xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๒๖) สวรรค์ชั้น ๖

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


สมุทัยหรือมาร ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียก เมื่อกล่าวตามตำนานทางศาสนาสายหนึ่ง เป็นเทพผู้เป็นราชาแห่งกามาวจร สวรรค์ชั้นหก คือ ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี

ท่านว่าสวรรค์ชั้นนั้นแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งไม่ขัดขวางโลกุตตระ อีกฝ่ายหนึ่งขัดขวางโลกุตตระ ฝ่ายหลังนี้เป็นพวกมารซึ่งมีราชาชื่อ “วสวัตตี” มักเรียกในหนังสือเก่าๆ ว่า “พญาวสวัตตีมาราธิราช”

พญามารนี้เองที่ได้นำพลเสนามาผจญพระพุทธเจ้าในวันที่จะตรัสรู้ และยังได้มาอีกหลายครั้ง จนถึงได้มาทูลให้เสด็จปรินิพพาน และยังได้เที่ยวรังควานผู้อื่นอีก เช่นดลใจพระอานนท์มิให้ได้สติ ที่จะกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงเจริญอิทธิบาทภาวนา เพื่อจะทรงดำรงพระชนม์อยู่กัปหนึ่ง คือประมาณ ๑๐๐ ปี หรือเกินกัปหนึ่ง

เมื่อพระเถระอรหันต์บางองค์ปรินิพพาน มารเที่ยวค้นหาว่าวิญญาณของท่านไปข้างไหน ก็ไม่สามารถจะพบได้ ตามประวัติ มารได้มาเกี่ยวข้องแทรกแซงเรื่องต่างๆ หลายครั้งหลายหน

เมื่อกล่าวตามเรื่องราวแห่งจิตตนคร มารหรือสมุทัย สถิตอยู่ในจิตตนครนี้เอง ทั้งอยู่ในสำนักของนครสามีนั่นแหละ เป็นผู้ที่นครสามีไว้เนื้อเชื่อใจ มอบหมายให้ดำเนินการปกครอง และจัดแจงสิ่งต่างๆทางบ้านเมือง และสมุทัยยังมีคู่อาสวะผู้เป็นฝ่ายในสนิทกับนครสามี สนับสนุนอยู่เต็มที่ จึงมีอำนาจครองใจชาวจิตตนครทั่วไป

แต่สมุทัยเป็นชาวต่างถิ่น มิใช่ถิ่นกำเนิดเป็นชาวจิตตนครมาตั้งแต่ดั้งเดิม จึงเป็นประเภทคนจรหมอนหมิ่น ดังที่เคยกล่าวแล้ว

เมื่อเป็นอาคันตุกะมาสู่จิตตนคร ได้เข้าถึงนครสามี ทำให้เป็นที่โปรดปรานได้แล้ว ก็ทำท่ายึดจิตตนครเป็นที่อาศัยอยู่ถาวร และก็ได้ยึดครองจิตตนครไว้จริงๆ

ตามเรื่องที่เล่ามานี้แสดงว่า มารหรือสมุทัยมิใช่เป็นบุคคลตํ่าต้อย ตามประวัติสายหนึ่งก็เป็นราชาแห่งฝ่ายหนึ่งในสวรรค์ชั้นที่หก ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดแห่งกามาวจรสวรรค์ ตามเรื่องแห่งจิตตนคร ก็เป็นผู้ที่มีอำนาจมากอยู่ในจิตตนครดังกล่าว

สมุทัยหรือมารต้องการให้ใครเรียกยกย่อง เช่นว่า “นันทากร” บ่อเกิดแห่งความบันเทิง “สุขากร” บ่อเกิดแห่งความสุข หรือแม้เรียกว่า “วสวัตตี” ผู้ใช้อำนาจ อันที่จริงคำนี้มีความแรงพอๆ กับคำว่า “จักกวัตตี หรือจักรพรรดิ” ผู้ใช้จักร

ถ้ามองอีกแง่หนึ่งก็เป็นคำที่แรงกว่า เพราะพระเจ้าจักรพรรดิเป็นพระราชาเอกในโลกมนุษย์ มีอำนาจครอบครองมนุษยโลกเท่านั้น

ส่วนพระเจ้าวสวัตตีหรือวสพรรดิ มีอำนาจครอบครองทั้งมนุษย์ ทั้งเทพแห่งสวรรค์ทุกชั้น และมีอำนาจครอบครองไปในอบายภูมิทุกชั้นด้วย

เป็นอันว่าไม่มีใครในไตรภูมิ คือกามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ ที่จะพ้นไปจากอำนาจครอบงำของสมุทัยหรือมาร ทั้งนี้ เว้นแต่โลกุตตรภูมิของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

มารพยายามรักษาสัตวโลกทั้งหมดให้ตกอยู่ในภูมิทั้งสามข้างต้น พยายามป้องกันสุดฝีมือมิให้ไปสู่โลกุตตรภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่อยู่นอกอำนาจของมารหรือสมุทัย

เรียกตามภาษาธรรม บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย ก็รวมอยู่ในคำว่าสัตว์โลก แม้จะเป็นสัตว์โลกที่ยังอยู่ในอำนาจครอบงำของสมุทัยหรือมาร แต่ก็มิได้นิ่งนอนใจยอมจำนนต่อมารอย่างสิ้นเชิง ได้พยายามต่อต้านอำนาจของมาร บริหารจิตให้บริบูรณ์ด้วยศีล

หิริ ความละอายรังเกียจความชั่วหรือบาปทุจริตต่างๆ
โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความชั่วหรือบาปทุจริตต่างๆ
อินทรียสังวร ความสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจ ไม่ให้ยินดียินร้าย เวลาที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เป็นต้น
สติสัมปชัญญะ ระลึกรู้ตัวในอิริยาบถต่างๆ
สันโดษ ความยินดีตามได้ตามกำลังตามสมควร

ความบกพร่องในธรรมดังกล่าวมีน้อยเพียงใด ก็จะทำให้ผู้นั้นมีความสุข ความพ้นจากอำนาจของมารเพียงนั้น

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 177 กันยายน 2558 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

กำลังโหลดความคิดเห็น