xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : วัฏฏกปริตร คาถาป้องกันอัคคีภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“...คำปฏิญาณใดๆ ก็มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการกล่าวสัจวาจา ซึ่งสัจวาจานั้นเป็นแกนหรือเป็นรากฐานของการทำงาน หรือการดำรงชีวิตที่ดีที่งาม ที่มีความก้าวหน้า มีความสำเร็จ

สัจวาจานั้น จะต้องตั้งตั้งแต่เด็กตลอดมา สัจวาจาคือเป็นการตั้งใจ ตั้งจิตตั้งใจ วาจานั้นก็เป็นคำพูดออกมา แสดงถึงคำพูดนั้นก็ต้องออกมาจากใจ คือเป็นการตั้งใจที่จะทำอะไรเพื่อความสำเร็จในงานนั้น อย่างเมื่อเป็นนักเรียนในโรงเรียน อยากที่จะผ่านพ้นการศึกษานั้นไปได้ ให้เป็นประโยชน์ ก็จะต้องตั้งใจที่จะเรียนที่จะรู้ จะทำอะไรต้องตั้งใจ

การตั้งใจนั้นมีสิ่งที่สำคัญที่จะต้องมาประกอบ คือความตั้งใจในทางที่จะให้ถูกต้องตามหลักหรือตามธรรม โดยมากเวลาบอกว่าให้อยู่ในศีลในธรรม หรือให้เป็นคนดีนั้น ฟังดูแล้วออกจะรำคาญ เพราะว่าคนเราก็อยากได้ความสำเร็จ แต่เวลาถูกเตือนว่าให้ทำดี ให้อยู่ในศีลในธรรม ออกจะรำคาญ

แต่แท้ที่จริงตามธรรมชาติหรือตามความเป็นจริง ถ้าตั้งใจให้อยู่ในระเบียบหรือในหลัก ย่อมมีความสำเร็จทุกอย่าง มิใช่เฉพาะสำหรับงานความยุติธรรมอย่างที่ท่านทั้งหลายจะต้องรับ แต่ทุกด้าน ถ้ามีความตั้งใจทำงานหรือทำการใด ให้ถูกต้องตามหลักวิชาที่ถูกต้องตามคลองธรรม ก็จะทำให้สิ่งนั้นสำเร็จ

ความสำเร็จคืออะไร มิใช่สำเร็จเพื่อแสดงว่าเป็นคนมีศีลมีธรรมเท่านั้น สำเร็จเพื่อความสำเร็จของตัวเอง เพื่อจะทำให้มีความสุขใจ มีความพอใจ…”


พระราชดำรัสในโอกาสที่ผู้พิพากษาประจำกระทรวง เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ความตอนที่ยกมานี้ ทรงอธิบายว่า สัจวาจา เป็นรากฐานของการดำรงชีวิต ให้มีความก้าวหน้า มีความสำเร็จ

สัจจะ คือ ความจริง เมื่อแสดงออกทางใจ เรียกว่า “สัจมโน” ย่อมทำให้เป็นคนมีความตั้งใจจริง เช่น เมื่อตั้งใจว่าต้องซื่อสัตย์สุจริตต่อการงานหน้าที่ ต่อเวลา และต่อบุคคล ก็จะประพฤติตนตามที่ตั้งใจเสมอ ทำให้มีสติควบคุมตนเองให้ประพฤติซื่อสัตย์เสมอไป

เมื่อแสดงออกทางวาจา เรียกว่า “สัจวาจา” ย่อมทำให้เป็นคนพูดแต่ความจริงเสมอ เมื่อแสดงออกทางกาย เรียกว่า “สัจกิริยา” ย่อมทำให้เป็นคนที่ทำอะไรอย่างจริงใจ ตั้งใจทำการงานที่ปราศจากโทษ งานที่มีประโยชน์ งานที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรง ไม่เกินขีดความสามารถ

ดังนั้น เมื่อดำรงตนเป็นผู้มีสัจธรรม จึงต้องประกอบด้วยสัจมโน สัจวาจา สัจกิริยา เสมอ

