xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : มหันตภัยโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุณหภูมิของโลกเราทุกวันนี้ร้อนขึ้นกว่าเดิมมาก นักวิทยาศาสตร์พบว่า อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 4 องศาเซลเซียส เมื่อถึงปี 2100 คือ สิ้นศตวรรษนี้ ซึ่งแต่ละองศาอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น มีผลกระทบต่อชีวิตของเรามากขึ้นตามลำดับ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้น คือ การทำกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกขึ้นหลายตัว โดยเฉพาะตัวที่สำคัญ คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ กิจกรรมที่ใช้น้ำมันจากฟอสซิล ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอย่างมาก เช่น การผลิตสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรม การใช้รถยนต์ การใช้เครื่องบินในการเดินทาง ซึ่งต้องใช้น้ำมันและก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากในชั้นบรรยากาศ การใช้เครื่องปรับอากาศ การใช้ไฟฟ้า การเผากองขยะ การเผาป่า ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น นอกจากนั้น การตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ต้นไม้ใหญ่ซึ่งเป็นตัวดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญ มีเหลืออยู่น้อยเกินไป

ในเรื่องนี้ ศาตราจารย์จอห์น เชฟเฟิร์ด (John shepherd) แห่งศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยเซาท์แทมตัน ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า โลกของเราร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา และเป็นสัดส่วนโดยตรงกับจำนวนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นปีละเล็กน้อยจนถึง 4 องศาเซลเซียส เมื่อถึงปี 2100 นั่นหมายความว่า มันจะก่อให้เกิดหายนะอย่างใหญ่หลวงต่อโลก ซึ่งเราจะต้องพยายามลดอุณหภูมิลง อย่างน้อยให้เพิ่มเพียง 2 องศาเซลเซียส เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ก่อนสิ้นศตวรรษนี้ (www.youtube.com พิมพ์คำว่า climate change science 2014 summary by John shepherd)

ภาวะโลกร้อนมีผลกระทบต่อชีวิตของเราในหลายๆด้าน ภูเขาน้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายเร็วขึ้น ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งทำให้น้ำท่วมพื้นดินบนผิวโลก ทำให้บ้านเรือนและพื้นที่เพาะปลูกถูกน้ำท่วมจำนวนมาก ผู้คนจะไร้ที่อยู่อาศัย และกระทบถึงการผลิตอาหารของโลกอย่างรุนแรง

ธนาคารโลกเตือนในรายงานเดือนมิถุนายน 2014 ว่า ถ้าสถานการณ์โลกร้อนยังดำเนินไปแบบนี้ คาดว่า พื้นที่ร้อยละ 40 ของกรุงเทพฯจะจมอยู่ใต้น้ำใน 20-30 ปีข้างหน้า ในพื้นที่ทวีปแอฟริกา บริเวณใต้ทะเลทรายซาฮารา จะขาดอาหาร เช่น ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวโพด ฯลฯ ทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะขาดน้ำสะอาดสำหรับบริโภค และทั่วโลกจะประสบภัยพิบัติต่างๆที่รุนแรงขึ้น ทั้งแผ่นดินไหว ภูเขาไฟปะทุ พายุรุนแรงพัดถล่มชายฝั่ง น้ำท่วมในบริเวณต่างๆ

ภาวะโลกร้อนไม่เพียงส่งผลร้ายต่อความเป็นอยู่ของผู้คน แต่ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรงด้วย อากาศร้อนทำให้เกิดอาการเป็นลมหน้ามืด อ่อนเพลีย หมดสติ และเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งในปี 2004 ภาวะโลกร้อนทำให้ผู้สูงอายุในยุโรปเสียชีวิตจากผลของความร้อนโดยตรง 15,000 คน และในอินเดีย ปากีสถานอีกหลายร้อยคน

อากาศร้อนยังทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งกระทบต่อโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่ เช่น ทำให้โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน กำเริบขึ้น โรคท้องร่วงในเด็กจะเพิ่มขึ้น รวมทั้งโรคติดเชื้อต่างๆที่มากับน้ำ แมลง และอากาศจะเพิ่มมากขึ้น เพราะเชื้อโรคจะแพร่พันธุ์ได้ดีในภาวะอากาศร้อน เช่น ไข้มาเลเรีย ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

นอกจากนี้ โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด การติดเชื้อในทางเดินหายใจก็จะพบมากขึ้น โรคมะเร็งทางเดินหายใจ เช่น มะเร็งปอดและหลอดลม และโรคมะเร็งผิวหนังก็พบมากขึ้นในภาวะโลกร้อน


อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2007 ได้ทำงานอย่างเอาจริงเอาจังเรื่องปัญหาโลกร้อน เขาได้แนะวิธีปฏิบัติตัว เพื่อช่วยลดโลกร้อนไว้ในหนังสือ An Inconvenien Truth ดังนี้คือ

1. เราทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้
2. ลดการเดินทางโดยเครื่องบินและรถยนต์ ใช้รถคันเล็กลง และขับให้น้อยลง หมั่นเช็คและเติมลมยางให้เหมาะสม ใช้รถสาธารณะให้มากขึ้น เดินมากขึ้น ใช้รถจักรยานมากขึ้น
3. ลดการใช้ไฟฟ้า ลดการอาบน้ำอุ่น ปิดดวงไฟที่ไม่ได้ใช้
4. ลดการใช้สินค้าและบริการ นำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ให้มากขึ้น ลดการใช้วัสดุหีบห่อมากเกิน ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก ลดการบริโภคสินค้า
5. ใช้ฉนวนกันความร้อนกับตัวบ้านมากขึ้น เช่น ปลูกต้นไม้ให้มีร่มเงาปกคลุม
6. ปลูกต้นไม้ให้มากขึ้น ทั้งในที่สาธารณะ และตามบ้านเรือน


