xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : อานิสงส์ของการ ปิดทองหลังพระ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“...การทำงานด้วยน้ำใจรัก ต้องหวังผลงานนั้นเป็นสำคัญ แม้จะไม่มีใครรู้ใครเห็น ก็ไม่น่าวิตก เพราะผลสำเร็จนั้น จะเป็นประจักษ์พยานที่มั่นคง ที่พูดเช่นนี้ เหมือนกับสอนให้ปิดทองหลังพระ

การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้ว คนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้...”


ความตอนหนึ่งใน พระบรมราโชวาท ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ นำให้เห็นการทำงานแบบปิดทองหลังพระที่ถูกต้อง นำให้ระลึกถึงเรื่องท้าวสักกะ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ มีความตามอรรถกถาโดยย่อดังนี้

พระศาสดา เมื่อทรงประทับอยู่ในกูฏาคารศาลา เมืองเวสาลี เจ้าลิจฉวีนามว่า “มหาลิ” เข้าไปเฝ้า ได้กราบทูลถามถึงท้าวสักกะ ผู้จอมแห่งเทพทั้งหลาย พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงถึงเรื่องนี้ แล้วกล่าวว่า

“ท้าวสักกะถึงความเป็นท้าวสักกะ เพราะได้สมาทานวัตตบท ๗ ใด วัตตบท ๗ นั้น ได้เป็นของท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย (ครั้ง) เกิดเป็นมนุษย์ในกาลก่อน สมาทานให้บริบูรณ์แล้ว”

แล้วพระพุทธองค์จึงตรัสว่า “มหาลิ กรรมนี้ท้าวสักกะทำไว้ในคราวเป็นมฆมาณพ จงฟังเถิด” มีความโดยพิสดารดังนี้

ในอดีตกาล มาณพชื่อว่า มฆะ อยู่ในอจลคามในแคว้นมคธ ไปสู่สถานที่ทำงานในบ้านแห่งหนึ่ง เห็นฝุ่นสกปรกในที่นั้น จึงคุ้ยฝุ่นด้วยปลายเท้าในที่ที่ตนยืนแล้ว ได้จัดทำให้สถานที่นั้นเป็นรมณียสถาน จนเสร็จ แล้วพัก เมื่อมีชายผ่านทางมาเห็นสถานที่ที่น่ายินดีที่เขาสร้าง ก็ประสงค์อยากได้ จึงผลักเขาออกจากรมณียสถานนั้น และเข้าไปยึดครองไว้เพื่อประโยชน์ของตน

มฆมานพก็ไม่โกรธต่อชายคนหนึ่ง เดินหลีกไป จนพบสถานที่ควรทำรมณียสถาน เขาก็ทำสถานที่นั้นเป็นรมณียสถานอีก เมื่อมีคนอื่นมาพบก็ขับไล่เขาออกจากสถานที่นั้น

ในวันต่อมาเขาก็ออกแสวงหาที่ที่เหมาะในการสร้างรมณียสถาน และจัดสร้างขึ้นใหม่ แล้วก็ถูกแย่งชิงไปอีก เขาก็แสวงหาสร้างรมณียสถานต่อไป ด้วยคิดว่า “ชนเหล่านั้นแม้ทั้งหมด เป็นผู้ได้รับสุขแล้ว กรรมนี้พึงเป็นกรรมให้ความสุขแก่เรา”

วันรุ่งขึ้นวันหนึ่ง มฆมานพได้ถือเอาจอบไปทำที่เท่ามณฑลแห่งลานให้เป็นรมณียสถาน มีปวงชนได้ไปพักอยู่ในที่นั้นนั่นแล ครั้นในฤดูหนาวเขาได้ก่อไฟให้คนเหล่านั้น ในฤดูร้อนได้ให้น้ำ ต่อมาเขาคิดว่า

“ชื่อรมณียสถาน เป็นที่รักของคนทั้งปวง ชื่อว่าไม่เป็นที่รักของใครๆ ไม่มี จำเดิมแต่นี้ไป เราควรเที่ยวทำหนทางให้ราบเรียบ”

แล้วจึงออกจากบ้านไปแต่เช้าตรู่ ทำหนทางให้ราบเรียบ เที่ยวตัดรานกิ่งไม้ที่ควรตัดรานเสีย ภายหลัง บุรุษอีกคนหนึ่งเห็นเขาแล้วกล่าวว่า “ทำอะไรเล่า? เพื่อน”

มฆะตอบว่า “ฉันทำหนทางเป็นที่ไปสวรรค์ของฉันละซิ เพื่อน”

