xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : ความรู้คู่คุณธรรม นำสู่ความสำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“… การที่จะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนา คือ ที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จำเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วย

เพราะเหตุว่าความรู้นั้นเป็นเหมือนเครื่องยนต์ ที่ทำให้ยวดยานเคลื่อนไปได้ประการเดียว ส่วนคุณธรรมดังกล่าวแล้วเป็นเหมือนหนึ่งพวงมาลัยหรือหางเสือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำพาให้ยวดยานดำเนินไปถูกทาง ด้วยความสวัสดี คือปลอดภัยจนบรรลุถึงจุดหมายที่พึงประสงค์

ดังนั้น ในการที่จะประกอบการงานเพื่อตนเพื่อส่วนรวมต่อไป ขอให้ทุกคนสำนึกไว้เป็นนิจ โดยตระหนักว่าการงาน สังคม และบ้านเมืองนั้น ถ้าขาดผู้มีความรู้เป็นผู้บริหารดำเนินการ ย่อมเจริญก้าวหน้าไปได้โดยยาก แต่ถ้างานใด สังคมใด และบ้านเมืองใดก็ตาม ขาดบุคคลผู้มีคุณธรรมความดีสุจริตแล้ว จะดำรงอยู่มิได้เลย…”


(ความตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๐)

เมื่อมีความเข้าใจในพระบรมราโชวาทองค์นี้ ย่อมนำให้เข้าใจถึงความมั่นคงขององค์กรทางธุรกิจ ที่สามารถดำเนินกิจการมาได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน องค์กรเหล่านี้ล้วนได้รับความเชื่อมั่นจากสังคมในเรื่องความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจและความถูกต้องเป็นธรรม นี่เป็นคุณลักษณะที่องค์กรต้องเรียกร้องจากพนักงานของตนเอง

บริษัท อาลีบาบา จำกัด ของ แจ็ค หม่า เคยเผชิญกับวิกฤตความเชื่อมั่นใน ปี ค.ศ. 2011 เพราะความปรารถนาทำยอดขายของพนักงานในบริษัท ซึ่งเป็นเหตุทำให้พนักงานของบริษัทได้ละเมิดหลักการซื่อสัตย์และค่านิยมของบริษัท อันส่งผลต่อกิจการของบริษัท

เมื่อดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังแล้ว แจ็ค หม่า ก็ได้เขียนสารบอกกับพนักงานของบริษัท โดยมีความตอนหนึ่งว่า

“...โลกนี้ ต้องการบริษัทที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น โปร่งใสยิ่งขึ้น และแบ่งปันมากยิ่งขึ้น รับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น และเป็นบริษัทระดับโลก

โลกนี้ ต้องการบริษัทที่เมื่อได้รับประโยชน์จากสังคมแล้ว ก็รู้จักกลับไปบริการสังคม เป็นบริษัทที่กล้ารับผิดชอบต่อสังคมในอนาคต

โลกนี้ ต้องการวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง สปิริตอย่างหนึ่ง ความเชื่อมั่นอย่างหนึ่ง ความรับผิดชอบอย่างหนึ่ง เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้กิจการที่เราก่อตั้งขึ้นมาด้วยความยากลำบาก ไปได้ไกลยิ่งขึ้น ดียิ่งขึ้น และเดินได้สงบยิ่งขึ้น...”


