xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารบ้านเรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.เอเชียฯ เปิดตัวแอป “nMeMo” เตือนผู้ป่วยกินยาให้ตรงเวลา
มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่น Notification Medicine on Modile (nMeMo) "กินยาตรงเวลาด้วย nMeMo" (nMeMo) พัฒนาโดย 3 นักศึกษา นายชาญชัย สีเทา, นายวิศว ธีระมานะสิทธิ์ และนายจักรภูมิ อุทุมพร สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์

นายฉัททวุฒิ พีชผล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ กล่าวว่า จุดเด่นของแอปฯตัวนี้ จะช่วยเตือนให้ผู้ป่วยไม่ลืมรับประทานยา โดยตัวโปรแกรมจะช่วยเตือนตัวผู้ป่วยเอง หรือญาติ หรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยที่ต้องกินยาตามเวลา หากกินยาไม่ตรงเวลา จะมีการแจ้งเตือนไปยังญาติหรือผู้ใกล้ชิดที่ได้กำหนดไว้ เพื่อโทรกลับมาย้ำเตือนให้ผู้ป่วยกินยาได้ตรงตามเวลา อีกทั้งยังเก็บข้อมูล (Log File) เกี่ยวข้องกับการพบแพทย์และยาต่างๆที่ต้องกินในการพบแพทย์แต่ละครั้ง และข้อมูลการกินยาว่าได้กินยาหรือไม่ ตรงเวลาหรือไม่ โดยสามารถเรียกดูได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการติดตามการพบแพทย์ และการกินยาของผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ต้องกินยาเป็นประจำ

ด้านอาจารย์ชนินทร เฉลิมสุข หัวหน้าสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ กล่าวว่า แอปพลิเคชันนี้เป็นการช่วยเตือนหรือช่วยเหลือผู้ป่วย ไม่ให้ลืมกินยา ซึ่งหากลืมหรือขาดยาในช่วงใดช่วงหนึ่ง อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมองตีบ เป็นต้น

ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ Google Play Store โดยค้นหาคำว่า “กินยาตรงเวลาด้วย nMeMo...”

กสทช.ขอถอนจุดปล่อยโปเกมอน 4 จุด ที่ไม่เหมาะสมในประเทศไทย
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ได้สิทธิ์ดูแลสิทธิประโยชน์เกมโปเกมอน โก ทำหนังสือส่งให้บริษัทไนแอนติคของสหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตเกมโปเกมอน โก เพื่อทบทวนและเพิกถอนจุดปล่อยตัวโปเกมอนในสถานที่ไม่เหมาะสม

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า กสทช.ดำเนินการจัดการโซนนิ่งพื้นที่เล่นเกมที่เหมาะสม หลังมีประชาชนร้องเรียนมาเป็นจำนวนมาก มีผู้เล่นเกมในสถานที่ไม่เหมาะสมในหลายพื้นที่ เช่น โรงพยาบาล เขตหวงห้าม พื้นที่ทหาร พระบรมฉายาลักษณ์ เคหะสถานในพื้นที่ส่วนบุคคล จึงขอให้บริษัทไนแอนติคเพิกถอนจุดปล่อยโปเกมอน และจำกัดพื้นที่เล่นเกมในประเทศไทย 4 จุด คือ สถานที่อันตราย เช่น ถนน ทางรถไฟ หรือพื้นที่ติดแหล่งน้ำ ภูเขา หน้าผา, ศาสนสถานและโบราณสถาน, สถานที่ราชการและโรงเรียนทุกแห่ง และสถานที่ส่วนบุคคล เพื่อความปลอดภัยของผู้เล่นและประชาชน ความมั่นคงของประเทศ และการจราจรในแต่ละพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะเริ่มเกิดปัญหาและความวุ่นวาย

ทั้งนี้ ได้ให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5 ค่าย ทำหนังสือคู่มือการใช้งานและคำแนะนำให้กับผู้เล่นเกมและผู้ปกครอง ครอบคลุมถึงการซื้อไอเท็มหรือสิ่งของในเกมด้วย

