xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : ขันธปริตร คาถาป้องกันอสรพิษและสัตว์มีพิษทั้งหลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“...จุดหมายโดยตรงแท้ของศาสนาทั้งปวง และโดยเฉพาะของพระพุทธศาสนา มุ่งจะให้บุคคลศึกษาพิจารณาหลักการและแนวความคิดในศาสนธรรม แล้วน้อมนำมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวและปฏิบัติด้วยตนตามความสามารถ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการครองชีวิต คือ ให้เกิดความผาสุกร่มเย็น และความเจริญในแต่ละบุคคล ในส่วนรวม และให้เกิดความบริสุทธิ์หลุดพ้น อันเป็นปรมัตถประโยชน์ ดังนั้น การบำรุงส่งเสริมพระศาสนาจึงควรจะได้กระทำให้ถูกเป้าหมาย

วิธีศึกษาพิจารณาหลักการและแนวความคิดแห่งศาสนา เพื่อให้เกิดประโยชน์ดังกล่าวนั้น ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ ๒ ประการ คือ พิจารณาด้วยความบริสุทธิ์ใจ และด้วยหลักเหตุผล

การพิจารณาด้วยความบริสุทธิ์ใจ หมายความถึงศึกษาพิจารณาและปฏิบัติธรรมเพื่อธรรม เพื่อประโยชน์ที่จะพึงเกิดมีได้ ไม่ใช่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์อย่างอื่นนอกจากนั้น หรือเพื่อประโยชน์ที่จะกลับเป็นโทษภายหลัง

ส่วนการพิจารณาด้วยเหตุผลนั้น หมายความถึงพิจารณาตามเหตุที่แท้ ผลที่แท้ มิใช่เหตุผลอันสับปลับ รวมทั้งพิจาณาด้วยหลักวิชา ตรรกศาสตร์ จิตวิทยา และหลักการอื่นๆด้วย...”


เมื่อพิจารณาความในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่ ๑๔ ณ วัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ย่อมทราบถึงจุดหมายโดยตรงของพระพุทธศาสนา ที่พุทธศาสนิกชนควรมีเฉพาะตน อันจักนำให้ตนเองมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งน้อมนำมาปฏิบัติให้ถูกต้อง ตรงตามเจตนาของพระธรรมวินัย นำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ถูกต้องตรงตามพระพุทโธวาท หมดความสงสัยในพระธรรมวินัยอย่างสิ้นเชิง

พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้มีอยู่มากมาย บรรพชนผู้เป็นบัณฑิต ได้พิจารณาคัดสรรไว้เป็นบทสวดเจริญพระพุทธมนต์เพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นบทที่เมื่อฟังแล้ว ศึกษาแล้ว ย่อมสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดสุขประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตอย่างผาสุกได้ เหตุนี้ควรที่พุทธศาสนิกชนจักได้หมั่นศึกษาบทสวดมนต์ไว้เป็นสารัตถะของชีวิตอยู่เสมอ ก็จักได้ที่พึ่งอันประเสริฐเป็นมงคลชีวิตตลอดไป

ในกาลนี้ จักขอพรรณนาถึง “ขันธปริตร” ที่พระสงฆ์จะสาธยายต่อจากบทกรณียเมตตสูตร โดยเริ่มจาก วิรูปกฺเขหิ เม เมตฺตํ เป็นต้น ถ้ามีเวลาน้อยท่านก็สวดแต่ตอนท้ายตั้งต้นว่า อปฺปมาโณ พุทฺโธ เป็นต้นไป

ขันธปริตร เป็นคาถาของ “อหิราชสูตร” มีความพรรณนาไว้ว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวนาราม ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พระภิกษุรูปหนึ่งนั่งสีไฟอยู่ ณ เรือนไฟ มีงูตัวหนึ่งออกจากต้นไม้ผุ ได้กัดนิ้วเท้าแห่งพระภิกษุนั้น พระภิกษุนั้นทนพิษงูมิได้ ก็ได้มรณภาพลงในที่สุด แล้วภิกษุได้นำเรื่องไปกราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงทราบ

พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชะรอยภิกษุนั้นจะไม่ได้เจริญเมตตาจิตต่อตระกูลแห่งพญางูทั้ง ๔ หากว่าพระภิกษุรูปนั้นได้เจริญเมตตาจิต ให้แก่ตระกูลพญางูทั้ง ๔ แล้ว งูจะไม่กัดพระภิกษุนั้นเลย และถึงแม้จะโดนกัด ก็หาได้ตายไม่ แต่ปางก่อน ดาบสฤาษีทั้งหลาย ผู้เป็นบัณฑิต ได้เจริญเมตตาจิต ให้ตระกูลพญางูทั้ง ๔ ก็พากันรอดพ้นจากภัยแห่งงูทั้งหลาย แล้วทรงเล่าเรื่องในอดีตว่า

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ ณ เมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ณ กาสิกรัฐ ครั้นเจริญวัยแล้วได้ทรงสละราชสมบัติ ออกบรรพชาเป็นฤาษี ในป่าหิมวันต์ บำเพ็ญเพียรจนได้บรรลุอภิญญา ๔ และสมาบัติ ๘ ตามลำดับ แล้วได้เนรมิตอาศรมอยู่ ณ คุ้งน้ำแห่งหนึ่ง ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ชายป่าหิมพานต์ อีกทั้งได้เป็นอาจารย์สั่งสอนฤาษีจำนวนมากด้วย

ในเวลานั้นได้มีงูปรากฏขึ้น พร้อมทั้งไล่กัดพวกฤาษีทั้งหลาย ถึงแก่ความตายเป็นอันมาก พวกฤาษีทั้งหลาย ก็ได้นำความทั้งปวง เข้าไปแจ้งแก่ฤาษีผู้เป็นอาจารย์ของตนให้ทราบ

ฤาษีพระโพธิสัตว์ ครั้นได้ฟัง จึงสั่งให้ประชุมฤาษีผู้เป็นศิษย์ทั้งปวง แล้วสอนให้ฤาษีเหล่านั้นเจริญเมตตาจิตต่อตระกูลพญางูใหญ่ทั้ง ๔ ดังความพิสดารในขันธปริตร

เมื่อฤาษีพระโพธิสัตว์ ได้ผูกมนต์พระปริตร สอนแก่ศิษย์ทั้งหลายแล้ว เหล่าฤาษีนั้นก็ได้พากันเจริญเมตตา และระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอารมณ์ งูและสัตว์ร้ายทั้งหลายก็หลีกไปมิได้มากล้ำกราย

เหตุนี้ บรรพชนจึงได้ผูกคาถาพรรณนาคุณแห่งขันธปริตรไว้ในบทขัดตำนาน ที่แปลความได้ว่า พระปริตรใด ยังพิษอันร้ายแรงแห่งอสรพิษ และสัตว์พิษทุกชนิดให้หายไป ประดุจดังมนต์ทิพย์และยาทิพย์อันวิเศษ อนึ่ง พระปริตรใดย่อมที่สามารถห้ามกันอันตรายของสัตว์ร้าย ให้สิ้นในเขตแห่งอำนาจแห่งพระปริตรทุกสถานในกาลทุกเมื่อ โดยประการทั้งปวง ขอท่านผู้เจริญทั้งหลาย โปรดจงสาธยายพระปริตรนั้นเทอญ

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับขันธปริตร ไว้ว่า “...เราท่านทั้งหลาย หญิงชายทุกถ้วนหน้า เมื่อจะฟังในขันธปริตร ขันธปริตรนี้แปลว่า ความคุ้มครอง ป้องกันขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของมนุษย์นี้ ไม่คุ้มครองป้องกันไม่ได้ อันตรายมากนัก อันตรายมากทีเดียว... ขันธปริตร แปลเป็นภาษาไทย ว่า

