xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๓๘) ไตรภูมิโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ.๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


วิธีทำให้วนเวียนของสมุทัย คือสร้างวงกลมใหญ่กลางเมืองจิตตนคร กล่าวได้ว่า เป็นวงเวียนกลมใหญ่ที่สุดในโลก ได้สร้างทางเป็นเส้นรอบวงกลม มีทางซอยตัดผ่านกันอีกมากมาย ได้สร้างภูมิต่างๆ ไว้ที่เส้นทางรอบวงกลมนั้นครบถ้วน ถ้านับมนุษยภูมิเป็นกลาง ตํ่าลงไปก็มีอบายภูมิต่างๆ คือ นรก สัตว์ดิรัจฉาน แดนเปรตอสุรกาย แดนผีชนิดที่ตกตํ่านานาชนิด

ภูมิมนุษย์เองก็แบ่งกันเป็นประเทศต่างๆ เป็นบุคคลชั้นต่างๆ มีหน้าที่ต่างๆ พากันสร้างบ้านเรือน ถนนหนทาง ปราสาทราชวัง วัดวาอาราม และสิ่งของเครื่องใช้หลายหลากมากมาย มีภูมิประเทศที่สวยงามโดยธรรมชาติ และโดยตกแต่งเป็นสวน เป็นสระ เป็นอ่างเก็บนํ้ามหึมา และอื่นๆมากมายเหลือที่จะพรรณนา

ที่ยิ่งกว่าภูมิมนุษย์ก็คือภูมิสวรรค์ชั้นกามาวจรที่เรียกว่า “เทวโลก” และชั้นรูปาวจร อรูปาวจร ที่เรียกว่า “พรหมโลก” ล้วนแล้วไปด้วยของทิพย์อันแสนที่จะละเอียดประณีต ชนิดที่ไม่อาจจะนำสิ่งอะไรในโลกมนุษย์นี้เทียบได้ ภูมิประเทศในสวรรค์ก็สวยสดงดงาม โปร่ง น่ารื่นรมย์ยินดี มีทิพยวิมานสถิตอยู่ในที่อันเหมาะสมวิจิตรตระการตา เป็นที่ตรึงตาตรึงใจ และละเอียดประณีตกว่ากันขึ้นไปเป็นชั้นๆ รวมเข้าก็เป็นไตรภูมิ คือ กามาวจรภูมิ (ภูมิที่เที่ยวไปในกาม) รูปาวจรภูมิ (ภูมิที่เที่ยวไปในรูป) อรูปาวจรภูมิ (ภูมิที่เที่ยวไปในอรูป) ทำนองที่มีพรรณนาไว้ในไตรภูมิพระร่วง และใน ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้านั่นแหละ

สมุทัยได้สร้างไว้ครบทุกภูมิ และได้สร้างสัตว์โลกประจำภูมิต่างๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน ในนรกก็มีสัตว์นรกชนิดต่างๆ ในขุมต่างๆ แดนต่างๆ ของนรกนับไม่ถ้วน ในกำเนิดดิรัจฉานก็มีสัตว์ดิรัจฉานนับไม่ถ้วน ในถิ่นเปรต ถิ่นอสุรกาย ถิ่นผีที่ตํ่าต้อยต่างๆ ก็มากมายนับไม่ถ้วนเหมือนกัน จนถึงพลัดเข้าในแดนมนุษย์ เที่ยวแสดงตนขอส่วนบุญ หรือที่พวกมนุษย์พากันกล่าวหาว่าผีหลอก ทั้งที่น่าจะไม่ได้คิดว่าจะมาหลอก มีเป็นอันมาก

ในมนุษย์เองก็มีมนุษย์เกิดมามากมาย จนเกิดมีปัญหาพูดกันในหมู่มนุษย์ว่าจะล้นที่บ้าง จะไม่มีอาหารพอเลี้ยงกันบ้าง เมื่อก่อนนี้จำนวนมนุษย์มีน้อย เดี๋ยวนี้มาก วิญญาณมาจากไหนกัน วิญญาณเพิ่มขึ้นได้หรือ ดังนี้เป็นต้น

ในถิ่นสวรรค์โลกพรหมโลกก็มีเทพดา พรหมแต่ละชั้น บางท่านแถมมารเข้าว่า “เทวดา มาร พรหม”

