xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : คุณค่าที่อยู่ในวัด กับรหัสลับจากตะกร้าหวาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถ้าพูดถึงสิ่งที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้อย่างมีความหมาย ก็คงหนีไม่พ้นการแสวงหา “คุณค่า” ที่มีความหมายต่อชีวิตของเรา ซึ่งแต่ละคนก็มีแตกต่างกันไป สำหรับบางคน คุณค่าอาจหมายถึงลาภ ยศ ชื่อเสียง เงินทอง บางคนอาจหมายถึงสุขภาพที่ดี ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน ส่วนบางคนบอกต้องแต่งตัวสวยๆ ออกไปเที่ยวเต้นรำอาบแสงสี ดื่มกิน ได้เฮฮาปาร์ตี้กับเพื่อนในก๊วนเดียวกัน ในขณะที่บางคน คุณค่าอาจเป็นเพียงการได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ได้ไปยังสถานที่ที่ไปแล้วทำให้ตัวเองรู้สึกสุขสงบเย็น ใจเป็นกุศล จิตว่าง โปร่ง เบาสบาย

เช่นเดียวกับคนแก่วัยเกษียณหลายๆคน ที่มีพร้อมทั้งลาภ ยศ ชื่อเสียง บริวาร และเงินทอง ที่น่าจะมากพอให้ใช้ชีวิตได้ตลอดไปโดยไม่ต้องขวนขวายทำอะไร หรือเดินทางไปไหนมาไหนเลยก็ว่าได้ แต่ทำไมท่านเหล่านั้น จึงเลือกที่จะบ่ายหน้ามาวัด และก็ไม่ได้มามือเปล่า ตื่นกันตั้งแต่เช้า แถมหอบหิ้วอาหารคาวหวานใส่ปิ่นโต พร้อมน้ำดื่ม ดอกไม้ และข้าวของจิปาถะ หิ้วกันพะรุงพะรัง เพื่อมาทำบุญ

ในอดีตที่ผ่านมา เรามีวัดที่เป็นมากกว่าวัด ที่ไหนมีวัดที่นั่นก็มีชีวิต เราไปวัดแม้ไม่มีวาระทางศาสนา เราได้เห็นวัฒนธรรมประเพณีของบรรพบุรุษ พร้อมกับได้เห็นตัวเองว่า เราเป็นใคร? เราต้องการอะไร?

ทว่าปัจจุบันนี้ การไปวัดอาจเป็นประเด็นคำถาม ที่เด็กยุคใหม่ต้องการคำตอบ จากระยะห่างของยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลง อย่างที่พวกเขาหรือแม้แต่เราก็ไม่เข้าใจ เพราะทุกวันนี้ ชีวิตคนเรากำลังเริ่มห่างจากวัด และวัดก็เริ่มห่างจากชีวิต นี่กระมังที่เป็นเหตุผลให้ผู้ใหญ่บางกลุ่ม ช่วยกันยกวัดเข้าไปอยู่ในห้าง เพื่อให้วัดกับชีวิตของผู้คนได้อยู่ใกล้กันอย่างแนบสนิทเหมือนเดิมอีกครั้ง รวมทั้งการพยายามยกธรรมาสน์เข้าไปอยู่ในโรงหนัง เป็นต้น

ชาวพุทธย่อมรู้ดีว่า “วัด” เปรียบเสมือนตลาดสดแห่ง “บุญ” ที่มีบุญสดๆใหม่ๆให้ได้จับจ่ายกว่าหลายชนิด (ขึ้นอยู่กับวัดที่ไปด้วย) เช่น บุญจากการฟังธรรม บุญจากการสวดมนต์ บุญจากการบริจาคทาน บุญจากการเจริญภาวนา รักษาศีลในทางพุทธศาสนาระบุว่า บุญนั้นมีอาณาเขตอยู่ ๑๐ ประการ ดังนี้