“สัจจะ” เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในหลายหมวดธรรม อาทิ ในฆราวาสธรรม หลักธรรมสำหรับการครองเรือน ทรงยกสัจจะขึ้นอธิบายเป็นข้อแรก ด้วยมุ่งที่จะให้คนเรามีความจริงใจ ความซื่อสัตย์ต่อกัน

ในอธิษฐานธรรม ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ หรือ ธรรมที่ควรใช้เป็นที่ประดิษฐานตน เพื่อให้สามารถยึดเอาผลสำเร็จสูงสุดอันเป็นที่หมายไว้ได้ ทรงยกสัจจะขึ้นอธิบายเป็นข้อที่สอง ต่อจาก ปัญญา

ในเบญจธรรม ธรรมเกื้อกูลแก่การรักษาเบญจศีล ผู้รักษาเบญจศีลควรมีไว้ประจำใจ ทรงยกสัจจะเป็นข้อที่ ๔ ให้เป็นคู่กับศีล คือ มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ โกหก หลอกลวง

ในบารมี ๑๐ คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่ง ๑๐ ประการ ทรงยกสัจจะเป็นคุณธรรมข้อที่ ๗

บุคคลที่ดำรงตนเป็นผู้มีสัจธรรม ย่อมเป็นคนที่หนักแน่นมั่นคง ในการดำเนินชีวิตด้วยความจริงใจ ซื่อสัตย์ต่อสังคม มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน ได้รับการยอมรับนับถือ และความยำเกรงจากผู้ร่วมงานหรือผู้ที่รู้จักอยู่เสมอ เป็นผู้ทำความดีได้อย่างมั่นคง สามารถพบเห็นคุณลักษณะนี้ในผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างชัดเจน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้ตรัสว่า “ข้าพเจ้าขอขอบใจที่ได้มอบราชสมบัติให้ ข้าพเจ้าจะทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ และเพื่อความผาสุกของประชาชน อย่างเต็มความสามารถ ขอให้ท่านจงช่วยร่วมกันทำดังกล่าว และด้วยใจสุจริต”

ต่อมาในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการแก่มหาชนว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ตลอดกาลเวลา ๗๐ ปีที่ผ่านมา ได้ทรงแสดงพระราชสัจธรรมที่แน่แท้นั้น ให้ประจักษ์ได้อย่างชัดถ้วนนานาประการ โดยมิได้มีวันมีเวลาที่จะขาดเว้น ทรงนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศ พระราชทานความร่มเย็น และทรงมุ่งขจัดความทุกข์ที่หนักของประชาชนให้เหือดหายหรือเบาบางลง ทรงยังให้ความสมบูรณ์พูนสุขที่น้อย ให้เป็นความผาสุกที่ยิ่งใหญ่ มาได้โดยตลอดเวลา ๗๐ ปี

ในการนี้ทรงเสียสละต่อสู้ด้วยพระสติปัญญาและวิริยะที่ยิ่งใหญ่ โดยไม่ทรงคำนึงถึงทั้งพระพลานามัย ทั้งความสุขสบาย ทรงทนต่อความยากลำบาก ก็เพื่อสวัสดิภาพและความผาสุกของประชาชน ที่ทรงสามารถทำได้ก็ด้วยสัจธรรมที่ทรงยึดมั่นมานับตั้งแต่นาทีแรกที่ทรงรับราชสมบัติ

เพราะสัจธรรมเป็นเหตุนำให้เกิดความสำเร็จดังพรรณนามานี้ บรรพชนบัณฑิตหวังจะสั่งสอนบุตรหลาน ให้เป็นผู้มีสัจธรรมประจำตน จึงได้นำคาถาในวัฏฏกชาดก อันเป็นพระชาติที่พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกคุ่ม แล้วทำสัจกิริยา เพื่อให้ตนพ้นจากภัยที่เกิดจากไฟป่าได้สำเร็จ มาเป็นบทสวดในการเจริญพระพุทธมนต์ ดังนี้

