xs
xsm
sm
md
lg

สแกนทุกมิติ ไขความลับ... นครวัดกว้างใหญ่กว่าที่เคยรู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้จะไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศไทย แต่ก็คงไม่มีใครไม่รู้จักนครวัด โบราณสถานที่ยิ่งใหญ่สุดอลังการ และโดดเด่นสวยงามอย่างมีเอกลักษณ์

นครวัดตั้งอยู่ในเขตประเทศกัมพูชา เป็นสัญลักษณ์และความภาคภูมิใจของชาวกัมพูชา ซึ่งประดับอยู่บนผืนธงประจำชาติ เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรเขมรโบราณ และปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีคนเขียนเรื่องราวของนครวัดเป็นหนังสือขายก็มาก ใช้เป็นฉากผูกเรื่องราวสร้างเป็นภาพยนตร์ก็ไม่น้อย

แต่นครวัดอันเก่าแก่ ที่ชาวตะวันตกตื่นตะลึงยามแรกพบ ในสภาพทิ้งร้างกลางป่ารกเรื้อ แล้วเผยแพร่ให้ทั่วโลกรับรู้นั้น มาวันนี้มีข้อมูลใหม่ โดยเว็บไซต์ www.buddhistdoor.net ได้เสนอข่าวว่า หลังจากใช้เรดาร์และเลเซอร์สแกนเมืองทั้งเมือง ทำให้เห็นถึงสภาพของเมืองเมื่อหลายร้อยปีก่อนได้ชัดเจนขึ้น และยังพบว่า มีขนาดพื้นที่กว้างมากกว่าตัวเลขที่ได้เคยบันทึกไว้เสียอีก

“See Angkor Wat and Die” เห็นนครวัดก็ตายตาหลับแล้ว
เจ้าของวลียอดนิยมนี้คือ “อาร์โนลด์ ทอยน์บี” นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่มีผลงานเขียนมากมาย เขาเดินทางไปกัมพูชาเมื่อประมาณ 60 ปีก่อน ความงดงามยิ่งใหญ่น่าตื่นตา ทำให้ทั่วโลกตื่นตัว หันมาสนใจเรื่องราวและค้นหาเมืองพระนคร เมืองหลวงโบราณอันลี้ลับนี้

นครวัดตั้งอยู่ในจังหวัดเสียมราฐ (เสียบเรียบ) ห่างจากกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชาไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 310 กิโลเมตร

โบราณสถานนครวัดมีอายุประมาณ 900 ปี สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 ในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมัน ที่ 2 เพื่อเป็นเทวสถานตามคติความเชื่อของฮินดูหรือพราหมณ์ ซึ่งเขมรในยุคนั้นได้รับอิทธิพลความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมจากอินเดียมาเนิ่นนาน

พระเจ้าสุริยวรมัน ที่ 2 โปรดให้สร้างจำลองตามโครงสร้างจักรวาล ให้ปราสาทประธานเป็นเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแก่นแห่งจักรวาล โดยตั้งอยู่ใจกลาง และมีปราสาทมุขเป็นทวีปล้อมรอบ 4 ทิศ ผุดขึ้นท่ามกลางมหานทีสีทันดร

ต่อมาภายหลัง ในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมัน ที่ 7 ได้เปลี่ยนมาเป็นศาสนสถานทางพุทธศาสนา และสร้างเมืองนครธม พร้อมกับย้ายเมืองหลวงจากนครวัดไปนครธม เมื่อสิ้นสุดยุครุ่งเรืองของอาณาจักรขอม นครวัดก็ถูกทิ้งร้าง

นครวัดเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาทางสถาปัตยกรรมและประติมากรรมของชาวขอมโบราณ ยืนยันความยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองของอาณาจักรเขมรในอดีตได้เป็นอย่างดี นครวัดเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโบราณสถานที่เรียกรวมกันว่า เมืองพระนคร หรืออังกอร์ (Angkor) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESSCO) เมื่อปี พ.ศ. 2535 ในชื่อเป็นทางการว่า เมืองพระนคร (Angkor) ซึ่งประกอบด้วย นครวัด นครธม ปราสาทบายน โบราณสถาน สิ่งก่อสร้างอื่นๆ รวมถึงผืนป่าโดยรอบบริเวณนั้น ครอบคลุมเนื้อที่มากกว่า 400 ตารางกิโลเมตร

