xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : โทษของ “ศีลวิบัติ” และคุณของ “ศีลสมบัติ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความเบื้องต้น
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนมาก เสด็จไปในเมืองราชคฤห์ผ่านปาฏลิคาม อุบาสกและอุบาสิกาชาวปาฏลิคามมาเฝ้า กราบทูลขอให้ทรงแสดงถึงโทษของศีลวิบัติและคุณของศีลสมบัติ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงให้ฟังว่า

ผู้ทุศีลมีศีลวิบัติย่อมประสบโทษ ๕ ประการ คือ
๑. เสื่อมทรัพย์เพราะมีความประมาทเป็นเหตุ
๒. ชื่อเสียงทางไม่ดีย่อมฟุ้งขจรไป
๓. ไม่แกล้วกล้าอาจหาญในที่ประชุม
๔. เมื่อจะตายย่อมหลงตาย
๕. เมื่อสิ้นชีพแล้วไปสู่ทุคติ


ส่วนคุณของความเป็นผู้มีศีลหรือศีลสมบัติ มี ๕ ประการ เหมือนกันคือ
๑. ย่อมได้กองแห่งโภคะเป็นอันมาก เพราะความไม่ประมาทเป็นเหตุ
๒. ชื่อเสียงอันดีงามย่อมฟุ้งขจรไป
๓. เป็นผู้แกล้วกล้าอาจหาญในที่ประชุม
๔. เมื่อจะตายไม่หลงตาย หมายความว่า ตายด้วยความสงบ มีสติสัมปชัญญะ
๕. เมื่อสิ้นชีพแล้วย่อมบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์


อุบาสกและอุบาสิกาชาวปาฏลิคามชื่นชมยินดีในพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค แล้วลากลับไป

สมัยนั้น สุนีธมหาอำมาตย์และวัสสการพราหมณ์แห่งนครราชคฤห์ คิดจะสร้างเมืองใหม่ ณ ปาฏลิคาม (ซึ่งต่อมาเป็นเมืองปาฏลีบุตร และปัจจุบันคือเมืองปัตตนะ)

พระพุทธองค์ทรงเห็นด้วยทิพยจักษุ แล้วตรัสกับพระอานนท์ว่า เทวดาผู้มีศีลศักดิ์ใหญ่อยู่ ณ พื้นที่ใด ก็ทำให้จิตของมหาอำมาตย์ผู้ใหญ่น้อมไปเพื่อจะสร้างที่อยู่ของตน ณ พื้นที่นั้น เทวดาผู้มีศักดิ์ปานกลางและมีศักดิ์ต่ำก็เช่นเดียวกัน สถิตอยู่ ณ พื้นที่ใดก็น้อมจิตของราชมหาอำมาตย์ผู้มีศักดิ์ปานกลางและศักดิ์ต่ำให้สร้างที่อยู่ในพื้นที่ของตนๆ

สุนีธมหาอำมาตย์และวัสสการพราหมณ์ได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จผ่านมาทางนั้น จึงได้เข้าเฝ้าและกราบทูลอาราธนาให้ไปเสวย ณ นิเวศของตน พระพุทธองค์เสวยแล้วทรงอนุโมทนาว่า

“บัณฑิตอยู่ ณ ที่ใด ย่อมเลี้ยงดูผู้มีศีล ผู้สำรวมดีแล้ว ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ณ ที่นั้น และอุทิศส่วนกุศลให้แก่เทวดาทั้งหลายผู้สถิตอยู่ในที่นั้น เทวดาผู้ได้รับการบูชาแล้ว ย่อมบูชาตอบ ผู้ได้รับการนับถือแล้วย่อมนับถือตอบ แต่นั้นเทวดาย่อมอนุเคราะห์บุคคลนั้น เหมือนมารดาอนุเคราะห์บุตร บุคคลผู้อันเทวดาอนุเคราะห์แล้ว ย่อมพบเห็นแต่สิ่งที่ดีงาม”

หลังจากภัตกิจและอนุโมทนาแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จข้ามแม่น้ำคงคาไปทางฝั่งโน้น สุนีธมหาอำมาตย์และวัสสการพราหมณ์ตั้งใจไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จออกทางประตูใดจะตั้งชื่อประตูนั้นว่า “โคตมะ” เสด็จข้ามฝั่ง ณ ท่าน้ำใดก็จะตั้งชื่อท่าน้ำนั้นว่า “ท่าโคตมะ”

ก็สมัยนั้นแล น้ำในแม่น้ำคงคาปริ่มฝั่งประชาชนผู้ที่ต้องการจะข้ามไป ต่างก็เตรียมเรือบ้างแพบ้างแต่พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ทรงข้ามไปโดยไม่ต้องอาศัยเรือหรือแพเลย ทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า

“ชนเหล่าใดจะข้ามห้วงน้ำคือสงสาร และสระคือตัณหา ชนเหล่านั้นกระทำสะพานคืออริยมรรค ไม่แตะต้องเปือกตมคือกามทั้งหลาย จึงข้ามสถานที่ลุ่มอันเต็มด้วยน้ำได้ ก็ชนแม้ต้องการจะข้ามน้ำมีประมาณน้อย ก็ต้องผูกแพ ส่วนพระพุทธเจ้าและพุทธสาวกทั้งหลายผู้มีปัญญา เว้นจากแพก็ข้ามได้”

