“วันไหว้พระจันทร์” เป็นเทศกาลตามวัฒนธรรมจีนที่มีขึ้นกลางฤดูใบไม้ร่วง เพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว จะมีขึ้นในคืนวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ (กันยายนตามปฏิทินสากล) ปีนี้ตรงกับวันที่ 15 กันยายน 2559
มีตำนานหนึ่งเล่าขานเกี่ยวกับวันไหว้พระจันทร์ คือ ตำนานกระต่ายบนดวงจันทร์ กล่าวว่า มีอยู่ปีหนึ่ง ในเมืองปักกิ่งเกิดโรคอหิวาระบาดหนัก เมื่อเทพธิดาฉางเอ๋อซึ่งอยู่บนดวงจันทร์มองลงมาเห็น ทำให้ทุกข์ใจมาก จึงได้ส่งกระต่ายหยกข้างกาย ที่ปกติตำยาอยู่บนดวงจันทร์ ให้ลงมารักษาชาวบ้าน กระต่ายหยกแปลงกายเป็นหญิงสาวไปรักษาผู้คนจนหายจากโรค ชาวบ้านรู้สึกซาบซึ้งใจ จึงได้ให้สิ่งของตอบแทน แต่กระต่ายหยกไม่ยอมรับสิ่งใด แค่ขอยืมชุดชาวบ้านใส่เท่านั้น ไปถึงไหนก็จะเปลี่ยนชุดไปเรื่อย เพื่อให้ช่วยเหลือผู้คนได้มากขึ้น หลังกำจัดโรคภัยให้ชาวเมืองเรียบร้อย ก็กลับสู่ดวงจันทร์ นับแต่นั้นมาชาวบ้านจึงได้กราบไหว้บูชาเทพเจ้ากระต่ายในวันไหว้พระจันทร์ด้วย
เรื่องที่มาของกระต่ายบนดวงจันทร์นั้น ในพระไตรปิฎกก็ได้กล่าวไว้ โดยในอรรถกถา “สสปัณฑิตชาดก” ว่าด้วยผู้สละชีวิตเป็นทาน ได้กล่าวถึงเรื่องอดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่เกิดเป็นกระต่าย ชื่อว่าสสบัณฑิต เป็นกระต่ายที่ตั้งอยู่ในศีลในทาน สสบัณฑิตมักจะกล่าวแก่สัตว์ที่เป็นเพื่อน คือ ลิง นาก และสุนัขจิ้งจอก ว่า พึงให้ทาน พึงรักษาศีล พึงกระทำอุโบสถกรรม อยู่เสมอ
วันหนึ่ง กระต่ายมองดูดวงจันทร์ รู้ว่าพรุ่งนี้เป็นวันอุโบสถ จึงกล่าวกับเพื่อนว่า พรุ่งนี้เป็นวันอุโบสถ ขอให้ทุกคนจงสมาทานศีล ทำทาน รักษาอุโบสถ เพราะทานที่ผู้ตั้งอยู่ในศีลแล้วให้ ย่อมมีผลมาก ทั้งสามสหายจึงออกไปหาอาหารเตรียมไว้ให้ทาน
ส่วนกระต่ายมีแต่หญ้าแพรก ไม่มีงาหรือข้าวสาร จึงคิดว่าตนไม่อาจให้หญ้าแก่พวกยาจกที่มาขออาหาร เพราะฉะนั้น จะให้เนื้อในร่างกายของตัวเองแทน ด้วยเดชแห่งศีลของกระต่าย ได้ร้อนไปถึงพระอินทร์ ที่ต้องแปลงกายลงมาเป็นพราหมณ์ เพื่อทดสอบ
กระต่ายให้พราหมณ์ก่อกองไฟ เพื่อตนจะกระโดดลงไปเป็นอาหารให้ทานแก่พราหมณ์
พระอินทร์ได้เนรมิตกองไฟขึ้นมา กระต่ายจึงกระโดดเข้ากองไฟด้วยใจอันเบิกบานที่ได้บริจาคร่างกายเป็นทาน แต่ทว่าไฟนั้นไม่เผาไหม้กระต่ายแม้แต่น้อย เพราะไม่มีความร้อน มีแต่ความเย็น กระต่ายจึงเอ่ยถามว่าทำไมเป็นเช่นนี้ พระอินทร์บอกว่าตนแปลงกายมาเพื่อทดสอบ กระต่ายจึงกล่าวติเตียนพระอินทร์ที่ทำให้ตนไม่ได้บริจาคทานตามที่ตั้งใจจริง
พระอินทร์ยอมรับผิด บอกกับกระต่ายว่า ขอให้คุณงามความดีของกระต่ายจงปรากฏอยู่ตลอดไป แล้วจึงเขียนรูปกระต่ายไว้บนดวงจันทร์นับแต่นั้นมา
ขอฝากไว้...ไหว้พระจันทร์ทั้งทีอย่าไหว้แค่ตัวกระต่าย แต่ไหว้ให้ถึงคุณความดีของกระต่าย และน้อมนำการประพฤติปฏิบัติของกระต่ายในเรื่องนี้ มาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตอยู่เสมอ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 189 กันยายน 2559)