บุรุษนั้นจึงกล่าวว่า “ถ้ากระนั้น แม้ฉันก็จะเป็นเพื่อนของท่าน”

มฆะตอบว่า “จงเป็นเถอะเพื่อน ธรรมดาสวรรค์ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก”

ตั้งแต่นั้นมา ทั้งสองก็ช่วยทำหนทางให้ราบเรียบ เป็นเหตุนำให้ชายอื่นอีก เห็นเขาทั้งสองแล้ว ถามเหมือนอย่างนั้นนั่นแล พอทราบแล้ว ก็เป็นสหายของคนทั้งสอง แม้คนอื่นๆ อีกก็ได้ทำอย่างนั้น รวมคนทั้งหมดจึงเป็น ๓๓ คน

เมื่อมฆมานพและเพื่อนได้กระทำหนทางให้ราบเรียบไปถึงที่ประมาณ ๑-๒ โยชน์ นายบ้านมาเห็นเข้า ก็คิดว่า “ชนเหล่านี้ประกอบแล้วในฐานะที่ไม่ควรประกอบ แม้ถ้าชนเหล่านี้ พึงนำวัตถุทั้งหลาย มีปลาและเนื้อเป็นต้นมาจากป่า หรือทำสุราแล้วดื่ม หรือทำกรรมเช่นนั้นอย่างอื่น เราพึงได้ส่วนอะไรๆ บ้าง”

แล้วก็เรียกมฆมานพและเพื่อนมาพบ แล้วถามว่า “พวกแกทำอะไรกัน?”

มฆมานพตอบว่า “ทำทางสวรรค์ ขอรับ”

นายบ้านจึงพูดว่า “ธรรมดาผู้อยู่ครองเรือนทั้งหลาย ไม่ควรจะทำอย่างนี้ ควรจะแสวงหาอาหารมาจากป่า ควรทำสุราแล้วดื่ม และควรทำการงานทั้งหลายมีประการต่างๆ”

มฆมานพและเพื่อนก็ไม่เห็นด้วยกับคำพูดของนายบ้าน ก็พูดคัดค้านขึ้น นายบ้านพยายามพูดโน้มน้าวให้เขาไปทำอย่างอื่นที่ก่อประโยชน์แก่ตน มฆมานพและเพื่อนก็ไม่ยินยอม จนในที่สุด นายบ้านก็เกิดความโกรธขึ้น อาฆาตในใจว่า “เราจักให้พวกมันฉิบหาย” แล้วเขาก็ไปยังสำนักของพระราชา

นายบ้านเข้าเฝ้ากราบทูลว่า “ข้าพระองค์เห็นพวกโจรเที่ยวไป ด้วยการคุมกันเป็นพวก พระเจ้าข้า”

เมื่อพระราชาตรัสว่า “เธอจงไป จงจับพวกมันแล้วนำมา”

นายบ้านก็ทำตามรับสั่ง ไปจับตัวมฆมานพและเพื่อนมาให้พระราชา พระราชาเมื่อเห็นทั้งหมดก็ตัดสินโทษทันทีว่า “นำพวกมันไปให้ช้างเหยียบ”

ณ แดนประหาร มฆมานพได้ให้โอวาทกับเพื่อนว่า “สหายทั้งหลาย เว้นเมตตาเสีย ที่พึ่งอย่างอื่นของพวกเราไม่มี ท่านทั้งหลายไม่ต้องทำความโกรธในใครๆ จงเป็นผู้มีจิตเสมอเทียวด้วยเมตตาจิต ในพระราชา ในนายบ้าน ในช้างที่จะเหยียบ และในคน”

เพื่อนของเขาจึงทำตามคำของเขา เพราะอานุภาพแห่งเมตตาของมฆมานพและเพื่อน ช้างที่พระราชาให้ไสมาเหยียบ ก็ไม่อาจเข้าไปใกล้ได้ เจ้าหน้าที่จึงนำความเข้าไปทูลให้ทราบ พระองค์จึงตรัสว่า

“ช้างมันเห็นคนมาก จึงไม่อาจเหยียบได้ ท่านทั้งหลายจงไป เอาเสื่อลำแพนคลุมเสียแล้วจึงให้มันเหยียบ” เจ้าหน้าที่ก็นำเสื่อลำแพนมาคลุมร่างของมฆมานพและเพื่อน เมื่อไสช้างเข้ามา ช้างก็ถอยกลับไปเสีย ไม่ยอมเข้าใกล้เลย

พระราชาทรงสดับประพฤติเหตุนั้นแล้ว ทรงดำริว่า “ในเรื่องนี้ ต้องมีเหตุ” แล้วรับสั่งให้เรียกมฆมานพและเพื่อน มาเฝ้า ตรัสถามว่า “พ่อทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเจ้าเป็นโจรเที่ยวไปในป่า ด้วยการคุมกันเป็นพวกหรือ?”

