xs
xsm
sm
md
lg

จิตหนึ่งจิตหลาย

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

โดย...ไพรัตน์ แย้มโกสุม

ถาม...สวัสดีครับคุณตา สบายดีหรือครับ

ตอบ...สบายดีจ้า

ถาม...คุณตาอยู่กับอะไร จึงสบาย

ตอบ...อยู่กับอิริยาบถ 4 ยืน เดิน นั่ง นอน

ถาม...ยืน เดิน ทำไม

ตอบ...ออกกำลัง

ถาม...นั่ง ทำไม

ตอบ...อ่านหนังสือ ดูทีวี จิปาถะ

ถาม...จิปาถะ เช่นอะไร

ตอบ...นั่งเล่น

ถาม...เล่นอะไร

ตอบ...เล่นคำ (โปรดระวังตัว “ค” ไม่ใช่ตัว “ห”)

ถาม...เล่นคำ เป็นอย่างไร

ตอบ...เขียนหนังสือ

ถาม...เขียนทำไม

ตอบ...กินทำไม

จิตหนึ่งจิตหลาย

ท่านครูบาฮวงโป กล่าวว่า... “พระพุทธเจ้าทั้งปวง และสัตว์โลกทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากเป็นเพียงจิตหนึ่ง (One Mind) นอกจากจิตหนึ่งนี้แล้ว มิได้มีอะไรตั้งอยู่เลย”

จิตหนึ่ง มีไวพจน์ (คำที่ใช้เรียกแทนกันได้) หลายคำ เช่น จิตเดิมแท้ พุทธภาวะ ธรรมญาณ สุญญตา เป็นต้น

จิตหนึ่ง คือภาวะสูงสุด ก่อนที่จิตจะคิดปรุงแต่ง หรือภาวะเดิมของจิต หรือ 0 หรือความว่างนั่นแล

จิตหนึ่ง นี้เท่านั้นเป็นพุทธะ ไม่มีความแตกต่างระหว่างพุทธะกับสัตว์โลกทั้งหลาย เพียงแต่ว่าสัตว์โลกทั้งหลายไปยึดมั่นต่อรูปธรรมต่างๆ เสีย และเพราะเหตุนั้นจึงได้แสวงหา พุทธภาวะจากภายนอก

การแสวงหาของสัตว์เหล่านั้นนั่นเอง ทำให้เขาพลาดจากพุทธะภาวะ การทำเช่นนั้นเท่ากับการใช้สิ่งที่เป็นพุทธะ ให้เที่ยวแสวงหาพุทธะ

และการใช้จิตให้เที่ยวจับฉวยจิต แม้เขาเหล่านั้น จะได้พยายามจนสุดความสามารถของเขาอยู่ตั้งกัปหนึ่งเต็มๆ เขาก็จะไม่สามารถลุถึงมันได้เลย

เขาไม่รู้ว่า ถ้าเขาเองเพียงแต่หยุดความคิดปรุงแต่ง และหมดความกระวนกระวายเพราะการแสวงหาเสียเท่านั้น พุทธภาวะก็จะปรากฏตรงหน้าเขา

เพราะว่า จิตนี้ก็คือพุทธะนั่นเอง

สิ่งๆ นี้เมื่อปรากฏอยู่ที่สามัญสัตว์ จะเป็นสิ่งเล็กน้อยก็หาไม่ และเมื่อปรากฏอยู่ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะเป็นสิ่งใหญ่หลวงก็หาไม่

จิตหนึ่ง จิตหลาย ก็คือสิ่งหนึ่ง สิ่งหลาย เป็นสิ่งเดียวกัน คือ ธรรม

“สิ่งทั้งมวลล้วนเป็นธรรม” หรือ “หนึ่งคือทั้งหมด-ทั้งหมดคือหนึ่ง”

เข้าใจสิ่งเหล่านี้ ก็คือเข้าใจธรรม หรือเห็นธรรม หรือเห็นตนนั่นเอง

จิตตายจิตเกิด

คนเราประกอบด้วยสองส่วนคือ กายกับจิต หรือรูปกับนาม เมื่อกายตาย จิตไม่ตาย จิตไปเกิดใหม่ หรือไม่เกิดอีก ตามกรรมที่กระทำ

