xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : ธรรมะดับโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพื่อให้โลกรอดพ้นจากวิกฤตการณ์โลกร้อน ที่ท้าทายคนในยุคปัจจุบัน ทุกภาคส่วนของโลกก็พยายามคิดหาวิธีที่จะร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในเรื่องของการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จากบริโภคนิยมสุดโต่ง มาเป็นการกินน้อย ใช้น้อย ช่วยเหลือสังคมให้มาก หรือการอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งในเรื่องนี้เป็นเรื่องของการฝึกจิตสำนึก การฝึกฝนตนเอง จิตตภาวนาจึงมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว

ดังนั้น สถาบันแกริสัน (Garrison Institute) มหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา (www.garrisoninstitute.org) ซึ่งเป็นสถาบันที่ส่งเสริมการฝึกจิตตภาวนาในการแก้ปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นที่รวมของนักคิด นักวิชาการสาขาต่างๆ แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยา นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม นักสังคมวิทยา โดยมีการจัดการฝึกจิตตภาวนาหลักสูตรต่างๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตัวเอง เพื่อนำมาใช้เปลี่ยนแปลงความคิด พฤติกรรม ในการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ และสร้างสรรค์สังคม

สถาบันแห่งนี้ได้จัดการประชุมวิชาการและเสวนาธรรมขึ้นเป็นประจำทุกปี เช่นในปี 2008 ได้จัดเสวนาธรรม ที่อาสนวิหารเซนต์จอห์น ในมหานครนิวยอร์ค หัวข้อบทบาทสัตยาเคราะห์ (พลังแห่งความจริงของคานที) ในยุคโลกร้อน (Satyagraha Gandhi “ Truth Force” in the age of climate change) ในวันที่ 13 เมษายน 2008 มีนักวิชาการ นักคิดชั้นนำทั่วโลก ทั้งฮินดู พุทธ คริสต์ อิสลาม ยิว ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเสวนาจำนวนมาก

ท่านมหาตมะ คานที รัฐบุรุษของอินเดีย ได้ใช้วิธีการต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากการปกครองของอังกฤษ วิธีการของท่านเรียกว่า สัตยาเคราะห์ หรือพลังแห่งความสัตย์ (ความจริง, ความซื่อตรง) โดยท่านใช้หลักธรรมของศาสนาฮินดูในการต่อสู้ หลักธรรมพื้นฐานของฮินดู ได้แก่ อหิงสา การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทั้งกาย วาจา ใจ ไม่ทำร้าย ไม่ด่าว่าด้วยคำหยาบคาย ใจไม่คิดอาฆาตพยาบาทแม้แต่ศัตรู

ในการเดินขบวนต่อต้านอังกฤษ ท่านจะเน้นให้ผู้ร่วมขบวนการไม่ตอบโต้เวลาประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐบาลอังกฤษ ถ้าโดนทำร้ายก็ให้อดทน ไม่ต่อสู้ ไม่ด่าทอ ไม่ตอบโต้ใดๆ

ในด้านสิ่งแวดล้อม หลักอหิงสาเตือนเราให้อยู่กับธรรมชาติอย่างมิตร ไม่ตัดไม้ทำลายป่า หรือไม่ทำกิจกรรมที่กระทบต่อแหล่งน้ำ อากาศ ให้ปลูกต้นไม้ รักษาป่าไม้ไว้

“สัตยา” การพูดจริงทำจริง ซื่อตรงทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่พูดเท็จ ท่านจะถือสัจจะในกระบวนการต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษในทุกๆสถานการณ์ ใช้ข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ต่างๆเข้าต่อสู้ ไม่บิดเบือนข้อมูล หรือใส่ร้ายป้ายสี

“อัสเตยยะ” การไม่ลักขโมยทรัพย์ของผู้อื่น ไม่ทำลายทรัพย์สิน

“พรหมจรรย์” การควบคุมความประพฤติทางเพศ การงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ การควบคุมตนเองจากการกระตุ้นทางรูป เสียง กลิ่นรส สัมผัสต่างๆ ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส ไม่ตามใจตนเอง

