xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : มงคลที่แท้จริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำรัสแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๕๙ เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ความว่า

“ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดีมาอวยพรแก่ท่านทุกๆคน ให้มีความสุข ความเจริญ และความสำเร็จสมประสงค์ในสิ่งที่ปรารถนา

ความสุขความเจริญนี้แม้เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง แต่ในวิถีชีวิตของคนเรานั้น ย่อมต้องมีทั้งสุขและทุกข์ ทั้งความสมหวังและผิดหวัง เป็นปกติธรรมดา ทุกคนจึงต้องเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมการให้พร้อม อย่าประมาท

ในปีใหม่นี้ จึงขอให้ท่านทั้งหลาย ได้รักษาและสร้างเสริมสุขภาพของตนให้สมบูรณ์ ให้มีกำลังกายที่แข็งแรง มีกำลังใจที่เข้มแข็งหนักแน่น และมีสติรู้เท่าทันอยู่เสมอ จักได้สามารถนำพาตนให้ผ่านพ้นสถานการณ์ต่างๆ อันไม่พึงประสงค์ จนบรรลุถึงความสุขความเจริญ และความสำเร็จได้ ดังที่ตั้งใจปรารถนา

ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จงคุ้มครองรักษาท่านทุกคน ให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากภัย ให้มีความสุขกาย สุขใจ ตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน”


พระราชดำรัสที่เป็นประดุจพรปีใหม่ของประชาชนชาวไทยนี้ ทรงแสดงถึงสัจธรรมของชีวิต และหลักการดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ควรที่เราจักได้น้อมนำมาเป็นมงคลแก่ชีวิต

เมื่อพินิจความตอนที่ว่า “ความสุขความเจริญนี้ แม้เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง แต่ในวิถีชีวิตของคนเรานั้น ย่อมต้องมีทั้งสุขและทุกข์ ทั้งความสมหวังและผิดหวัง เป็นปกติธรรมดา” นำให้คิดถึงโลกธรรม อันเป็นธรรมประจำโลก ซึ่งประกอบด้วย ธรรมที่มนุษย์พอใจ ๔ ประการ คือ

๑.ได้ลาภ คือ ได้ผลประโยชน์ ได้ทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้น
๒. ได้ยศ คือ ได้รับแต่งตั้งให้มีฐานันดรสูงขึ้น ได้ตำแหน่ง ได้อำนาจเป็นใหญ่เป็นโต
๓. ได้รับสรรเสริญ คือ ได้ยิน ได้ฟัง คำสรรเสริญคำชมเชย คำยกยอ
๔. ได้สุข คือ ได้ความสบายกาย สบายใจ ได้ความเบิกบาน ร่าเริง ได้ความบันเทิงใจ

ธรรมที่มนุษย์ไม่พอใจมี ๔ ประการ คือ
๑. เสียลาภ คือ ลาภที่ได้มาแล้วเสียไป
๒. เสื่อมยศ คือ ถูกลดความเป็นใหญ่ ถูกถอดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดอำนาจ
๓. ถูกนินทา คือ ถูกตำหนิติเตียนว่าไม่ดี มีใครพูดถึงความไม่ดีของเราในที่ลับหลัง
๔. ได้ทุกข์ คือ ได้รับความทุกข์ทรมานกายทรมานใจ

เพราะเหตุที่ปรารถนาให้ตนประสบแต่ธรรมที่ตนพอใจเพียงส่วนเดียว คนเราจึงประมาทในการดำเนินชีวิต ปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลสที่ครอบครองจิตใจของตน เขาจึงแสวงหาสิ่งที่นำความสุขความเจริญมาให้แก่ตน ด้วยยึดถือว่าสิ่งนี้คือมงคลของชีวิตตนเอง ในสังคมของคนเหล่านี้จึงมีวัตถุและคำสอนที่เป็นมงคลตามคติของตนอยู่มากมาย ดังที่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา เช่น ลูกเทพ กุมารทอง เป็นต้น

การกราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ การถือฤกษ์ยาม มงคลนาม เมื่อมีผู้เสียทรัพย์เพื่อของมงคลตามปรารถนาดังนี้ ก็มีผู้เจริญด้วยทรัพย์จากการขายของหรือบริการมงคลด้วย เป็นวังวนที่ไม่จบสิ้น มาแต่ครั้งพุทธกาล

เพราะเหตุแห่งการแสวงหามงคลเช่นนี้ ไม่ได้ก่อประโยชน์อย่างแท้จริง สมเด็จพระบรมศาสดาจึงกำหนดคุณสมบัติของฆราวาสผู้นับถือพระพุทธศาสนาไว้ ๕ ประการคือ ๑. ประกอบด้วยศรัทธา ๒. มีศีลบริสุทธิ์ ๓. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ๔. ไม่แสวงหาเขตบุญนอกพุทธศาสนา ๕. บำเพ็ญบุญแต่ในพระพุทธศาสนา ดังนั้น พุทธสาวกที่ปฏิบัติตนตามหลักธรรมที่ถูกต้อง จึงสามารถดำเนินชีวิตไปบนสัจธรรมของธรรมชาติได้อย่างสันติสุขเสมอมา

ในเมื่อมงคลที่เข้าใจกันอยู่ในขณะนี้ไม่ถูกต้อง แล้วมงคลที่ถูกต้องคืออะไร?