จะฟันธงว่า จิตไม่ตาย ไม่ดับ เลยทีเดียวก็ไม่ใช่ เพราะเมื่อจิตดับ จิตก็เกิดใหม่ทันที ไวมาก

ในอภิธรรม อธิบายไว้ว่า...ขณะคนกำลังจะตาย ใจย่อมตกอยู่ในภวังค์ คือหมดความรู้สึกทางร่างกาย แต่รับรู้อยู่ในภวังค์

จิตที่ภวังค์ขณะนั้นเรียกว่า “จุติจิต” เพราะเป็นจิตดับหรือจิตตายแล้ว ชีวิตก็ดับหรือตายด้วย

แต่เนื่องจากจิตที่ดับนั้น ได้ทิ้งปัจจัยแห่งการเกิดใหม่ คือ กิเลส กรรม และผลของกรรมไว้ให้จิตขณะใหม่รับเสพ จนปรุงแต่งชีวิตให้สืบต่อขึ้นมาใหม่

ภวังคจิตที่เกิดต่อจากนั้น เรียกว่า “ปฏิสนธิจิต” เพราะเป็นจิตที่ทำให้ชีวิตกลับมาต่อติดได้ใหม่หลังตาย และดำเนินต่อไปในกายทิพย์

เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นรวดเร็วเพียงชั่วขณะจิตเดียว คือชั่วช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น หรือชั่วกะพริบตา ซึ่งหากจะพูดให้ชัดๆ ก็ว่า ช่วงเวลาระหว่าง “ตาย” ถึง “เกิดหลังตาย” ห่างกันเพียงพริบตาเดียว

นั่นหมายความว่า คนหรือสัตว์ที่ตายจากโลกมนุษย์แล้ว จะเกิดเป็นโอปปาติกะ (มีตัวตนใหม่) ทันที โดยมีร่างกาย ประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ รับรู้และเคลื่อนไปตามที่จิตหรือวิญญาณสั่ง เหมือนเมื่อตอนเป็นมนุษย์ แต่อยู่ในสภาพกายทิพย์ อาจเป็นเทวดา มนุษย์บางจำพวก สัตว์นรก เปรตบางจำพวก อสุรกาย

โอปปาติกะ จึงมีทั้งในสุคติภูมิ และทุคติภูมิ และได้รับผลกรรมที่สมควรแก่กรรม ซึ่งได้ทำมา

โอปปาติกะ หรือชีวิตหลังความตายนั้น อยู่ในสภาพกายทิพย์ เป็นเทวดาบ้าง สัตว์นรกบ้าง เปรตบ้าง อสุรกายบ้าง แต่เรามักเรียก 3 ประเภทหลังว่า “ผี”

...(โอปปาติกะ ชีวิตหลังความตาย โดย ดร.บรรจบ บรรณรุจิ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ)

เรื่องความตายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่น่ากลัวอะไร จิตตายก็เกิดใหม่ทันที รวมทั้งกายเก่าตาย กายใหม่ก็มาแทนที่ เพียงแต่เปลี่ยนไปเป็นกายทิพย์เท่านั้น

“ตายแล้วไปไหน” ก็ไปเกิดใหม่ ตามเหตุปัจจัยที่ใจสั่งสม”

ดังนั้น ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ อยากเป็นอะไร ในชีวิตใหม่ โลกใหม่ ก็รีบทำในชีวิตนี้ โลกนี้ เดี๋ยวนี้

นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาย มนุษย์ สวรรค์ พรหม นิพพาน มีทางเลือกมากมายตามสบายเถิด

จิตหยุดจิตเพริศ

จิต เป็นธาตุตามธรรมชาติชนิดหนึ่ง เกิด-ดับอยู่ตลอดเวลา ประกอบด้วยเจตสิก เปลี่ยนไปตามเจตสิก อาศัยกาย ควบคุมยาก รักษายาก เที่ยวได้ไกล เร็วยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ มักตกไปทางกาม ฯลฯ