“อปริครฺห” การไม่สะสมทรัพย์สมบัติเกินความจำเป็น ท่านคานทีกล่าวว่า “สิ่งต่างๆในโลกนี้เพียงพอที่จะแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ แต่ไม่พอสำหรับสนองตัณหา ความทะยานอยากของทุกคน”

คนฮินดูจะถือหลักสันโดษ ไม่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตสะสมทรัพย์เกินจำเป็น แต่จะใช้เวลาพัฒนาจิตของตนเองให้บริสุทธิ์จากกิเลสตัณหา

ท่านมหาตมะ คานที นำเดินขบวนทำสัตยาเคราะห์หลายครั้งหลายหน จนได้เอกราชกลับสู่อินเดีย วิธีการทำสัตยาเคราะห์ ได้เป็นแบบอย่างให้นักต่อสู้เพื่อผู้ด้อยกว่าในสังคมทั่วโลกในเวลาต่อมา

ท่านอัมเบดการ์ รัฐบุรุษคนสำคัญของอินเดียหลังได้รับเอกราช ผู้นำวรรณะจัณฑาลซึ่งเป็นชนชั้นล่างสุดของอินเดีย ก็นำสัตยาเคราะห์มาใช้

มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์ ของอเมริกา เนลสัน แมนเดลา ของอาฟริกาใต้ อองซาน ซูจี ของพม่า และท่านทะไล ลามะของทิเบต ซึ่งใช้สัตยาเคราะห์ต่อสู้กับจีนเช่นกัน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ถ้าเราใช้หลักธรรมเหล่านี้ในการดำเนินชีวิต ก็จะเป็นการสอดคล้องกับมาตรการแก้โลกร้อนได้อย่างเป็นรูปธรรม ทุกวันนี้มาตรการต่างๆที่ออกมาไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะเราขาดการศึกษา และขาดการฝึกจิตตภาวนา ทำให้ขาดจิตสำนึกสาธารณะ เราจึงมีวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยมสุดโต่ง แบบตามความพอใจของตนเอง ซึ่งไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนได้

แต่จิตตภาวนาจะช่วยให้เรามีสติ เห็นถึงภัยของการบริโภคเกินจำเป็น และสามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเองได้ ให้หันไปใช้ชีวิตแบบสงบเรียบง่าย กินน้อยใช้น้อย ตามแนวทางศาสนา

ท่านคานทีใช้หลักการสัตยาเคราะห์ต่อสู้กับอังกฤษจนได้รับเอกราช คนในยุคนี้ก็สามารถจะใช้สัตยาเคราะห์ต่อสู้กับตัวเองได้ ต่อสู้กับกิเลสในใจ เราจึงจะเอาชนะภาวะโลกร้อนได้ เพราะภาวะโลกร้อนนี้ แท้จริงแล้วเป็นผลของกิเลสในใจเรานั่นเอง เป็นผลจากการบริโภคนิยมสุดโต่ง ซึ่งเป็นภาวะที่เอาชนะได้ยาก หากขาดการเปลี่ยนจิตสำนึกและพฤติกรรมของตนเอง

ดังนั้น นักคิดทั้งหลายจึงเห็นว่า สัตยาเคราะห์ของคานที มีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนในยุคปัจจุบัน

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ นักคิดแนวพุทธชั้นนำของโลกยุคปัจจุบัน ได้กล่าวสุนทรพจน์ไว้อย่างน่าฟัง ในการประชุมเสวนาธรรมของสถาบันแกริสัน ที่อาสนวิหารเซนต์จอห์น มหานครนิวยอร์ค ว่า

“สัตยาเคราะห์ พลังแห่งความจริง เริ่มแรก ท่านมหาตมะ คานทีเดินทางมาศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ท่านพบว่าวิชาการแบบตะวันตก เป็นวิชาการแบบแยกส่วน ความรู้แบบนี้ทำให้เราเป็นคนยโสโอหัง เย่อหยิ่ง ก้าวร้าว เห็นความสำคัญของตนเองเหนือสิ่งอื่นใด ท่านจึงหันกลับ 180 องศา กลับมาอินเดียเพื่อค้นหารากเหง้าของตนเอง เพื่อค้นหาความจริง แล้วท่านก็พบความจริง ถ้าเราเดินตามแนวทางของท่าน เราก็สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาในยุคโลกร้อนได้