๑. ให้ปันสิ่งของ ๒. อนุโมทนา ๓. อุทิศส่วนกุศล (ทาน) ๔. รักษาศีล ๕. ช่วยเหลือผู้อื่นในเรื่องที่ดี ๖. ประพฤติอ่อนน้อม(ศีล) ๗. เจริญภาวนา ๘. ฟังธรรม ๙. แสดงธรรม ๑๐. ทำความเห็นให้ถูกให้ตรง (ภาวนา)

บุญกิริยาวัตถุทั้งสิบประการนี้ หมายถึงที่ตั้งแห่งการเจริญกุศลหรือฐานที่มั่นแห่งการทำความดี

สิ่งที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ระหว่างวัดกับห้างสรรพสินค้าก็คือ ที่ห้างสรรพสินค้าจับจ่ายซื้อหาด้วย “สตางค์” แล้วได้ข้าวของติดไม้ติดมือกลับบ้าน แต่ไปวัดไม่ได้อะไรติดมือกลับมาเลย มีแต่ให้ มีแต่เสียสละออกไป แลกกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า “บุญกุศล” หรือ “อริยทรัพย์” โดยใช้ “สติ” จับจ่ายซื้อหาแลกมาด้วยการปฏิบัติ อนุโมทนา หรือด้วยการเสียสละเวลา เนื้อตัว และความตั้งใจ ซึ่งบางทีอาจไม่ต้องเสียสตางค์ซักแดงเลยก็เป็นได้ แถมมีข้าว-น้ำ ให้กินดื่มฟรีอีกต่างหาก

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้คนมากมายไม่ยอมมุ่งไป ทั้งๆที่ประตูวัดเปิดต้อนรับตลอดเวลา ไม่ว่าจะวันพระ หรือวันไหนๆ ต่างจากประตูคุกที่ปิดอยู่ตลอด แต่กลับมีคิวจ่อรอแน่นขนัด เพื่อเบียดเสียดกันเข้าไป

ในทางกลับกัน สำหรับผู้ที่มีศรัทธา วัดเปรียบเสมือนรีสอร์ท เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และเจริญกุศล ที่พวกเขาจะพากันไปถือศีล ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เดินจงกรม และฟังเทศน์ฟังธรรมด้วยความสุขใจ อิ่มบุญ เหมือนกับคุณยายในนิทานเรื่องนี้...

ยายคนหนึ่งกลับมาถึงบ้าน ด้วยใบหน้าอิ่มบุญ หลังจากไปอยู่ถือศีล ปฏิบัติธรรมที่วัดมาทั้งวัน เจ้าหลานชายเห็นยายก็ทักว่า

หลาน : “เป็นไงบ้างล่ะยาย ไปอยู่วัดมา เมื่อยไหม?”
ยาย : “ไม่เมื่อยหรอกไอ้หนู มันอิ่มใจ ฟังพระเทศน์ ท่านเทศน์ได้ไพเราะจับใจยายเหลือเกิน”
หลาน : “แล้วท่านเทศน์ว่ายังไงล่ะยาย?”
ยาย : “ท่านเทศน์ดีจ้ะ ดีมากๆ”
หลาน : “ก็มันดียังไงล่ะยาย?” (หลานชายสงสัย)
ยาย : “โอ๊ย! ยายจำไม่ได้หรอก รู้แต่ว่าดีเหลือเกิน”
หลาน : “อ้าว! แล้วอย่างงี้มันจะดีได้ไง ไม่เห็นจะได้อะไรเลย อุตส่าห์ไปอยู่มาทั้งวัน ไม่ได้ประโยชน์ เสียเวลาเปล่า”
ยาย : “เอ็งยังไม่เข้าใจ เอางี้นะ..” ว่าแล้วยายก็ส่งตะกร้าหวายสานใบหนึ่งให้หลานชาย แล้วสั่งว่า “หลานรัก เอ็งเอาตะกร้านี้ ไปตักน้ำมาให้ยายที”
หลาน : “อะไรของยายเนี่ยะ! ให้เอาตะกร้าไปตักน้ำ มันจะได้น้ำได้ยังไง?” หลานชายแย้ง
ยาย : “เอาเถอะน่า ยายให้ไปตัก ก็ไปตักมาเถอะ”