มงคล แปลว่า เหตุนำความสุขความเจริญมาให้ คือสิ่งที่นำความโชคดี ความสวัสดี และความสุขมาให้ตามที่ปรารถนา เมื่อพินิจความแห่งมงคลดังนี้ หลักธรรมในพระพุทธศาสนาจึงเป็นมงคลที่ถูกต้อง เมื่อได้ศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนา จนมีความเข้าใจตรงตามธรรมอย่างแท้จริง ย่อมจะเห็นแนวทางแห่งหลักธรรมนั้น แล้วปฏิบัติตนตาม ผลที่จักได้รับจากการปฏิบัติธรรมนั้นก็คือสันติสุขในธรรม ตามกำลังแห่งผู้ปฏิบัติ ดังเช่นธรรมปฏิบัติในมงคลสูตร ที่ทรงแสดงหลักปฏิบัติไว้ ๓๘ ประการ ซึ่งถ้าสามารถปฏิบัติตนได้ในกรอบแห่งมงคลสูตรนี้ ย่อมเป็นผู้มีความสำเร็จตามความประสงค์อยู่เป็นนิตย์

เมื่อมาพินิจถึงกระแสของมงคลในปัจจุบัน ที่พลิกผันไปตามความเชื่อ จะทำให้ตระหนักว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงยก “การไม่คบคนพาล” ไว้เป็นมงคลที่ ๑ “การคบบัณฑิต” เป็นมงคลที่ ๒ และ “การบูชาบุคคลที่ควรบูชา” เป็นมงคลที่ ๓

การจะจำแนกบุคคลเหล่านั้น ว่าเป็นคนพาลหรือบัณฑิตได้ ก็ต้องอาศัยการอยู่ร่วมกันด้วยความไม่ประมาท หมั่นสังเกตพฤติกรรมของคนนั้น ว่าเป็นลักษณะพาลหรือบัณฑิต ถ้าพบว่าเป็นพาล ก็ควรหลีกหนีไปเสีย

มงคลสูตรในข้อที่ ๔ ถึง ๓๘ เป็นหลักการปฏิบัติตนทั้งสิ้น ซึ่งแต่ละมงคลก็มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน นำผลให้ได้รับความสันติสุขตั้งแต่ระดับมนุษย์ ไปจนถึงระดับพระอรหันต์ ตามกำลังความสามารถของตนเอง

บรรพชนไทยผู้เป็นบัณฑิต ปรารถนาจะให้คนไทยได้ตระหนักถึงการปฏิบัติตามหลักธรรม ในมงคลสูตร จึงกำหนดให้ประธานในพิธีจุดเทียนน้ำมนต์ เมื่อพระสงฆ์เริ่มสวดมงคลสูตร ตั้งแต่ อเสวนา จ พาลานํ การไม่คบคนพาล ด้วยคติที่แฝงธรรมไว้ว่า ในความมืดของชีวิต แสงแห่งปัญญาจะเริ่มต้น เมื่อเราไม่คบคนพาล และปฏิบัติตนตามมงคลสูตร ให้เกิดความสุขความเจริญกับชีวิต

ดังนั้น ทุกครั้งที่พระสงฆ์ปะพรมน้ำพระพุทธมนต์ พึงรู้ในใจตนเองเสมอว่า น้ำนี้เป็นสื่อที่ปลุกจิตใจของเราให้มุ่งปฏิบัติตนตามหลักมงคลสูตรอยู่เสมอ ขอเราจงเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต เมื่อรับน้ำพระพุทธมนต์ทุกครั้งคิดได้เช่นนี้ ก็จะเป็นผู้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต และสามารถปฏิบัติตนได้ตามพรปีใหม่ที่พระราชทานว่า “ทุกคนจึงต้องเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมการให้พร้อม อย่าประมาท”

ผู้ปรารถนาความสุขความเจริญของชีวิต ขอจงปฏิบัติตนตามมงคลสูตร ที่เป็นมงคลอย่างแท้จริงเถิด

มงคล ๓๘ ประการ

๑. ไม่คบคนพาล ๒. คบบัณฑิต ๓. บูชาบุคคลที่ควรบูชา ๔. อยู่ในถิ่นที่มีสิ่งแวดล้อมดี ๕. ทำความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น ๖. ตั้งตนไว้ชอบ ๗. เล่าเรียนศึกษามาก ๘. มีศิลปวิทยา ๙. มีระเบียบวินัย ๑๐. มีวาจาสุภาษิต ๑๑. บำรุงมารดาบิดา ๑๒. สงเคราะห์บุตร ๑๓. สงเคราะห์ภรรยา ๑๔. ทำงานไม่คั่งค้าง ๑๕. ให้ทาน บริจาคสงเคราะห์ ๑๖. ประพฤติธรรม ๑๗. สงเคราะห์ญาติ ๑๘. ทำการงานที่ไม่มีโทษ ๑๙. เว้นจากความชั่ว ๒๐. เว้นจากการดื่มน้ำเมา ๒๑. ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๒๒. มีความเคารพ ๒๓. มีความสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน ๒๔. มีความสันโดษ ๒๕. มีความกตัญญู ๒๖. ฟังธรรมตามกาล ๒๗. มีความอดทน ๒๘. เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ๒๙. การได้พบเห็นสมณะ ๓๐. สนทนาธรรมตามกาล ๓๑. มีความเพียรเผากิเลส ๓๒. ประพฤติพรหมจรรย์ ๓๓. การเห็นอริยสัจ ๓๔. การทำพระนิพพานให้แจ้ง ๓๕. มีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ๓๖. มีจิตไม่เศร้าโศก ๓๗. มีจิตปราศจากธุลี ๓๘. มีจิตเกษม

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 183 มีนาคม 2559 โดย พระครูพิศาลสรนาท วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)
กำลังโหลดความคิดเห็น