ดังที่กล่าวแล้ว ว่าพญามารนั้นครองอยู่ในสวรรค์ชั้นที่หก ซึ่งเป็นถิ่นเทพชั้นสูงสุด เป็น “พญา” ที่ครองอยู่กึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งมีอีก “พญา” หนึ่งครองอยู่ นับว่าแปลก แต่ถ้าคิดดูทำนองเป็นปริศนาธรรมก็ไม่แปลก มีเหตุผล ภูมิโลกทั้งหมดนี้มารครองใจอยู่ทั้งหมด จึงกำหนดให้พญามารสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นสูงสุด ที่จะดูแลลงมาและขึ้นไปได้ทั่วถึง ชั้นที่มารสถิตนั้นนับว่ากึ่งกลาง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งนั้นนับถือพระบรมครู

สมุทัยได้สร้างไตรภูมิโลกดังกล่าวภายในวงกลมใหญ่มหึมากลางเมืองจิตตนคร เรียงรายกันอย่างเป็นระเบียบที่เส้นทางรอบวงกลม เรียกให้ทันสมัยได้ว่าเป็นการแสดงนิทรรศการไตรภูมิโลก ที่ไม่มีใครจะแสดงได้เสมอเหมือน

แม้สมุทัยจะสร้างวงเวียนใหญ่โตเพียงไร เพื่อหลอกให้ชาวจิตตนครวนเวียน ไม่อาจหลุดพ้นจากอำนาจของตนได้ แต่พระบรมครูก็ทรงเห็นวงเวียนนั้นละเอียดถี่ถ้วนโดยตลอด ด้วยพุทธจักษุหรือปัญญาจักษุ ทั้งยังได้ทรงแสดงไว้อย่างเปิดเผยแก่เวไนยนิกร บรรดาผู้ไม่ปรารถนาจะวนเวียนอยู่ตามความประสงค์ของสมุทัย ก็ต้องศึกษาให้เข้าใจตามที่พระบรมครูทรงแสดงไว้ นั่นแลจึงจะสามารถพ้นจากอำนาจของสมุทัยได้โดยลำดับ

นายช่างผู้ออกแบบและสร้างไตรภูมิ
สมุทัยสามารถจัดแสดงได้ เพราะมีนายช่างผู้สร้าง ซึ่งมีความสามารถสร้างได้อย่างวิเศษ นายช่างผู้นี้มีชื่อสั้นๆว่า “กรรม” เป็นผู้สร้างไตรภูมิโลกขึ้นทั้งหมด แต่กรรมเป็นผู้สร้างขึ้นตามแบบแปลนแผนผัง ที่มีนายช่างอีกผู้หนึ่งเขียนขึ้น นายช่างผู้เขียนแปลนแผนผังนี้มีชื่อว่า “กิเลส” เป็นผู้เขียนแบบแปลนแผนผังไตรภูมิโลกขึ้นทั้งหมด แล้ว “กรรม” ก็เป็นผู้สร้างไตรภูมิโลกขึ้น

กิเลสและกรรม ทั้งสองนี้เป็นนายช่างคู่สำคัญที่สุดของสมุทัย ซึ่งร่วมกันสร้างวงเวียนกลมใหญ่ และไตรภูมิโลกเรียงรายอยู่ในวงเวียนกลมใหญ่นี้ สมุทัยได้ปกปิดความจริงในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่อาจจะปกปิดองค์พระบรมครูได้ พระองค์ทรงทราบและได้ตรัสบอกไว้ว่า ไตรภูมิโลกนี้คือ “วิบาก” ถึงจะมีมากมาย ก็รวมอยู่ในคำว่า “วิบาก” คำเดียว รวมกับนายช่างผู้เขียนแบบและผู้สร้าง ก็เป็นสาม คือ กิเลส กรรม วิบาก ทรงแสดงว่า กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม กรรมเป็นเหตุส่งวิบาก และวิบากก็เป็นเหตุก่อกิเลสขึ้นอีก จึงวนอยู่ดังนี้

ในการแสดงนิทรรศการไตรภูมิโลก สมุทัยได้จัดงาน “สังสารวัฏ” ขึ้น เพื่อชักชวนคนให้เที่ยวชมนิทรรศการไตรภูมิโลกที่สร้างขึ้น และเมื่อใครได้ชมเข้าแล้วก็จะติดใจวนเวียนท่องเที่ยวไปๆมาๆ ไม่ยอมผละออกไป สมชื่อของงานว่าสังสารวัฏ ที่แปลว่าวนเวียนท่องเที่ยวไป