แม้หลานชายจะดูงงๆ แต่ก็ไม่อยากขัดใจยาย จึงหิ้วตะกร้าสานใบนั้นไปตักน้ำในคลองตามที่ยายบอก แล้วนำตะกร้ากลับมาให้ยาย

ยายชี้ให้หลานดูภายในตะกร้า พร้อมกับถามว่า “เจ้าเห็นน้ำในตะกร้านี้ไหม”
หลาน :“ไม่เห็นมีอะไรเลย” (แล้วคิดต่อในใจว่า สงสัยยายไปอยู่วัดมากเกิน กลับมาเลยเพี้ยน)
ยายไม่ได้สนใจท่าทีของหลานชาย แต่กลับสั่งให้เขาสะบัดตะกร้าใบนั้นแรงๆ กระทั่งหยดน้ำกระเด็นออกมา
ยาย : “ตอนนี้เจ้าเห็นน้ำหรือยัง ตะกร้าใบนี้มันอุ้มน้ำกลับมาไม่ได้ก็จริง แต่มันก็ยังได้น้ำมานั่นแหละ ตะกร้าก็เหมือนใจของยาย มันบอกไม่ถูกหรอกว่า พระท่านเทศน์ว่าอะไร แต่คำสอนของท่านมันยังฝังอยู่ในหัวของยาย ฟังเทศน์แล้วใจมันใส มันแจ้งขึ้น ก็เหมือนกับตะกร้าที่มันถูกน้ำ แล้วทำให้มันดูสะอาดชุ่มชื่นขึ้น ฉันใดก็ฉันนั้น ตอนนี้หลานเข้าใจหรือยังล่ะ”

ถอดรหัสจากนิทานเรื่องนี้ คุณค่าจากการไปวัดสำหรับยาย ไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องได้อะไรที่เป็นรูปธรรมกลับมา แต่สิ่งที่ได้มันอยู่ภายใน คือ จิตใจมันสงบ สะอาด ผ่องใส หรือที่ทางพระเรียกว่า “บุญ” และบุญนี่แหละเป็น “คติ” หรือ “คุณค่า” ที่มีความหมายต่อชีวิตของชาวพุทธอย่างแท้จริง ทั้งในยามที่ดำรงชีวิตอยู่ หรือยามที่จากไป ในปุคคลสูตร ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า

“บุคคลผู้มีจิตเศร้าหมองด้วยกิเลส เมื่อคนนั้นตาย เขาจะตกนรก
เพราะจิตของเขาเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายย่อมไปสู่ทุคตินรก
อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นด้วยเหตุที่จิตเศร้าหมอง
ในทางกลับกัน หากบุคคลผู้มีจิตสะอาดผ่องใสปราศจากกิเลส
เมื่อคนนั้นตาย เขาก็จะไปสู่สุคติโลกสวรรค์ เพราะจิตของเขาสะอาด
สัตว์ทั้งหลายย่อมไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ด้วยเหตุที่จิตสะอาดผ่องใส ฉะนั้น”


อนึ่ง ไม่ว่าเราจะให้คุณค่ากับสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตของเรา ต่างกันออกไปอย่างไร แต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็นคติ หรือหนทางที่มีจุดหมายปลายทางสุดท้ายเหมือนกันคือ “ความตาย” เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้ใคร ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นใคร ยิ่งใหญ่ขนาดไหน ก็ไม่อาจปฏิเสธมันได้

และเมื่อเวลานั้นมาถึง ตัวเราเท่านั้นที่จะรู้ดีว่า คุณค่าที่อยู่ในวัด หรือรหัสลับจากตะกร้าหวายของยาย มันมีคุณค่ากับชีวิตของเรามากแค่ไหน

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 186 มิถุนายน 2559 โดย ทาสโพธิญาณ)
กำลังโหลดความคิดเห็น