มีตำนานหนึ่งเล่าขานเกี่ยวกับวันไหว้พระจันทร์ คือ ตำนานกระต่ายบนดวงจันทร์ กล่าวว่า มีอยู่ปีหนึ่ง ในเมืองปักกิ่งเกิดโรคอหิวาระบาดหนัก เมื่อเทพธิดาฉางเอ๋อซึ่งอยู่บนดวงจันทร์มองลงมาเห็น ทำให้ทุกข์ใจมาก จึงได้ส่งกระต่ายหยกข้างกาย ที่ปกติตำยาอยู่บนดวงจันทร์ ให้ลงมารักษาชาวบ้าน กระต่ายหยกแปลงกายเป็นหญิงสาวไปรักษาผู้คนจนหายจากโรค ชาวบ้านรู้สึกซาบซึ้งใจ จึงได้ให้สิ่งของตอบแทน แต่กระต่ายหยกไม่ยอมรับสิ่งใด แค่ขอยืมชุดชาวบ้านใส่เท่านั้น ไปถึงไหนก็จะเปลี่ยนชุดไปเรื่อย เพื่อให้ช่วยเหลือผู้คนได้มากขึ้น หลังกำจัดโรคภัยให้ชาวเมืองเรียบร้อย ก็กลับสู่ดวงจันทร์ นับแต่นั้นมาชาวบ้านจึงได้กราบไหว้บูชาเทพเจ้ากระต่ายในวันไหว้พระจันทร์ด้วย
เรื่องที่มาของกระต่ายบนดวงจันทร์นั้น ในพระไตรปิฎกก็ได้กล่าวไว้ โดยในอรรถกถา “สสปัณฑิตชาดก” ว่าด้วยผู้สละชีวิตเป็นทาน ได้กล่าวถึงเรื่องอดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่เกิดเป็นกระต่าย ชื่อว่าสสบัณฑิต เป็นกระต่ายที่ตั้งอยู่ในศีลในทาน สสบัณฑิตมักจะกล่าวแก่สัตว์ที่เป็นเพื่อน คือ ลิง นาก และสุนัขจิ้งจอก ว่า พึงให้ทาน พึงรักษาศีล พึงกระทำอุโบสถกรรม อยู่เสมอ
วันหนึ่ง กระต่ายมองดูดวงจันทร์ รู้ว่าพรุ่งนี้เป็นวันอุโบสถ จึงกล่าวกับเพื่อนว่า พรุ่งนี้เป็นวันอุโบสถ ขอให้ทุกคนจงสมาทานศีล ทำทาน รักษาอุโบสถ เพราะทานที่ผู้ตั้งอยู่ในศีลแล้วให้ ย่อมมีผลมาก ทั้งสามสหายจึงออกไปหาอาหารเตรียมไว้ให้ทาน
ส่วนกระต่ายมีแต่หญ้าแพรก ไม่มีงาหรือข้าวสาร จึงคิดว่าตนไม่อาจให้หญ้าแก่พวกยาจกที่มาขออาหาร เพราะฉะนั้น จะให้เนื้อในร่างกายของตัวเองแทน ด้วยเดชแห่งศีลของกระต่าย ได้ร้อนไปถึงพระอินทร์ ที่ต้องแปลงกายลงมาเป็นพราหมณ์ เพื่อทดสอบ
กระต่ายให้พราหมณ์ก่อกองไฟ เพื่อตนจะกระโดดลงไปเป็นอาหารให้ทานแก่พราหมณ์
พระอินทร์ได้เนรมิตกองไฟขึ้นมา กระต่ายจึงกระโดดเข้ากองไฟด้วยใจอันเบิกบานที่ได้บริจาคร่างกายเป็นทาน แต่ทว่าไฟนั้นไม่เผาไหม้กระต่ายแม้แต่น้อย เพราะไม่มีความร้อน มีแต่ความเย็น กระต่ายจึงเอ่ยถามว่าทำไมเป็นเช่นนี้ พระอินทร์บอกว่าตนแปลงกายมาเพื่อทดสอบ กระต่ายจึงกล่าวติเตียนพระอินทร์ที่ทำให้ตนไม่ได้บริจาคทานตามที่ตั้งใจจริง
พระอินทร์ยอมรับผิด บอกกับกระต่ายว่า ขอให้คุณงามความดีของกระต่ายจงปรากฏอยู่ตลอดไป แล้วจึงเขียนรูปกระต่ายไว้บนดวงจันทร์นับแต่นั้นมา
ขอฝากไว้...ไหว้พระจันทร์ทั้งทีอย่าไหว้แค่ตัวกระต่าย แต่ไหว้ให้ถึงคุณความดีของกระต่าย และน้อมนำการประพฤติปฏิบัติของกระต่ายในเรื่องนี้ มาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตอยู่เสมอ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 189 กันยายน 2559)