อัตถิ โลเก สีละคุโณ คุณแห่งศีลมีอยู่ในโลก
สัจจัง โสเจยยะนุททะยา ความสัจ ความสะอาดกาย และความเอ็นดู มีอยู่ในโลก
เตนะ สัจเจนะ กาหามิ ด้วยคำสัจนั้น ข้าพเจ้าจักกระทำ
สัจจะกิริยะมะนุตตะรัง สัจจะกิริยาอันเยี่ยม
อาวัชชิตวา ธัมมะพะลัง ข้าพเจ้าพิจารณาซึ่งกำลังแห่งธรรม
สะริตวา ปุพพะเก ชิเน และระลึกถึงพระชินเจ้าทั้งหลายในปางก่อน
สัจจะพะละมะวัสสายะ อาศัยกำลังแห่งสัจจะ
สัจจะกิริยะมะกาสะหัง ขอกระทำสัจจะกิริยา
สันติ ปักขา อะปัตตะนา ปีกทั้งหลายของข้ามีอยู่ แต่บินไม่ได้
สันติ ปาทา อะวัญจะนา เท้าทั้งหลายของข้ามีอยู่ แต่เดินไม่ได้
มาตา ปิตา จะ นิกขันตา มารดาและบิดาของข้าออกไปหาอาหาร
ชาตะเวทะ ปะฎิกกะมะ ดูก่อนไฟป่า ขอท่านจงหลีกไป
สะหะ สัจเจ กะเต มัยหัง ครั้นเมื่อสัจจะ อันเรากระทำแล้ว
มะหาปัชชะลิโต สิขี เปลวไฟอันลุกโพลงมาก
วัชเชสิ โสฬะสะ กะรีสานิ ได้หลีกไป ๑๖ กรีส พร้อมกับคำสัตย์
อุทกัง ปัตวา ยะถา สิขี ประหนึ่งเปลวไฟที่ตกถึงน้ำ
สัจเจนะ เม สะโม นัตถิ สิ่งไรเสมอด้วยสัจจะของเราไม่มี
เอสา เม สัจจะปาระมีติ นี้เป็นสัจจะบารมีของเรา ดังนี้.
(มีความพิสดารใน http://www.84000.org/tipitaka/atita100/jataka500.php?s=35)

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงพรรณนาถึงบทสวดนี้ในตำนานพระพุทธมนต์ ความตอนหนึ่งว่า

“...วัฏฏกปริตรนี้ นับถือกันว่าเป็นคาถาดับไฟมาตลอดเวลาช้านาน และผู้ที่มีความนับถือเชื่อถืออยู่ ก็พอใจที่จะสวดพระปริตรนี้ เพื่อป้องกันไฟหรือดับไฟ เรื่องของสัจจกิริยานี้ เป็นเรื่องที่นับถือปฏิบัติมาตั้งแต่ก่อนพุทธศาสนาบังเกิดขึ้น แม้เมื่อพระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้น ก็รับนับถือต่อมา โดยที่เมื่อประสบอันตราย ต้องการจะพ้นอันตราย หรือว่ายังมิได้ประสบอันตราย แต่ต้องการจะให้แคล้วคลาดจากอันตราย หรือว่าต้องการจะประสบผลที่ต้องการ เช่นต้องการความสวัสดี ความเกษมปลอดโปร่ง ก็นิยมที่จะกล่าวคำสัตย์ อันเรียกว่าการกล่าวคำสัตย์หรือการกล่าวสัจจะ และการกล่าวสัจจะคือความจริงนี้ ก็มีนิยมกล่าวอ้างเอาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ซึ่งพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ทั้งปวงนี้ ล้วนเป็นสัจจะ คือความจริง ไม่ใช่เป็นสิ่งหลอกลวง แต่ว่าเป็นความจริง ทั้งเป็นความจริงที่บริสุทธิ์ ฉะนั้น เมื่อกล่าวพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แล้ว ก็สรุปตอนท้ายว่า ด้วยกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีเป็นต้นจงมี...”

เมื่อมีความปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต จงพยายามทำตนให้เป็นผู้มีสัจธรรมไว้เสมอ ในที่สุดก็จะสมหวังในความปรารถนาได้อย่างแน่นอน

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 187 กรกฎาคม 2559 โดย พระครูพิศาลสรนาท วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)
กำลังโหลดความคิดเห็น