สำหรับมาตรการระดับนโยบายของรัฐบาลทั่วโลก มุ่งไปที่การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงด้วยวิธีการต่างๆ ลดการใช้น้ำมันและไฟฟ้า เพิ่มการใช้พลังงานทดแทนจากแสงแดด พลังงานลม พลังงานจากขยะชีวภาพ ใช้วิธีทางวิศวสิ่งแวดล้อมในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก กระตุ้นให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาร่วมลดการใช้พลังงาน โดยใช้มาตรการด้านภาษีเพื่อจูงใจ

นอกจากนั้น การให้การศึกษาแก่ประชาชน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการใช้น้ำมัน การบริโภคสินค้า และบริการให้น้อยลง

องค์การสหประชาชาติได้จัดให้มีการประชุมระดับนานาชาติ เพื่อจะกระตุ้นให้ทุกประเทศร่วมมือกันแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งเข้าขั้นวิกฤติในขณะนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจก และลดอุณหภูมิของโลกลงให้ได้ 2 องศาเซลเซียสเมื่อสิ้นศตวรรษนี้ แต่ความร่วมมือของประเทศต่างๆ ยังคงทำให้สถานการณ์ไม่ดีขึ้นตามเป้าหมายที่คาดไว้ (www.unep.org/climate change)

ถ้าเราติดตามดูสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เราจะเห็นว่า สภาพการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ

นักวิทยาศาสตร์พยากรณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ จะกระทบกับทุกพื้นที่ทั่วโลก ทวีปอเมริกาเหนือจะมีลมพายุถล่มเมืองสำคัญรุนแรงขึ้น น้ำจะกัดเซาะชายฝั่งจนน้ำท่วมเมืองสำคัญ ทวีปอเมริกาใต้จะพบกับอุทกภัยสลับกับภาวะแห้งแล้งซ้ำซาก ยุโรปเหนือน้ำแข็งจะละลายจนหมดสิ้น ฤดูหนาวจะสั้นลง จะเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ยุโรปใต้จะเกิดความแห้งแล้ง ร้อนจัด ฤดูร้อนจะยาวนานขึ้น

แอฟริกาจะพบกับภัยน้ำท่วม ความแห้งแล้ง และโรคติดต่อต่างๆ ส่วนในเอเชียจะมีพายุรุนแรง น้ำท่วมชายฝั่งจะกลืนพื้นที่จำนวนมากในหลายประเทศ จนต้องอพยพผู้คนหนี จะประสบปัญหาขาดที่อยู่อาศัย ขาดอาหารและน้ำบริโภค เกิดโรคติดต่อร้ายแรงต่างๆ และเศรษฐกิจจะล่มสลาย


แต่เป็นที่น่ายินดี ที่อเมริกาและจีนซึ่งเป็นประเทศที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก รวมกันราวร้อยละ 45 ได้ทำข้อตกลงกันหลังจากการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค สิ้นสุดลงเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2014 โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา และประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ได้ประกาศที่จะร่วมมือกันลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุข้อตกลงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายหลังปี 2020

ในพุทธศาสนาก็มีกล่าวถึงเรื่องภูมิอากาศของโลกจะเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน เช่น ในอรรถกถา มหาสุบินชาดก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก พระพุทธองค์ก็ทรงเคยพยากรณ์ความฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศล ซึ่งทูลถามความฝันของพระองค์ 16 ประการ

ผู้เขียนขอยกประการที่ 1 ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังกล่าวถึงอยู่ คือ ทรงฝันว่า มีโคตัวผู้ 4 ตัว สีเหมือนดอกอัญชัญ วิ่งมาจาก 4 ทิศ หมายจะชนกันที่พระลานหลวง ผู้คนก็ตามมาดูกันเป็นจำนวนมาก วัวทั้งสี่วิ่งเข้าหากัน คำรามลั่น แต่พอใกล้จะถึงตัว ก็หยุดลงเฉยๆ ต่างคนต่างหันหลังถอยออกไป พระเจ้าปเสนทิโกศล ตรัสถามว่า ความฝันนี้จะเกิดผลอย่างไร

พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “มหาบพิตร ผลของสุบินข้อนี้ จักไม่มีในรัชกาลของพระองค์ หรือในชั่วศาสนาของตถาคต แต่ในอนาคตเมื่อโลกเข้าสู่จุดเสื่อม ผู้ปกครองไม่ได้ตั้งอยู่ในธรรม หมู่มนุษย์ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อกุศลธรรมลดน้อยลง อกุศลธรรมหนาแน่นขึ้น ฝนจักแล้ง ตีนเมฆจักขาด ข้าวกล้าจักแห้ง ทุพภิกขภัยจักเกิด เมฆทั้งหลายตั้งขึ้นจากทิศทั้งสี่ ดำทมึนเหมือนจะมีฝนตกหนัก แต่แล้วก็ถูกลมพัดหายไป เหมือนโคทั้งสี่ วิ่งมาจะชนกันแล้วไม่ชนกัน ฉะนั้น”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 183 มีนาคม 2559 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
กำลังโหลดความคิดเห็น