xs
xsm
sm
md
lg

“ต้านแก่” ไม่พึ่งศัลยกรรม ทำได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม้จะรู้ว่า จริงๆแล้ว ไม่มีใครจะหลีกหนีความแก่ได้พ้น แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครอยากแก่ จึงพยายามสรรหาทุกวิธีการเพื่อชะลอความชรา ตั้งแต่วิธีง่ายๆด้วยการบำรุงผิวพรรณ ไปจนถึงวิธียากๆด้วยการทำศัลยกรรมใบหน้าและเรือนร่างเพื่อให้ดูอ่อนกว่าวัย

แต่สิ่งที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้ก็คือ ความแก่ชรานั้น เป็นสิ่งที่ชะลอได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่!! เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยชิ้นล่าสุด

โดยเมื่อเร็วๆนี้ เว็บไซต์ medicalnewstoday.com รายงานว่า กระบวนการแก่ชราของมนุษย์นั้น เริ่มต้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาเลยทีเดียว โดยอ้างถึงงานวิจัยของทีมนักวิจัยนานาชาติ ซึ่งนำโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ที่ทำการทดลองในหนูกำลังตั้งท้อง พบว่า การให้แม่หนูกินอาหารต้านอนุมูลอิสระขณะท้อง จะช่วยให้ลูกหนูที่ออกมา เมื่อโตเต็มที่ จะแก่ช้าลง

อย่างไรก็ตาม บรรดาลูกหนูที่เกิดจากพวกแม่ๆ ที่มีระดับออกซิเจนในมดลูกต่ำ เมื่อโตเต็มที่ จะแก่เร็วขึ้น (สำหรับในคน การมีระดับออกซิเจนต่ำอาจเกิดจากการสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ หรือขณะตั้งครรภ์อาศัยอยู่บนที่สูงเหนือระดับน้ำทะเล)

ทั้งนี้ ดีเอ็นเอของคนเรานั้น จะปรากฏบนหน่วยพันธุกรรมที่เรียกว่า “โครโมโซม” ซึ่งมีทั้งหมด 23 คู่ ตรงปลายโครโมโซมแต่ละอันมีลักษณะคล้ายหมวกคลุมอยู่ เรียกว่า “ทีโลเมียร์” ทำหน้าที่ปกป้องไม่ให้โครโมโซมถูกทำลาย เหมือนกับปลอกพลาสติกที่หุ้มปลายเชือกผูกรองเท้า เมื่อเราอายุมากขึ้น ทีโลเมียร์จะสั้นลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น ความยาวของทีโลเมียร์จึงเป็นตัวบ่งบอกอายุขัยคนเรานั่นเอง

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้รับทุนวิจัยจากมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศอังกฤษ และตีพิมพ์ในวารสาร “The FASEB Journal” เดือนมีนาคม 2016 นักวิทยาศาสตร์ได้รายงานถึงงานวิจัยที่เกี่ยวกับการวัดความยาวของทีโลเมียร์ในหลอดเลือดของพวกหนูทดลองที่โตเต็มที่ และเกิดจากบรรดาแม่หนูที่ได้กินหรือไม่ได้กินอาหารต้านอนุมูลอิสระ ในขณะตั้งท้องภาวะปกติหรือมีภาวะแทรกซ้อน

ซึ่งภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ที่พบบ่อยสุดในคน คือ การที่ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง อันมีสาเหตุจากหลายอย่าง รวมถึงการที่แม่สูบบุหรี่ขณะตั้งท้อง หรือมีภาวะครรภ์เป็นพิษ และเพื่อเป็นการจำลองภาวะแทรกซ้อน นักวิจัยได้นำหนูทดลองที่ตั้งท้องกลุ่มหนึ่ง ไปอยู่ในห้องที่มีออกซิเจนน้อยกว่าปกติ 7%

นักวิจัยพบว่า พวกหนูวัยโตเต็มที่ซึ่งเกิดจากแม่ที่ได้รับออกซิเจนน้อยกว่าในขณะตั้งท้อง มีทีโลเมียร์สั้นกว่าพวกหนูที่เกิดจากการตั้งท้องที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และยังมีปัญหาหลายอย่างที่เกี่ยวกับเซลล์เยื่อบุภายในหลอดเลือด อันเป็นเครื่องชี้ว่า พวกมันจะแก่เร็วขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจเร็วกว่าปกติด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อให้อาหารเสริมที่มีสารต้านอนุมูลอิสระแก่หนูที่กำลังท้องในกลุ่มนี้ พบว่า เหล่าลูกหนูที่เกิดมาจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจลดน้อยลง