ชาวจิตตนครได้พากันเข้าไปเที่ยวชมนิทรรศการไตรภูมิโลก ในงานสังสารวัฏที่สมุทัยจัดขึ้นแน่นขนัดไปหมด และพากันหลงใหลวนเวียนท่องเที่ยวไปในภูมิต่างๆ อย่างไม่อิ่มไม่เบื่อ ถึงจะวนเวียนซํ้าแล้วซํ้าอีกนับครั้งไม่ถ้วนก็ไม่เบื่อ อยากจะเที่ยวไปอีกนั่นเอง นับว่าเป็นความสามารถอย่างยอดเยี่ยมของนายช่างสถาปนิกผู้ออกแบบคือกิเลส และนายช่างผู้สร้างคือกรรม ซึ่งสร้างผลวิบากออกมาคือไตรภูมิโลก

ชาวจิตตนครไม่มีความสงสัยอย่างที่ชาวโลกเป็นอันมากสงสัยกันว่า วิญญาณจากไหนมาเกิดเป็นมนุษย์เพิ่มมากขึ้นจนจะล้นโลก เพราะได้เห็นนิทรรศการไตรภูมิโลก และทุกภูมิมีวิญญาณหรือผู้เกิดอยู่ในภูมินั้นๆ นับไม่ถ้วน เมื่อเทียบกันเข้าแล้ว มนุษยภูมิก็เท่ากับใบไม้หยิบมือเดียว เมื่อเทียบกับใบไม้ในป่าทั้งสิ้น และทุกวิญญาณไปถือปฏิสนธิในภูมิใดภูมิหนึ่งได้ทั้งนั้น สุดแต่จะได้บ้านที่กิเลสและกรรมสร้างขึ้นในภูมิไหน

สมุทัยภูมิใจในนายช่างทั้งสองและในไตรภูมิโลก ที่พระบรมครูทรงเรียกว่า “วิบาก” ยิ่งนัก และเมื่อได้เห็นชาวจิตตนครเกือบทั้งเมืองพากันท่องเที่ยววนเวียนติดอยู่ในไตรภูมิแน่นขนัด ก็ยิ่งร่าเริง เพราะได้เห็นผลสำเร็จอย่างงดงามของตน

บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย แม้จะเปรียบเช่นชาวจิตตนคร ที่พากันท่องเที่ยววนเวียนอยู่ในไตรภูมิ แต่ก็เป็นผู้ที่ทำให้สมุทัยวางใจไม่สนิทนัก เพราะสมุทัยตระหนักดีว่า การบริหารจิตหรือการอบรมจิต ตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือการที่จะสามารถพาตนให้ดำเนินก้าวหน้าห่างไกลอำนาจของสมุทัยออกไปทุกที จนอาจถึงพ้นจากอำนาจของสมุทัยได้โดยสิ้นเชิงในวาระหนึ่ง

วัฏฏะ
สมุทัยมีวิธีทำให้เนิ่นช้า คือทำให้หลงวนเวียนอยู่ในวัฏฏะทั้ง ๓ คือ
๑. กิเลสวัฏฏะ วนคือกิเลส
๒. กัมมวัฏฏะ วนคือกรรม
๓. วิปากวัฏฏะ วนคือวิบาก ได้แก่ผล

ความวนนี้ทำให้เกิดเวลา และเวลาดูก็ล่วงไปเร็ว ทำให้ดูเหมือนไม่เนิ่นช้า ถ้าใครดูนาฬิกาจะเห็นว่าเข็มวินาทีเคลื่อนไปเร็วมาก แม้วันคืนเดือนปีจะรู้สึกว่าช้าไปโดยลำดับ แต่ถ้ามีอะไรทำให้เพลิน ก็เหมือนดังประเดี๋ยวเดียว

ใครที่เกิดมามีอายุเท่าไรก็ตาม ลองนึกดูตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน จะรู้สึกเหมือนดังผ่านมาแวบเดียวเท่านั้น ดังนั้น จะว่าเนิ่นช้าอย่างไร ถ้าตั้งปัญหาขึ้นดังนี้ ก็ขอให้มองถึงสัจจะของเวลา ว่าเวลาดวงอาทิตย์ทำให้เกิดวันคืนเดือนปี ซึ่งรวมเรียกเวลา ถ้าโลกหยุดหมุนก็จะไม่มีเวลา ความหมุนของโลกนั้น ก็คือหมุนวนเป็นความวนนั่นเอง จึงเป็นการกลับไปหาจุดเก่าซํ้าๆซากๆแล้วๆเล่าๆ เช่นเดียวกับเช้าสายเที่ยงบ่ายเย็น แล้วก็กลับไปเช้าสายใหม่ เป็นต้นใหม่

