xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : ปรารถนาความสำเร็จในชีวิต ต้อง “รู้จักพิจารณา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในความสำเร็จของบุคคลสำคัญ มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ การรู้จักพิจารณาสรรพสิ่งที่ตนได้ประสบมาในชีวิต และสามารถขยายผลแห่งการพิจารณานั้น ไปสู่การดำเนินชีวิตที่ก่อสุขประโยชน์แก่ตนเองและสังคม

“อุปติสสปริพาชก” ได้พิจารณาเห็นกิริยาที่สงบเรียบร้อยในการบิณฑบาตของพระอัสสชิ จึงนำให้เกิดความอยากรู้คำสอนของพระศาสดาที่พระอัสสชินับถือ เมื่อได้โอกาสจึงเข้าไปสอบถามความจากพระอัสสชิ และขอฟังธรรมจากท่าน พระอัสสชิได้กล่าวธรรมโดยย่อว่า

“ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้”

อุปติสสปริพาชกได้พิจารณาเนื้อความเพียงเท่านี้ก็บรรลุโสดาบัน มีจิตคิดเลื่อมใสอยากจะบวชในสำนักของสมเด็จพระบรมศาสดา จึงกลับไปชวน “โกลิตปริพาชก” ผู้สหาย แล้วพากันไปบวชในสำนักของพระพุทธองค์ ได้นามในกาลต่อมาว่า “พระสารีบุตร” และ “พระมหาโมคคัลลานะ” ผู้เป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท แก่บัณฑิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ถึงเรื่องเหตุผล ดังมีความตอนหนึ่งว่า

“...การพิจารณาถึงการกระทำของเราทุกอย่างในปัจจุบันให้ละเอียดถี่ถ้วน เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะการกระทำของเราในปัจจุบันนั้น เป็นเหตุให้เกิดผลต่อไปในอนาคต หากไม่ระมัดระวัง ทำสิ่งที่ดีที่ถูกต้องในวันนี้ วันหน้าหรืออนาคตของเรา อาจผิดพลาดหรือตกต่ำไปได้ง่ายๆ

เหตุและผลนี้ เป็นสิ่งที่ละเอียด เป็นขั้นเป็นตอน และบางทีก็ซับซ้อนมาก ยากที่จะมองเห็นได้ ถ้าไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนรอบคอบจริงๆ เพราะฉะนั้น จึงใคร่จะปรารภถึงหลักสำคัญสำหรับการคิดพิจารณาหาเหตุและผลไว้สักสองประการ

ประการแรก ขอให้เข้าใจว่า ผลทุกอย่างต้องมาจากเหตุ เมื่อมีเหตุแล้วต้องเกิดผล และผลที่สำคัญๆ ที่เป็นผลรวบยอด เช่น การที่บัณฑิตสำเร็จการศึกษาครั้งนี้ ย่อมเป็นผลที่เกิดจากเหตุและผลอื่นๆที่มีต่อเนื่องกันมาเป็นลำดับ หลายขั้นหลายตอน จึงจำเป็นที่จะต้องระวังจับเหตุจับผลให้ได้โดยถูกต้องทุกขั้นทุกตอน ไม่ให้สับสน

อีกประการหนึ่ง เหตุที่จะให้ผลอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นนั้น ปกติจะเห็นว่ามีหลายเหตุ เช่น การเรียนรู้วิชาได้ดี ย่อมเป็นผลมาจากการมีที่เรียนดี มีครูดี มีโอกาสเหมาะ และตัวเองตั้งอกตั้งใจเล่าเรียน หรืออาจมีเหตุอื่นๆ มากกว่านี้ออกไปอีกก็ได้

เหตุทั้งหลายนี้จำแนกออกได้เป็นสองประเภท คือ เหตุต่างๆที่อยู่นอกตัว เช่น ที่เรียนดี ครูดี จัดเป็นเหตุภายนอกประเภทหนึ่ง กับเหตุที่อยู่ในตัว ที่เป็นการกระทำของตัว อันได้แก่การตั้งใจเล่าเรียนจริงๆนั้น จัดเป็นเหตุภายใน อีกประการหนึ่ง