จุฬาฯ พัฒนา “เกม” ป้องกันสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ สมาธิสั้น
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเกมคลื่นสมอง โดยใช้เทคนิคใหม่นำคลื่นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมาธิ มากรองสัญญาณให้ชัดเจนมากขึ้น จนนำมาสู่การต่อยอดเป็นเกมที่ออกแบบเฉพาะเพื่อความเหมาะสมกับกลุ่มเด็กสมาธิสั้นและผู้สูงอายุ ที่มีระดับความรู้คิดเสื่อมถอย และผู้ป่วยสมองเสื่อม

พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญชโรจน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เกมคลื่นสมองดังกล่าวนำมาใช้ทางการแพทย์ 2 ส่วน คือ ป้องกันและชะลอภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ และเพิ่มสมาธิให้แก่เด็กสมาธิสั้น โดยหลักการง่ายๆ ของเกมคลื่นสมองนี้ จะเป็นเกมที่พัฒนาขึ้นเฉพาะโดยใช้การบังคับเกมด้วยคลื่นสมอง ถ้าผู้เล่นมีสมาธิดีก็จะเล่นเกมได้ แต่ถ้าสมาธิไม่ดีก็จะเล่นเกมนี้ไม่ได้

“จากการทดสอบประสิทธิภาพกับผู้สูงอายุที่มีความรู้คิดบกพร่องระยะแรก และผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะเริ่มต้น พบว่า สามารถเพิ่มอัตราส่วนของคลื่นสมองย่านเบตาต่ออัลฟา ซึ่งสัมพันธ์กับความสามารถของความจำและความสามารถของสมองที่ดีขึ้น ขณะที่การศึกษาในเด็กระดับประถมศึกษา จำนวน 30 คน เป็นเด็กสมาธิดี 15 คน และสมาธิสั้น 15 คน พบว่า กลุ่มเด็กที่สมาธิสั้นมีสมาธิจดจ่อความจำได้ดีขึ้นอย่างชัดเจน และกลุ่มเด็กที่มีสมาธิดี มีความจำดีขึ้น”

พญ.โสฬพัทธ์ ย้ำว่า เกมนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นเฉพาะ เพื่อใช้ในการชะลอโรคอัลไซเมอร์ และรักษาสมาธิสั้น แต่ไม่ใช่ว่าเล่นเกมอื่นๆ แล้วจะทำให้มีสมาธิที่ดีขึ้นด้วย

เกมนี้ได้รับรางวัลเหรียญทองนวัตกรรมทางสมองระดับโลก จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ในนิทรรศการประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 44 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเทคนิคใหม่นี้ได้มีการจดสิทธิบัตรแล้ว

ศน.ตั้งเป้าเพิ่ม 2 พันชุมชนคุณธรรม ตามมิติศาสนา หลังพบส่งผลทางบวกต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายกฤษศญพงษ์ ศิริ อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2560 ศน.ได้รับจัดสรรงบประมาณ 405 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่า 6 ล้านบาท โดยงบที่เพิ่มขึ้นจะนำมาดำเนินงานโครงการชุมชนคุณธรรม พลังบวร ให้เข้มข้นขึ้น

ทั้งนี้ ศน. ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มชุมชนคุณธรรมภายในปี 2560 ให้ได้จำนวน 2,000 ชุมชนทั่วประเทศ เนื่องจากพบว่า โครงการชุมชนคุณธรรมที่ใช้มิติศาสนา พัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนนำร่องในปีงบ 2559 จำนวน 70 ชุมชน ส่งผลในทางบวกต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ทั้งเด็ก เยาวชน คนวัยทำงานและผู้สูงอายุ

“ศน.จะทำงานร่วมกับโครงการพัฒนาศักยภาพคนตามช่วงวัย ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยมีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น การร่วมมือครั้งนี้จะก่อให้เกิดพลังในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งจะทำให้ประชาชนทุกภูมิภาคได้นำหลักธรรมคำสอนทางศาสนาไปประพฤติปฏิบัติ ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และมีวิถีวัฒนธรรมไทย ก่อให้เกิดความรักเอื้ออาทร เกิดความสามัคคี ในการสืบสานภูมิปัญญา สืบค้นรากเหง้าประเพณีวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้ให้ไว้ ก่อให้เกิดความตระหนักและภาคภูมิใจ นำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศต่อไป”