เวลาที่ล่วงไปๆ จึงไม่ทำให้ใครได้ก้าวหน้าไปข้างไหน คงก้าวไปในความซํ้าๆอยู่นั่นเอง เหมือนอย่างเดินเวียนโบสถ์เวียนเมรุ หรือเหมือนอย่างทำกิจประจำวัน ตื่นนอนขึ้นก็ล้างหน้า บ้วนปาก บริโภคอาหารเช้า ทำกิจต่างๆ บริโภคอาหารมื้อต่อไป ทำกิจต่างๆ จนถึงนอนหลับไป นึกว่าวันนี้ รุ่งขึ้นก็ทำซํ้ากันอีก ก็นึกว่าวันพรุ่งนี้และวันต่อๆไป เป็นต้น คิดว่าไม่ซํ้าวันเวลากัน แต่ความจริงก็ซํ้าๆกันอยู่นั่นเอง เพราะโลกก็วนตัวเองและวนดวงอาทิตย์ซํ้าๆ กันอยู่ในที่และวงโคจรเดียวกัน อยู่ทุกวันทุกปี

เมื่อกล่าวโดยปรมัตถ์ ทุกสัตว์บุคคลตัวตนก็วนเกิดแก่ตายอยู่แล้วๆเล่าๆ ในไตรภูมิดังที่เรียกว่าสังสารวัฏฏะ ซึ่งเมื่อมองเข้ามาเฉพาะตนในปัจจุบัน ก็จะได้พบวัฏฏะทั้ง ๓ ดังกล่าวข้างต้นนั่นแหละ วนอยู่ในจิตใจตลอดเวลา สมุทัยได้สร้างมายาต่างๆ ปิดบังดวงตาปัญญามิให้มองเห็นสัจจะ ทั้งได้สอดใส่อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เข้าไว้ในจิตใจอย่างหนาแน่น ทำให้เป็นอาสวะอนุสัย คือดองสันดานสัตว์ นอนจมสันดานสัตว์ในไตรภูมิถ้วนหน้า โดยมอบให้เป็นหน้าที่ของคู่อาสวะ

ความวนอยู่ในที่เดียวโดยไม่รู้นี้เป็นความเนิ่นช้าอย่างยิ่ง เป็นความเนิ่นช้าที่ไม่รู้ว่าเนิ่นช้า นึกว่าก้าวหน้าไปเร็วอย่างยิ่งเหมือนอย่างเข็มวินาที โลกเองถ้ามีวิญญาณจิตใจรู้ ก็คงตอบโต้ว่า ก็เราวนอยู่นี่นา จนเราเองก็เบื่อเต็มทีแล้ว เวลาเกิดขึ้นจากความวนของเราเอง สัตวโลกทั้งปวงเกิดจากเวลาก็ว่าได้ ทั้งเวลาก็กลืนกินตัวเองพร้อมทั้งสัตวโลกทั้งปวงไม่มีเหลือ เหมือนอย่างยักษ์ใหญ่มหึมาอ้าปากกว้างใหญ่ยิ่งกว่าโลก

สัตวโลกเกิดขึ้นมาแล้วเดินวนตัวเองอยู่เร็วรอบบ้าง ช้ารอบคือเดินวนอยู่มากรอบบ้าง แต่ถึงจะช้าก็ไม่เกิน ๑๐๐ รอบไปเท่าไรนัก ดังที่เรียกกันว่าอายุเท่านั้นปี ก็คือเท่านั้นรอบที่โลกวนนั่นเอง แล้วก็เข้าปากยักษ์ใหญ่คือเวลาหายไปหมดสิ้น พระบรมครูได้ตรัสไว้แล้วมิใช่หรือว่า “กาลย่อมกินสัตว์ที่เกิดมาทั้งหมดพร้อมกับตนเอง”

แต่กาลไม่อาจกินกรรมและผลของกรรมที่ทุกสัตว์บุคคลตัวตนทำไว้ได้ กรรมที่กระทำแล้วย่อมเป็นอันกระทำแล้ว ย่อมให้ผลทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว กรรมดีย่อมให้ผลดี กรรมชั่วย่อมให้ผลชั่ว บรรดาผู้มาบริหารจิตคือผู้กำลังพยายามทำกรรมดีและผลดีสั่งสมไว้ ไม่ให้ตัวเองวนหายไปในปากยักษ์ใหญ่คือเวลาจนหมดสิ้นโดยไม่เหลือความดีไว้ข้างหลังเลย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 189 กันยายน 2559 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น