ขอให้พิจารณาทบทวนดูให้ดี จะเห็นว่า เหตุภายนอกทั้งหมดนั้นเป็นเพียงส่วนประกอบ เหตุแท้จริงที่จะทำให้รู้วิชาดีนั้นอยู่ที่เหตุภายใน คือการกระทำของตัวเอง

เพราะฉะนั้นบัณฑิตทั้งหลาย ผู้ซึ่งปรารถนาผลสำเร็จในชีวิต ในการงานอีกมากมายในกาลข้างหน้า จึงควรอย่างยิ่งที่จะเพ่งเล็งในเหตุภายใน คือการกระทำของตนเองเป็นสำคัญ แล้วเร่งกระทำเหตุที่สำคัญนั้นให้ถูกต้องครบถ้วน ผลสำเร็จที่มุ่งหมายไว้ในอนาคต จึงจะมาถึงมือท่านได้..”


เมื่อพิจารณาพระบรมราโชวาทองค์นี้ นำให้คิดถึงธรรมบทเรื่อง “บัณฑิตสามเณร” ที่ควรแก่การศึกษาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในเรื่องการพิจารณาอย่างยิ่ง เนื้อเรื่องโดยย่อมีดังนี้

เมื่อบัณทิตสามเณร อายุได้ ๗ ขวบ บวชในสำนักพระสารีบุตรได้ ๗ วันแล้ว ในเช้าวันที่ ๘ พระสารีบุตรได้นำบัณทิตสามเณรเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ระหว่างทางบัณทิตสามเณรเห็นเหมือง จึงเรียนถามพระสารีบุตรว่าชื่ออะไร

พระสารีบุตรก็ตอบว่า “ชื่อว่าเหมือง”

สามเณรจึงถามอีกว่า เขาใช้เหมืองนี้ทำอะไร พระสารีบุตรบอกว่า เขาไขน้ำจากที่นี่ไปใช้ทำนา

“ก็น้ำมีจิตไหม? ขอรับ"

เมื่อพระสารีบุตรตอบว่าไม่มีจิต สามเณรก็ถามต่อไปว่า “ชนทั้งหลายย่อมไขน้ำที่ไม่มีจิตเห็นปานนี้ สู่ที่ที่ตนปรารถนาแล้วได้หรือ? ขอรับ”

พระสารีบุตรจึงตอบว่าได้ บัณทิตสามเณรฟังแล้วก็คิดว่า “ถ้าคนทั้งหลายไขน้ำซึ่งไม่มีจิตแม้เห็นปานนี้ สู่ที่ที่ตนปรารถนาแล้ว ทำการงานได้ เหตุไฉน? คนมีจิตแท้ๆ จักไม่อาจเพื่อทำจิตของตน ให้เป็นไปในอำนาจ แล้วบำเพ็ญสมณธรรม”

เมื่อเดินต่อไป ได้เห็นพวกช่างศรกำลังเอาลูกศรลนไฟ แล้วเล็งด้วยหางตา ดัดให้ตรง บัณทิตสามเณร จึงถามพระสารีบุตรว่า พวกนี้ชื่ออะไร

พระสารีบุตรตอบว่า “ช่างศร”

สามเณรจึงถามว่า พวกเขาทำอะไรกัน พระสารีบุตรบอกว่า เขาเอาลูกศรลนที่ไฟ แล้วดัดลูกศรให้ตรง

“ลูกศรนั่น มีจิตไหม? ขอรับ”

เมื่อพระสารีบุตรตอบว่าไม่มีจิต บัณทิตสามเณรจึงได้คิดว่า “ถ้าคนทั้งหลายถือเอาลูกศรอันไม่มีจิตลนไฟแล้ว ดัดให้ตรงได้ เพราะเหตุไร? แม้คนมีจิต จึงจักไม่อาจเพื่อทำจิตของตน ให้เป็นไปในอำนาจ แล้วบำเพ็ญสมณธรรมเล่า?”