เครื่องมือทันสมัย ไขความรู้ทุกมิติ
เมื่อประกาศเป็นมรดกโลก การบูรณะนครวัดก็ดำเนินมาตลอด พร้อมกับงานวิจัยทางโบราณคดีที่ยังทำได้จำกัดและใช้เวลา เพราะสภาพความเก่าแก่เสื่อมสลายไปตามกาล เช่น บ้านเรือนราษฎรและวังที่ทำด้วยไม้ ผุพังจนหมด และสภาพพื้นที่ที่มีต้นไม้ปกคลุม

ทว่าความพยายามของนักโบราณคดียังไม่สิ้นสุด เดิมทีคนสนใจศึกษาแต่ซากอิฐหิน ศิลปะและจารึกที่พบบนกองอิฐหินนั้น ซึ่งถือว่าเป็นอาคารสาธารณะ ส่วนเขตบ้านเรือนที่อยู่อาศัยยังรู้กันน้อยมาก เพราะอาคารสาธารณะอย่างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา จะสร้างด้วยอิฐหินปูนทราย มีความคงทน แต่ถ้าเป็นวังหรือบ้านเรือนผู้คนจะใช้วัสดุที่เสื่อมสลายง่ายอย่างไม้และหลังคาจาก ซึ่งไม่หลงเหลือให้เห็นตอนทำวิจัย

แต่นักวิจัยก็ยังสืบเสาะหาร่องรอยจนได้ โดยศึกษาจากการผันแปรตามสภาพภูมิประเทศ ซึ่งบอกให้รู้ว่าเคยเป็นถนน คลอง บ่อน้ำ คันนา และองค์ประกอบอื่นๆ ของความเป็นเมืองและสังคมเกษตรกรรม มีการใช้เทคนิคการสำรวจข้อมูลระยะไกลทำแผนที่ เพื่ออธิบายพัฒนาการของเมืองและวิศวกรรมชลศาสตร์ในอดีต ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา

ครั้นเมื่อความเจริญทางเทคโนโลยีก้าวมาอีกขั้นหนึ่ง จึงเริ่มมีการนำเทคโนโลยีการสำรวจงานภูมิประเทศแบบใหม่ที่เรียกว่า ลิดาร์ (Lidar ย่อมาจาก Light Detection and Range) มาใช้ ซึ่งประกอบด้วยเลเซอร์ที่ยิงจากอากาศลงมา ร่วมกับเรดาร์ที่สแกนลึกลงไปได้ถึงใต้ดิน จึงให้ข้อมูลระดับภูมิประเทศเชิงรหัสที่มีความละเอียดสูง ข้อมูลดิบที่ได้จะนำมารวมกับข้อมูลเชิงตำแหน่งจาก GPS เพื่อประมวลผล แล้วสร้างแบบจำลองระดับและเส้นชั้นความสูง เป็นเทคโนโลยีที่ให้ประโยชน์ต่อการสำรวจภูมิประเทศ โดยเฉพาะการวิจัยทางโบราณคดีอย่างมาก นักวิจัยกลุ่มหนึ่งจากออสเตรเลียจึงคิดหาวิธีการที่จะไขความลับของเมืองพระนคร โดยพึ่งเครื่องมืออันทันสมัยนี้

3 สถาบันรวมพลัง ร่วมสแกนเมืองพระนคร
งานวิจัยที่สำรวจเมืองพระนครด้วยเลเซอร์ทางอากาศนี้ เป็นโครงการในข้อตกลงการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (The University of Sydney) ประเทศออสเตรเลีย กับองค์การเพื่อการพิทักษ์และการจัดการเมืองพระนครและภูมิภาคเสียมเรียบ (Authority for the Protection and Management of Angkor and the Region of Siem Reap หรือ APSARA) ของกัมพูชา และสถาบันวิจัยเอเชียของฝรั่งเศส ที่มีชื่อว่า École Française d'Extrême Orient (EFEO) ซึ่งศึกษาเมืองพระนครมานานแล้ว