อธิบายความ
๑. โทษแห่งผู้ทุศีลหรือศีลวิบัติ เช่น เสื่อมทรัพย์เพราะความประมาทเป็นเหตุ ตัวอย่างเช่น ประมาท มัวเมาในอบายมุขต่างๆ ทำให้เสื่อมทรัพย์ ล่วงละเมิดศีล เช่น ไปฆ่าเขา ลักทรัพย์หรือฉ้อโกงทรัพย์ของเขา ถูกจับได้ต้องติดคุกหรือต้องเสียทรัพย์มากมายในการสู้คดีความ ทรัพย์เก่าก็หมดไป ทรัพย์ใหม่ก็หาไม่ได้ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ไม่กล้าหาญในที่ประชุม เพราะเกรงจะถูกท้วงติงถึงความผิด เมื่อจะตายระลึกถึงกรรมชั่วของตนทำให้หลงตาย ตายแล้วยังต้องไปทุคติอีก

ส่วนผู้มีศีลดี มีศีลสมบัติหรือสีลสัมปทา ย่อมได้รับผลตรงกันข้ามกับผู้มีศีลวิบัติ กล่าวคือ ได้โภคะเป็นอันมาก เพราะความไม่ประมาทเป็นเหตุ มีความเพียรหมั่นประกอบสัมมาชีพ ได้ความสบายใจ มีชื่อเสียงอันดีงาม เข้าไหนเข้าได้ไม่เก้อเขิน เมื่อถึงคราวจะตายระลึกถึงคุณความดีของตน ทำให้ได้สุขโสมนัส ไม่หลงตาย ตายแล้วไปสุคติ เป็นกำไรของชีวิต

๒. เรื่องเทวดาประจำพื้นที่ซึ่งปรากฏในเรื่องนี้ น่าจะเป็นต้นเค้าให้มีการสร้างศาลพระภูมิ เพื่อให้เทวดาประจำพื้นที่ได้อยู่อาศัย ท่านจะอยู่หรือไม่อยู่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผู้ที่จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีทิพยจักษุ หรือสามารถจะติดต่อกับเทวดาได้ ขอฝากไว้สำหรับท่านผู้อ่านได้พิจารณาต่อไปด้วย

ในพระพุทธพจน์ที่ทรงอนุโมทนาในที่นี้ ทรงแนะนำให้ทำบุญอุทิศให้เทวดา และตรัสว่าเมื่อบูชาและนับถือเทวดา ย่อมได้รับการบูชาและนับถือตอบ จากนั้นเทวดาย่อมอนุเคราะห์เขา เหมือนมารดาอนุเคราะห์บุตร ผู้ที่เทวดาอนุเคราะห์แล้วย่อมพบเห็นแต่สิ่งที่ดีงาม ตามพระพุทธพจน์นี้แสดงว่า เทวดาที่ช่วยคุ้มครองรักษาคนดีก็มีอยู่

ในอานิสงส์แห่งการเจริญเมตตา ๑๑ ประการก็มีอยู่ประการหนึ่งว่า เทวดาทั้งหลายย่อมช่วยรักษา เทวดาก็ยังต้องการบุญเหมือนกัน เราจึงต้องทำบุญอุทิศให้เทวดาบ้าง เพื่อท่านจะได้อนุเคราะห์ช่วยเหลือในคราวจำเป็นหรือคับขัน แต่เราต้องช่วยตัวเองด้วยให้มาก

๓. เรื่องพระพุทธอุทานในที่นี้เกี่ยวกับเรื่องห้วงน้ำ ถ้าพิจารณาตามต้นเรื่อง พระพุทธเจ้าทรงข้ามแม่น้ำโดยไม่ต้องใช้เรือหรือแพ คงจะทรงใช้ฤทธิ์ข้ามไป รวมทั้งภิกษุสงฆ์ผู้มีฤทธิ์ด้วย เช่น เดินบนน้ำหรือเหาะไป ส่วนคนทั้งหลายต้องใช้เรือหรือแพข้ามไปเพราะไม่มีฤทธิ์เช่นนั้น

แต่พระอรรถกถาจารย์อธิบายน้อมเข้ามาทางธรรม เช่นว่า ห้วงน้ำคือสังสารวัฏ แม่น้ำคือตัณหา สะพานคืออริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ ส่วนเปือกตมนั้น อรรถกถาอธิบายเป็นที่ลาดลุ่มซึ่งเปี่ยมด้วยน้ำ แต่มีพระพุทธพจน์บางแห่งตรัสว่า

“เปือกตมคือกาม หนามคือกาม อันผู้ใดข้ามพ้นได้แล้ว ย่ำยีได้แล้ว ผู้นั้นถึงความสิ้นไปแห่งตัณหา ย่อมไม่หวั่นไหวในสุขและทุกข์” (อรรถกถาธรรมบท ภาค ๑ กล่าวว่าเป็นพระพุทธอุทาน เกี่ยวกับเรื่องพระนันทะ)

(จากคัมภีร์อุทาน ปาฏลิคามิยวรรค ในหนังสือพุทธอุทาน โดย อาจารย์วศิน อินทสระ)

เรื่องพุทธอุทานนี้ หมายถึง พระพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสในโอกาสต่างๆ เพราะปรารภเรื่องต่างๆ ซึ่งอาจารย์วศินบอกว่าได้อาศัยพระสูตรและอรรถกถาแปลคัมภีร์อุทานของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นคู่มือ และพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี เล่ม ๒๕ ของมหามกุฏราชวิทยาลัย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 181 มกราคม 2559 โดย อ.วศิน อินทสระ)
กำลังโหลดความคิดเห็น