การจะสร้างพนักงานให้มีคุณธรรมในด้านความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรม ย่อมเป็นเรื่องสำคัญของผู้บริหารองค์กร จักขอนำธรรมบทเรื่องนายกาละ บุตรของอนาถบิณฑิกเศรษฐี มาแสดงให้เห็นถึงวิธีแก้ไขปัญหานี้ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ดังมีความพิสดารดังนี้

อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นเศรษฐีใจบุญชาวเมืองสาวัตถี ผู้สร้างฐานะจากการค้าขายที่ซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรม เป็นพุทธสาวกผู้เคร่งครัด ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างแข็งขัน เพราะการประพฤติตนเป็นแบบอย่างเช่นนี้ จึงนำให้ภริยาและธิดามีนิสัยเช่นนี้ไปด้วย

ท่านเศรษฐีมีบุตรชายคนเดียว ชื่อว่า กาละ ผู้ได้รับความรักจากบิดามารดาและพี่สาวน้องสาวมาอย่างดีตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้โตขึ้นมามีนิสัยเป็นคนเกียจคร้านเกเร เที่ยวเตร่ เสเพล ดูการละเล่นไปวันๆ ไม่ทำการทำงาน แม้พ่อแม่จะพร่ำสอนอบรม นายกาละก็ยังคงมีนิสัยเช่นนี้ไม่เปลี่ยนแปลง

ด้วยความรักที่มีต่อบุตร ทำให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ตระหนักในใจของตนว่า “เจ้ากาละบุตรเรา เมื่อยังถือความเห็นเช่นนี้อยู่ จักเป็นผู้มีอเวจีเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ก็เมื่อเรายังเห็นอยู่ บุตรของเราพึงไปสู่นรก ข้อนั้นไม่สมควรแก่เราเลย ก็ขึ้นชื่อว่าสัตว์ผู้ไม่เพ่งเล็งเพราะการให้ทรัพย์ ไม่มีในโลกนี้เลย เราจักทำลายความเห็นของบุตรนั้นด้วยทรัพย์”

แล้วเศรษฐีก็พูดกับนายกาละว่า “กาละลูกพ่อ ถ้าลูกเป็นผู้รักษาอุโบสถศีล ไปสู่เชตวันวิหาร ฟังธรรม พ่อจักให้เงินแก่เจ้า ครั้งละ ๑๐๐ กหาปณะ”

นายกาละคิดว่า แค่ไปนั่งฟังเทศน์ ทนๆเอาหน่อยเดี๋ยวก็ได้เงินแล้ว จึงตกปากรับคำ

เช้าตรู่วันต่อมา เศรษฐีก็ให้บริวารนำอาหารมาให้นายกาละทาน นายกาละก็บอกว่า ถ้ายังไม่ได้เงินตามสัญญา ก็จะไม่ทานอาหาร เศรษฐีจึงมอบเงินให้ เมื่อนายกาละทานอาหารแล้ว ก็ไปยังเชตวันวิหาร รักษาอุโบสถศีล ฟังธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้าทุกวัน โดยเลือกหาที่เหมาะๆ แล้วก็นั่งพิงเสาหลับสบาย หรือไม่ก็หลบหลังศาลา หรือนอนพักตามร่มไม้ในเชตวันวิหาร เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมจบแล้ว นายกาละก็รีบกลับบ้าน แล้วไปเที่ยวตามนิสัย

เหตุการณ์ดำเนินไปเช่นนี้เป็นเดือน นายกาละก็ไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมแต่อย่างใด ยังคงเที่ยวเตร่หาความสำราญดังเดิม อนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงเปลี่ยนเงื่อนไขใหม่ว่า

“กาละลูกพ่อ ถ้าลูกไปยืนตรงพระพักตร์ของพระศาสดา เรียนเอาบทแห่งธรรมให้ได้บทหนึ่ง แล้วนำมาบอกกับพ่อ พ่อจะให้ลูกครั้งละ ๑,๐๐๐ กหาปณะ”

นายกาละก็ยินดีรับคำของบิดา วันต่อมาเขาก็ไปยืนต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้า ตั้งใจว่าเมื่อฟังพระธรรมเทศนาบทหนึ่งแล้ว จะจำไปบอกพ่อ เขาก็จำได้วันละบทสองบท แล้วมารับเงินจากอนาถบิณฑิกเศรษฐี

เมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นว่านายกาละมี “อินทรีย์แก่กล้าแล้ว” คือมีความพร้อมที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว พระองค์ทรงบันดาลให้นายกาละหลงลืม พอจำตอนปลายได้ก็ลืมตอนต้น วนเวียนอยู่เช่นนี้ แต่เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมจนจบ สิ่งที่เขาลืมไปแล้วก็กลับจำได้หมด นายกาละจึงเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง เกิดปัญญาสว่างโพลงขึ้นมาจากภายในทันที และเขาได้บรรลุพระโสดาปัตติผล

วันรุ่งขึ้น นายกาละได้ตามภิกษุสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ไปยังบ้านของตน เมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีเห็นบุตรชายปฏิบัติเช่นนี้ก็รู้สึกชอบใจ ส่วนนายกาละนั้นก็วิตกว่า ไม่รู้ว่าวันนี้บิดาจะให้เงินหรือเปล่า เพราะอยู่ใกล้พระศาสดา แต่ก็น่าจะช่วยปกปิดความลับที่ตนไปฟังธรรม เพราะเห็นแก่เงิน แต่พระศาสดาได้ทรงทราบเรื่องนี้แล้วตั้งแต่เมื่อวาน

อนาถบิณฑิกเศรษฐีสั่งให้ถวายข้าวต้มแก่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ แล้วสั่งว่านำไปให้บุตรชายด้วย นายกาละนั่งนิ่งกินข้าวต้ม เช่นเดียวกับภิกษุสงฆ์

ในเวลาเสร็จภัตกิจของพระศาสดา อนาถบิณฑิกเศรษฐีให้บริวารนำห่อเงินกหาปณะพันหนึ่งไปวางไว้ตรงหน้าบุตรตามสัญญา นายกาละเห็นห่อเงินที่บิดาให้ต่อเบื้องพระพักตร์ของพระศาสดา ก็เกิดความละอาย จึงพูดว่า "ลูกไม่ต้องการเงิน" แม้บิดาจะคะยั้นคะยอเช่นไร เขาก็ไม่รับ

อนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงถวายบังคมพระศาสดา แล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ ข้าพระองค์ชอบใจอาการของบุตร”

แล้วจึงกราบทูลต่อไปว่า "ในวันก่อนๆ บุตรของข้าพระองค์นี้ อันข้าพระองค์พูดว่า 'เราจักให้กหาปณะ ๑๐๐ แก่เจ้า' แล้วส่งไปวิหาร ในวันรุ่งขึ้น ยังไม่ได้รับกหาปณะแล้ว ไม่ปรารถนาจะบริโภค แต่วันนี้ เขาไม่ปรารถนากหาปณะแม้ที่ข้าพระองค์ให้"

พระศาสดาตรัสว่า "อย่างนั้น มหาเศรษฐี วันนี้ โสดาปัตติผลนั่นแลของบุตรของท่าน ประเสริฐแม้กว่าสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ แม้กว่าสมบัติในเทวโลก และพรหมโลก"

แล้วจึงตรัสพระคาถาว่า “โสดาปัตติผล ประเสริฐกว่าความเป็นเอกราชในแผ่นดิน กว่าการไปสู่สวรรค์ และกว่าความเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง”

ดังนั้น เมื่อถึงกาลอันควร อนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงมอบภาระให้นายกาละรับผิดชอบงานของตนสืบไป

การมีความรู้คู่คุณธรรม จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับบุคคลผู้แสวงหาความสำเร็จในชีวิต เพราะการงาน สังคม และบ้านเมืองนั้น ถ้าขาดผู้มีความรู้เป็นผู้บริหารดำเนินการ ย่อมเจริญก้าวหน้าไปได้โดยยาก แต่ถ้างานใด สังคมใด และบ้านเมืองใดก็ตาม ขาดบุคคลผู้มีคุณธรรมความดีสุจริตแล้ว จะดำรงอยู่มิได้เลย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 174 มิถุนายน 2558 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)

กำลังโหลดความคิดเห็น