xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ใช้ ม.44 สั่งปฏิรูปความสมานฉันท์ทางศาสนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช.
นายกฯ ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ปฏิรูปความสมานฉันท์ระหว่างศาสนา ให้ทุกหน่วยงานรัฐต้องอุปถัมภ์คุ้มครองทุกศาสนา ให้เวลา 3 เดือน สำนักงานเลขาธิการ คสช. ร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปกำหนดมาตรการและกลไกส่งเสริมความเข้าใจระหว่างศาสนิกชน ป้องกันบ่อนทำลายศาสนา พร้อมให้สำนักพุทธฯ กรมการศาสนารายงานคืบหน้าทุก 3 เดือน

วันนี้ (22 ส.ค.) ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 49/2559 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เรื่อง มาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทย ความว่า โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเกือบทุกฉบับ ที่มีมาในอดีต และฉบับที่ได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งจะประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศในเร็ว ๆ นี้ ต่างบัญญัติรับรองว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนาและมีเสรีภาพ ในการปฏิบัติ หรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงได้กําหนดแนวนโยบายแห่งรัฐ ว่า รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ซึ่งในประวัติการปกครองของประเทศไทย พระมหากษัตริย์และทางราชการได้อุปถัมภ์บํารุง และอารักขาคุ้มครองศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู และศาสนาซิกข์ เสมอมา ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือ การปฏิบัติพิธีกรรม ตลอดจนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมคําสอนของทุกศาสนา การละเมิดศาสนวัตถุ ศาสนสถานอันเป็นการเหยียดหยามศาสนาของหมู่ชนใด การก่อความวุ่นวายในเวลามีพิธีกรรม และการแต่งกาย หรือใช้เครื่องหมายของศาสนบุคคล โดยมิชอบย่อมเป็นความผิดตามกฎหมาย แม้แต่การละเมิดจารีตประเพณี ทางศาสนาใด ๆ ก็ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่สังคมตําหนิติเตียน หากผู้กระทําเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ย่อมมีความผิดทางวินัย นอกจากนั้น ยังเป็นที่ยอมรับว่า ศาสนาทั้งหลายต่างก็มีอิทธิพลเกื้อกูลวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทย แม้แต่บรรพชนไทยในอดีตที่มีส่วนในการรักษาเอกราชอธิปไตย และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง ก็ประกอบด้วย ศาสนิกชนที่แม้นับถือศาสนาต่างกัน แต่ก็ไม่มีปัญหาความแตกแยกเพราะมีจิตใจยึดมั่นในความเป็นชาติไทยร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ประเทศชาติกําลังต้องการความรู้รักสามัคคี ความปรองดอง และการปฏิรูปประเทศเพื่อไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ความสงบเรียบร้อย และความร่มเย็นเป็นสุข ส่วนศาสนาก็มีบทบาทสําคัญในการส่งเสริมคุณงามความดีและคุณธรรมที่ก่อให้เกิดความสงบร่มเย็น แต่กลับมีบางฝ่ายนําความแตกต่างอันเป็นปกติของสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาขยายความ หรือบิดเบือนให้เป็นความขัดแย้งในหมู่ศาสนิกชน ทั้งที่ศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเกี่ยวกับความเชื่อความศรัทธา ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชนในชาติ จึงสมควรกําหนดมาตรการเพื่อประโยชน์ ในการปฏิรูปความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ และการป้องกันการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 การอุปถัมภ์และคุ้มครองทุกศาสนาอันเป็นที่ยอมรับของทางราชการและประชาชนชาวไทย และการส่งเสริมศาสนิกชนทั้งหลายให้มีบทบาทในการพัฒนาประเทศ การสร้างความสามัคคีปรองดอง และการปฏิรูปประเทศโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและหลักธรรมคําสอนทางศาสนาเป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานของรัฐ

ข้อ 2 ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา โดยที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ นับถือพระพุทธศาสนาตามแบบเถรวาทมาช้านานดังที่วัดวาอาราม พระภิกษุ การประกอบพิธีของทางราชการ บทสวดมนต์ การศึกษา การเผยแผ่ ตลอดจนการจัดการปกครองคณะสงฆ์ล้วนเป็นไปตามแบบเถรวาท มานานหลายศตวรรษ จึงให้หน่วยงานของรัฐส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา และการเผยแผ่หลักธรรม คําสอนที่ถูกต้องตามแนวทางดังกล่าว เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา สอดคล้องกับความเลื่อมใสศรัทธา ของผู้ที่นับถือศาสนาตามแบบนั้น ๆ โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

ในส่วนของการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาตามแบบมหายาน ไม่ว่าจะเป็นจีนนิกาย อนัมนิกาย หรืออื่นใด ซึ่งได้รับการอุปถัมภ์คุ้มครองจากรัฐตลอดมา ให้หน่วยงานของรัฐส่งเสริมและสนับสนุน การศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมคําสอนที่ถูกต้องตามแนวทางดังกล่าว เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา สอดคล้องกับความความเลื่อมใสศรัทธาของผู้ที่นับถือศาสนาตามแบบนั้น ๆ โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

ข้อ 3 ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาอื่น ได้แก่ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู และ ศาสนาซิกข์ ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและรัฐได้ให้การอุปถัมภ์ คุ้มครองตลอดมา ให้หน่วยงานของรัฐส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา และการเผยแผ่หลักธรรมคําสอน ที่ถูกต้องตามแนวทางในแต่ละศาสนาดังกล่าว เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา สอดคล้องกับ ความเลื่อมใสศรัทธาของผู้ที่นับถือศาสนานั้น ๆ โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

ข้อ 4 ให้สํานักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สถาบันการศึกษา ด้านศาสนา องค์กรปกครองคณะสงฆ์ องค์กรทางศาสนาต่าง ๆ ที่ทางราชการรับรอง ร่วมกันกําหนดมาตรการ และกลไกในการส่งเสริมความเข้าใจอันดี และความสมานฉันท์ของศาสนิกชนของทุกศาสนา การนําหลักธรรม คําสอนทางศาสนามาปรับใช้ในชีวิตประจําวันในด้านต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศ เช่น การนําปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ การมีธรรมาภิบาล ความซื่อสัตย์สุจริต ความสามัคคีปรองดอง การสร้างสังคมสันติสุข และกําหนดมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทําลายพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่นดังกล่าวใน ข้อ 3 ตลอดจนการสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ชาวต่างชาติเกี่ยวกับข้อพึงปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติในเรื่องทางศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทย แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีภายในสามเดือน

ข้อ 5 ให้สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกรมการศาสนารายงานความก้าวหน้า ในการดําเนินการตามคําสั่งนี้ พร้อมทั้งปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนแนวทางแก้ไขให้นายกรัฐมนตรีทราบ ทุกสามเดือน

ข้อ 6 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 22 สิงหาคม พุทธศักราช 2559
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น