ครั้นเดินผ่านช่างศรมาได้ครู่หนึ่ง ก็เห็นคนถากไม้ทำเกวียน บัณทิตสามเณรจึงถามพระสารีบุตรว่า พวกนี้ชื่อพวกอะไร

พระสารีบุตรตอบว่า “ช่างถากไม้”

สามเณรจึงถามว่า พวกเขาทำอะไรกัน พระสารีบุตรบอกว่า เขากำลังถากไม้มาทำล้อเกวียน

“ก็ไม้เหล่านั่น มีจิตไหม? ขอรับ”

เมื่อพระสารีบุตรตอบว่าไม่มีจิต บัณทิตสามเณรได้มีความตริตรองว่า “ถ้าคนทั้งหลายถือเอาท่อนไม้ที่ไม่มีจิต ทำเป็นล้อเป็นต้นได้ เพราะเหตุไร คนผู้มีจิต จึงจักไม่อาจทำจิตของตนให้เป็นไปในอำนาจ แล้วบำเพ็ญสมณธรรมเล่า?"

บัณทิตสามเณรเห็นเหตุเหล่านี้แล้ว จึงเอ่ยขออนุญาตพระสารีบุตร กลับไปบำเพ็ญสมณธรรม พระสารีบุตรจึงให้สามเณรกลับไปนั่งบำเพ็ญสมณธรรมในห้องของท่าน

เมื่อถึงกุฏิ บัณทิตสามเณรก็บำเพ็ญสมณธรรม นั่งหยั่งความรู้ลงในกายของตน พิจารณาอัตภาพ และได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา

ต่อมาสมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงแสดงธรรมปรารภเรื่องบัณทิตสามเณร แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า

“อันคนไขน้ำทั้งหลายย่อมไขน้ำ ช่างศรทั้งหลายย่อมดัดศร ช่างถากทั้งหลายย่อมถากไม้ บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน”

ทรงมีพระพุทธาธิบายตรัสไว้ว่า “พวกคนไขน้ำย่อมไขน้ำไปตามชอบใจของตนได้ แม้ช่างศรก็ย่อมลนดัดลูกศร คือทำให้ตรง ถึงช่างถากเมื่อจะถากเพื่อเป็นประโยชน์แก่ทัพสัมภาระมีกงเป็นต้น ย่อมดัดไม้ คือทำให้ตรงหรือคด ตามชอบใจของตน บัณฑิตทั้งหลายทำเหตุมีประมาณเท่านี้ ให้เป็นอารมณ์อย่างนั้นแล้ว ยังมรรคมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้นให้เกิดขึ้นอยู่ ย่อมชื่อว่าทรมานตน แต่เมื่อบรรลุพระอรหัตแล้ว ย่อมจัดว่าทรมานโดยส่วนเดียว”

อุปติสสปริพาชก บัณฑิตสามเณร และบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ล้วนมีคุณลักษณะของความเป็นผู้รู้จักพิจารณาในสิ่งที่ประสบอยู่เสมอ แล้วนำมาฝึกฝนอบรมตน ให้รู้จักการดำเนินชีวิตไปสู่ผลที่ปรารถนา สมดังพระบรมราโชวาทที่ตรัสว่า

"จึงควรอย่างยิ่งที่จะเพ่งเล็งในเหตุภายใน คือการกระทำของตนเองเป็นสำคัญ แล้วเร่งกระทำเหตุที่สำคัญนั้นให้ถูกต้องครบถ้วน ผลสำเร็จที่มุ่งหมายไว้ในอนาคต จึงจะมาถึงมือท่านได้"

เมื่อปรารถนาความสำเร็จในชีวิต ก็จงสร้างความเป็นผู้รู้จักพิจารณาในตนเองเถิด

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 175 กรกฎาคม 2558 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)

กำลังโหลดความคิดเห็น