ในการเดินทางไปสู่ความสำเร็จของชีวิตที่ปรารถนา จุดเริ่มต้นก็คือการใช้ความคิดพิจารณาในสิ่งที่ตนเองปรารถนา แล้วจึงนำความรู้ที่ตนเองมีอยู่มาวางแผนชีวิตให้ดำเนินไปสู่ความปรารถนานั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสอนบัณฑิตให้รู้จักการใช้ความคิด ในพระบรมราโชวาท พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ความว่า
“...การศึกษาในมหาวิทยาลัย กล่าวตามหลัก ควรจะได้แก่การสร้างเสริมความสามารถ และความเจริญงอกงามของบุคคล ในทางวิชาการส่วนหนึ่ง ในทางความคิดส่วนหนึ่ง ซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว จะทำให้บุคคลมีพละกำลัง สามารถนำไปใช้ปฏิบัติงานใหญ่ๆ ของส่วนรวมให้สำเร็จได้
วิชากับความคิดนี้ ถ้าพิจารณาดูจะเห็นว่า ความคิดเป็นตัวนำวิชา คือความคิดจะต้องเกิดขึ้นก่อน จึงจะนำเอาวิชามาใช้ได้ แต่การคิดนั้นอาจคิดได้หลายอย่าง จะคิดให้วัฒนะ คือคิดแล้วทำให้เจริญงอกงามก็ได้ จะคิดให้หายนะ คือคิดแล้วทำให้พินาศฉิบหายก็ได้
การคิดให้เจริญจึงต้องมีหลักอาศัย หมายความว่าเมื่อคิดเรื่องใดสิ่งใด ต้องตั้งใจให้มั่นคงในความเป็นกลาง ไม่ปล่อยให้อคติอย่างหนึ่งอย่างใดครอบงำ ให้มีแต่ความจริงใจอันเที่ยงตรง ตามเหตุตามผลที่ถูกแท้และเป็นธรรม ซึ่งจะทำให้หยั่งทราบถึงจุดมุ่งหมาย และประโยชน์ที่แท้จริงของภารกิจที่จะทำ พร้อมทั้งวิถีทางที่จะทำการนั้นโดยถูกถ้วนแน่นอน และเมื่อความคิดเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ก็จะสามารถนำเอาวิชาการมาใช้สร้างสรรค์ประโยชน์ ความสำเร็จ และความเจริญ ให้สำเร็จได้อย่างสมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพเต็มเปี่ยม...”
เมื่อพิจารณาพระบรมราโชวาทนี้ ย่อมทำให้ตระหนักว่า ความคิดเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดของความสำเร็จที่ตนปรารถนา เมื่อสามารถใช้ความคิดในทางวัฒนะ ย่อมเป็นโอกาสที่จะพาชีวิตของตนไปสู่ความสำเร็จได้
เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน เจ้าของธุรกิจกว่า 360 บริษัท ที่ใช้ชื่อการค้า “เวอร์จิ้น” กล่าวถึงเคล็ดลับในการเริ่มต้นกิจการไว้ข้อหนึ่งว่า “ไม่ว่าคุณจะมีผลิตภัณฑ์ บริการ หรือแบรนด์อะไรก็ตามอยู่ในมือ การก่อตั้งบริษัทที่จะอยู่รอดและประสบความสำเร็จในยุคนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณจะต้องทำอะไรบางอย่างที่แตกต่างกับคนอื่นอย่างมาก เพื่อให้เป็นที่รู้จัก ดูอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จที่สุดในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา ไม่ว่า ไมโครซอฟท์ กูเกิล แอปเปิล หรือเฟซบุ๊ค ทุกธุรกิจล้วนสร้างความสั่นสะเทือนให้กับโลกที่เราอาศัยอยู่ จากการทำในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และยังคงทำเช่นนั้นตลอดมา จนพวกเขากลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลกธุรกิจไปแล้ว
ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีเป้าหมายถึงระดับนั้น แต่เมื่อไรที่คุณคิดจะเข้าไปในภาคธุรกิจ ที่มีผู้เล่นแน่นเอี๊ยดอยู่แล้วละก็ คุณต้องพร้อมที่จะให้บริการชั้นยอด ชนิดที่เฉือนคู่แข่งกระจุยไปเลย ตอนที่เราเริ่มทำสายการบินเวอร์จิ้นแอตแลนติก โฟกัสของเราธรรมดามาก คือการมีลูกเรือที่จะให้บริการชั้นยอดกับผู้โดยสารอย่างแท้จริง คิดดูแล้วกันว่า มันเป็นไอเดียที่สร้างสรรค์ขนาดไหนสำหรับสายการบิน”
สตีฟ จอบส์ อดีตประธานบริหารของแอปเปิลคอมพิวเตอร์ ได้ให้ข้อคิดที่จะสร้างความเจริญแก่ชีวิตไว้ว่า “...จงกระหาย และทำตัวโง่ให้ตลอดเวลา เพราะถ้าเมื่อไหร่เราอิ่ม และเรารู้สึกว่าตัวเองฉลาด เราจะไม่มีทางพัฒนา...คนส่วนใหญ่คิดว่าความตั้งใจ หมายถึงการพูดว่าใช่ ในสิ่งที่คุณสนใจ แต่มันไม่ใช่เลย มันหมายถึงการปฏิเสธไอเดียดีๆอื่นอีกหลายร้อยแบบที่มี คุณจะต้องเลือกทำอย่างระมัดระวัง....งานของคุณคือการเติมเต็มในสิ่งที่สำคัญในชีวิตคุณ และทางเดียวที่จะพอใจได้คือ การทำในสิ่งที่คุณเชื่อว่ามันคือสิ่งที่ดี และทางเดียวที่จะทำงานที่ดีได้คือรักในสิ่งที่คุณทำ...”
