xs
xsm
sm
md
lg

รักษ์วัดรักษ์ไทย : งานชักพระ “วัดนางชี” งานบุญประเพณีหนึ่งเดียวในกรุงเทพฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วัดนางชี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่เลขที่ 312 แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ

พระอารามแห่งนี้เดิมเป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ตามตำนานเล่าว่า เจ้าพระยาพิชิตชัยมนตรี พระยาฤาชัยณรงค์ และออกหลวงเสนาสุนทร ได้ร่วมกันสร้างขึ้น มูลเหตุในการสร้างนั้น เนื่องจากแม่อิ่ม ลูกสาวของเจ้าพระยาพิชิตชัยมนตรีป่วยโดยไม่รู้สาเหตุ จนกระทั่งมีชีปะขาวมาเข้าฝันเจ้าพระยาพิชิตชัยมนตรี ให้บนโดยให้ลูกสาวบวชชีถ้าหายป่วย

ดังนั้น เมื่อแม่อิ่มหายป่วย เจ้าพระยาพิชัยมนตรีจึงให้ลูกสาวบวชชี พร้อมกับสร้างวัดนี้ ซึ่งต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ วัดนี้ก็ได้กลายเป็นวัดร้าง

เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี(เถียน) พ่อค้าชาวจีนที่มาทำการค้าขายและอาศัยอยู่ในแผ่นดินสยาม ได้มีจิตศรัทธาบูรณปฎิสังขรณ์วัดนางชีขึ้นใหม่ทั้งวัด โดยสร้างเป็นศิลปะแบบจีน ประดับด้วยเครื่องเคลือบประดับมุก เมื่อสร้างเสร็จได้ถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระราชทานพระนามว่า “วัดนางชีโชติการาม”

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระยาราชานุชิต(จ๋อง) ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนางชีซึ่งกำลังทรุดโทรมขึ้นมาใหม่ทั้งวัด ให้รื้อของเก่าแล้วสร้างใหม่ โดยเฉพาะหลังคาพระอุโบสถ ไม่มีช่อฟ้าใบระกา และหางหงส์ ซึ่งเป็นศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3

สำหรับปูชนียวัตถุที่สำคัญยิ่งของวัดนางชี ได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุ ซึ่งบรรจุในผอบแก้วประดิษฐาน ณ มณฑปที่จัดทำเป็นพิเศษ

ที่มาของพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าว มีตำนานเล่ากันว่า ราว พ.ศ. 1219 คณะพราหมณ์ 3 คน และชาวจีน 9 คน ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุผอบทองคำ 2 ผอบมาโดยเรือสำเภาจากชมพูทวีป เพื่อไปประดิษฐานที่เมืองปทาคูจาม อาณาจักรศรีวิชัย (นครศรีธรรมราช) และที่เมืองเชียงใหม่อีกแห่งหนึ่ง แต่เมื่อได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานที่เมืองนครศรีธรรมราช (ในปัจจุบันนี้ได้บรรจุพระบรมธาตุไว้ในพระสถูปเจดีย์ที่วัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช) แล้วได้เดินทางต่อไป จนเรือได้เกิดอุบัติเหตุล่มลงที่ตรงบริเวณปากน้ำคลองด่านปัจจุบัน (ตามสภาพภูมิศาสตร์ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย ทางแถบเมืองธนบุรียังเป็นป่าทึบ และพื้นดินยังไม่งอกออกมามากมายเท่าในปัจจุบัน) คณะพราหมณ์และชาวจีนจึงได้พร้อมใจกันอัญเชิญเสด็จพระบรมสารีริกธาตุขึ้นห่างจากที่เรือล่มประมาณ 5ไมล์

เมื่อเห็นว่าปลอดภัยดีก็อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน ณ ที่นั้น แต่ไม่ทราบว่าได้ประดิษฐานไว้อย่างไร เมื่อนานวันผอบทองที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุก็ถูกฝังจมดิน พระบรมสารีริกธาตุที่ทูลเชิญเสด็จมาในครั้งนั้นมีด้วยกัน 5 องค์ ต่อมา พ.ศ. 2082ซึ่งเป็นปีที่วัดนางชีสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระบรมสารีริกธาตุได้เสด็จมาปรากฏให้แม่ชีอิ่มเห็นทั้ง 5องค์ แม่ชีอิ่มจึงได้ทูลเชิญเสด็จบรรจุในผอบแก้ว และประดิษฐานไว้ ณ วัดนางชี ตั้งแต่นั้นมา

และในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี ทางวัดจะจัดให้มีงานสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ โดยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุสาวก ขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่ตั้งอยู่ในเรือ แล้วชักแห่จากท่าน้ำหน้าวัดนางชี ไปตามคลองด่าน เลี้ยวซ้ายไปคลองบางกอกใหญ่ ผ่านคลองชักพระ แล้วอ้อมไปทะลุคลองบางกอกน้อย จนถึงวัดไก่เตี้ย เขตตลิ่งชัน แล้วหยุดขบวน ขึ้นเลี้ยงพระเพลที่วัด เสร็จแล้วก็ล่องขบวนไปออกปากคลองบางกอกน้อย เลี้ยวขวาเลียบมาตามลำน้ำเจ้าพระยา แล้วมาเข้าคลองบางกอกใหญ่ แล้ววกมาเข้าปากคลองด่าน กลับไปยังวัดนางชีตามเดิม

งานสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุของวัดนางชีนี้ เรียกกันทั่วไปว่า “งานชักพระวัดนางชี” หรือ “งานแห่พระบรมสารีริกธาตุ” เป็นงานบุญประเพณีของวัดนางชี ที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านาน และเป็นงานชักพระแห่งเดียวที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ

ปัจจุบัน กาลเวลาที่ผันผ่านส่งผลให้ศาสนสถานสำคัญแห่งนี้ชำรุดทรุดโทรมลง แม้ว่าจะมีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาหลายยุคหลายสมัยก็ตาม ดังนั้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงได้ร่วมกับทางวัดจัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดนางชี โดยใน พ.ศ. 2556 บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหาร ซึ่งขณะนี้แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย และ พ.ศ. 2558 เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ พระปรางค์ และซุ้มพระป่าเลไลย์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2559

นอกจากนั้น เมื่อไม่นานมานี้ สถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมกับ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และเหล่าภาคีเครือข่าย ได้จัดทำโครงการ “วัดบันดาลใจ” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย สมาคมสถาปนิกสยามฯ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ นำร่อง 9 วัดต้นแบบ หวังส่งต่อองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายการทำงานเชื่อมต่อระหว่างภาคประชาชนรุ่นใหม่กับพระสงฆ์อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้วัดและชุมชน ลุกขึ้นมาร่วมกันพลิกฟื้นวัดทั้งด้านกายภาพและกิจกรรม ให้เป็นพื้นที่แห่งชีวิตและจิตวิญญาณของคนไทยทั่วทั้งประเทศ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลใน 3 โอกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา และทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบรอบ 84พรรษา โดยมีวัดนางชีเป็น 1 ใน 9 วัดต้นแบบด้วย

การบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าว เป็นการช่วยกันอนุรักษ์พระอารามสำคัญนี้ ให้ดำรงอยู่สืบไปในภายภาคหน้า เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาทางประวัติศาสตร์และเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนรุ่นต่อๆไป

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 185 พฤษภาคม 2559 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น