มฆะทูลถามว่า “ใครกราบทูลอย่างนั้น พระเจ้าข้า?” พระราชาทรงตอบว่า “นายบ้าน”

มฆะจึงทูลว่า “ขอเดชะ พวกข้าพระองค์ไม่ได้เป็นโจร แต่พวกข้าพระองค์ชำระหนทางไปสวรรค์ของตนๆ จึงทำหนทางให้ราบเรียบ เที่ยวตัดรานกิ่งไม้ที่ควรตัดรานเสีย นายบ้านประสงค์จะชักนำพวกข้าพระองค์ในการทำอกุศล เมื่อพวกข้าพระองค์ไม่ทำตาม ก็โกรธ แล้วจึงมากราบทูลอย่างนั้น”

พระราชาทรงสดับถ้อยคำของมฆมานพ ก็เป็นผู้ถึงความโสมนัส ตรัสว่า “พ่อทั้งหลาย สัตว์ดิรัจฉานนี้ ยังรู้จักคุณของพวกเจ้า เราเป็นมนุษย์ ก็ไม่อาจรู้จัก จงอดโทษแก่เราเถิด”

แล้วได้พระราชทานนายบ้านพร้อมทั้งบุตรและภริยาให้เป็นทาส ช้างตัวนั้นให้เป็นพาหนะสำหรับขี่ และบ้านนั้นให้เป็นเครื่องใช้สอยตามสบายแก่มฆมานพและเพื่อน

มฆมานพและเพื่อนต่างมีใจผ่องใสโดยประมาณยิ่ง ผลัดวาระกันขึ้นช้างนั้นกลับถึงที่ชุมนุมของตน แล้วปรึกษากันว่า “พวกเราเห็นอานิสงส์แห่งบุญในปัจจุบันนี้ทีเดียว บัดนี้ พวกเราควรทำบุญให้ยิ่งขึ้นไป”

ต่างไต่ถามกันว่า “พวกเราจะทำอะไรกัน?” แล้วตกลงกันว่า “จักสร้างศาลาเป็นที่พักของมหาชนให้ถาวร ในหนทางใหญ่ ๔ แยก”

พวกเขาจึงสั่งให้หาช่างไม้มา แล้วเริ่มสร้างศาลาจนเป็นสาธารณประโยชน์ขึ้น

มฆมานพและเพื่อน ได้บำเพ็ญวัตตบท ๗ เหล่านี้ คือ บำรุงมารดาบิดา ๑ ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้เจริญในตระกูล ๑ พูดคำสัตย์ ๑ ไม่พูดคำหยาบ ๑ ไม่พูดส่อเสียด ๑ กำจัดความตระหนี่ ๑ ไม่โกรธ ๑ ถึงความเป็นผู้ควรสรรเสริญอย่างนี้ว่า “ทวยเทพชั้นดาวดึงส์ เรียกนรชนผู้เลี้ยงมารดาบิดา มีปกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล กล่าวถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน ละวาจาส่อเสียด ประกอบในอันกำจัดความตระหนี่ มีวาจาสัตย์ ข่มความโกรธได้ นั่นแลว่า “สัปบุรุษ”

เมื่อมฆมานพและเพื่อนสิ้นชีวิต มฆมานพได้เกิดเป็นท้าวสักกเทวราชในภพดาวดึงส์ เพื่อนของเขาก็เกิดในภพดาวดึงส์เหมือนกัน แม้ช่างไม้เกิดเป็นวิศวกรรมเทพบุตรด้วย (ความพิสดารโดยละเอียดพึงอ่านได้ในธรรมบทเรื่องท้าวสักกะ)

มฆมานพและเพื่อน ทำสาธารณประโยชน์ด้วยความยินดี เปรียบดังการปิดทองหลังพระ ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสไว้ จึงมีความยินดีในบุญเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเห็นอานิสงส์ของบุญที่ตนได้กระทำแล้ว ก็เกิดความบันเทิงยินดีในการทำบุญยิ่งขึ้นไปอีก ดำรงตนอยู่ในวัตตบท ๗ ได้อย่างมั่นคง

การปิดทองหลังพระที่ควรกระทำ จึงมีลักษณะดังพรรณนามาฉะนี้แล

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 171 มีนาคม 2558 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)
กำลังโหลดความคิดเห็น