จิต เปรียบเสมือนลิง เคลื่อนไหวอยู่เรื่อย ไปได้ทุกหนทุกแห่ง

ถ้าเป็นโลกียจิต หรือจิตที่อยู่ใต้อำนาจของอารมณ์ ก็ถูกปรุงแต่งในลักษณะต่างๆ เกิดกิเลสได้

ถ้าเป็นโลกุตตรจิต หรือจิตที่อยู่เหนืออำนาจของอารมณ์ ถูกปรุงแต่งไม่ได้ เกิดกิเลสไม่ได้

การทำสมาธิ หรือการภาวนา ก็เพื่อให้จิตมันหยุด หรือคิดปรุงแต่งน้อยลง จิตจะได้พักผ่อน มีกำลัง และผ่องใส

การปฏิบัติธรรม ด้วยอุบายวิธีต่างๆ ก็เพื่อให้จิตมันหยุด หรือให้จิตเปลี่ยนจากโลกียจิตไปเป็นโลกุตตรจิต หรือเปลี่ยนจากจิตเศร้าหมอง ไปเป็นจิตผ่องใสนั่นเอง

จิตเศร้าหมองเหมือนน้ำขุ่น มองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ในน้ำ จิตผ่องใสเหมือนน้ำใส มองเห็นสิ่งต่างๆ ในน้ำชัดเจน

จิตผ่องใสก็คือจิตเพริศ งดงามมาก ดีมาก มองเห็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์สังคมประเทศชาติได้

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาทั้งหลาย จึงรักษาจิต ด้วยการฝึกจิตให้ผ่องใส จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้

จิตเลิศจิตภา

จิตเลิศ คือจิตที่ยอดเยี่ยมหรือวิเศษ มีแสงสว่างหรือรัศมีดั่งพระอาทิตย์ ซึ่งก็คือจิตภานั่นเอง

จิตเลิศจิตภา เป็นจิตประภัสสร สว่างเจิดจ้าบริสุทธิ์ ซึ่งก็คือจิตเดิมแท้ ก่อนที่จะมีจิตใหม่เทียมหรือจิตปรุงแต่ง

จิตเลิศ จิตภา หรือจิตเดิมแท้ หรือจิตประภัสสร หรือโลกุตตรจิต เป็นจิตที่พวกเราแสวงหาซึ่งมันมีอยู่แล้วกับเราทุกๆ คน เพียงแต่เราไม่เห็นมัน ไม่สนใจมัน มัวแต่ไปดูไปสนใจสิ่งอื่น ที่เป็นเพียงเปลือกเพียงกระพี้

เหมือนอยากกินน้ำมะพร้าว เนื้อมะพร้าวอ่อนๆ แต่มัวไปแทะเปลือกแทะกะลาตามคำโฆษณาชวนเชื่อ เลยอดกินของดีๆ ซึ่งอยู่ข้างใน

จิตเลิศจิตภา หรือจิตเดิมแท้มีอยู่ เพียงแต่จิตใหม่เทียมมีมากเกิน และยั่วยวนให้หลงใหล ตกเป็นเหยื่อ ถูกเขาหลอก ทั้งที่รู้ว่าเขาหลอก ก็ยังเต็มใจให้เขาหลอกไปเรื่อยๆ เรื่องอย่างนี้ไม่มีใครช่วยได้นอกจากช่วยตัวเอง ตนเป็นที่พึ่งของตน

“จิตหนึ่งจิตหลาย
จิตตายจิตเกิด
จิตหยุดจิตเพริศ
จิตเลิศจิตภา”

จิตตะ พุทธะ ธรรมะ 3 สิ่งนี้ก็คือสิ่งเดียวกัน คือ “จิตพุทธธรรม” ซึ่งจะทำให้เห็นตน

การแก้ปัญหา หรือทุกข์นานา ไม่ใช่เรื่องยากอะไร เป็นเรื่องง่ายๆ สบายๆ ถ้า “เห็นตน” ก็ตอบโจทย์ได้ทุกโจทย์ ทุกข์ทั้งปวงหายไปอย่างเป็นธรรมชาติธรรมดา
กำลังโหลดความคิดเห็น