ในความคิดของผู้ที่ปรารถนาความสำเร็จในชีวิตเบื้องต้น ส่วนใหญ่มีความปรารถนาจะเข้าทำงานในบริษัทมหาชนที่มีชื่อเสียง และมีประวัติการดำเนินงานต่อเนื่องยาวนาน ด้วยมีความรู้สึกว่าจะได้รับความมั่นคงในการทำงาน และสามารถเรียนรู้ขบวนการทำงานที่เป็นวัฒนธรรมองค์กร ที่จะอำนวยประโยชน์แก่ตนเองได้ในอนาคต แต่มีสักกี่คนที่สามารถประสบความสำเร็จตามความคิดเช่นนี้
เมื่อพิเคราะห์โดยธรรม ขบวนการเติบโตของบริษัทเหล่านี้ ล้วนเริ่มต้นมาจากความอดทนต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคของเจ้าของบริษัททั้งสิ้น เจ้าของบริษัทล้วนมีความฝันที่จะดำเนินกิจการของตนเองไปสู่ความสำเร็จที่ต้องการ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นก็ถูกกำหนดด้วยความอดทนในจิตใจของเขานั่นเอง ผู้ที่มีความอดทนอย่างต่อเนื่องเท่านั้น จึงสามารถประสบความสำเร็จที่ปรารถนาได้
ดร.เทียม โชควัฒนา ผู้ก่อตั้งและวางรากฐานกิจการในเครือสหพัฒน์ ได้กล่าวถึงความอดทนไว้ว่า
“...การที่คนเราจะทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ การอดทนต่องานหนักอย่างเดียวไม่พอ เพราะการอดทนกับงานนั้น รวมถึงการที่จะต้องวิ่งเข้าหางานยากๆ มาทำให้เกิดความเก่งความชำนาญ งานที่ยากๆ ต้องอดทนกับการเหนื่อยกาย แต่ขณะเดียวกันก็มีโอกาสทำผิด เมื่อทำผิดเราก็ต้องถูกตำหนิ
ดังนั้น ความอดทนต่อการถูกตำหนิ ถูกดูถูกจากผู้อื่นก็กลายเป็นความจำเป็นขึ้นมาอีกประการหนึ่ง บางครั้งเพื่อการเรียนรู้งาน ต้องอดทนให้คนเอาเปรียบ แล้วเราก็พบว่าความอดทนดังกล่าวนั้น ทำให้ได้เรียนรู้อะไรมากมาย ที่กลายมาเป็นประโยชน์กับการทำงานในช่วงหลังของชีวิต
เมื่อไปญี่ปุ่นได้พบว่า ตามบ้านคนญี่ปุ่นจะมีอักษรเขียนเอาไว้ด้วย อักษรสองคำที่รวมความแล้วแปลว่า มีดเล่มเล็กๆ ปักคาหัวใจ ทำให้ได้ข้อคิดว่า คนเราจริงๆแล้วไม่มีใครสบาย ทุกคนมีสิ่งร้อนรุ่มสุมใจ เหมือนมีมีดปักคาอกไว้ตลอดเวลา ถ้าหากไม่อดทนก็จะไม่ล่วงพ้นความทุกข์ได้
ความอดกลั้นเป็นสิ่งสำคัญก็เพราะว่า คนเราต้องทนฟังคนตำหนิหรือเสียดสีได้ แม้บางครั้งอาจจะต้องเจอกับสายตาที่ดูถูกก็ต้องใจเย็น อย่าโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เพราะถ้าเช่นนั้นก็เปรียบเหมือนคนขาดขันติธรรม คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตนั้น ต้องเป็นคนที่ทนกับสิ่งที่คนอื่นทนไม่ได้ และแม้บางครั้งจะปวดร้าวเหมือนมีมีดปักคาหัวใจอยู่ ก็ต้องทนให้ได้ การปฏิบัติตนให้เป็นผู้มีขันติธรรม เป็นพื้นฐานที่จะส่งให้ประสบความสำเร็จ...”