เท่าที่ข้าพเจ้าทราบมา ความรู้แบบตะวันตก ได้รับการพัฒนามาจากแนวคิดของ เรอเน เดส์คาร์ท นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ที่กล่าวว่า “ฉันคิด ฉันจึงเป็นเช่นนั้น” (Cogito ergosum) คนตะวันตกจึงใช้ความคิดมาก คำว่าฉันจึงมีความสำคัญ ตัวตนของเราจึงมีความสำคัญ ผู้อื่นไม่ใช่คนอื่น เพศอื่น ชนชาติอื่น แต่มันหมายถึง ธรรมชาติทั้งหมด Cogito หมายถึงการเอาชนะ เราคิดว่าเราสามารถเอาชนะธรรมชาติทั้งหมดได้ เราจึงพยายามคิดค้นเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อที่จะเอาชนะธรรมชาติให้ได้ และนี่คือที่มาของปัญหาวิกฤตโลกร้อน ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในทุกวันนี้

ข้าพเจ้าคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องตั้งคำถามว่า แนวคิดที่มีเรา มีเขา มีเธอ มีฉัน คิดแบบแยกส่วน ถ้าเราดูคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านสอนว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิตไม่ใช่ความคิด ความคิดบางครั้งก็เป็นสิ่งที่ดี บางครั้งก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดท่านสอน คือ ลมหายใจ ถ้าเราไม่เชื่อพระพุทธเจ้า เราลองหยุดหายใจสัก 5 นาที (ผู้ฟังหัวเราะ) ความจริงเราหายใจวันละ 24 ชั่วโมง อาทิตย์ละ 7 วัน ไม่มีวันหยุดอีสเตอร์ คริสมาสต์

แต่ทุกวันนี้เราหายใจเอาความวิตกกังวลเข้าไป หายใจเอาความโกรธ ความทะยานอยากเข้าไป ถ้าเราเรียนรู้การหายใจอย่างถูกต้อง หายใจเข้าด้วยความเมตตากรุณา หายใจเข้าด้วยสันติสุขในใจ เราปรับโครงสร้างของความรู้สึกตัวของเราเสียใหม่ เราก็สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เราสามารถเปลี่ยนความอยากในใจ เป็นความเอื้ออาทร เราสามารถเปลี่ยนความโกรธ เป็นความเมตตากรุณา เราสามารถเปลี่ยนตัวตนของเรา ให้เป็นความเชื่อมโยงกับผู้อื่น ความเข้าใจ ปัญญา ศัตรูของเราไม่ใช่อยู่ภายนอก แต่เป็นศัตรูภายใน เมื่อเราเปลี่ยนศัตรูภายในเป็นมิตร เป็นผู้ดูแลรักษาชีวิตอื่น

ท่านทะไล ลามะเป็นตัวอย่าง ที่ทำตามแบบของคานทีในโลกปัจจุบัน ท่านบอกกับเราว่า อย่าเกลียดชังจีน ข้าพเจ้าแน่ใจว่า จีนเองก็ได้เรียนรู้ว่า ความเมตตากรุณาสำคัญเหนือกว่าความเย่อหยิ่งยโส ความรักความเมตตาต่อกันสำคัญกว่าการเป็นศัตรูต่อกัน เพราะจีนเองก็มีภูมิปัญญายาวนานกว่า 2,000 ปี แต่พวกเขาเปลี่ยนจากเสรีชน เป็นลัทธิเหมา และมาเป็นลัทธิบริโภคนิยมในปัจจุบัน

ปัจจุบันข้าพเจ้าคิดว่า เขาเริ่มกลับมา ในโอกาสที่จีนจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค เราควรใช้จิตใจที่เอื้ออาทร มีความเมตตากรุณาต่อจีน ใช้ความเข้าใจ เราควรจะเปลี่ยนจีน เช่นเดียวกันเราควรจะเปลี่ยนจักรวรรดินิยมอเมริกา ให้เป็นสหรัฐที่สวยงาม โลกก็จะเปลี่ยนแปลงไป ภาวะโลกร้อนก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก” (www.youtube.com พิมพ์คำว่า Sulak Sivaraksa at the garrison institute’s Satyagraha Event)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 184 เมษายน 2559 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
กำลังโหลดความคิดเห็น