วัตถุประสงค์การวิจัยเมืองพระนครนี้ มีขึ้นเพื่อศึกษาและจัดทำผังเมืองของเมืองพระนคร โดยใช้ทั้งการวิจัยบริสุทธิ์ (pure research) และการวิจัยประยุกต์ (applied research) ใช้ระบบสหศาสตร์ (multidisciplinary) ด้วยการประสานความรู้และทีมงานจากหลายสาขา มาร่วมศึกษาสังคมเมือง และหัวข้ออื่นที่เกี่ยวข้องในเขตเมืองพระนคร รวมทั้งด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และมรดกของเมืองพระนคร และเมืองที่เกี่ยวข้องในสมัยเดียวกัน

แผนของการวิจัยในระยะแรกเน้นการจัดการพื้นที่ การทำงาน การดำเนินชีวิตในสังคม การพัฒนาและการสิ้นสูญของเมืองพระนคร ในด้านนิเวศวิทยาและเรื่องอื่นในแนวเดียวกัน คณะทำงานตั้งศูนย์วิจัยอยู่ที่เสียมเรียบ และได้ดำเนินการมานานกว่า 15 ปีแล้ว

เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวถึงโครงการ Greater Angkor ในกัมพูชา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการวิจัยเมืองพระนครที่กล่าวมาข้างต้น ว่ามีศาสตราจารย์โรแลนด์ เฟล็ตเชอร์ (Roland Fletcher) และ ดร.ดาเมียน อีวานส์ (Damian Evans) แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

ทีมงานได้ทำการสำรวจและลงแผนที่เมืองพระนคร โดยสแกนภาพด้วยระบบเลเซอร์ทางอากาศ (airborn laser scanning) เพื่อสำรวจรังวัด และใช้เรดาร์ตรวจสอบสภาพภายในและใต้โครงสร้างถึงชั้นใต้ดิน (GPR หรือ ground-penetrating radar) ซึ่งสองวิธีนี้จะไม่ทำลายโบราณสถานที่สำรวจ นอกจากนี้ ยังมีการขุดค้นหาวัตถุโบราณในสถานที่ประวัติศาสตร์ประกอบด้วย

เผยข้อมูลใหม่ นครวัดใหญ่กว่าที่คิด
คณะทำงานมหาวิทยาลัยซิดนีย์ หน่วยงานของกัมพูชา และสถาบันเอเชียศึกษาของฝรั่งเศส ได้เผยแพร่ผลการสำรวจในเว็บไซต์ของวารสารทางวิชาการของอเมริกา (www.pnas.org) ว่าพบสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะพิเศษเพิ่มจากที่เห็นจำนวนมาก

ที่น่าสนใจยิ่งอย่างหนึ่งคือ พบ “สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ 1,500 เมตร X 600 เมตร” เป็นหินทรายและอิฐ เรียงตัววนเป็นเกลียวอยู่ในรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ศาสตราจารย์เฟล็ตเชอร์ แผนกโบราณคดี มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะวิจัยครั้งนี้กล่าวว่า “เป็นการค้นพบเกี่ยวกับนครวัดที่น่าทึ่งที่สุดในปัจจุบัน” แต่คำถามที่ว่า สิ่งก่อสร้างนี้สร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์อะไรนั้น ยังเป็นปริศนาที่ต้องศึกษากันต่อไป

ทีมงานยังค้นพบอีกว่า ในอาณาบริเวณของของนครวัด มีกลุ่มสิ่งก่อสร้างทรงสูง 8 หลัง ที่สร้างขึ้นแล้วต่อมาพังโค่นหรือทำถูกทำลาย ในระหว่างการก่อสร้างและเริ่มใช้ปราสาทประธานของนครวัด และถูกฝังทับถมอยู่ใต้ดินนั้น ซากที่เหลืออยู่ส่วนนี้ สันนิษฐานได้ว่า อาจจะเป็นศาลบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในระหว่างการก่อสร้าง