อีกทั้งลูกหนูที่เกิดจากการตั้งท้องในภาวะปกติ คือ เมื่อตัวอ่อนได้รับออกซิเจนในระดับที่เหมาะสม พวกมันก็จะได้รับประโยชน์จากสารต้านอนุมูลอิสระในอาหารผ่านทางแม่ของมันด้วย ทำให้ทีโลเมียร์ยาวกว่าพวกหนูที่เกิดจากแม่ที่ไม่ได้รับอาหารเสริมที่มีสารต้านอนุมูลอิสระขณะตั้งท้อง

ศาสตราจารย์ ดิโน จิอุซซานี จากภาควิชาการพัฒนาสรีรวิทยาและประสาทวิทยาศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ นักวิจัยระดับอาวุโส ได้สรุปว่า “งานวิจัยของเราที่ทดลองในหนู ชี้ว่า นาฬิกาแห่งความชราของคนเรา เริ่มต้นเดินตั้งแต่ก่อนเราคลอดออกมาสู่โลกภายนอก ซึ่งอาจทำให้หลายๆคนประหลาดใจ

เรารู้ดีว่า ยีนของเราทำปฏิกิริยากับภาวะแวดล้อมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ ความอ้วน และการไม่ออกกำลังกาย ทำให้เสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเป็นโรคหัวใจ แต่ผลวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า ภาวะแวดล้อมที่เราเจอขณะยังอยู่ในครรภ์มารดา ก็อาจมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดหัวใจได้”


ดร.เบ็ธ แอลิสัน ผู้เขียนวิจัยเบื้องต้น ได้กล่าวเสริมว่า “สารต้านอนุมูลอิสระเป็นที่รู้กันดีว่าช่วยชะลอความแก่ได้ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ผลวิจัยเผยว่า การให้มารดาที่กำลังตั้งครรภ์รับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ จะช่วยชะลอนาฬิกาแห่งความชราของลูกตั้งแต่อยู่ในท้องได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อน และตัวอ่อนได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ถึงแม้ว่า การค้นพบนี้ทำในหนู แต่มันก็ช่วยชี้แนะวิธีแก้ไขปัญหาแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในมนุษย์”

ศาสตราจารย์ เจเรมี เพียร์สัน ผู้อำนวยการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง จากมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศอังกฤษ กล่าวว่า “งานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ได้รับทุนวิจัยจากมูลนิธิฯ เผยว่า ภาวะไม่สมบูรณ์ในครรภ์มารดา อาจนำไปสู่ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดหัวใจในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม กลไกที่เกี่ยวข้องนั้นยังเข้าใจได้ไม่ดีพอ และแม้ว่าจะทำการทดลองในหนูก็ตาม แต่งานวิจัยชิ้นนี้ได้เน้นความสำคัญของมารดาที่กำลังตั้งครรภ์ จำเป็นต้องดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพหัวใจของลูกน้อยในอนาคต”

ต้านอนุมูลอิสระ = ต้านแก่
สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) คือ สารที่สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดกระบวนการออกซิเดชั่น ซึ่งมีได้หลายรูปแบบ อาทิ กระบวนการที่ทำให้เหล็กเป็นสนิม หรือหากเกิดในคน เช่น การย่อยสลายโปรตีนและไขมันจากอาหารที่กินเข้าไป อันจะก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ (Free radical) ที่เป็นสารพิษต่อร่างกาย ทำให้เซลล์แก่และเสื่อม เนื้อเยื่ออักเสบและถูกทำลาย

ร่างกายคนเราสามารถสร้างสารต้านอนุมูลอิสระได้หลายชนิด แต่เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะผลิตได้น้อยลง จึงควรรับประทานอาหารที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ อาหารทะเล รวมทั้งพืชผักและผลไม้ชนิดต่างๆ ได้แก่ แปะก๊วย ชาเขียว มะเขือเทศ ฝรั่ง เมล็ดธัญพืช กล้วย ผักใบเขียวชนิดต่างๆ เช่น บรอคโคลี ตำลึง ผักบุ้ง ผักผลไม้สีม่วง เช่น กะหล่ำปลีม่วง หัวหอมแดง มะเขือม่วง องุ่นแดง บลูเบอร์รี่ ข้าวไรซ์เบอรรี่ มัลเบอร์รี่ ลูกพรุน ผักผลไม้สีเหลืองส้ม เช่น ขมิ้น ฟักทอง มะละกอสุก มะม่วงสุก แครอท ส้ม เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่มีความสัมพันธ์กับอาหาร เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคสมอง (เช่น อัลไซเมอร์) เป็นต้น ที่สำคัญยังช่วยชะลอความชราได้อีกด้วย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 184 เมษายน 2559 โดย พิสุทธิ์)
กำลังโหลดความคิดเห็น