เพราะความอดทนนี้เป็นคุณลักษณ์ที่สำคัญของผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท แก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องความอดทน เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๖ ความว่า
“...ความอดทนหรืออดกลั้น คือขันติ ซึ่งทุกคนรู้จักดีและมีอยู่ในตัวแล้ว ขันตินั้นเมื่อนำมาใช้ในเรื่องการปฏิบัติงาน มองดูเผินๆ มักพาให้เห็นว่าเป็นเครื่องถ่วงความก้าวหน้า เพราะทำให้เกิดการหยุดชะงัก เป็นเหตุให้งานไม่สำเร็จ หรือสำเร็จช้าลง แต่ถ้าพิจารณาลึกลงไปให้ถูกให้ถ้วนแล้ว จะไม่เป็นดังนั้นเลย
ความรู้จักอดทนและอดกลั้น ไม่ยอมตัวยอมใจให้วู่วามไปตามเหตุการณ์ ตามอคติ และตามอารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจนั้น ทำให้เกิดมีการยั้งคิด และธรรมดาคนเราเมื่อยั้งคิดได้แล้ว ย่อมมีโอกาสที่จะพิจารณาเรื่องที่ทำ คำที่พูด ทบทวนดูใหม่ได้อีกคำรบหนึ่ง
การพิจารณาทบทวนเรื่องใดๆใหม่ ย่อมจะช่วยให้มองเห็นละเอียดชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจกระจ่างสว่างไสว ทั้งในแง่ที่จะคิด ทั้งในทางที่จะปฏิบัติ ปัญหาหรือความติดขัดก็ย่อมบรรเทาลง สามารถจะดำเนินงานทุกอย่างต่อไปได้โดยถูกต้อง ไม่ผิด ไม่พุ่ง ไม่หลง และไม่เสียเวลา งานที่ทำก็จะบรรลุผลสมบูรณ์บริบูรณ์...”
เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในเรื่องความอดทน ที่ตรงตามพระบรมราโชวาท จักขอนำธรรมบทเรื่องอุตตราอุบาสิกา มาเสนอให้ทราบพอเป็นแนวทางแห่งการสร้างความอดทน สู่ความสำเร็จในชีวิตของตน
นางอุตตราอุบาสิกา เป็นธิดาแห่งปุณณเศรษฐี กรุงราชคฤห์ เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เป็นโสดาบันบุคคล เมื่อถึงวัยแห่งการครองเรือน นางได้แต่งงานกับบุตรของสุมนเศรษฐี ซึ่งไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา หลังจากแต่งงานแล้ว นางไม่ค่อยมีโอกาสได้สร้างบุญกุศลเหมือนแต่ก่อน ทำให้รู้สึกเศร้าหมองไม่มีความสุข
ด้วยเหตุนี้ นางอุตตราจึงส่งคนไปแจ้งความเดือดร้อนต่อท่านปุณณเศรษฐีผู้เป็นบิดา ซึ่งในอดีตเคยเป็นลูกน้องของท่านสุมนเศรษฐี แต่เนื่องจากได้ถวายภัตตาหารแด่พระสารีบุตรเถระขณะออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ ผลบุญส่งให้ได้เป็นเศรษฐีคนหนึ่งในนครราชคฤห์
ปุณณเศรษฐีได้มอบเงินจำนวน ๑๕,๐๐๐ กหาปณะแก่นางอุตตรา และแนะนำให้ไปจ้างนางสิริมาให้ทำหน้าที่ภรรยาแทนตน นางสิริมาเป็นหญิงนครโสเภณีชั้นสูง เป็นน้องสาวของหมอชีวกโกมารภัจจ์ นางมีความงามจนผู้ชายทุกคนที่ยังหลงใหลในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ปรารถนาจะได้ร่วมอภิรมย์ด้วย แต่จะต้องจ่ายทรัพย์ต่อหนึ่งคืนสูงถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ
นางอุตตราจึงทำตามที่บิดาแนะนำ นำนางสิริมามาให้สามี เพื่อทำหน้าที่ภริยาแทนตน และขออนุญาตสามีทำบุญ ๑๕ วัน เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว นางอุตตราจึงทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมเหล่าภิกษุสงฆ์ ให้มารับอาหารบิณฑบาตที่เรือนของนางตลอด ๑๕ วัน พระพุทธองค์ทรงพระกรุณาพาพระภิกษุสงฆ์มาทำภัตกิจ ณ เรือนนางอุตตราอุบาสิกา และทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดทุกวัน
ครั้นถึงวันที่ ๑๔ เศรษฐีสามีของนาง เห็นภรรยาของตนพร้อมทั้งบ่าวไพร่ ช่วยกันตระเตรียมอาหารถวายพระด้วยความวุ่นวาย นึกขันในใจว่า ภรรยาของเรานี้แทนที่จะนั่งให้เป็นสุข กลับหาเรื่องเหน็ดเหนื่อยวุ่นวาย ส่วนนางอุตตราเห็นว่าสามีประมาทมัวเมาในชีวิต มัวแต่กินบุญเก่า คิดว่าตัวเองร่ำรวย จึงไม่ทำบุญสร้างกุศล นางได้หัวเราะในความโง่เขลาของสามี
ขณะนั้นนางสิริมายืนเคียงข้างอยู่กับสามีของนางอุตตรา ด้วยความลืมตัวสำคัญว่าตนเป็นภรรยาของเศรษฐี มิใช่หญิงโสเภณีที่นางอุตตราจ้างมา จึงบังเกิดความหึงหวง คิดว่านางอุตตราเป็นหญิงที่สามีตนสนใจ จึงผลุนผลันลงจากเรือน ตรงไปในครัว แล้วคว้าทัพพีตักเนยใสที่กำลังเดือดพล่าน เทราดรดนางอุตตราตั้งแต่ศีรษะลงไปทั่วตัว
นางอุตตราจึงแผ่เมตตาไปถึงนางว่า “หญิงสหายของเราทำอุปการะแก่เรามาก จักรวาลก็แคบเกินไป พรหมโลกก็ต่ำนัก ส่วนคุณของหญิงสหายเราใหญ่มาก ก็เราอาศัยนางนั่น จึงได้โอกาสถวายทานและฟังธรรม ถ้าเรามีความโกรธเหนือนางสิริมานั้น เนยใสนี้จงลวกเราเถิด ถ้าไม่มี อย่าลวกเลย” ด้วยอำนาจความเมตตาที่นางอุตตรามีให้แก่นางสิริมา เนยใสเดือดพล่านที่ราดลงบนศีรษะของนางอุตตรา จึงเย็นเหมือนน้ำหอมที่ชโลมบนผิวกาย
แม้บรรดาคนรับใช้จะแสดงความโกรธแค้น พากันประทุษร้ายต่อนางสิริมา นางอุตตราก็รีบห้ามปราม เป็นเหตุให้นางสิริมาได้สติสำนึกตัว เกิดความรักเคารพและยำเกรงนางอุตตรา ถึงกับก้มกราบแทบเท้าเพื่อขออภัยโทษ นางอุตตรากล่าวให้อภัยและชักชวนให้นางสิริมาร่วมสร้างบุญกุศล และฟังพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดาในวันพรุ่งนี้
ในวันต่อมา นางอุตตราได้นำนางสิริมาและญาติ ถวายภัตกิจแด่พระบรมศาสดาและพระสงฆ์ ครั้นเสร็จภัตกิจแล้ว ได้เข้าเฝ้าทูลความให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า "ดีละ ดีละ อุตตรา การชนะความโกรธอย่างนั้น สมควร, ก็ธรรมดาคนมักโกรธ พึงชนะด้วยความไม่โกรธ, คนด่าเขา ตัดพ้อเขา พึงชนะได้ด้วยความไม่ด่า (ตอบ) ไม่ตัดพ้อ (ตอบ), คนตระหนี่จัด พึงชนะได้ด้วยการให้ของตน, คนมักพูดเท็จ พึงชนะได้ด้วยคำจริง"
แล้วได้ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรด เป็นเหตุให้นางสิริมาพร้อมด้วยญาติทั้ง ๕๐๐ บรรลุโสดาปัตติผล นางสิริมาได้ทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมเหล่าภิกษุสงฆ์ ให้เสด็จมารับอาหารบิณฑบาต ณ เรือนของตนในวันรุ่งขึ้น พร้อมประกาศตนเป็นอุบาสิกาในพระพุทธศาสนา ขอให้พระพุทธองค์จัดส่งภิกษุสงฆ์มารับอาหารบิณฑบาตในเรือนของตนวันละ ๘ รูปเป็นประจำทุกวัน อีกทั้งนางได้เลิกเป็นหญิงโสเภณีนับแต่นั้นมา
ส่วนนางอุตตรานั้นมีความชำนาญทางฌานสมาบัติเป็นพิเศษ ต่อมาพระพุทธองค์ทรงยกย่องให้เป็นยอดแห่งสาวิกาฝ่ายอุบาสิกาผู้ได้ฌาน
เพราะความอดทนเป็นคุณลักษณะของผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต บิลล์ เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ ผู้ประสบความสำเร็จอย่างมั่งคั่ง ได้ให้คติข้อคิดแก่สังคมว่า ความอดทนเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จ
วันนี้....คุณมีความอดทนแล้วหรือยัง?
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 177 กันยายน 2558 โดย พระครูพิศาลสรนาท วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)