วธ.เตรียมผลักดัน “เชียงใหม่” ขึ้นมรดกโลก
ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังการประชุมการผลักดันเสนอเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว เช่น มีการบรรจุในแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2559-2562) การสัมมนาเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเชียงใหม่ การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเชียงใหม่ตามแนวทางมรดกโลก

นอกจากนี้ ได้มีการตั้งคณะทำงาน 6 คณะ พร้อมทั้งเตรียมกำหนดพื้นที่ภายในกำแพงเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นพื้นที่มรดกโลก ซึ่งมีเอกลักษณ์สำคัญทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม วิถีชีวิต ควรที่จะได้รับการดูแล ทั้งนี้ ในส่วนของ วธ.จะทำหน้าที่ผลักดันและสนับสนุน เช่น ประสานงานผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูลทางวิชาการ

“การเสนอพื้นที่เมืองเชียงใหม่ให้เป็นมรดกโลกนั้น จะต้องมีการวางแผนเตรียมความพร้อมในทุกๆด้าน โดยเฉพาะข้อมูล ทั้งในเรื่องของขอบเขตของพื้นที่ อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ และจุดเด่นของพื้นที่ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่เตรียมเสนอมีความเป็นไปได้มาก เช่น มีหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา วัด พิพิธภัณฑ์ชุมชนที่มีการพัฒนาอนุรักษ์วัฒนธรรมอันเก่าแก่ของชุมชน และมีเทศบัญญัติเทศบาลนครเมืองเชียงใหม่ในเขตเมืองเก่าที่กำหนดห้ามการก่อสร้าง หรือเปลี่ยนแปลงอาคาร เป็นต้น คาดว่า จะยื่นเอกสารฉบับภาษาอังกฤษที่สมบูรณ์แบบให้คณะกรรมการยูเนสโกพิจารณาได้ในปี 2561”

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ผุดแอปฯ “รู้ทันโรคมะเร็ง”
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์โรคมะเร็งในปัจจุบันว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ปัจจุบันมีการส่งต่อข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับโรคมะเร็งผ่านทางโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก มีทั้งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และเชื่อถือไม่ได้ เช่น การฝังแร่รักษามะเร็งที่ประเทศจีน เรื่องกัญชากับมะเร็ง เป็นต้น

กรมการแพทย์จึงสนับสนุนให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ จัดทำแอปพลิเคชัน “รู้ทันโรคมะเร็ง” บนมือถือ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้เรื่องโรคมะเร็งที่ถูกต้อง และมีความน่าเชื่อถือในทางวิชาการ

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า แอปพลิเคชัน “รู้ทันโรคมะเร็ง” ประกอบด้วย 5 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่ 1 ความรู้ทั่วไปเรื่องโรคมะเร็ง เช่น การสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณอันตรายโรคมะเร็ง การตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็ง เป็นต้น ส่วนที่ 2 รวมบทความเรื่องโรคมะเร็ง อาทิ อาหารต้านและอาหารก่อมะเร็ง พฤติกรรมต่างๆ กับโรคมะเร็ง ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ฯลฯ ส่วนที่ 3 ทันข่าวโรคมะเร็ง เกาะติดข่าวโรคมะเร็งที่เป็นประเด็นร้อนในสังคม กิจกรรมรณรงค์ต้านภัยมะเร็งต่างๆ ส่วนที่ 4 สื่อเผยแพร่ และส่วนที่ 5 ช่องทางในการติดต่อสถาบันมะเร็งแห่งชาติ

แอปพลิเคชัน “รู้ทันโรคมะเร็ง” สามารถดาวน์โหลดได้แล้ว ตั้งแต่วันนี้ ทั้งทาง App Store และPlay Store พิมพ์คำว่า “รู้ทันโรคมะเร็ง” โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 189 กันยายน 2559)
กำลังโหลดความคิดเห็น