วิรูปกฺเขหิ เม เมตฺตํ ความเป็นมิตรของเรา จงมีแก่พญานาคทั้งหลาย สกุลวิรูปักข์ด้วย
เมตฺตํ เอราปเถหิ เม ความเป็นมิตรของเรา จงมีแก่พญานาคทั้งหลาย สกุลเอราบถด้วย
ฉพฺยาปุตฺเตหิ เม เมตฺตํ ความเป็นมิตรของเรา จงมีแก่พญานาคทั้งหลาย สกุลฉัพยาบุตรด้วย
เมตฺตํ กณฺหาโคตมเกหิ จ ความเป็นมิตรของเรา จงมีแก่พญานาคทั้งหลาย สกุลกัณหาโคตมกะด้วย
อปาทเกหิ เม เมตฺตํ ความเป็นมิตรของเรา จงมีแก่สัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้า
เมตฺตํ ทิปาทเกหิ เม ความเป็นมิตรของเรา จงมีแก่สัตว์ทั้งหลายที่มีสองเท้าด้วย
จตุปฺปเทหิ เม เมตฺตํ ความเป็นมิตรของเรา จงมีแก่สัตว์ทั้งหลายที่มีสี่เท้าด้วย
เมตฺตํ พหุปฺปเทหิ เม ความเป็นมิตรของเรา จงมีแก่สัตว์ทั้งหลายที่มีเท้ามากด้วย
มา มํ อปาทโก หึสิ ขอสัตว์ไม่มีเท้าอย่าเบียดเบียนเราเลย
มา มํ หึสิ ทิปาทโก ขอสัตว์มีสองเท้า อย่าเบียดเบียนเราเลย
มา มํ จตุปฺปโท หึสิ ขอสัตว์มีสี่เท้า อย่าเบียดเบียนเราเลย
มา มํ หึสิ พหุปฺปโท ขอสัตว์มีเท้ามากอย่าเบียดเบียนเราเลย
สพฺเพ สตฺตา สพฺเพ ปาณา, สพฺเพ ภูตา จ เกวลา ขอสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่มีชีวิตทั้งหลาย ที่เกิดแล้วทั้งสิ้นทั้งหมด
สพฺเพ ภทฺรานิ ปสฺสนฺตุ ขอจงเห็นความเจริญทั้งหลายทั้งนั้นด้วย
มา กิญฺจิ ปาปมาคมา ขอความลามก อย่ามาถึงแก่สัตว์เหล่านั้นเลย
อปฺปมาโณ พุทฺโธ พระพุทธเจ้าทรงพระคุณล้นพ้น
อปฺปมาโณ ธมฺโม พระธรรมเจ้าทรงพระคุณล้นพ้น
อปฺปมาโณ สงฺโฆ พระสงฆ์เจ้าทรงพระคุณล้นพ้น
ปมาณวนฺตานิ สิรึสปานิ, อหิ วิจฺฉิกา สตปที อุณฺณานาภี สรพู มูสิกา ขอสัตว์ทั้งหลาย คือ งู แมงป่อง ตะเข็บ ตะขาบ แมงมุม และหนู ล้วนมีประมาณ
กตา เม รกฺขา กตา เม ปริตฺตา, ปฏิกฺกมนฺตุ ภูตานิ, โสหํ นโม ภควโต, นโม สตฺตนฺนํ สมฺมาสมฺพุทฺธานํ อันความรักษาอันเรากระทำแล้ว ความคุ้มครองอันเรากระทำแล้ว
ปฏิกฺกมนฺตุ ภูตานิ ขอพวกสัตว์ที่เกิดแล้วจงหลีกไป
โสหํ นโม ภควโต, นโม สตฺตนฺนํ สมฺมาสมฺพุทฺธานนฺติ เรานั้น มักกระทำความนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าอยู่, กระทำความนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ทั้ง ๗ พระองค์ ด้วยประการดังนี้...”

เมื่อมาพิจารณาขันธปริตรแล้ว ย่อมทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนให้ไม่ประมาทในสัตว์เลื้อยคลาน หมั่นมีสติระมัดระวังตัวอยู่เสมอ ไม่ไปเบียดเบียนสัตว์เหล่านั้น ต่างอยู่กันตามธรรมชาติ ชีวิตก็จักดำเนินไปด้วยความผาสุกเป็นนิตย์

สาธุชนผู้หมั่นศึกษาให้ถ่องแท้ในพระธรรมวินัย เช่น ขันธปริตร นี้ ย่อมเกิดประโยชน์ในการครองชีวิต คือ ให้เกิดความผาสุกร่มเย็น และความเจริญในตนเองและในส่วนรวม นำให้เกิดความบริสุทธิ์จนสามารถหลุดพ้นจากวัฏสงสารได้ อันเป็นปรมัตถประโยชน์ ดังนี้แล.

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 186 มิถุนายน 2559 โดย พระครูพิศาลสรนาท วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)
กำลังโหลดความคิดเห็น