นอกจากนี้ ผลการสำรวจด้วยลิดาร์พบว่า ศูนย์กลางของเมืองพระนครครอบคลุมออกไปจากเขตกำแพงนครธมที่เคยระบุว่า 9 ตารางกิโลเมตร จริงๆแล้วน่าจะไม่ต่ำกว่า 35 ตารางกิโลเมตร เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ใน 35 ตารางกิโลเมตรนี้ มีแนวการจัดแบ่งเป็นเส้นตั้งฉากของลำคลองหรือถนน ภายในพื้นที่มุมฉากอาจจะเป็นสระน้ำหรืออ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ยกเว้นทางทิศใต้ของนครวัด ที่พบสิ่งก่อสร้างเป็นแนวขดวงภายในรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าดังได้กล่าวแล้ว ประกอบกับมีวัดอีกจำนวนมาก ที่ตั้งอยู่นอกใจกลางเมืองพระนคร และไม่สัมพันธ์กับผังเมืองหลัก แต่มีรูปแบบพื้นที่เหมือนกันทั้งวัดในและนอกแนวคูเมืองและแนวกำแพงเมือง ซึ่งอาจจะบอกได้ว่า เมืองพระนครประกอบด้วยเมืองย่อยๆที่มีศูนย์กลางเมือง และล้อมด้วยพื้นที่ชนบทที่ทำการเกษตร

ใหญ่เพียงใดก็มีวันล่มสลาย
แม้บางสิ่งบางอย่างจะผุพังไปกับกาลเวลาตามธรรมชาติ แต่เครื่องมืออันทันสมัย ก็ยังสามารถจับร่องรอยบอกเล่าได้ว่า เคยมีแนวรั้วไม้ล้อมรอบนครวัด ที่สร้างขึ้นในช่วงปลายของประวัติศาสตร์นครวัดนั้นเอง ทำให้คาดเดาได้ว่า น่าจะเป็นแนวป้อมปราการ ที่สร้างขึ้นมารับมือกับการโจมตีของอาณาจักรที่มีอำนาจมากกว่า อย่างกรุงศรีอยุธยา

ศาสตราจารย์เฟล็ตเชอร์บอกว่า “นครวัดน่าจะเป็นตัวอย่างของวัดเขมรแห่งแรกเท่าที่ได้ศึกษามา ที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการป้องกันศัตรูรุกราน”

แนวป้อมปราการไม้นี้ สร้างขึ้นในช่วงปลายของเมืองพระนคร น่าจะเป็น พ.ศ. 1840-2128 หรือ พ.ศ. 2128 ถึง 2173 แต่จะเป็นช่วงใด ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นสิ่งก่อสร้างสุดท้ายของนครวัด ก่อนจะถูกทิ้งร้าง

ส่วนสาเหตุการถูกทิ้งร้างนั้น เป็นไปได้ว่าเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติ โดยเมื่อศึกษาลักษณะภูมิอากาศของโลก จากข้อมูลของอาณาจักรอื่นๆ ที่ถูกทิ้งร้างในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น มายา ก็อาจสรุปได้ว่า ดินแดนเขมรโบราณเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ซึ่งแม้จะมีการพยายามแก้ไขด้วยการขุดบ่อน้ำขนาดใหญ่ และมีคูคลองชลประทานที่ดี แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาอันสำคัญต่อการดำรงชีวิต ผู้คนจึงอพยพย้ายออกไปอาศัยในเมืองเกิดใหม่ ตามลุ่มน้ำที่เป็นเส้นทางการค้าสู่ชายฝั่งทะเล

ดูเหมือนเรื่องราวของอดีตหลายร้อยปีก่อน ได้คลี่คลายออกมามากขึ้นแล้ว เครื่องมือทันสมัยช่วยยืนข้อมูลเดิมบางอย่าง และก็ช่วยให้ค้นพบหลักฐานใหม่ที่น่าทึ่งไม่น้อย ดังนั้น หากงานวิจัยนี้ถูกต้อง ก็เท่ากับเปิดมิติให้เราศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับนครวัดกันใหม่ พร้อมกับคำถามใหม่ที่จะต้องศึกษากันต่อไป

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 182 กุมภาพันธ์ 2559 โดย วิรีย์พร)
กำลังโหลดความคิดเห็น