช่แต่เมตตาข้อเดียว แผ่ “กรุณา” ความสงสารคิดช่วยให้พ้นทุกข์ “มุทิตา” ความพลอยยินดีในความสุขความเจริญของผู้อื่น “อุเบกขา” ความวางใจเป็นกลาง ไม่ยินดียินร้ายในเมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ ด้วยเพ่งพิจารณาถึงกรรมเป็นประมาณ เมื่อเมตตาเข้ามา พยาบาทสมุนของสมุทัยจะวิ่งหนีออกไปทันที จิตก็จะพ้นจากพยาบาทด้วยเมตตา นี้คือเมตตาเจโตวิมุตติ

พยาบาทเป็นไฟเผาใจให้ร้อน เมตตาเป็นนํ้าพรมใจให้เย็นเป็นสุข บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย ถ้าไม่ชอบให้ไฟเผาร้อน ก็ต้องพยายามอบรมเมตตาให้ยิ่งขึ้นเสมอไป จะได้มีใจเย็นเป็นสุขด้วยมีนํ้าแห่งเมตตาพรมใจ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 185 พฤษภาคม 2559 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น