เพื่อให้ได้ตระหนักถึงการใช้ความคิดในทางวัฒนะ ขอให้พิจารณาธรรมในธรรมบทเรื่อง นันทโคปาลกะ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ความคิดที่ตั้งไว้ผิด ทำความฉิบหายให้ยิ่งกว่าเหตุใดๆ มีเนื้อความดังนี้
ในสมัยที่พระพุทธองค์ประทับ ณ เชตวันวิหาร ในกรุงสาวัตถี นายนันทะเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีสมบัติมาก แต่ด้วยความประสงค์ที่จะหลบหลีกความบีบคั้นแห่งพระราชา เพื่อรักษาขุมทรัพย์ของตน เขาจึงมาทำงานเป็นคนดูแลฝูงโคของอนาถบิณฑิกเศรษฐี วันหนึ่งเขาได้เข้าไปที่เรือนอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้พบพระพุทธองค์ แล้วได้ฟังพระสัทธรรมที่ทรงแสดง เกิดความเลื่อมใส จึงทูลอาราธนาให้เสด็จไปรับบิณฑบาตที่เรือนของตน
พระพุทธเจ้าทรงรับอาราธนา แล้วทรงรอให้นายนันทะมีความแก่กล้าแห่งญาณอยู่ เมื่อทรงทราบว่านายนันทะมีญาณแก่กล้าแล้ว วันหนึ่งพระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จึงเสด็จไปที่เรือนของนายนันทะ ซึ่งเขาได้จัดภัตตาหารอันประณีตถวาย เป็นเวลา ๗ วัน
ในวันที่ ๗ พระศาสดาทรงกระทำอนุโมทนาเสร็จแล้ว ได้แสดงธรรมจนนายนันทะบรรลุโสดาปัตติผล จากนั้นนายนันทะได้ตามส่งเสด็จพระศาสดา เมื่อไปได้ระยะหนึ่ง พระศาสดารับสั่งให้กลับ เขาก็ถวายบังคมแล้วลากลับ แต่ขณะที่เดินกลับเรือนนั้น ได้ถูกนายพรานคนหนึ่งแทงตาย
พวกภิกษุที่เดินตามเสด็จอยู่ข้างหลัง ได้เห็นเหตุการณ์นั้น จึงไปกราบทูลพระพุทธองค์ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นายนันทะ ถวายมหาทานตามส่งเสด็จแล้วกลับไป ถูกนายพรานฆ่าตายเสียแล้ว ก็เพราะความที่พระองค์เสด็จมาแล้วในที่นี้ ถ้าว่าพระองค์จักมิได้เสด็จมาแล้วไซร้ ความตายจักไม่ได้มีแก่เขาเลย”
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรามาก็ตาม มิได้มาก็ตาม ชื่อว่า อุบายเป็นเครื่องพ้นจากความตายของนายนันทะนั้น แม้ผู้ไปอยู่สู่ทิศใหญ่ ๔ สู่ทิศน้อย ๔ ย่อมไม่มี ด้วยว่าจิตเท่านั้นซึ่งตั้งไว้ผิดแล้ว อันเป็นไปในภายในของสัตว์เหล่านี้ ย่อมทำความพินาศ ฉิบหาย ที่พวกโจร (หรือ) พวกคนจองเวรจะทำ(ให้)ไม่ได้”
แล้วตรัสคาถาที่แปลความได้ว่า “จิตซึ่งตั้งไว้ผิดแล้ว พึงทำเขา (บุคคล) นั้นให้เลวทรามยิ่งกว่าความพินาศฉิบหายที่โจรเห็นโจร หรือคนจองเวรเห็นคนจองเวรทำ (แก่กัน) นั้น (เสียอีก)”
“จิต” ในความหมายตามราชบัณฑิตยสถาน คือ ใจ สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก ในที่นี้เพื่อความเข้าใจที่ง่าย ขอใช้ในความหมายว่า “ความคิด” ซึ่งเมื่อนำมาประกอบกับคาถาที่ทรงแสดง จะได้ความว่า ความคิดซึ่งตั้งไว้ผิดแล้ว พึงทำบุคคลนั้นให้เลวทรามยิ่งกว่าความพินาศฉิบหายที่โจรเห็นโจร หรือคนจองเวรเห็นคนจองเวรทำแก่กันนั้นเสียอีก นี่จึงตรงกับพระบรมราโชวาทที่ตรัสว่า “จะคิดให้หายนะ คือคิดแล้วทำให้พินาศฉิบหายก็ได้”
เมื่อมีความปรารถนาให้ตนเองประสบความสำเร็จในชีวิต จงรู้จักคิดให้วัฒนะ เป็นปฐมเถิด
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 178 ตุลาคม 2558 โดย พระครูพิศาลสรนาท วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)